ละครไทยเดือนนี้ - สิงหาคม 2565

สิงหาคมผ่านพ้น เดือนนี้เป็นเดือนแห่งการกลับมาเปิดภาคเรียนแบบ On-site อีกครั้งของมหาวิทยาลัยในไทยทำให้โรงละครในสถาบันการศึกษากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง วงการละครไทยทั้งโรงใหญ่และเล็กที่ทยอยเริ่มเปิดทำการแสดงกันมาตั้งแต่เดือนก่อนก็ยังคงมีแผนการแสดงต่อเนื่องยาวไปถึงปลายปี ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ (ชั่วคราว) กรณีดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี และสภาพเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวต่อเนื่อง

การแสดงเดือนนี้ LiFE THEATRE นำเสนอ “Closer” ที่ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล ที่ BACC ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ นำเสนอละครเวที “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ประเดิมโครงการศิลปะการแสดง ครั้งที่ 11 ที่จัดขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงธันวาคมนี้ ในขณะที่ Scarlette Theatre แสดง “เธอผู้ไม่แพ้” ที่ Yellow Lane อารีย์ นอกจากนี้ยังมีศิลปะแสดงสด “LOVEvolution LIFEvolution:ปฏิวัติการณ์แห่งจินตนาการ” ของศิลปินจากยูเครน ยูโกสลาเวีย เยอรมัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไทย ที่  BACC อีกด้วย

ฟากฝั่งการศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มธ. จัดงานเสวนา “การสร้างศิลปะการแสดงข้ามสื่อบนแพลตฟอร์มที่หลากหลาย” โดยการเชิญนักจัดการเทศกาลละครมาแบ่งปันประสบการณ์การจัดงานศิลปะบนพื้นที่เสมือน คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม นำเสนอละครเรื่อง “ไลฟ์มรณะ” จากบทละครที่แต่งขึ้นใหม่ ส่วนสาขาละครเพลง มหาวิทยาลัยมหิดลได้นำการแสดงของนักศึกษาเข้าร่วมแสดงในงานเปิดตัว “นครปฐมเมืองดนตรี” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนให้จัดหวัดนครปฐมเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีของ UNESCO และทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพได้ดำเนินการปรับปรุง Blackbox Theatre และกำลังจะพัฒนาพื้นที่การแสดงอีกแห่งหนึ่งเป็นโรงละครแห่งที่สองเพื่อเสริมศักยภาพในนำเสนองานที่หลากหลายขึ้น

ในส่วนของเครือข่ายละคร BIPAM กับ EVE (เครือข่ายศิลปินอิสระจากประเทศอิสราเอล) เปิดรับสมัครศิลปินเข้าร่วมโครงการและเปลี่ยน “Coast to Coast: ข้ามฟากแลกฝั่ง” เพื่อการแลกเปลี่ยนความคิด วิธีการทำงาน และจะร่วมพัฒนาผลงานชิ้นใหม่ขึ้นในปลายปีนี้ ส่วน Bangkok Theatre Festival เปิดระดมทุนโครงการแลกเปลี่ยนพูดคุยสำหรับศิลปินสาขาศิลปะการแสดงรุ่นใหม่ “SPECTATION AND SUSPICION” โดยมุ่งหวังจะให้เกิดการะปะทะสังสรรค์และศิลปะสนทนาโดยมีละครเป็นจุดเริ่มต้น และในเดือนนี้ CAPT ยังริเริ่มจัดทำ “Art Directory” ที่รวบรวมรายชื่อนักจัดการศิลปะ พื้นที่ศิลปะ และธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ในการติดต่อสืบค้นอันจะเติมเต็มระบบนิเวศศิลป์ให้วงการละครไทยด้วย

ในต่างประเทศ การแสดง “เพลงนี้พ่อเคยร้อง” ของ For WhaT theatre เดินสายจัดแสดงตามโรงละครและเทศกาลละครในหลายประเทศแถบยุโรปอีกครั้ง และ “ตลาดปลา: TA-LAD PLA (FISH MARKET)” เข้าร่วมแสดงออนไลน์ในงาน World Stage Design 2022

ท้ายนี้ TTF ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ อ. สำเภา ไตรอุดม ผู้ประพันธ์เพลงให้แก่ละครเวทีและละครโทรทัศน์หลายเรื่อง

จนกว่าจะพบกันใหม่ สวัสดี

ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ

ละครไทยเดือนนี้ - กรกฎาคม 2565

เดือนกรกฎาคมมาเยือนทำให้ระลึกได้ว่าเรากำลังย่างเข้าสู่ครึ่งหลังของปี 2565 แล้วอย่างเต็มตัว เวลาที่ผ่านไปโดยรวดเร็วนี้บรรจุด้วยเหตุการณ์ทั้งดีและร้ายไว้เต็มเปี่ยม เกือบสองปีครึ่งมาแล้วที่ละครไทยอยู่ในภาวะ “ปิดปิด-เปิดเปิด” จากสถานการณ์โควิด จนศิลปิน คณะละคร และโรงละครทำงานกันอย่างยากลำบาก แต่ในครึ่งปีหลังนี้ดูเหมือนว่าวงการละครไทยกำลังจะกลับมาดำเนินการใกล้เคียงกับคำว่าเต็มรูปแบบอีกครั้ง

กระแสตอบรับงาน “หนังกลางแปลง” ที่จัดขึ้นในสวนทั่วกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในหลาย ๆสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าผู้คนพร้อมที่จะออกมาเสพศิลป์ในที่สาธารณะ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของรัฐและความเข้าใจของประชาชนทำให้ “ชีวิตวิถีใหม่” กลายเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้จริงแล้ว

การแสดงในเดือนกรกฎาคมนี้มีไม่มากแต่ก็ไม่น้อยจนเกินไปนัก ฟารีดา จิราพันธุ์ นำ “ฮิญาบ: หากพระองค์ทรงประสงค์” กลับมาจัดแสดงใหม่อีกครั้งที่ GalileOasis และ Play Cool Full Time นำเสนอ “The Crescendo บทเพลงอำลา” ที่ Buffalo Bridge Gallery 

ในแวดวงการศึกษา ภาควิชาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้จัดอบรม “Acting Pedagogy Workshop” เพื่อพัฒนาครูสอนการแสดง ในขณะที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังคงดำเนินโครงการประกวดละครเยาวชนสร้างสรรค์ “แก่นอีสานวัฒน์ ปีที่ 4” อย่างต่อเนื่องซึ่งได้มีการประกาศโรงเรียนที่ชนะในอันดับต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในวงการศึกษาละครเดือนนี้ก็คือความร่วมมือระหว่างเอกชนและสถาบันการศึกษาในการให้ทุนเพื่อพัฒนาบุคลากรทางการละคร บริษัทซีนารีโอ-เมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ ตั้ง “กองทุนรัชดาลัยเพื่อศิลปะการแสดงละครเวที” เพื่อมอบทุนให้นักศึกษาศิลปะการแสดงโดยได้เริ่มมอบให้มหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นแห่งแรก นอกจากนี้ Finale Academy ได้ประกาศรับสมัครนักเรียนทุน เพื่อให้ทุนเข้าเรียน “หลักสูตรการแสดงต่อเนื่องระดับสากล” โดยไม่มีค่าใช้จ่ายมากถึง 6 ทุนในหลายช่วงอายุผู้เรียน

ด้านกิจกรรมและเวิร์คชอป BIPAM จัดงาน “Performing Arts Beyond Human” เพื่อชวนพูดคุยถึงการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวหลักของงานแสดง ในขณะที่ Act It House จัดเสวนาหัวข้อ “อนาคตของการแสดงริมถนน (Street Show) เมืองและพื้นที่สาธารณะ” นอกจากนี้เรายังเห็นการจัดตั้ง Facebook Group “คนรักละครเพลง” เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนข่าวสารของคนที่ชื่นชอบละครเพลงอีกด้วย 

ในต่างประเทศ​ นิกร แซ่ตั้ง จาก Theatre8x8 นำเสนอการแสดง “Sleep Tight” และเวิร์คชอปในเทศกาล International Enviromental Theatre Festival 2022 ณ ประเทศเกาหลีใต้ และเดือนนี้ถือเป็นอีกหนึ่งเดือนที่มีความหมายสำหรับ TTF ที่ได้จัด “Thai Theate Showcase: โชว์เคสโชว์ของ” เพื่อนำเสนอการแสดงของศิลปินไทยที่ทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกาเป็นครั้งแรก โดยงานจัดขึ้นที่สำนักงาน Theatre Communications Group (TCG) นิวยอร์ก และสามารถชมออนไลน์ผ่าน Zoom ควบคู่กันไปด้วย

 การแสดงส่วนใหญ่ในเดือนนี้ Sold Out แทบทั้งหมด และเรายังเห็นถึงแผนการกลับมาของโรงละครโรงใหญ่ที่เริ่มทยอยประชาสัมพันธ์การแสดง อาทิ “พินัยกรรมของหญิงวิกลจริต” ของ Dreambox “ละครเวทีสุนทราภรณ์ เพลงรักเพลงแผ่นดิน” ของ เพลงเอก ที่เคแบงค์สยามพิฆเนศ  และ “ลิขิตรักชิงบัลลังก์” ของเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ ในขณะที่อาร์ตสเปซ โรงละครขนาดเล็กและขนาดกลางก็กลับมาคึกคักมากขึ้นในเดือนสิงหาคมและกันยายนที่จะถึงนี้ เช่น GalileOasis ได้กลายเป็นตาน้ำแห่งใหม่ที่สร้างความชุ่มชื้นให้กับละครโรงเล็กได้เปิดตัว “Comedy Tree Festival 2022” ซึ่งประกอบด้วยละคร 3 เรื่อง คือ “แฝดวุ่นลุ้นรัก” “Leftover” และ “Art” ที่จะแสดงต่อเนื่องกัน ในขณะเดียวกัน Life Theatre นำเสนอ “Closer” ด้วยการสลับนักแสดงถึง 3 แคส ที่ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล และ Theeraphanny ก็เตรียมที่จะนำเสนอละครเวที “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ในโครงการศิลปะการแสดงครั้งที่ 11 โดยหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้คณะละครอนัตตาเตรียมสร้างละครเวทีรำลึก 90 ปี ประชาธิปไตยไทย “๔ แผ่นดิน The Last Ten Years” ผ่านวิธีการระดมทุนการผลิตให้ได้จำนวนหนึ่งก่อนจะเริ่มทำงานจริง

TTF ขอแสดงความยินดีกับศิลปินรางวัลศิลปาธรประจำปี 2565 ทั้ง 7 ท่าน ซึ่งสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้ประกาศรายชื่อออกมาแล้ว แล้วพบกันใหม่ในเดือนหน้า

ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ

ละครไทยเดือนนี้ - มิถุนายน 2565

เดือนมิถุนายนอีกครั้ง ภาวะข้าวยากหมากแพงยังเป็นประเด็นร้อนที่ท้าทายทุกภาคส่วนของสังคม  ผู้คนทั่วโลกรวมถึงในไทยเฉลิมฉลอง Pride Month ให้กับความหลากหลาย เป็นเวลาไล่เลี่ยกันกับที่รัฐสภาไทยรับหลักการกฏหมายสมรสเท่าเทียมซึ่งเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการปรับปรุงแก้ไขกฏหมายในการสมรสระหว่างบุคคล เดือนนี้ยังเป็นเดือนที่ประชาธิปไตยไทยดำเนินเข้าสู่ปีที่ 90 บริบูรณ์ ในขณะที่สังคมไทยยังอยู่ระหว่างการต่อสู้เพื่อสิทธิ ความเท่าเทียม และความหลากหลายในอีกหลายประเด็น ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการที่รัฐบาลผ่อนคลายข้อปฏิบัติในการสวมหน้ากากอนามัยให้เป็นการสวมใส่ตามความสมัครใจ สอดรับกับการเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในยุคหลังโควิด

การแสดงในเดือนมิถุนายนมีให้ชมกันตลอดทั้งเดือน Patravadi Channel เปิดตัวละครออนไลน์ซึ่งเป็นผลงานจากห้องเรียนละครของครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน ส่วนที่ noblePLAY กรกาญจน์ รุ่งสว่าง นำ “Dance Offering” การรำแก้บนผสมผสานเทคโนโลยี VR และ AR มาจัดแสดงอีกครั้ง ในขณะที่ในงานรำลึกวาระ 32 ปี มรณกรรมของครูองุ่น มาลิก ได้มีแสดงละครหุ่นประกอบดนตรีเรื่อง “ครูองุ่น มาลิก” โดย Puppet by Jae และที่ Buffalo Bridge มีการแสดงเดี่ยวผสม installation และ video art ชื่อ “Timeless To make it, Heck the dan enough Useless” ส่วนที่เชียงใหม่ ลานยิ้มการละครเสนอ “ข่วง République” ในวาระ 90 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และกลุ่มละคร Wonderjuey นำเสนอละครเวที “จุมพิษ” ซึ่งดัดแปลงจาก Kiss of the Spider Woman ในเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศนี้

ฝั่งการศึกษา จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยจัดงาน Drama Talk#17 “คุยเรื่องละครกับ Kinn Porsche the series” และเสวนาออนไลน์หัวข้อ “ความหลากหลายทางเพศในละครทีวีเทศและไทย” ในขณะที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ นำเสนอ “Dancing Brain: NeoruBallet Experiment in Process” ซึ่งเป็นการศึกษาทดลองความสัมพันธ์ของการเคลื่อนไหวร่างกายและการทำงานของสมอง ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ BU Theatre Company ได้เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมเวิร์คช้อปใน “เทศกาลละครเพื่อการพัฒนา” ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนหน้า นอกจากนี้ สาขาสื่อสารการแสดง มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้ขยายเวลาจัดนิทรรศการ “Scene & Lighting Design Immersive Exhibition: Try to-be Me จง (ลอง) มาเป็นฉัน” สำหรับผู้ที่พลาดชม และ สาขาวิชาศิลปะและธุรกิจการแสดง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดรับสมัครเยาวชนเข้าร่วมโครงการสร้างสรรค์ละครแบบมีส่วนร่วม “Devised Theatre: ปลุกความคิดเยาวชนต้นแบบ” อีกด้วย

ในส่วนของกิจกรรมเวิร์คชอปและความเคลื่อนไหวในแวดวงละคร กั๊บไฟทำละคร “ห้องน้อยในโลกกว้าง” เกี่ยวกับการส่งเสริมงานปกป้องคุ้มครองเด็กจากสื่อและภัยออนไลน์และการปรับปรุงขับเคลื่อนกฎหมายแพ่งฯ ม.๑๕๖๗ (๒) เพื่อการยุติการลงโทษเด็กทางกายที่อาคารรัฐสภาไทย ส่วนที่ noblePLAY มีเวิร์คชอปการสร้างอนิเมชั่นสามมิติจากไดอะแกรมการเต้น “Through Technology Workshop: Dance Diagram to 3D Animation” โดย Henry Tan และ Tas Chongchadklang นอกจากนี้ Workpoint Entertainment, Skybox Entertainment, และ Dreambox Acting ร่วมมือกันเปิดสถาบัน Finale Academy เพื่อพัฒนาคนรองรับอุตสาหกรรมบันเทิง โดยได้เปิดตัวหลักสูตร “Professional Acting Program” เป็นหลักสูตรแรก ส่วนคณะผู้จัดงานเทศกาลละครกรุงเทพก็ได้เริ่มประกาศรับสมัครศิลปินเพื่อเข้าเสนอผลงานในเทศกาลแล้ว โดยปรับเปลี่ยนวิธีการเปิดรับผลงานมาเป็นการคัดสรรทั้งหมดเพื่อให้สามารถบริหารจัดการการแสดงในสถานการณ์ความไม่แน่นอนของ Covid 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ TTF เองก็ได้มีส่วนร่วมใน “ศิลปะกับการสื่อสารปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อมโลก” กับโครงการห้องเรียนพลเมืองโลก คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังได้มีโอกาสหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการผลักดันศิลปะการแสดงไทยสู่บรอดเวย์กับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสำนักงานนิวยอร์กด้วย

ท้ายนี้ TTF ขอแสดงความยินดีกับ รัถยา ตรีรัตน์ ในโอกาสที่ได้รับรางวัล Best Set Design จาก Irish Times Theater Awards ครั้งที่ 23 และมีข่าวสารซึ่งควรบันทึกไว้ด้วยว่าในเดือนนี้ ศูนย์การค้ากาดสวนแก้วซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่ทางการแสดงขนาดใหญ่ของเชียงใหม่ได้ประกาศปิดทำการลงอย่างเป็นทางการแล้ว หากแต่ก็ยังมีความเคลื่อนไหวที่ดีในกรุงเทพฯ โรงละครโรงใหญ่ได้ทยอยประกาศแผนการกลับมาเปิดโรงละครอีกครั้งหลังปิดต่อเนื่องเกือบสองปีจากสถานการณ์โควิด อาทิ ละครเพลงสุนทราภรณ์ “เพลงรักเพลงแผ่นดิน” ณ เคแบงค์สยามพิฆเนศ ละครเพลง “พินัยกรรมของหญิงวิกลจริต A One-Woman Musical” ของ Dreambox และ คอนเสิร์ต “เปิดม่านใหม่เมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์” ของรัชดาลัย 

กล่าวได้ว่าละครไทยเดือนนี้มีความหลากหลายและมีความสอดคล้องกับเทศกาลหรือวันสำคัญของเดือนมิถุนายนอย่างแนบแน่น ในขณะเดียวกันก็มีสัญญาณการฟื้นตัวของวงการละครทั้งโรงเล็กและโรงใหญ่ที่กำลังหวนกลับมาภายหลังการหยุดทำการจากสถาณการณ์โควิด

Happy Pride Month… 

ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ

ละครไทยเดือนนี้ - พฤษภาคม 65

เดือนพฤษภาคมย่างเข้าสู่หน้าฝน สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อติดพันทำให้ฟินแลนด์และสวีเดนตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ส่วนคนทั่วโลกยังต้องเผชิญกับภาวะข้าวยากหมากแพงเพราะสินค้าอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันขยับราคาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ สถานการณ์พายุฝนที่โหมกระหน่ำในประเทศไทยทำให้น้ำบ่าเข้าท่วมเชียงใหม่ ในกรุงเทพฯ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ คนใหม่ ความเคลื่อนไหวจากปัจจัยทางสังคม การเมือง และฤดูกาลเหล่านี้กำลังจะค่อย ๆ ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อวงการศิลปะและละครไทย

การแสดงในเดือนพฤษภาคมยังคงทำหน้าที่ “ฟื้นคืนชีวิตให้แก่เมือง” (Urban Revitalization) และยังมีลักษณะของการทำงานบน “พื้นที่จำเพาะ” (Site-Specific) ซึ่งออกแบบให้การแสดงมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับพื้นที่ ต้นเดือน Pichet Klunchun Dance Company นำเสนอ “พญาฉัททันต์” ที่ noble PLAY: Inspiration Playground  ในขณะที่ “นาดสินปฏิวัติ” จัดกิจกรรม “นาฏศิลป์เสรี ดนตรีเพื่อมวลชน” ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องให้รัฐคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องหาคดีทางการเมือง กลางเดือน  ผดุง จุมพันธ์  นำเสนอการเต้นร่วมสมัย “ผู้บ่วง-สรวง: Worshippers” ที่คำชะโนด โดยนำศิลปะ-ความเชื่อมาผสานให้มีความเป็นร่วมสมัย ปลายเดือน กลุ่มศิลปินได้จัดงาน “เลื่อนฤทธิ์ Arrival” ซึ่งประกอบไปด้วยเวิร์คชอป  คอนเสิร์ต และ Street Performance ณ ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ย่านเยาวราช ส่วนที่ช่างชุ่ยก็มีการแสดง Cocktail Theatre “2046: The Greater Exodus” ที่มีลักษณะของ immersive theatre ซึ่งผู้ชมจะได้สัมผัสกับประสบการณ์การชมการแสดงในหลากหลายมิติ

ภาคการศึกษา นอกจากละครจบของนิสิตนักศึกษาจากหลายสถาบันที่เริ่มจัดแสดงต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีและยังคงจัดแสดงต่อไปแล้ว หลายมหาวิทยาลัยยังทำงานแนวทดลอง การบริการสังคม และการเสวนาควบคู่กันไปด้วย สาขาการแสดง ม.ขอนแก่น นำเสนอ Mixed-media performance เรื่อง “สินไซ 2022” ทางออนไลน์ในงาน Contemparary Creative Performing Arts Conference  และยังเริ่มการปฐมนิเทศโครงการแก่นอีสานวัฒน์ “เฮ็ดให้เกิ่ง (ลอง) เบิ่งอีสาน” ในขณะที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ จัดงานเสวนาในหัวข้อ “เรียนละครมาก่อนถึงจะดีหรือมาฝึกกันทีหลังก็ได้: บทสนทนาว่าด้วยการพัฒนาฝึกฝนทักษะการแสดงเพื่ออุตสาหกรรมบันเทิง” โดยมีศิลปินและครูการแสดงหลายท่านเข้าร่วมอภิปราย ส่วนคณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว. เชิญศิลปินที่ทำงานในแวดวงการแสดงและศิลปินจากภาคอีสาน เหนือ และใต้ ร่วมพูดคุยในหัวข้อ “ศิลปะกับคนชายขอบ” 

งานเวิร์คชอปและงานเครือข่ายละครนั้น Gabfai ได้จัดโครงการแลกเปลี่ยนกับศิลปินชาวกัมพูชา นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การสร้างความปลอดภัยในโรงเรียนด้วยวินัยเชิงบวก” ส่วน Dhepsiri Creative Space ร่วมกับ Ta Lent Show ได้จัดการแสดงและเวิร์คชอปในเดือนนี้ด้วย กลุ่มลานยิ้มการละคร-สวนอัญญา เฮือนครูองุ่น มาลิก ประสบกับภาวะน้ำท่วมเฉียบพลันทำให้ข้าวของเสียหายเป็นจำนวนมาก นับเป็นเดือนที่เชียงใหม่มีกิจกรรมครึกครื้นแต่ก็มีเรื่องที่ต้องส่งกำลังใจให้ชาวละครที่เชียงใหม่ในคราวเดียวกัน (สามารถสนับสนุนเงินสำหรับการฟื้นฟูลานยิ้มการละคร ผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ เลขบัญชี 793-271-2050​ ชื่อบัญชี ประภัสสร คอนเมือง​ และสวนอัญญา-เฮือนครูองุ่น ผ่านธนาคารกรุงเทพ เลขบัญชี 547-019-7765​ ชื่อบัญชี กัญญา ใหญ่ประสาน และ ชญาณิฐ สุนทรพิธ​ ) ในกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้คะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยก่อนการเลือกตั้ง TTF ได้จัดงานเสวนา “กาง เมาท์ ชำแหละ วิสัยทัศน์ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ประเด็นนโยบายศิลปะ” ด้วย สามารถชมบันทึกย้อนหลังได้

เดือนนี้เป็นอีกเดือนหนึ่งที่ศิลปินไทยหลายคนได้ไปทำงานในต่างประเทศ ปานรัตน กริชชาญชัย และสุรัตน์ แก้วสีคร้าม จัดแสดงนิทรรศการในโครงการ  Residency AAC_R’s Beyond Biophilia ที่ Asia Cultural Center ประเทศเกาหลีใต้ ส่วนทีม B-Floor เดินทางไปเยอรมนีเพื่อร่วมกันสร้างงานชิ้นใหม่ร่วมกับโรงละคร Residenztheater ซึ่งจะนำเสนอในช่วงปลายปีนี้ อ.อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ กลุ่มศิลปินไทยได้นำการแสดง “มรดก โนรา: Spirit of NORA” ไปจัดแสดง ณ Palazzo Pisani Santa Marina เวนิส ประเทศอิตาลี และ Asian American Performers Action Coalition (AAPAC) ซึ่งมีผู้ร่วมก่อตั้ง คือ Pun Bandhu ศิลปินไทยในสหรัฐอเมริกา ได้รับรางวัล Tony Honors for Excellence Theatre ในฐานะที่ได้สร้างความหลากหลายและยกระดับอุตสากรรมละครในสหรัฐอเมริกา  

สืบเนื่องจากการปิดรื้อสถาบันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งละครไทยเดือนนี้ได้รายงานไปเมื่อเดือนก่อน เดือนนี้ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และแนวร่วมปกป้องสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดงานสนทนากลุ่ม “โครงการพัฒนาพื้นที่ของสถาบันปรีดี พนมยงค์” ณ สมาคมธรรมศาสตร์ เปิดโอกาสให้หลายฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ ท้ายนี้ TTF ขอแสดงความยินดีกับศิลปินที่ได้รับเงินอุดหนุนการพัฒนาและส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยครั้งที่ 2 จากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย มา ณ โอกาสนี้ด้วย

แล้วพบกันใหม่เดือนหน้า

ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ

ละครไทยเดือนนี้ - เมษายน 65

เดือนเมษายนนอกจากจะเป็นเดือนที่ขึ้นชื่อว่าร้อนที่สุดแล้วยังเป็นเดือนเถลิงศกใหม่ตามคติของคนในแถบภูมิภาคนี้ด้วย คนไทยใช้โอกาสในช่วงหยุดยาวในการกลับบ้าน เดินทางท่องเที่ยว หรือพักผ่อนตามอัตภาพ ในขณะที่สถานการณ์การหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ยังดำเนินคู่ขนานไปกับปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นตามความขัดแย้งในระดับโลก นอกจากนี้ ปรากฏการณ์มิลลิกินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวที Coachella ก็ได้ทำให้ความคิดเรื่องการผลักดัน “Soft Power” กลายมาเป็นประเด็นให้ถกกันอีกครั้ง บทบาทของงานศิลปวัฒนธรรม นิเวศศิลป์ และความต้องการของผู้เสพ-ผู้สร้าง ถูกหยิบยกขึ้นมาทบทวนครั้งแล้วครั้งเล่าเช่นเดียวกับลมร้อนเดือนเมษาที่พัดผ่านมาและผ่านไปเมื่อถึงช่วงเวลาของมัน


ละครและการแสดงในเดือนเมษายนนี้มีให้รับชมกันโดยไม่ขาดตอน เริ่มต้นที่เทศกาลการแสดง “สามย่าน ละลานใจ” ซึ่งนำเสนอการแสดงหลากหลายรูปแบบทั้งละครสมัยใหม่ ละครหุ่น ละครพูด และงานแสดงที่ผสมผสานระหว่างความเป็นสมัยใหม่และงานแบบประเพณีที่ล้วนเป็นการใช้ศิลปะคืนชีวิตชีวาให้กับชุมชนสามย่าน-บรรทัดทอง และกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในละแวกนั้น เฉกเช่นเดียวกับนิทรรศการ “Evolution” ของ Pichet Klunchun Dance Company และ noble PLAY ที่ได้ก่อให้เกิดการปะทะสังสรรค์อันนำไปสู่การบรรจบกันระหว่างศิลปะการแสดงและเทคโนโลยีเพื่อมาปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ นำเสนอความคิด และสร้างความหมายให้กับ “พื้นที่” วิธี “การบูรณาการข้ามศาสตร์” เช่นนี้ ยังปรากฏให้เห็นในละคร “Quartet: ละครสะท้อนดนตรี”  อีกด้วย ในขณะที่ส่วนภูมิภาค โรงละครเสมาลัยนำเสนอละครและการแสดงเดี่ยว 4 เรื่องซึ่งแตกต่างกันทั้งวิธีการและเทคนิคการนำเสนอ


ในฝั่งการศึกษา เดือนเมษายนนับเป็นช่วงเวลาแห่งการนำเสนอผลงานสารนิพนธ์ มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรทางด้านการละครหรือการแสดงต่างทยอยเปิดโรงละครที่ถูกปิดชั่วคราวจากโควิดมาเกือบสองปีเพื่อต้อนรับผู้ชมอีกครั้ง ในช่วงนี้บรรยากาศเทศกาลละครในรั้วมหาวิทยาลัยจึงกลับมาคึกคักเป็นพิเศษ นักศึกษาได้ใช้โรงละครเป็นเวทีสำหรับการประมวลองค์ความรู้และทดลองฝึกฝน ในขณะที่ผู้ชมทั้งหน้าเก่าและใหม่ได้ร่วมกันค่อย ๆ สร้างสมวัฒนธรรมการชมละครให้เกิดขึ้น ในเดือนนี้ยังมีการเปิดเผยการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS World University Rankings ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำในไทยอย่างมหิดล และจุฬาฯ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดด้าน Performing Arts ในช่วงอันดับ 1-100 ของโลก


ในวงเสวนาทางการละคร TTF ได้นำเสนอ “ผลสำรวจ ผู้เสพ-ผู้สร้าง ปี 2564 บอกอะไร?” ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว แม้แนวโน้มของผลสำรวจเปรียบเทียบกันทั้งสองปีจะยังไม่ต่างกันมากนัก แต่ก็มีประเด็นย่อย ๆ หลายแง่มุมให้ทั้งผู้วิเคราะห์และผู้ฟังร่วมกันขบคิดต่อ ท่านที่สนใจฟังบันทึกบทวิเคราะห์ย้อนหลัง คลิกที่นี่ นอกจากนี้ TTF ยังได้จัดกิจกรรม Intermission Talk ต่อเนื่องตั้งแต่เดือน เมษายน-กันยายน เพื่อเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สานสนทนาระหว่างคนละครที่มีความสนใจเดียวกันอีกด้วย สนใจรายละเอียด คลิกที่นี่

ศิลปินไทยก็มีความเคลื่อนไหวในต่างประเทศเช่นกัน “A Nowhere Place” ของอนัตตา ได้นำเสนอในเทศกาล Anti-Rescure Arts Festival ที่ฮ่องกง ในขณะที่กลุ่มศิลปินไทยได้ส่งผลงาน “Nong Gam” เข้าร่วมประกวดในงาน Taiwan International Documentary Festival ส่วน Felicia King ลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลีย ในฐานะ Playwright Director ก็มีผลงานเขียนซีรีย์โทรทัศน์ “The Baby” ทาง HBO และการแสดงละครเวที “Golden Shield” รอบปฐมทัศน์ในเดือนเดียวกัน ส่วน ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย ได้ร่วมเป็นแขกรับเชิญให้กับรายการ Podcast “Theatre for Good” ของประเทศแคนนาดาเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับละครของผู้ถูกกดขี่ในการขับเคลื่อนสังคม


อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่แม้จะพูดได้ไม่เต็มปากว่าเป็นความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับวงการละครโดยตรงแต่ก็ถือเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญในเดือนนี้คือ การที่ “กลุ่มทะลุฟ้า” ได้รวมตัวกันเพื่อคัดค้านการรื้อถอนอาคารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ ซึ่งผู้บริการสถาบันได้ออกมาชี้แจงในภายหลังว่าต้องมีการรื้อถอนเพราะความชำรุดทรุดโทรมของตัวอาคาร อ่านรายละเอียดที่นี่ จึงเป็นที่น่าจับตาว่าท้ายที่สุดอนาคตของพื้นที่ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการละครโรงเล็กในประเทศไทยจะเป็นเช่นไร?


ท้ายนี้ TTF ขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2564 จำนวน 12 ท่าน และขอแสดงความยินดีกับอีกหนึ่งก้าวย่างความสำเร็จในการจัดตั้ง “มูลนิธิประยูรเพื่อศิลปะ” ซึ่งจะเป็นองค์กรศิลปะด้านการบริการอีกหน่วยหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ระบบนิเวศวงการละครไทยเข้มแข็งขึ้น


รื่นเริงเถลิงศกและสวัสดีปีใหม่ไทย



ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ

ละครไทยเดือนนี้ - มีนาคม 65

เดือนมีนาคมมาเยือน โควิดยังอยู่กับเราไม่หายไปไหน การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และนายกเมืองพัทยาเพิ่งเริ่มต้นอันเป็นสัญญาณที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปในอนาคตอันใกล้นี้ ในขณะที่สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนก็ยังคงยืดเยื้อทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นสวนทางกับค่าครองชีพของคนไทยในยุคเงินเฟ้อ สถานการณ์เหล่านี้นอกจากจะส่งผลทางอ้อมต่อวงการละครเวทีไทยในแง่การเพิ่มของต้นทุนการเสพ-การสร้างงานศิลปะแล้ว ยังส่งผลทางตรงต่อการกำหนดเนื้อหาในการนำเสนอด้วย


ละครและการแสดงในเดือนมีนาคมนี้มีบทบาทสำคัญ 2 อย่างคือ “การชุบชูใจ” (Mind Healing) และ “การฟื้นคืนชีวิตให้แก่เมือง” (Urban Revitalization) ในรูปแบบและบริบทต่าง ๆ “ถึงแล้วบอกนิดหนึ่ง” ของ Sliding Elbow Studio, “เก็บใจไว้ที่หมา” ของ ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์, “Unwrap the Memories”, รวมถึงการเต้นร่วมสมัยในชื่อ “คลื่นจากระยะไกล (A Wave from a Distance)” ได้นำพาผู้ชมสำรวจความสัมพันธ์รอบตัวเราในมิติต่าง ๆ คน-คน, คน-สัตว์เลี้ยง, คน-ที่อยู่อาศัย, และคนตะวันตก-คนตะวันออก ในขณะที่ Journey in the City นำเสนอชุดกิจกรรม “เที่ยว 3 แพร่ง เดิน 4 ท่า ชม 6 หอศิลป์ ไหว้พระ 9 วัด” ตลอดทั้งเดือนมีนาคม โดยตลอดเส้นทางการท่องเที่ยวในย่านเมืองเก่าได้มีการนำเสนอการแสดง อาทิ ละครเดี่ยว “ผมจะพาเธอไปเดทที่เขตพระนคร” และการแสดงหุ่นละครเล็ก ซึ่งเป็นการนำศิลปะการแสดงมาพลิกฟื้นความมีชีวิตชีวาให้กับชุมชน เช่นเดียวกับ “แผ่นดินของเรา เดอะมิวสิคัล” ของ Village of Illumination ซึ่งได้เสนอละครเพลงกลางแจ้ง ณ เมืองโบราณ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการใช้การแสดงเน้นย้ำคุณค่าดั้งเดิม หรือสร้างนิยามความหมายใหม่ให้ “พื้นที่” และ “ชุมชน” สอดคล้องกับกิจกรรม “สามย่านละลานใจ” ที่จะจัดขึ้นในต้นเดือนเมษายนนี้


ในส่วนภูมิภาค การแสดงชุด “แผ่นดินร้องไห้” ซึ่งประกอบด้วย Performance Art ของ จิตติมา ผลเสวก และ มโนห์ราร่วมสมัยของ สมบัติ แก้วเนื้ออ่อน ได้ใช้การแสดงสื่อสารประเด็นการบุกรุกโบราณสถานเขาหัวแดง จังหวัดสงขลา ในขณะที่ Gabfai เปิดตัว “เทศกาลละคร ศิลปะ วัฒนธรรม ชุมชน (ข่วงหลวงฯ)”, Makhampom Art Space ได้กลับมาเปิดหลักสูตรต่าง ๆ ของ “โรงเรียนวิทยากร” และกิ่งก้านใบ LearnScape ได้เริ่มนำเสนอการแสดงออนไลน์ควบคู่กับการแสดงบนพื้นที่จริงในไร่กิ่งก้านใบแล้ว


ส่วนในฝั่งการศึกษา งานเสวนา และเวิร์คชอป BU Theatre Company ร่วมกับ ศูนย์วิจัย IDIERI (International Drama in Education Research Institute) University of Warwick ได้เปิดรับ Proposal จากนักการละครประยุกต์ เพื่อจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติในหัวข้อ “Navigating Mess and Complexity in Uncertain Times: values, practices, methods and impacts” ในต้นเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ส่วน TED Circles โดย TEDxCharoenkrung ได้จัดงานเสวนาออนไลน์ “ศิลปะละครที่ยกระดับหัวใจไปสู่พลังเปลี่ยนแปลงสังคม” มีศิลปินที่ทำละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงเข้าร่วมหลากหลาย อาทิ ปรีชา การุณ, นลธวัช มะชัย, จารุนันท์ พันธชาติ, และวิปัศยา อยู่พูล ในขณะที่กลุ่มดินสอสีนำเสนอศิลปะเสวนา “Women : Unfinished Justice” โดยภายในงานมีการแสดงของลานยิ้มการละครด้วย


แวดวงละครไทยในต่างประเทศ อโนชา สุวิชากรพงค์ ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย โดยการทำงานร่วมกับนักแสดงละครเวทีไทย อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ และ ศศิธร พานิชนก นำเสนอเวิร์คชอปการแสดงสดในโรงภาพยตร์ “Freetime” ที่พยายามทำความเข้าใจ ความทรงจำ ความรุนแรง ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของไทย ณ Walker Art Center ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วน กรกาญจน์ รุ่งสว่าง และ Henry Tan นำเสนอการแสดง “Dance Offering” ใน Vector#2 DYADS ที่ Esplanade Annexe Studio, Esplanade - Theatre on the bay ประเทศสิงคโปร์


จึงอาจกล่าวได้ว่าเนื้อหาของละครไทยเดือนที่มีวัน “World Theatre Day” นี้ มีน้ำหนักไปในทาง “ชุบชูใจ” หรือไม่ก็ทำหน้าที่ “ฟื้นคืนชีวิตให้แก่เมือง”​ ในแง่ใดแง่หนึ่ง ละครสะท้อนชีวิต จิตใจ และความทรงจำทั้งดีและร้ายที่เกิดขึ้นในสังคม เป็นบทบันทึกของยุคสมัย และวิสัยทัศน์ให้ชวนฝันถึงวันพรุ่งนี้


ปิดท้ายด้วยข่าวสารทั่วไปในแวดวงศิลปะ BACC เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครและมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นขอแสดงความยินดีกับ ธีรพันธ์ เงาจีนานันท์ และวิชญ์ แสนอาจหาญ ที่ได้รับคัดสรรเพื่อเข้าร่วมในโครงการศิลปะการแสดง ของ BACC ประจำปีนี้ และขอแสดงยินดีกับศิลปินละครไทยที่รับรางวัลจากการประกวดนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ด้วย ท้ายนี้ ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่น ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ เกรียงศักดิ์ ศิลาทอง ผู้กำกับละครเวทีและภาพยนตร์ที่ได้เคยสร้างผลงานที่มีคุณค่าต่อแวดวงละครไทย


แล้วพบกันใหม่ในเดือนเมษายน




ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ

ละครไทยเดือนนี้ - กุมภาพันธ์ 65

เดือนที่สองของปีผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว แนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูงอย่างยิ่ง หลายภาคส่วนเริ่มทบทวนแนวทางการควบคุมโรคใหม่และเริ่มวางแผนจะพิจารณาให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นเพื่อปรับแนวทางการรับมือและปล่อยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้อย่างใกล้เคียงความเป็นปกติที่สุด ด้านการเมืองระหว่างประเทศความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนเริ่มปะทุเป็นสงครามแล้ว ความผันผวนในโลกที่เกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่นี้ส่งผลต่อประเทศไทยทั้งในรูปของภาวะเงินเฟ้อ ของแพง และการชะลอตัวของวงการละครเวทีด้วย

เดือนกุมภาพันธ์นี้มีการแสดงสดให้เราได้ชมกันไม่มากนัก The Showhopper และ Philtration นำเสนอคอนเสิร์ตกึ่งทอล์ค “My Shot! Lin-Manuel Miranda Retrospective Concert” โดยนำเอาบทเพลงจากมิวสิคัลที่ Miranda ประพันธ์ไว้ในละครต่าง ๆ มาร้อยเรียงเป็นคอนเสิร์ต ส่วนละครออนไลน์ยังมีให้ได้ชม อาทิ “ฉิ่งฉับสลับร่าง” โดยประดิษฐ์ ประสาททอง “อาญาสตรี-อาญาชีวิต” ของ ผศ.ดร.พันพัสสา ธูปเทียน จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการแสดงนาฏศิลป์โขน “มัจฉานุ” ซึ่งนำเอานาฏศิลป์ไทยมาผสมผสานกับดนตรีแนวบาโรก โดย เบญจมินทร์ ตาดี และสาลีนี อัมมวรรธน์

ด้านเวิร์คชอปและงานเสวนา มีการจัดเวิร์คชอปการแสดงและการออกแบบแสงในกรุงเทพฯ ส่วนในระดับภูมิภาคนั้น Dhepsiri Creative Space ก็จัดเสวนาออนไลน์ “Bridge Building Exchange Dialogue on the Impact of Pandemic towards Artists” ซึ่งได้เชิญศิลปินไทยและกัมพูชาพูดคุยถึงผลกระทบของโควิดต่อศิลปิน 

ฟากฝั่งการศึกษา BU Theatre Company ร่วมมือกับเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ ในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะของนักศึกษาและเตรียมความพร้อมสู่อุตสาหกรรมบันเทิง นอกจากนี้ยังมีการแสดง “Dream are Free” ซึ่งเป็นผลงานของนักเรียนสายศิลป์-ศิลปะการแสดง ซึ่งเป็นผลผลิตจากความร่วมมือของภาควิชาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ และโรงเรียนอัสสัมชัญ ด้านสาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดการบรรยาย “กระบวนการการจัดคอนเสิร์ตเพื่อการประยุกต์ใช้ในละครเวที” โดยนักจัดงานคอนเสิร์ตมืออาชีพมาเพิ่มพูนทักษะและประสบการณ์แก่นักศึกษาด้วย

ด้านต่างประเทศ ฑิตยา สินุธก นักประพันธ์เพลงชาวไทย และทีม Music Theatre Factory นำเสนอละครเพลง “Half the Sky” ณ Joe’s Pub ของ The Public Theater กลางกรุงนิวยอร์ก ส่วน นานา เดกิ้น สมาชิกกลุ่ม B-Floor ซึ่งได้ย้ายไปสร้างสรรค์งานละครในนครนิวยอร์ก ได้รับทุนจาก New York Council of the Arts (NYSCA) เพื่อสนับสนุนการแสดงเรื่องใหม่ “Mammelephant” ซึ่งมีแผนจะจัดแสดงในเดือนมิถุนายน - สิงหาคมนี้

ปิดท้ายด้วยการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกิจกรรมในแวดวงละคร กิ่งก้านใบ Learnspace เปิดรับนักการละครมาเป็น “Artivist in Residence: นักสร้างสรรค์ในพำนัก” เพื่อร่วมสร้างสรรค์งานกับเยาวชนในพื้นที่ ส่วน TTF ได้เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วม “เวิร์คชอปการออกแบบและทำงานข้ามสื่อ จากละครเวทีสู่วิดิโอบันทึกการแสดง” เพื่อสนับสนุนให้ศิลปินละครเวทีสามารถออกแบบและทำงานข้ามสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมเวิร์คชอป “Theatre Management” เป็นปีที่ 2 ด้วยความมุ่งหวังที่จะพัฒนานักจัดการละครเวทีเพื่อส่งเสริมให้ละครเวทีไทยมีความยั่งยืนในทุกมิติ

แล้วพบกันใหม่ในเดือนมีนาคม


ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ

ละครไทยเดือนนี้ - มกราคม 65

ขอต้อนรับสู่เดือนแรกของปีเสือ ละครไทยเดือนนี้ถึงแม้ไม่ได้คึกคักมีสีสันหลากหลายเช่นสองเดือนส่งท้ายปีที่ผ่านมา แต่เราก็ได้เห็นสัญญาณของการเตรียมพร้อมของพื้นที่ละคร คณะละคร เครือข่ายละคร และสถาบันการศึกษาเพื่อรองรับการมาถึงของความหวังใหม่ ปีใหม่ และฤดูกาลใหม่ ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ในเดือนมกราคมอันเป็นหมุดหมายของการขึ้นศักราชใหม่ เราได้เห็นการร่วมงานข้ามศาสตร์ข้ามศิลป์ Widetype และ Documentary Club ได้ประเดิมการขึ้นศักราชผ่านโปรเจค “WIDETYPE RE-PLAY” ด้วยการนำบันทึกการแสดงละครเวที “เพลงนี้พ่อเคยร้อง” มาฉายในรูปแบบภาพยนตร์ให้เราได้ชมกันอีกครั้ง องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ได้จัดงาน “Connect Fest 2: Social Movement Weeek for All” ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมในหลายสถานที่ทั้งออนไซต์และออนไลน์ แน่นอนว่าเราได้เห็นคณะละครหรือศิลปินนำเสนอการแสดง การเคลื่อนไหว และเวิร์คชอป อาทิ “Moving Body Workshop” ของพระจันทร์เสี้ยวการละคร หรือการแสดงของ Act It House ที่นำศิลปะการแสดงมาเป็นเครื่องมือในการแสดงออกถึงสิทธิเสรีภาพบนร่างกายและนำเสนอประเด็นความหลากหลายของสังคม อีกทั้งมูลนิธิหุ่นสายเสมาศิลปะเพื่อสังคมได้นำเสนอการแสดง “ละครหุ่นไม้จันทร์หอม” ประกอบการแสดงคอนเสิร์ตของ Thailand Philharmonic Orchestra ณ มหิดลสิทธาคาร เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติด้วย 

ในขณะที่ส่วนภูมิภาคเราได้เห็นการนำเสนอละครประยุกต์เรื่อง “ห้าศูนย์หนึ่ง” โดยคณะละครชุมชนป่าพะยอมและเครือข่ายพัทลุงยิ้ม/มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก นอกจากนี้ยังมีการแสดง “อ่าน ฟัง ลุย” และ “Sleep Tight” ทั้งสองเรื่องโดย นิกร แซ่ตั้ง ณ เทพศิริ ครีเอทีฟสเปซในจังหวัดเชียงใหม่

ในท่ามกลางกิจกรรมการแสดงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น กิจกรรมและพื้นที่ทางศิลปะบางส่วนก็ยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคอันเป็นผลพวงจากสถานการณ์โควิด 19 จนทำให้ต้องเลื่อนหรือยุติกิจการลง ไม่ว่าจะเป็นการประกาศยกเลิกการแสดงละครนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การเลื่อนการแสดงออกไปหนึ่งสัปดาห์จากเดิมที่วางแผนจะจัดในช่วงวันเด็กแห่งชาติของ “4House@Art ครั้งที่ 2”  และการยุติกิจการของ “สยามนิรมิตร” บนถนนเทียนร่วมมิตรที่ได้ประกาศงดการแสดงตั้งแต่ปีก่อน และได้ทำการรื้อถอนอาคารโรงละคอนและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดลงแล้วในช่วงต้นปีนี้ เหล่านี้ล้วนเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่ส่งผลกระทบต่อวงการละครไทย อ่านสรุปภาพรวมละครเวทีปี 2564 ได้ที่นี่

กระนั้น องค์กรศิลปะและเครือข่ายละครบางส่วนยังคงยืนหยัดเพื่อความอยู่รอดของศิลปะแขนงนี้ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครได้จัดทำสรุปพัฒนาการ “โครงการศิลปะการแสดง (Performative Art Project)” ที่จัดขึ้นต่อเนื่องมาตลอด 10 ปี เพื่อให้เราได้เห็นการเติบโตของหนึ่งในพื้นที่ละครของวงการละครเวทีไทย (อ่านสรุปกิจกรรมได้ที่นี่) นอกจากนี้ ยังมีข่าวที่น่ายินดีว่าวงการละครเวทีกำลังจะมีพื้นที่ทางศิลปะแห่งใหม่ในชื่อ “GalileOasis” ย่าน BTS ราชเทวี อีกด้วย คงจะต้องติดตามกันต่อไปว่าในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงรอบด้านที่เกิดขึ้นนี้ วงการละครเวทีไทยจะเคลื่อนตัวไปในทิศทางใด

ในฟากฝั่งการศึกษา สถาบันทางการละครหลายสถาบันได้เริ่มเปิดรับนักศึกษาใหม่กันแล้ว อาทิ ภาควิชาศิลปการแสดง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสาขาวิชาการละคอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีผู้สนใจสมัครจำนวนมาก ในขณะเดียวกันภาควิชาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็ได้จัดกิจกรรม “PA หางาน (แต่) งานหาใคร” และ “Theatre & Musical Workshop” เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้และได้รับประสบการณ์ตรงจากทีมงานผู้ผลิตงานละครโรงใหญ่ คือ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ และโรงละครรัชดาลัยเธียเตอร์ นับเป็นการเชื่อมต่อนักศึกษาเข้าสู่ตลาดงานในอุตสาหกรรมบันเทิงอีกด้วย

ด้านเครือข่ายการแสดงและงานต่างประเทศ BIPAM ได้ประกาศเปิดรับผลงานการเต้นจากเหล่านักเต้นไทยเพื่อเผยแพร่ลงในแพลตฟอร์ม “Stre@m” ในขณะที่ B-Floor ร่วมกับ Tinder Box Theatre Company ประเทศอังกฤษ จัดเวิร์คชอปออนไลน์ “Connections Through Culture” โดยการสนับสนุนของ British Council ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นเองก็ได้ประกาศเปิดรับไอเดีย “NYC Summer Residency” สำหรับศิลปินที่ต้องการนำการแสดงไปจัดแสดงในนิวยอร์ก และ “Theatre Management Workshop 2565” ซึ่งเป็นโปรแกรมที่จะช่วยเติมเต็มให้นิเวศศิลป์ของวงการละครเวทีไทยเติบโตในทุกมิติ

วงการละครเวทีไทยในศักราชใหม่นี้แม้จะกล่าวไม่ได้เต็มปากนักว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการพลิกฟื้น แต่ความเคลื่อนไหวที่ไม่หยุดนิ่งจากภาคส่วนต่าง ๆ ช่วยให้เราได้เรียนรู้ ถอดบทเรียน และเตรียมความพร้อมอย่างมีความหวังถึงก้าวใหม่ ๆ ที่กำลังจะผ่านเข้ามา ละครเวทีจะผ่านทั้งวิกฤตและโอกาสที่รายล้อมได้อย่างไร เป็นปัญหาที่คนละครไทยต้องช่วยกันจับตา ขบคิด ร่วมมือ และลงมือทำให้เกิดขึ้นในศักราชใหม่นี้


ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ

ละครไทยเดือนนี้ - ธันวาคม 64

เดือนสุดท้ายของปีมาถึง ท่ามกลางข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนไทยจำนวนไม่น้อย ในขณะที่ผู้คนอีกส่วนเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตบนความปกติใหม่ได้บ้างแล้ว วงการละครในช่วงนี้ได้เริ่มฟื้นตัวจากการบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัดและกลับมาผลิตผลงานใหม่ ๆ กันอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมเข้าสู่ศักราชใหม่ที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านเข้ามา


กิจกรรมทางการแสดงที่น่าสนใจส่งท้ายปีเกิดขึ้นในแทบทุกภูมิภาค เริ่มต้นที่ “Biopsy of Fear” ชุดการแสดง 3 เรื่องของ 3 คณะละคร คือ “A Thorn of Conceptual Pain” โดย B-Floor x ราษดรัมส์ “The Cowbell and the Invisible” ของพระจันทร์เสี้ยวการละคร และ “แม่งูเอ๋ยฯ (Ibu Ular)” ของลานยิ้มการละคร ซึ่งชวนเราสำรวจความกลัวผ่านประเด็นทางสังคมในแง่มุมต่าง ๆ ชุมชนละครในเชียงใหม่ยังคงครึกครื้นด้วยการแสดงหลากหลาย ทั้ง “Karma Cheap” ของลานยิ้มการละครที่นำเสนองานแนวทดลองซึ่งพัฒนามาจากการสังเกตชีวิตของแรงงานในพื้นที่ช้างม่อย ในขณะที่ Part Time Theatre นำเสนอละครเรื่อง “มุกหนอก” และ “เทศกาลละคร 24 ชั่วโมง เชียงใหม่ครั้งที่ 2” ในภาคอีสานมีเทศกาลศิลปะใหญ่ ๆ 2 งาน คือ “Thailand Biennale Korat 2021” และ “สกล จังซั่น” โดยมีรูปแบบการนำงานศิลปะเข้าไปพลิกฟื้นความมีชีวิตให้กับชุมชน ทั้งแบบที่เชิญศิลปินชาวต่างชาติและแบบที่เชิญศิลปินท้องถิ่นมาสร้างผลงาน ในงาน Biennale ที่โคราชนี้ มูลนิธิหุ่นสายเสมา ศิลปะเพื่อสังคม ได้นำเสนอ “Trace Legend: ร่องรอยในตำนาน” ซึ่งมีจุดสนใจที่การประดิษฐ์หุ่นสายจากดินมวลเบาด่านเกวียน และการสร้างหุ่นสายช้างขนาดใหญ่ เป็นการพัฒนาเชิงเทคนิคการสร้างหุ่นและสร้างความน่าตื่นตาแก่ผู้ชมได้ไม่น้อย


นอกจากการแสดงในสถานที่จริงแล้ว การบรรจบกันของโลกจริงและโลกดิจิทัลยังไม่ได้หยุดชะงัก คณะละครมรดกใหม่ เสนอ “เทศกาลละครนานาชาติมรดกใหม่” ในรูปแบบออนไลน์ โดยมีการแสดงจำนวน 25 เรื่องจากศิลปินใน 10 ประเทศเข้าร่วมงาน โดยนำเสนอในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ ละครหุ่น ละครใบ้ และวิดีโออาร์ต ในขณะที่ Wildtype และ Documemtary Club เปิดตัว “Wildtypr Re-play” นำบันทึกการแสดงสดของการแสดงในละครโรงเล็กมาฉายผ่าน Doc Club & Pub ให้เราได้ชมกันบนจออีกครั้ง ส่วน Artpedia ร่วมกับ Pichet Klunchun Dance Company เสนอ “My Dance, Let’s Dance” เปิดโอกาสให้นักเต้นในโลก Tiktok มาร่วมเวิร์คชอปกับศิลปินอาชีพเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสื่อสารผ่านภาษาท่าทางและการเต้น อันเป็นการบรรจบกันของโลกคู่ขนานที่มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ


ฟากฝั่งการศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือทางวิชาการด้านการสื่อสารการแสดง เพื่อร่วมกันพัฒนาเครือข่ายทางวิชาการและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เรายังได้เห็นการก่อตั้งสมาพันธ์นาฏศิลป์ระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทยในปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่เริ่มจะมีความเคลื่อนไหวด้วยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ งานเสวนาออนไลน์ ซึ่งน่าจะเป็นการเติมเต็มมิติของวงการละครไทยในอนาคตให้มีความรอบด้านยิ่งขึ้น 


ในระดับนานาชาติ พิเชษฐ กลั่นชื่น และศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ได้รับเชิญเป็น Keynote Speaker ในงาน “Yokohama International Performing Arts Meeting (YPAM)” และได้ส่งคณะนักแสดงจาก พิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์ คอมพานี ไปแสดงโขน ณ พิพิธภัณฑ์ The musée du quai Branly - Jacques Chirac ประเทศฝรั่งเศส รวมไปถึงผลงานละคร “OK Land” โดย Circle Theatre ก็ได้นำเสนอในเทศกาล Fringe ประเทศสิงคโปร์ในรูปแบบ Video on Demand


ภาพรวมของละครไทยเดือนธันวาคมนี้ จึงเป็นไปในลักษณะที่มีชีวิตชีวาทั้งบนเวทีจริงคู่ขนานไปกับความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ แม้ความคึกคักยังไม่กลับมา 100% แต่เป็นการกลับมาที่ราบรื่นและหวังว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตทางการตลาดที่น่าสนใจ อาทิ Biopsy of Fear ได้ปรับโปรโมชั่นการขายบัตรสำหรับการซื้อบัตรเป็นกลุ่มจาก 10 ที่นั่งขึ้นไป เป็น 4 ที่นั่งเพื่อให้สะดวกกับผู้ชมในการรวมตัวกันซื้อบัตรราคาพิเศษ นอกจากนี้เรายังได้เห็นการร่วมมือระหว่างคณะละครโรงเล็กและโรงภาพยนตร์นอกกระแสที่จะนำบันทึกการแสดงมาฉายให้ผู้ชมได้ชมอีกครั้ง นับเป็นความร่วมมือที่น่าติดตามอีกรูปแบบหนึ่งในวงการละครไทย


ท้ายที่สุดนี้ TTF ขอแสดงความยินดีกับ ฐานชน จันทร์เรือง ศุภวัฒน์ หงษ์สา และทีมเขียนบทที่ได้รับรางวัล Best Script Writing ในงาน Asian Television Awards 2021 จากผลงานเขียนบทละครโทรทัศน์เรื่อง “'อินจัน' Extraordinary Siamese Story : Eng & Chang” และขอร่วมยินดีกับผู้ที่ได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2564 ประเภทส่งเสริมและสนับสนุนเด็กและเยาวชนด้วย ในโอกาสการขึ้นปีใหม่ 2565 TTF ขอส่งความสุขและความปรานาดีมายังผู้เสพ-ผู้สร้างละครไทยทุกคน ขอให้ปีนี้เป็นปีแห่งการเติบโตและการสร้างสรรค์สำหรับตัวท่านและสังคมไทย


สวัสดีปีใหม่จากไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่น



ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ

ละครไทยเดือนนี้ - พฤศจิกายน 64

เมื่อพายุฝนเริ่มอ่อนกำลังลงจนมีกระแสลมเย็นเอื่อย ๆ พัดเข้ามาแทนที่ เราจึงตระหนักได้ว่าฤดูกาลใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว ฤดูกาลที่ไม่ใช่เพียงสภาพดินฟ้าอากาศเท่านั้นแต่เป็นฤดูของการจัดกิจกรรมการแสดงภายใต้ “ความปกติใหม่” (New Normal) ซึ่งมีผลงานการแสดงหลากหลายให้ชมกันสด ๆ ภายใต้สถานการณ์โควิดภาพรวมในประเทศที่ยังทรงตัว


อาจกล่าวได้เดือนพฤศจิกายนเป็นเดือนแห่งการเริ่มต้นพบกันใหม่ของทั้งศิลปินและผู้ชมละครภายหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคที่ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นระยะ ๆ พลังแห่งความสร้างสรรค์ที่อัดอั้นมาหลายเดือนได้ถูกปลดปล่อยผ่านหลายเทศกาลที่จัดต่อเนื่องกัน ได้แก่ เทศกาลละครกรุงเทพ (Bangkok Theatre Festival) โครงการศิลปการแสดง ครั้งที่ 10 (BACC Performative Arts Project #10) และเทศกาล Bangkok 23rd International Festival of Dance and Music  ส่วนเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชนยังจัดในรูปแบบออนไลน์อยู่ โรงละครขนาดใหญ่อย่างโรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศก็ได้กลับมาเปิดทำการต้อนรับคนรักการแสดงสดในเดือนนี้อีกเช่นกัน


การจัดการแสดงภายในยุคโควิดมีขั้นตอนเพิ่มเติมจากธรรมเนียมปฏิบัติเล็กน้อย สิ่งที่เราเห็นได้ชัดก็คือ จำนวนการแสดงและจำนวนที่นั่งต้องปรับลดลงอย่างชัดเจน การตรวจวัดอุณหภูมิบริเวณทางเข้าอาคาร การจัดผังที่นั่งแบบกระจายเก้าอี้เพื่อให้เกิดระยะห่าง การจำกัดจำนวนผู้ชมต่อรอบ การขอให้ผู้ชมสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาชมการแสดง และการกำหนดให้นักแสดงทุกคนต้องฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 2 เข็ม ละครบางเรื่อง เช่น “โจนาทาน ชาญวิทย์ แห่งออซ” ของลานยิ้มการละครก็ได้บันทึกการแสดงและเปิดให้ชมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ภายหลังการแสดงจบด้วย เห็นได้ว่าทั้งผู้สร้างและผู้เสพต่างคุ้นชินกับกฎเกณฑ์เหล่านี้มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ละครเวทียังพิสูจน์ตัวเองว่าไม่ว่าอย่างไรผู้ชมก็รอคอยที่จะกลับมาพบกันแบบสด ๆ สังเกตได้จากบรรยากาศที่ครึกครื้นและเสียงตอบรับในทุก ๆ เทศกาล


ด้านภูมิภาค เชียงใหม่ยังคงเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับงานแสดงที่โดดเด่น Dhepsiri Creative Space จัด “เทศกาลศิลปะเพื่อชุมชน Dhepsiri Creative Art Festival-DCAF” ขึ้น ซึ่งอัดแน่นไปด้วยกิจกรรมทางศิลปะหลากหลายแขนง เฉพาะส่วนของละครในเดือนพฤศจิกายนนี้ Part Time Theatre นำเสนอละคร 2 เรื่อง คือ “การหายตัวไปของนักการละคร พ.ศ. 2584” และ “จดหมายรักจากเมียเช่า” ในขณะที่ หมอลำหุ่นคณะเด็กเทวดา นำเสนอละครเปิดหมวกในงาน “หลง (ฮัก) ดง ไทบ้าน Folk Art” ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดมหาสารคาม ส่วนในภาคใต้ มูลนิธิหุ่นสายเสมา ศิลปะเพื่อสังคม ได้ร่วมงานการจัดแสดงหุ่นนานาชาติ “Harmony World Puppet Festival” ที่จังหวัดภูเก็ต เรียกได้ว่าเดือนพฤศจิกายนนี้เป็นเดือนที่คึกคักไม่น้อยสำหรับแวดวงละครไทย


ระดับนานาชาติ TTF ขอแสดงความยินดีกับ จิตติ ชมพี ที่ได้รับรางวัล Chevalier des Arts et Lettres จากสถานฑูตฝรั่งเศส รางวัลนี้จะมอบให้กับผู้มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างมรดกทางวัฒนธรรมของฝรั่งเศส และฑิตยา สินุธก นักประพันธ์เพลงชาวไทยที่ได้รับรางวัล Fred Ebb Award ในฐานะนักประพันธ์เพลงสำหรับละครเพลงที่มีความโดดเด่น 


ศิลปินไทยยังนำเสนอผลงานในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง สิริกานต์ บรรจงทัด ศิลปินจากกลุ่ม puppet by Jae ได้ส่งผลงานชื่อ “Angoon’s Garden” ในเทศกาลละครหุ่นออนไลน์ “No Strings Attached 2021” ประเทศสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ พิเชษฐ์ กลั่นชื่น แดนซ์ คอมพานี ได้นำเสนองานซ้อมงานแสดงชิ้นใหม่ที่ช่างชุย ก่อนจะนำไปแสดงที่พิพิธภัณฑ์ Quai Branly ประเทศฝรั่งเศส


ด้านการศึกษา ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุงได้เปิดตัวหนังสือใหม่ “วิจัยการแสดง: สร้างความรู้ใหม่ด้วยการทำละคร” ซึ่งได้ช่วยชี้แนะแนวทางการทำวิจัยจากการลงมือทำละครเพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้จากการปฏิบัติที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ ภาควิชาการละคร จุฬาฯ นำเสนอชุดการแสดงออนไลน์ “Since 1971: เทศกาลละครนอกโรง” เพื่อฉลองวาระ 50 ปี ภาควิชา ในขณะที่ ภาควิชาการแสดง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เผยให้เห็นความคืบหน้าของอาคารปฏิบัติการทางการแสดงหลังใหม่ซึ่งคาดว่าจะพร้อมสำหรับการเรียนการสอนเทอมหน้า นับเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในแวดวงการศึกษาการละครในประเทศไทย


ท้ายที่สุด TTF ได้จัด Thai Theatre Night 2021 เพื่อระดมทุนสำหรับการดำเนินงานของมูลนิธิซึ่งในปีนี้จัดภายใต้แนวคิด “คิดถึงละครเวทีโคตร ๆ” ซึ่งคิดว่าคงจะเป็นวลีที่ทั้งศิลปินและผู้ชมละครในไทยคงจะมีความรู้สึกนี้คล้าย ๆ กัน เดือนหน้าจะเป็นเดือนสุดท้ายของปีและน่าจะเป็นอีกเดือนที่งานแสดงให้เราได้ชมติดตามกันภายใต้ความปกติใหม่นี้


ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ

ละครไทยเดือนนี้ - ตุลาคม 64

ท่ามกลางการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 และการเตรียมการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง ทิศทางละครไทยเดือนนี้ยังคงผสมระหว่างการนำเสนอในรูปแบบออนไลน์และการขยับขยายจากโลกเสมือนเข้าสู่เวทีจริง นอกจากนี้แนวโน้มที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือการได้เห็นงานของศิลปินไทยหลายชิ้นก้าวเข้าสู่เวทีละครและจอภาพยนตร์ในระดับโลก

เริ่มต้นที่ความสำเร็จของภาพยนตร์ “ร่างทรง” (The Medium) โดย บรรจง ปิสัญธนะกูล ซึ่งได้รับรางวัล Best of Bucheon จากเทศกาลภาพยนตร์ Bucheon International Fantastic Film Festival (BIFAN) ประเทศเกาหลีใต้ และได้รับเลือกจากสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ให้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยในการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 94 สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม โดยผู้กำกับการแสดงได้กล่าวว่าส่วนหนึ่งในความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเพราะ “การใช้บริการคนละครเวทีมาแสดง” ในภาพยนตร์เราได้เห็นฝีมือการแสดงที่เข้มข้นของคนละครเวที อาทิ เอี้ยง สวณีย์ อุทุมมา, สืบ บุญส่ง, ปู ยะสะกะ, ทา Ta Lent Show, และ ชัชวัฒน์ แสงเวียน ซึ่งได้นำทักษะที่ฝึกฝนอย่างเชี่ยวชาญจากโลกเวทีละครมาถ่ายทอดผ่านสื่อภาพยนตร์ อันเป็นเครื่องบ่งชี้ถึง “คุณภาพ” และ “ฝีมือ” ของคนละครไทยซึ่งหากได้รับการส่งเสริมที่เหมาะสมก็จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงไทยเป็น Soft Power ของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง

เชียงใหม่ดูจะเป็นจังหวัดที่มีการแสดงคึกคักเป็นพิเศษในเดือนนี้ เริ่มตั้งแต่การแสดงรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา โดยเครือข่ายศิลปินเชียงใหม่ที่ประตูท่าแพ การแสดงผลงานของนักศึกษาวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่นำเสนอทั้งในโรงละครจริง คือ “แสงตะวัน” และการแสดง Showcase ออนไลน์หลายชิ้น ทาง Facebook Page “กีด-Keet” นอกจากนี้ยังมีละครจากคณะละครต่าง ๆ เช่น “สุมาเต๊อะเจ้า...ที่กวนตีน” โดย Part Time Theatre และ “ไม้ค้อนแมน” โดย Cat oN oX Theatre ซึ่งได้นำเสนอบนพื้นที่จริง นักแสดงและผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์จริง อันเป็นเสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์ของละครเวทีที่สื่ออื่น ๆ ยังทดแทนไม่ได้ นับว่าศิลปินในเชียงใหม่ได้ใช้โอกาสสั้น ๆ ในช่วงที่มาตรการการควบคุมโรคของจังหวัดคลายความเข้มข้นลงในการนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ก่อนยอดผู้ติดเชื้อใหม่ของจังหวัดจะกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง ท่ามกลางความคึกคักนี้ สวนอัญญา - เฮือนครูองุ่น มาลิก: หอประวัติศาสตร์ประชาชนภาคเหนือ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่การแสดงสำคัญของคณะละครในจังหวัดเชียงใหม่ก็ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ โดยตัวอาคารไม่ได้รับความเสียหายมากนัก แต่ก็ส่งผลให้กระบวนการฝึกซ้อมละครชะงักลงระยะหนึ่ง

ในโลกเสมือนจริง ละครออนไลน์และละครวิทยุยังคงมีบทบาทคู่ขนาน สถานีละครมรดกใหม่ นำเสนอละครออนไลน์โดยมีเค้าโครงจากวรรณคดีไทย คือ “สินสมุทรร้องทุกข์” และ Kantana Motion Pictures ได้เปิดตัวละครเสียง “หมาดำ” ซึ่งถือเป็นการดึงเอาศักยภาพและความถนัดของตนมาสร้างสรรค์งานบนสื่อออนไลน์นี้

ด้านเทศกาลและงานเวิร์คชอป CAPT Fest 2021 ยังคงดำเนินการเสวนาออนไลน์ในการพร่าเลือนเส้นแบ่งพรมแดนของศิลปะการแสดงและชี้ให้เห็นถึงคุณค่าของศิลปะในลักษณะที่ปรับปนอยู่ร่วมกับศาสตร์อื่น ๆ โดยส่งท้ายชุดการเสวนาในหัวข้อ “Art is All Around - The Finale” ในขณะที่เทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชน (BICT Fest) ในปีนี้ ได้เตรียมทั้งงานแสดงและเวิร์คชอปหลากหลายมานำเสนอในรูปแบบออนไลน์ โดยผู้สนใจสามารถเข้าร่วมได้ไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วน Bangkok Theatre Festival 2021 ได้ประกาศรายชื่อการแสดงในเทศกาลที่จะเกิดขึ้นในเดือนหน้านี้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แม้ปีนี้เทศกาลจะต้องจำกัดจำนวนการแสดงและจำนวนผู้ชมต่อรอบให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิดในกรุงเทพฯ แต่คงจะไม่เกินเลยนักหากจะกล่าวว่างานนี้เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทั้ง “ผู้เสพ-ผู้สร้าง” ละครไทย รอคอยที่จะได้กลับมาพบกันในสถานที่จริงอีกครั้ง โดยที่ TTF ได้จัดแคมเปญ “25% ก่อน 25” เพื่อให้ผู้ได้รับสิทธิพิเศษที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี สามารถซื้อบัตรในเทศกาลละครกรุงเทพฯ และการแสดงอื่น ๆ ที่จัดแสดงในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนในราคาเพียง 25% เท่านั้น แคมเปญนี้จัดเป็นประจำทุก ๆ เดือน เพื่อช่วยกระตุ้นให้ผู้ชมที่ยังอยู่ในวัยเรียนและเพิ่งเริ่มทำงานได้เข้าถึงละครเวทีร่วมสมัยได้อย่างเสมอภาค

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ได้เปิดตัว “Live Recording Sessions: การแสดงสดด้วยโปรดักชั่นเต็มรูปแบบ” เพื่อช่วยสนับสนุนคุณภาพการถ่ายทำการแสดงสดของศิลปินเพื่อใช้สำหรับการแสดงสดและสำหรับให้ศิลปินได้เผยแพร่ผลงานในช่วงของโควิดนี้ นอกจากนี้ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และ Bangkok Art Biennale ต่างก็ได้เริ่มประกาศหลักเกณฑ์การให้ทุนสนับสนุนและรับสมัครศิลปินที่สนใจเข้าแสดงงาน 

ในต่างประเทศ ศิลปินไทยได้แสดงศักยภาพบนเวทีโลก ฝั่งอเมริกา ฑิตยา สินุธก แต่ง Book and Music ของละครเพลงเรื่องใหม่ “Dear Mr.C” นำเสนอผลงานการซ้อม ณ นครนิวยอร์ก นอกจากนี้คนละครไทยที่ทำงานอยู่ในสหรัฐฯได้ริเริ่ม TTF Spotlight Podcast เพื่อเป็นพื้นที่แบ่งปันประสบการณ์ของนักละครชาวไทยซึ่งทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกา ฝั่งยุโรป ในงาน Festival d’Automne a’ Paris วิชย อาทมาทได้นำเสนอการแสดงในชื่อ “Four Days in September” พร้อมด้วยผลงานภาพยนตร์ “Memoria” ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ส่วนในเอเชีย พิเชษฐ กลั่นชื่น ร่วมกับศิลปินชาวฮ่องกง นำเสนอผลงาน “No.60: Back to Basic”  สิรี ริ้วไพบูลย์เป็นตัวแทนชาวไทยในการเสวนาเรื่อง “Arts, culture, covid - pandemic survival stories” ในเวที Asia Pacific Network for Cultural Education and Research (ANCER Lab) ซึ่งจัดขึ้นที่มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ Babymine นำเสนอการแสดงเดี่ยวออนไลน์ “Survivor” ในโปรเจค Livestream “14” ซึ่งเป็นเทศกาลละครที่มีศิลปินจากหลายชาติเข้าร่วม และ สิริกาญจน์ บรรจงทัดได้นำเสนอการแสดงในงาน Lize  นับเป็นเดือนที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อยที่ได้เห็นบทบาทของศิลปินไทยในหลายเวทีทั่วโลก

ด้านการศึกษา สมาพันธ์ศิลปะการแสดงอุดมศึกษาฯ ได้จัดงานเสวนา “หนังสารคดี เกร็ดโขน” และชุดงานเสวนาออนไลน์ภายใต้ชื่อ “Theatre Talks in October” ใน 3 หัวข้อหลัก คือ Theatre Technology, Terminology, Memory โดยคณาจารย์จากหลักสูตรการแสดงและการละครหลายสถาบัน TRF Criticism ได้จัดเสวนาหัวข้อ “ละครเวทีตะวันตก ได้แค่นี้น่ะหรือ?” โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. เจตนา นาควัชระ ซึ่งงานเสวนาออนไลน์จากผู้เชี่ยวชาญการละครในแวดวงการศึกษานี้เป็นแนวโน้มที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นช่วงสถานการณ์โควิดนี้ เพราะทำให้การจัดงานเสวนาหรือการบรรยายทางวิชาการที่แต่เดิมมักจัดในสถานที่จริงซึ่งต้องอาศัยการเตรียมการ งบประมาณ และความพยายามในการเดินทางของผู้จัดและผู้เข้าร่วมเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ผลของการเสวนานั้น ๆ ที่เผยแพร่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ได้เข้าถึงผู้ฟังเป็นจำนวนมาก และยังเป็นประโยชน์สำหรับการสืบค้นทบทวนในอนาคตด้วย

ในโอกาสที่ภาควิชาศิลปการละคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีอายุครบ 50 ปี ภาควิชาได้จัดงาน “เทศกาลละครนอกโรง” (Offstage Theatre Festival) รวมผลงานละครขนาดสั้น 16 เรื่อง จากผู้กำกับ 16 คน เพื่อเฉลิมฉลองในวาระพิเศษนี้ ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของงานนี้นอกเหนือไปจากการแสดงแล้ว รูปแบบการจำหน่ายบัตรก็น่าสนใจอีกด้วย โดยผู้สนใจสามารถเลือกบริจาคเงินเข้าภาควิชา หรือบริจาคผ่านไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่น เพื่อเป็นการส่งเสริมองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานสนับสนุนให้คนทำละครเวทีไทย คณะละครไทย และวงการละครไทยเติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน นับเป็นอีกก้าวย่างหนึ่งของการร่วมมือกันเพื่อความเข้มแข็งของวงการละครไทยในทุกมิติ

ท้ายที่สุดนี้ TTF ขอแสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง ในโอกาสที่ได้รับการเชิดชูเกียรติ “วัฒนคุณาธร” ประจำปี 2564 จากกระทรวงวัฒนธรรม และขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของอาจารย์บรูซ แกสตัน อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร จุฬาฯ ผู้ซึ่งได้สร้างคุณูปการต่อการอภิวัฒน์วงการดนตรีไทยไปสู่ความร่วมสมัย

เดือนหน้าจะเป็นอีกเดือนที่คนละครได้กลับมาพบกันในโรงละครเพื่อดื่มด่ำกับ “ประสบการณ์สด” อันหลากหลาย และหวังว่าสถานการณ์โควิดในไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้น

ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ


ละครไทยเดือนนี้ - กันยายน 64

ทิศทางละครไทยในเดือนกันยายนนี้ยังคงทรงตัวต่อเนื่องและส่วนใหญ่ยังนำเสนอในรูปแบบออนไลน์เช่นเดียวกับแนวโน้มที่เกิดขึ้นในเดือนก่อนๆ รัฐบาลได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 มาเป็นระยะ ตั้งแต่การอนุญาตให้นั่งทานอาหารที่ร้าน การเปิดห้างสรรพสินค้า พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ โรงภาพยนตร์ ไปจนกระทั่งการเล่นดนตรีสดในร้านอาหาร สำหรับการเปิดโรงละครนั้นรัฐบาลให้อำนาจคณะกรรมการโรคติดต่อของแต่ละจังหวัดเป็นผู้พิจารณาอนุญาต โดยอนุโลมให้นักแสดงสามารถถอดหน้ากากระหว่างการแสดงได้ แต่ผู้ชมซึ่งจำกัดจำนวนไม่เกินรอบละ 50 คน ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา และสามารถทำการแสดงได้ไม่เกินเวลา 3 ทุ่ม นอกจากเรื่องโควิดแล้ว กระแสการหนุน Soft Power ไทยสู่ระดับโลก จากกระแสนิยมที่เกิดขึ้นหลังการเปิดตัว MV ของ ลิซ่า แบล็กพิงค์ ก็เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง และเรายังคงต้องติดตามวิกฤตทางอุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้

ศิลปินยังคงสร้างสรรค์และไม่หยุดที่จะค้นหา ทดลอง และผลิตงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์โดยปรับประยุกต์เทคนิคในการแสดงสดสู่พื้นที่ใหม่ซึ่งเป็นโลกเสมือน และยังดึงเอาศักยภาพของเครื่องมือในพื้นที่เสมือนเหล่านั้นมาสร้างให้เกิด “ประสบการณ์ใหม่” แก่ผู้ชมด้วย เริ่มต้นที่การแสดง “รำแก้บนออนไลน์” (DANCE OFFERING: The experimental work in progress) โดย กรกาญจน์ รุ่งสว่าง และภาพยนตร์สั้นในชื่อเดียวกันของ ธนัทภัณ ปาละกะวงค์ ณ อยุธยา ซึ่งตั้งคำถามกับสถานะความศักดิ์สิทธิ์และการต่อรองเชิงอำนาจ นอกจากตัวงานที่น่าสนใจแล้วเรายังเห็นความพยายามในการใช้เครื่องมือ “Paid Online Event” ของ Facebook ในจัดเก็บค่าเข้าชมในการชมการแสดงออนไลน์ แทนการชำระเงินผ่านตัวกลางอื่นๆ ส่วนทาง อักษร จุฬาฯ ได้นำเสนอละครออนไลน์  “เช่า.เขา.อยู่” ผ่านโปรแกรม Zoom ซึ่งเล่ามุมมองของผู้หญิง 4 คน ผ่าน 4 ห้องประชุมออนไลน์ ผู้ชมสามารถเลือกเข้าชมการแสดงเดี่ยวได้เพียง 3 จาก 4 ห้องเท่านั้น โดยผู้ชมจะได้รับรู้เรื่องราวของห้องที่เหลือจากการพูดคุยหลังการแสดง นับเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ใหม่ที่ศิลปินพยายามทดลองในการเล่าเรื่องบนพื้นที่ที่แตกต่างออกไป

ในส่วนของเทศกาลและงานเวิร์คชอป เทศกาลศิลปะการแสดงร่วมสมัยนานาชาติ BIPAM2021 ภายใต้แนวคิด “ความเป็นเจ้าของ” ผ่านการแสดง 6 เรื่อง กับ 8 หัวข้อเสวนา ได้สำเร็จลงอย่างสมบูรณ์ เราได้เห็นการปะทะสังสรรค์ของงานศิลปะกับสหวิทยาการแขนงอื่นๆ ในขณะที่ CAPT FEST ขยายประเด็นความเป็นสหสาขาของงานศิลปะการแสดงให้ชัดเจนยิ่งขึ้นผ่านชุดหัวข้อสนทนาออนไลน์และเวิร์คชอปในหลากหลายประเด็น อาทิ “Destination Art & Culture”, “Storytelling for Game Design”, และ “ศิลปะ x สุขภาพจิต x ธุรกิจโมเดล?” ซึ่งทำให้เราเห็นว่าศิลปะไม่ถูกจำกัดอยู่เฉพาะแต่ในแวดวงของตัวมันเอง หากแต่ยังสอดประสานและเชื่อมโยงเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันธุรกิจรวมทั้งศาสตร์อื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย ปลายเดือนกันยายน กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยได้ปิดรับโครงการศิลปะร่วมสมัยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในปีนี้ สศร. เน้นสนับสนุนโครงการศิลปะที่มีการประยุกต์เทคโนโลยีมาสร้างเป็นนวัตกรรม การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และการส่งเสริมความเป็นไทยสู่สากล ซึ่ง TTF ได้มีส่วนช่วยเสริมทักษะให้นักการละครที่กำลังเตรียมจะขอทุนผ่านกิจกรรม “Grantwriting Circle” ด้วย

ฟากฝั่งการศึกษา เราเห็นก้าวกระโดดของมหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งได้เปิดหลักสูตรใหม่ในชื่อหลักสูตร “การแสดง” (Performance Practice) ซึ่งจัดการเรียนการสอนแบบ Learning Paradigm Curriculum ที่เน้นการเรียนรู้เป็นชุดวิชาเพื่อพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพและมุ่งสร้างบัณฑิตที่สามารถประยุกต์ศาสตร์การแสดงไปสู่การทำงานที่หลากหลายโดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะในรูปแบบการแสดงสดหรือการแสดงบนเวทีเท่านั้น นอกจากนี้ สาขาวิชาการแสดง มข. ยังได้ดำเนินโครงการประกวดเยาวชนสร้างสรรค์ “แก่นอีสานวัฒน์” ครั้งที่ 3 เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย ทำให้เราได้เห็นอัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่พร้อมจะเปล่งประกายในสังคมไทยต่อไป ส่วนสมาพันธ์ศิลปะการแสดงระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทยก็ได้จัดงานเสวนาในหลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับ Soft Power และ ลิซ่า แบล็กพิงค์ ซึ่งกำลังเป็น Talk of the town ในขณะนี้ด้วย ประเด็นเหล่านี้คงจะเป็นแนวทางให้เราได้ถกกันถึงที่ทางของศิลปะการแสดงในสังคมไทยและสังคมโลก

ในท่ามกลางกระแสโควิดซึ่งยังไม่ได้หายไปไหนและการพูดถึงศิลปะวัฒนธรรมในฐานะที่เป็น Soft Power ในการส่งออกและนำเสนอความเป็นไทยไปสู่สายตาโลกนั้น เราได้เห็นชื่อของ Chang Theatre ซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปนำเสนอผลงานการเคลื่อนไหวร่างกายในโปรเจค “14” ซึ่งมีนักเต้นจากทั่วโลกเข้าร่วม นอกจากนี้เรายังได้รับข่าวการยุติกิจการถาวรของ สยามนิรมิต กรุงเทพฯ ที่จำต้องปิดตัวลงถาวรจากวิกฤตโควิด การปิดตัวลงครั้งนี้เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของผลกระทบจากวิกฤตทางสาธารณสุขและการขาดการเยียวยาที่ชัดเจนจากรัฐต่อวงการศิลปะ ทำให้โชว์สำหรับการท่องเที่ยวที่อาจเรียกได้ว่ามีขนาดใหญ่และก่อให้เกิดการจ้างงานหลายอัตราไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

หลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษาวันที่ 29 กันยายน 2564 TTF ได้รวบรวมประกาศของจังหวัดต่างๆ เกี่ยวกับการจัดแสดงละครเวทีไว้ใน Facebook ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่น ท่านสามารถติดตามอ่านได้ และกำลังจะออกข้อเสนอแนะในการจัดแสดงละครในสถานที่จริง (ฉบับปรับปรุง) ในลำดับต่อไป


หวังว่าการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคติดต่อตามสถานการณ์โควิดซึ่งมีแนวโน้มดีขึ้นบ้างนี้จะเป็นสัญญาณแห่งการเริ่มต้นให้ ผู้เสพ-ผู้สร้างละครเวทีไทย ได้กลับมาพบกันบนโลกจริงในเร็ววันนี้

ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ

ละครไทยเดือนนี้ - สิงหาคม 64

สิงหาคมนี้ยังคงเป็นอีกเดือนหนึ่งที่ละครไทยอยู่ในภาวะชะลอตัวท่ามกลางเหตุการณ์สำคัญและความผันผวนในระดับโลก ทั้งการปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2021 ที่ประเทศญี่ปุ่น การเข้ายึดกรุงคาบูลเมืองหลวงของอัฟกานิสถานของกองกำลังตาลีบัน และการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา กับทั้งวิกฤตภายในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น การขยายมาตรการกึ่งล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นตลอดทั้งเดือน และการชุมนุมทางเมืองที่กลับมาเป็นประเด็นทางสังคมที่ร้อนแรงอีกครั้ง  

TTF ได้เป็นตัวกลางรับบริจาคและสั่งอาหารจากร้านค้าละครไทยเพื่อส่งมอบให้ชุมชนที่ขาดแคลนโดยไรเดอร์ที่ได้รับผลกระทบผ่าน “โครงการร้านค้าละครไทยสู่ชุมชน” ได้จัดส่งอาหารจำนวน 1,050 กล่อง 4 ร้านค้า 39 รอบจัดส่ง และทำให้ไรเดอร์ 8 ท่านมีรายได้ นอกจากนี้ TTF ยังได้ช่วย Theatre Without Borders (TWB) ระดมทุนและกดดันผู้แทนในสหรัฐอเมริกาเพื่อให้ความช่วยศิลปินที่ติดอยู่ในสนามบินกรุงคาบูลโดยด่วนที่สุด พร้อมทั้งยังได้เชิญชวนศิลปินไทยโพสรูปพร้อมข้อความ “Love and Support from Thai Theatre Makers” เพื่อส่งกำลังใจให้กับกลุ่มศิลปินที่กำลังรอความช่วยเหลือที่สนามบินด้วย  

เมื่อโรงละครยังเปิดไม่ได้ ศิลปินได้ขยายพื้นที่โรงละครและเครือข่ายศิลปะเข้าสู่แพลตฟอร์มใหม่ ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง แม้เส้นแบ่งระหว่างความเป็นภาพยนตร์กับการเก็บเสน่ห์แบบสดๆ ของละครเวทียังเป็นเรื่องที่ถกเถียง แต่เราก็ได้เห็นนักการละครพยายามค้นหาวิธีการเล่าเรื่องและนำเสนอด้วยวิธีการที่ไม่ซ้ำเดิม เดือนนี้มีการสร้างสรรค์ผลงานการแสดงหลายเรื่องเริ่มด้วยการแสดง “ปีศาจแรงโน้มถ่วง” ของกวิน พิชิตกุล ที่นำความโกรธและความอัดอั้นใจจากประเด็นการจับกุม อุ้มหาย และการทำร้ายผู้มีความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองมาถ่ายทอดเป็นการแสดง  “In Own Space: การแสดงในพื้นที่ส่วนตัว” โครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เป็นวิธีการที่ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานออนไลน์ขนาดสั้นด้วยแรงบันดาลใจจากเรื่องก่อนหน้า ครั้งนี้ได้คัดสรรศิลปินการละครทำงานคู่กับผู้กำกับภาพเคลื่อนไหวโดยเฉพาะ ทุกท่านสามารถติดตามได้ที่นี่  ปลายเดือนเราได้เห็นละครออนไลน์เรื่อง “สมหมายสายสมรและคำวิงวอนต่อโควิดสิบเก้า” ของ ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ ซึ่งถ่ายทำออนไลน์แสดงห่างกันไปคนละจอคอมพิวเตอร์สามารถเข้าชมทั้ง 3 ตอนได้ผ่านละครไทยออนดีมานด์  

เราเห็นการเคลื่อนไหวมากขึ้นจากฝั่งละครเชิงพาณิชย์ด้วยเช่นกัน อย่างโรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศได้เปิดตัวรายการสนทนา “Siam Pic Talk” ที่ได้เชิญศิลปินทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังมาพูดคุยถึงประสบการณ์ชีวิตและกระบวนการทำงานในฐานะคนละคร ส่วนเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ก็ยังคงนำบันทึกการแสดงละครเพลงหลายเรื่องหมุนเวียนเข้าฉายให้ได้รับชมกันทาง TrueID  ซึ่งคงช่วยให้เราได้หายคิดถึงการทำงานงานและการไปชมละครในโรงละครไปได้บ้าง 

ในส่วนภูมิภาค “Loei Art Fest (LAF) – เทศกาลศิลปะร่วมสมัยแห่งจิตวิญญาณเมืองเลย” ได้จุดประกายการสร้างสรรค์โดยผนึกกำลังระหว่างเครือข่ายกลุ่มพลเมืองที่ขับเคลื่อนชุมชนมาทำงานร่วมกับศิลปินร่วมสมัยมาสร้างเป็นผลงานศิลปะที่เกิดจากอัตลักษณ์ชุมชนซึ่งจัดในลักษณะคู่ขนานทั้งในพื้นที่จริงและออนไลน์สำหรับผู้ชมนอกพื้นที่ในช่วงที่ยังเดินทางข้ามจังหวัดลำบาก กิจกรรมจะจัดต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกันยายน ส่วนมหาวิทยาลัยขอนแก่นยังคงเดินหน้าโครงการละครเยาวชนสร้างสรรค์ “แก่นอีสานวัฒน์ ปีที่ 3” โดยปรับรูปแบบเป็นออนไลน์ ในขณะที่หมอลำหุ่นคณะเด็กเทวดา ได้แง้มให้เราเห็นบางส่วนของโรงละครเล็กหมอลำหุ่นที่จะกลายเป็นพื้นที่การแสดงที่ผสานชุมชนผ่านงานศิลปะ นับว่าความเคลื่อนไหวเหล่านี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมและศิลปะการแสดงไทยให้ยั่งยืนขึ้นในทุกมิติ 

ฝั่งเทศกาลก็มีกิจกรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย ทั้งการเปิดตัว CAPT FEST กิจกรรมแรกจากสมาคมการค้าส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (Contemporary Arts & Cultural Industry Promotion Trade Association Thailand - CAPT) ซึ่งจะกลายเป็นอีกหนึ่งพลังในการยกระดับและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมศิลปะร่วมสมัยในสังคมไทยให้เกิดคุณค่าทั้งในเชิงสุนทรียะและในทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ติดตามกิจกรรมทั้งเวิร์คชอปและการสนทนาประเด็นศิลปะที่ต่อยอดไปในมิติต่างๆ อันจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ที่ Facebook fanpage ของ CAPT ในขณะที่ BIPAM ก็ได้จัดชุดงานเสวนาทาง Clubhouse เสพศิลป์ร่วมสมัย โดยชวนตั้งคำถามว่าเราเป็นเจ้าของอะไรได้บ้างในช่วงเวลาที่ไร้ความหวังนี้ซึ่งจะสอดคล้องกับ Theme หลักของเทศกาลศิลปะการแสดงร่วมสมัยนานาชาติ BIPAM2021 ในปีนี้ก็คือ “Ownership” ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนนี้ และปิดท้ายด้วยกิจกรรมรวมพลคนละครประจำปีของไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นจัดปีนี้เป็นปีแรกในชื่อ “Unity and Resilience” และจะจัดเป็นประจำทุกปี 

สำหรับฝั่งการศึกษาก็จัดเสวนาออนไลน์กันอย่างคึกคัก คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานประชุมวิชาการสร้างสรรค์ด้านศิลปกรรมระดับชาติ ครั้งที่ 2 ขึ้น โดยภายในงานมีเสวนาพิเศษเรื่อง “การสร้างและการขยายฐานวิชาชีพศิลปะการแสดงในช่วงเวลาแห่งความพลิกผัน” โดยสมาพันธ์ศิลปะการแสดงระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย และการนำเสนอผลงานของเหล่าคณาจารย์ด้านศิลปะการแสดงด้วย ทางฝั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้นำเสนอชุดงานเสวนาออนไลน์ Life | Performance  “ชวนคุย ชวนคิด ชีวิตกับละคร” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนิเวศวัฒนธรรมด้านการแสดง: สร้างสรรค์ วิจัย และนวัตกรรม โดยได้เชิญนักวิจัย ศิลปิน และผู้เชี่ยวชาญมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการสร้างพื้นที่ศิลปะในมหาวิทยาลัยและชุมชน นอกจากนี้ สมาพันธ์ศิลปะการแสดงฯ ร่วมกับ Pichet Klunchun Dance Company ยังได้จัดงานเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “สาธิตหมายเลข 60 โดยพิเชษฐ กลั่นชื่น กับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ” เป็นการส่งท้ายเดือน และคุณพิเชษฐ ยังได้นำเตรียมนำเสนอการบรรยาย “หลักคิดของ หมายเลข 60” แก่สถาบันการศึกษาที่สนใจโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอีกด้วย 

ท่ามกลางความน่ายินดีที่เราได้เห็นความเคลื่อนไหวของละครเวทีไทยที่พยายามยืนหยัดเพื่อวงการและสังคมในช่วงวิกฤตสาธาณะสุขและวิกฤตการเมืองที่เป็นอยู่นี้ TTF ขอคัดค้านการยกเลิกการเชิดชูเกียรติ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณกรรม ปี 2554 เพราะสังคมเสรีคือสังคมที่ประชาชนทุกคนล้วนมีสิทธิใช้วิจารณญาณของตนประเมินค่าว่าแนวคิดใดเหมาะควรแก่การสนับสนุนและยึดถือปฏิบัติ  TTF ดำเนินงานด้วยนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เราขอยืนยันในหลักสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของศิลปินไทย  

นอกจากนี้ ยังได้ออกแถลงการณ์ขอคัดค้านและรวบรวมรายชื่อ “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. ….” ซึ่งจำกัดการเติบโตขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรอันรวมถึงองค์กรอันจะกระทบแวดวงละครเวทีไทยโดยตรงอีกด้วย  

ขอให้เรามีความหวังสำหรับวันพรุ่งนี้ แล้วพบกันเดือนหน้า 

ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ

ละครไทยเดือนนี้ - กรกฎาคม 64

เดือนกรกฎาคมที่มาตรการล็อกดาวน์เข้มข้นขึ้นจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกรุงเทพมหานครที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นเดินหน้ารณรงค์กับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อช่วยเหลือนักการละคร เกิดเป็นโครงการจัดหาวัคซีนกลุ่มแก่นักการละครเมื่อต้นเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ TTF ยังมีโครงการร้านค้าละครไทยสู่ชุมชนกับโครงการจัดหาชุดตรวจโควิด Rapid Antigen Test ก่อนหน้าที่จะหาซื้อได้ทั่วไปอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เดือนนี้ละครออนไลน์คึกคักพอสมควรให้ผู้ชมและแฟนกลุ่มต่างๆ หายคิดถึง ประเดิมด้วยแวดวงละครเพลงที่ปรับตัวจากการฉายผลงานออนไลน์เป็นนำบทเพลงละครมิวสิคัลมานำเสนอในแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น สยามพิฆเนศปล่อยบทเพลงมิวสิคัลเรื่องดังลง Apple Music, iTunes, SPOTIFY และ JOOX ส่วน The Showhopper สื่อละครเวทีจัดคอนเสิร์ตกลาง Clubhouse ชื่อ “Musical Café Member Showcase: Once Upon a Time” Clubhouse เป็นช่องทางสื่อสารที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องนับแต่เปิดตัว นอกจากการเปิดห้องสนทนาในหัวข้อต่างๆ แล้ว ยังเป็นครั้งแรกที่เกิดละครวิทยุบนพื้นที่นี้ โดย Qrious Theatre ได้นำผลงาน “คืนนั้นฉันรักโจชัว หว่อง” ละครเวทีที่จัดแสดงไปเมื่อปี 2562 มาแสดงอีกครั้งแบบละครวิทยุ ด้านต่างประเทศ For What Theatre ที่หลังจากกลับมาจากทัวร์ยุโรปก็ส่งการแสดงเรื่อง “เพลงนี้พ่อเคยร้อง” เผยแพร่ในเทศกาล National Arts Festival ประเทศแอฟริกาใต้  

สืบเนื่องจากปัญหาขาดแคลนพื้นที่สร้างสรรค์ผลงานละครเวทีอย่างรุนแรงในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา หลุยส์ - กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ นักจัดการศิลปะที่สนใจทำงานกับชุมชนและภาคธุรกิจสร้างสรรค์ได้ขยับขยายบ้านของตนให้เป็นโรงละครขนาดย่อม จากเดิมที่เปิดเป็นบ้านเรียนการแสดง ในชื่อ  Act It House By Louis พื้นที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่สำคัญที่จะทำให้วงการละครเวทีเติบโตได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สำหรับทดลอง/ซ้อม หรือพื้นที่จัดแสดงงาน การเคลื่อนไหวของหลุยส์ในครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง 

ฝั่งภูมิภาค เดือนนี้เทศกาล “เสียงสะท้อน” โดย Dhepsiri Creative Space ที่นำเสนอผลงานจากศิลปินเชียงใหม่กว่า 50 ท่าน เผยแพร่ออนไลน์ให้ได้ชมกันอย่างจุใจ นักฟ้อน 2 ท่าน รณรงค์ คำผา และแววดาว สิริสุข ได้เดินทางไปซ้อมการแสดงเรื่อง The Mahabharata ที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งจะจัดแสดงในเดือนสิงหาคม ในขณะเดียวกัน โรงเรียนศิลปะการแสดงกาดสวนแก้วได้ประกาศเลื่อนการแสดงละครเวทีเรื่อง ฟอลคอน เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ The Musical ไปเป็นต้นปีหน้า ซึ่งตามแผนเดิมวางว่าจะจัดแสดงต้นปีนี้ การเลื่อนการแสดงออกไปนี้เกิดขึ้นกับหลายกลุ่มละคร บางกลุ่มละครก็ตัดสินใจยกเลิกการแสดงของตนเอง แน่นอนว่าเหล่านี้คือ การสูญเสียต้นทุนทางเวลาและรายได้ ดังที่ TTF ได้เสนอไว้ในการรณรงค์กับหน่วยงานรัฐ 


ขอนแก่นนับเป็นจังหวัดเดียวที่ได้นำเสนอละคร ณ สถานที่จริง โดยกลุ่มละคร BlankSpace ละครเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ISAN CREATIVE FESTIVAL 2021 อีสานโคตรซิ่ง” กลุ่มละคร BlankSpace เป็นกลุ่มละครอิสระ ศิษย์เก่าสาขาวิชาศิลปะการแสดง ม. ขอนแก่น ที่เริ่มออกมาทำงานนอกรั้วมหาวิทยาลัย มีคณาจารย์ช่วยสนับสนุนและเป็นที่ปรึกษา นับเป็นการเติบโตของวงการละครเวทีร่วมสมัยในภูมิภาคที่น่าตื่นเต้น

ฝั่งการศึกษา นำเทรนด์โดยสาขาศิลปะการแสดง ม. กรุงเทพ ที่เริ่มเปิดสอนการ Live Streaming และการใช้โปรแกรมออกแบบดิจิทัลอย่าง Unreal Engine เพื่อเสริมทักษะให้นักศึกษาการละครในยามที่ประตูโลกเทคโนโลยี ออนไลน์ และศิลปะแสดงสดเชื่อมกันแล้ว

ด้านต่างประเทศ นักการละครไทย - ออสเตรเลีย Felicia King ได้ร่วมพูดคุยสัมภาษณ์ David Henry Hwang ศิลปินละครเวทีอเมริกัน เจ้าของบทละคร M. Butterfly ใน Conversation Series ของ National Institute of Dramatic Art ประเทศออสเตรเลีย

TTF เปิดกิจกรรมใหม่ในโปรแกรมเชื่อมต่อละครไทย นั่นก็คือ ปฏิทินทุน รวบรวมข่าวสารและกรอบเวลาของทุนทุกประเภทที่เกี่ยวกับวงการ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรม residency ส่งผลงาน ทุนสนับสนุน ทุนความร่วมมือ และทุนการศึกษา ติดตามได้ที่ ปฏิทินทุน เริ่มแล้ว!

ละครไทยเดือนนี้ - มิถุนายน 64

มิถุนายนเป็นเดือนที่ปฏิทินละครไทยเงียบเหงาที่สุด สืบเนื่องจากมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด ยอดผู้เสียชีวิตที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงความไม่มั่นใจของผู้จัดงานเอง การทำงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์จึงยังเป็นช่องทางสื่อสารหลักของชาวละครเวทีมาตลอดหลายเดือน 

ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นได้เปิดแพลตฟอร์ม Vimeo สำหรับละครไทยออนดีมานด์ บริการฟรีแก่นักการละครทุกท่านที่ต้องการนำผลงานมาให้เช่าชม เริ่มเปิดมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 มีละครเวทีกว่า 15 เรื่องให้ได้ติดตามทั้งแบบฟรีและเสียค่าชม สามารถสนับสนุนศิลปินละครเวทีได้ที่นี่ หากท่านอายุต่ำกว่า 25 ปี ท่านสามารถเข้าร่วมแคมเปญ 25% ก่อน 25 ลุ้นรับส่วนลดชมละครไทยออนดีมานด์ได้อีกด้วย หากท่านต้องการนำผลงานของท่านสร้างรายได้ผ่านละครไทยออนดีมานด์ สามารถติดต่อผู้จัดการโปรแกรมได้ที่ peangdao@thaitheatre.org 

ในเดือนนี้ นักการละครหลายท่านมีผลงานจัดแสดงในระดับนานาชาติ ละครเวทีเรื่อง สี่วันในเดือนกันยา ของกลุ่ม For What Theatre กำกับการแสดงโดยวิชย อาทมาท ถึงกำหนดเดินทางไปพรีเมียร์ที่เวียนนาในเทศกาล Wiener Festwochen ต่อด้วยเทศกาล Kunstenfestivaldesarts ที่บรัสเซลส์ อีกทั้งยังมีแผนเดินทางไปปารีสในเดือนตุลาคมและออสโลต้นปีหน้า ด้านสปาร์ค ดราม่า สตูดิโอ คุณครูร่มฉัตรและมานิตาก็ได้ร่วมแสดงผลงานแสดงออนไลน์ใน Salon Performance ของ Lucid Body House ที่นิวยอร์กอีกด้วย

นอกจากนี้ TTF ขอร่วมแสดงความยินดีกับสวนีย์ อุทุมมา นักแสดงหญิงที่คร่ำหวอดวงการละครเวทีมาอย่างยาวนานกับบทนำในภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง’ ภาพยนตร์ร่วมทุนไทย - เกาหลีใต้ซึ่งปล่อยตัวอย่างออกมาแล้วและมีเสียงตอบรับดีมากจากทั้งสองประเทศ

ฝั่งภูมิภาค ที่เชียงใหม่ Dhepsiri Creative Space ประกาศรายชื่อศิลปินหลากหลายแขนงที่ได้ร่วมแสดงผลงานในเทศกาลออนไลน์ “เสียงสะท้อน” ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook fanpage Dhepsiri Creative Space เดิมรู้จักในนาม บ้านครูเทพ ได้ปรับแบรนด์ใหม่เพื่อเป็นพื้นที่ทางศิลปะและวรรณกรรมและเชื่อมเครือข่ายท้องถิ่นและนานาชาติอย่างยั่งยืน TTF เห็นว่าพื้นที่ลักษณะนี้ควรเพิ่มจำนวนมากขึ้นเพื่อระบบนิเวศทางวัฒนธรรมที่แข็งแรง

ด้านลานยิ้มการละครได้นำกระบวนการเวิร์คชอปออนไลน์ในเทศกาล Asian Youth Theatre Festival หัวข้อการสร้างการแสดงบนท้องถนนอีกด้วย 

ภาคการศึกษา เข้าสู่ฤดูการปิดรับสมัครนักศึกษาระดับปริญญาตรีในเดือนนี้ ขณะนี้หลายมหาวิทยาลัยด้านศิลปะการแสดงได้ปรับหลักสูตรเพิ่มทักษะการเป็นผู้ประกอบการสร้างสรรค์เข้าไปด้วย เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ซึ่งได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก แน่นอนว่าความเข้าใจเชิงธุรกิจจะช่วยให้การทำงานศิลปะมีความยั่งยืนขึ้น TTF เองก็ให้ความสำคัญดังที่ได้จัดอบรมนักจัดการละครเวทีไป การปรับหลักสูตรครั้งนี้จึงเป็นเรื่องดีที่ชุมชนละครเวทีอาจได้เห็นนักจัดการละครเวทีเพิ่มมากขึ้นเร็วๆ นี้

สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยได้มอบรางวัลสุรินทราชา นักแปลและล่ามดีเด่น ประจำปี 2564 แก่ดารกา วงศ์ศิริ นักเขียนบทประจำกลุ่มดรีมบอกซ์ เธียเตอร์ ผู้มีผลงานแปลบทละครเวทีทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส

ปิดท้ายเดือนนี้ TTF ได้รวบรวมงบกำไรขาดทุนจัดทำเป็นโครงการ Lost Revenue Package เสนอต่อสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) รวมถึงได้รณรงค์ให้ภาครัฐจัดสรรวัคซีนกลุ่มสำหรับนักการละครทั่วประเทศ TTF ต้องขอขอบคุณ ศ. พรรัตน์ ดำรุงเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ด้วยที่ได้เชื่อมต่อช่วยให้การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น

ละครไทยเดือนนี้ - พฤษภาคม 64

เดือนพฤษภาคม มาตรการปิดสถานที่ชั่วคราวเพื่อป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่อย่างเข้มงวดส่งผลให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถจัดการเรียนการสอนรวมถึงจัดการแสดงในมหาวิทยาลัย โรงมหรสพจำต้องงดกิจกรรม แม้กิจกรรมออนไลน์ยังคงดำเนินได้ต่อไปแต่ภาพรวมของวงการละครเวทีก็เซื่องซึมลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับบรรยากาศของปีที่แล้ว

ขณะนี้ กรุงเทพมหานครขยายมาตรการถึงวันที่ 14 มิถุนายน เชียงใหม่เพิ่งประกาศผ่อนปรน ด้านขอนแก่นถึง 15 มิถุนายน มาตรการนี้ทำให้การแสดงที่เลื่อนมาจากเดือนเมษายนต้องเลื่อนออกไปอีก หลายเรื่องยกเลิกการแสดง TTF เล็งเห็นถึงความยากลำบากของคณะละครรวมไปถึงเจ้าของโรงละครที่ประสบภาวะขาดแคลนรายได้จึงจัดทำโครงการเยียวยารายได้ในระดับองค์กรเพื่อยื่นข้อเสนอต่อกระทรวงวัฒนธรรมเป็นลำดับต่อไป 

ในกรุงเทพ Crescent Moon Theatre ได้เชิญชวนนักการละคร 16 คน เขียนบทโมโนล็อคขึ้นใหม่ภายใต้สถานการณ์ new normal นักการละครที่ต้องการใช้ Zoom meeting ไม่ว่าจะจัดกิจกรรมหรือประชุมสามารถติดต่อได้ที่ ladda@thaitheatre.org ไม่มีค่าใช้จ่าย การแสดงเดี่ยว stand up comedy Tangmo Bless America เป็นตัวอย่างงานออนไลน์อีกชิ้นหนึ่ง ที่ตั้งใจสร้างให้ชมออนไลน์โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะสตรีมมิ่งสดหรือดูแบบออนดีมานด์ เน้นทำตลาดออนไลน์โดยเฉพาะซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่ดีทีเดียว ต่างจากการแสดง FLU-FOOL ของกลุ่มบีฟลอร์เมื่อธันวาคมปีที่แล้ว ที่ออกแบบงานให้ทำงานกับผู้ชมในโรงละครคู่ไปกับการดูสตรีมมิ่งสด

เดือนนี้ยังมีข่าวการกลับมาของ AUA กับหน้าตาโฉมใหม่ เป็นอาคารตึก 7 ชั้นที่ประกอบไปด้วยโรงเรียนสอนภาษาอย่างเดิม และยังตั้งใจให้เป็นศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไม่ว่าจะงานศิลปะหลากหลายแขนง คอนเสิร์ต ฉายหนัง ตลาดนัด และห้องสมุด นับเป็นวิสัยทัศน์ของการบริหารงานอาคารที่ผสมรวมด้านการทำธุรกิจกับวัฒนธรรมที่น่าสนใจมาก ในสมุดปกขาวที่ TTF ได้นำเสนอต่อสภาเมื่อกลางปีที่แล้ว ก็มีข้อหนึ่งที่พูดถึงการใช้พื้นที่ภาคเอกชนในลักษณะนี้ไว้ด้วย เมื่อเรากลับมาใช้ชีวิตปกติได้มากขึ้น AUA จะเป็นอีกพื้นที่หย่อนใจอีกที่หนึ่งสำหรับคนรักศิลปะอย่างแน่นอน

ฝั่งภูมิภาค โซโนโกะ พราวจัดเวิร์กชอปออนไลน์ร่วมในเทศกาล Stay Home Festival อีกทั้งยังเปิดเวิร์คชอปบูโตและวิปัสสนาแดนซ์ร่วมกับ Crystal Theatre ละครเวทีมิวสิคัลอีสาน อีหล่าขาแดนซ์ ของสาขาดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งดำเนินการมากว่าครึ่งทางได้ประกาศยกเลิกการแสดง 

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังไม่ทุเลาลง เทศกาลศิลปะการแสดงต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ไม่ว่าจะเป็น Loei Art Fes - เลยอาร์ตเฟส 2021 เทศกาลศิลปะร่วมสมัยแห่งจิตวิญญาณเมืองเลย ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคม - 1 สิงหาคมนี้ BIPAM หรือ Bangkok International Performing Arts Meeting ในวันที่ 1 - 5 กันยายน หรือ BICTfest ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ นักจัดการศิลปะและเจ้าของเทศกาลก็ประสบกับความท้าทายเช่นกัน ต่างต้องปรับรูปแบบการนำเสนอของเทศกาล วางแผนให้มีมาตรการป้องกันสอดคล้องกับมาตรการจากภาครัฐ รวมถึงมีแผนสำรองในกรณีฉุกเฉิน

ด้านการศึกษา ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมพัฒนา “ชุดข้อมูลและโมเดลจำแนกอารมณ์จากเสียงพูดภาษาไทย” ปัญญาประดิษฐ์แยกแยะอารมณ์จากเสียงพูด กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นการทำงานบูรณาการข้ามสายวิทยาศาสตร์และศิลปะที่น่าสนใจมาก รวมถึงในเดือนนี้ยังเปิดหลักสูตรปริญญาเอกด้าน Performance Practice | Transdisciplinary in Theatre and Performance และได้ประกาศผลผู้ที่ผ่านการคัดเลือกรุ่นที่ 1 ไปเรียบร้อยแล้ว การทำวิจัยและการจัดการข้อมูลนับเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาวงการ ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพหรือเชิงปริมาณ ล่าสุดนี้ TTF ได้จัดเสวนาออนไลน์วิเคราะห์ข้อมูลจาก “ผลสำรวจผู้เสพ - ผู้สร้าง” เป็นส่วนหนึ่งในโปรแกรมสำรวจละครไทย ที่เก็บมาตลอดทั้งปี 63 ท่านสามารถเข้าชมย้อนหลังได้ที่นี่


ต่างประเทศ ที่นิวยอร์ก Kavin Panmeechao นักเขียนบทจัดแสดงผลงานละครวิทยุเรื่อง “The Return” สร้างมาจากตำนานแม่นากพระโขนง ในโปรแกรม Westport Country Playhouse Radio Theater มีนักแสดงไทย ดนัยนันท์ กฤดากร ร่วมแสดง สามารถเข้าฟังได้ที่ www.westportplayhouse.org จนถึงวันที่ 20 มิถุนายน สิรี ริ้วไพบูลย์ นักจัดการศิลปะจากหลายแพลตฟอร์มเข้าร่วมเสวนากับเครือข่ายโปรดิวเซอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดโดย Arts Equater  สามารถฟังบันทึกย้อนหลังได้ที่นี่

ด้านการเคลื่อนไหวทางสังคม เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แววดาว ศิริสุข ศิลปินล้านนาเจ้าของคณะละคร sirisook dance theatre ถูกคุมคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐจากการฟ้อนเทวนารีขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และวิญญา คลังนิล จากลานยิ้มการละครได้แสดงศิลปะแสดงสดในเช้าวันที่เข้ารับฟังข้อกล่าวจากเหตุการณ์จัดแสดงผลงานธงชาติที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ TTF ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันเสรีภาพทางศิลปะของศิลปินโดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เราจะยืนหยัดเคียงข้างศิลปินทุกครั้งไป

เดือนพฤษภาคมยังเป็นเดือนที่แหล่งทุนและองค์กรศิลปะต่างๆ ไม่ว่าจะในหรือนอกประเทศเปิดให้นักการละครส่งขอรับทุน ท่านสามารถอัปเดตข่าวสารในวงการละครเวทีไทยได้ที่ ประกาศละครไทย TTF จะรวบรวมข่าวสารทุกช่องทางมาไว้ที่นี่

หลังมีข่าวดีเรื่องต่อสัญญาหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครได้ประกาศรายชื่อคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปฯ ชุดใหม่ ประกอบด้วยด้านบริหารจัดการและด้านศิลปวัฒนธรรมด้านละ 6 ท่าน เรามาติดตามกิจกรรม BACC ต่อจากนี้กัน

ปิดท้ายด้วย การครบรอบ 14 ปีของรัชดาลัย เธียเตอร์ในเดือนนี้ โอกาสนี้ทีมงานและผู้ที่รักการชมละครมิวสิคัลก็ได้เปิดห้องพูดคุยกับในคลับเฮาส์เพื่อร่วมแสดงความยินดีและเฉลิมฉลอง TTF ขอร่วมแสดงความยินดีมา ณ ที่นี้ด้วย

ละครไทยเดือนนี้ - เมษายน 64

เผลอครู่เดียวก็เดินทางเข้าเดือนที่ 4 เริ่มเดือนแรกในไตรมาส 2 ของปี 2021 กับข่าวไม่สู้ดีนักของการระบาดระลอก 3 โรคโควิด 19 ตั้งแต่ต้นเดือน กระทั่งเมื่อวันที่ 25 เมษายนได้ประกาศพื้นที่สีแดงในหลายจังหวัด กรุงเทพมหานครก็ได้ออกประกาศปิดโรงมหรสพและงดกิจกรรมรวมกลุ่มเกินกว่า 20 คน

 

เป็นอีกครั้งที่ละครเวทีได้รับผลกระทบ การแสดงที่วางแผนจัดแสดงเดือนเมษายนต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด บางเรื่องปรับแผนถ่ายทำฉายออนไลน์ ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ก็ปรับเป็นออนไลน์ทั้งหมด ในทางอ้อม กลุ่มละครหลายคณะไม่สามารถวางแผนกิจกรรมเกี่ยวกับการแสดงของตนได้ด้วยสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนมายาวนานกว่า 1 ปี 

 

Thai Theatre Foundation จึงระดมความคิดเห็นวางแผนเสนอขอรับการเยียวยาจากกระทรวงวัฒนธรรม กลุ่ม/โรงละครใดที่ต้องการเข้าร่วมขอรับการเยียวยาและต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาได้ที่ peangdao@thaitheatre.org ด่วน ภายในวันที่ 19 พฤษภาคม 2564

 

มาอัพเดตแวดวงละครไทยในเดือนนี้กัน

 

For What Theatre กำลังขะมักเขม้นซักซ้อมละครเรื่องใหม่ สี่วันในเดือนกันยา 4 days in September (the mussing comrades) ซึ่งจะ world premiere ที่เทศกาล Kunstenfestivaldesarts-Rideau de Bruxelles กลุ่มนักเต้น contact improvisation ซึ่งอ๋อง นิธิพัฒน์ พลชัย จาก Spine Party Movement เป็นผู้ริเริ่ม ได้จัดเสวนาออนไลน์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเต้นลักษณะดังกล่าว มีศิลปินละครเวทีและนักเต้นร่วมสมัยเข้าร่วมพูดคุยจากหลายกลุ่ม Bangkok Offstage เริ่มรายการใหม่ จัดวิจารณ์การแสดงแบบสดๆ ครั้งแรก วิจารณ์โดย กัลปพฤกษ์ Bangkok Offstage เป็นสื่อออนไลน์เกี่ยวกับศิลปะการแสดง 2 ภาษา สามารถติดตามได้ที่ Facebook และ Spotify podcast ยังมีข่าวสารประกาศอีกมากในทุกๆ เดือน ท่านสามารถติดตามได้ที่ประกาศละครไทย

 

ลานยิ้มการละคร นำโดย กอล์ฟ นนธวัช มะชัย ก่อตั้งกลุ่มละครชุมชนป่าพะยอมขึ้น ที่พัทลุง นับเป็นการเปิดพื้นที่ศิลปะการแสดงร่วมสมัยแห่งใหม่ ก่อนนี้กลุ่มละครได้จัดเวิร์คชอป performance art ลักษณะ site-specific ขณะนี้ได้เริ่มก่อสร้าง space เพื่อรองรับกิจกรรมที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เป็นการเติบโตอีกก้าวหนึ่งในระดับภูมิภาค

 

ในแวดวงเทศกาล Loei Art Fes ได้จัดกิจกรรมเสวนาออนไลน์ โดยเชิญวิทยากรจากเทศกาลที่ทำงานร่วมกับชุมชนจากต่างประเทศมาให้ความรู้ นับเป็นการเคลื่อนที่ขององค์ความรู้ด้านการจัดการวัฒนธรรมที่สำคัญ แต่แน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ได้ย่อมต่างกันออกไปตามแต่บริบท การถอดบทเรียนจากเทศกาลที่จัดโดย LAF ครั้งนี้น่าจะเป็นหมุดหมายที่สำคัญ

 

ฝั่งการศึกษา เดือนนี้เป็นไปอย่างคึกคัก ขอแสดงความยินดีกับ ผศ.ดร.สรร ถวัลย์วงศ์ศรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ที่ได้รับเลือกเป็นประธานสมาพันธ์ศิลปะการแสดงอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (PATH) ครูคิงเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ รอติดตามกันว่า PATH จะขับเคลื่อนต่อไปอย่างไร

 

BU Theatre Company ในเดือนนี้ได้นำครูและนิสิตไปทำงานร่วมกับวิกหัวหินของครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน โมเดลกลุ่มละครที่ต่อยอดมาจากสาขาการละครของมหาวิทยาลัย แต่แยกส่วนการบริหาร เป็นรูปแบบกลุ่มละครที่น่าสนใจ ทั้งสองหน่วยนั้นเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน เพราะนอกจากจะได้ทดลองฝึกปฏิบัติในห้องเรียนอันเป็นพื้นที่ปลอดภัย นิสิต นักศึกษา ยังได้มีพื้นที่ทดลองทำงานจริงในโลกธุรกิจและสังคม

 

เราได้เห็นโมเดลนี้ที่ขอนแก่น โรงละคร Blank Space Theatre เปิดตัวขึ้นโดยความร่วมมือของคณาจารย์และศิษย์เก่า โดยสร้างให้เป็นพื้นที่ศิลปะร่วมสมัยที่เชื่อมต่อกับชุมชน ในเดือนนี้ ครูต้อง พชญ อัครพราหมณ์ได้มอบเงินทุนตั้งต้น (seed funding) เพื่อนำไปพัฒนาโปรเจค ที่กำลังจะเกิดและเข้าร่วมเทศกาล Isan Creative Festival ปี 2021 อีกด้วย

 

สาขาวิชาการละคร มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังปล่อยแบบสอบถามสาธารณะเพื่อสำรวจความต้องการของผู้เรียน ดังคำพูดที่ว่าข้อมูลคือทองคำ TTF สนับสนุนและส่งเสริมให้พันธมิตรทุกท่านให้ความสำคัญกับการจัดเก็บข้อมูล เพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และ/หรือบริการของตน หากท่านมีข้อสงสัย ต้องการขอคำปรึกษาในการจัดทำแบบสอบถาม สามารถติดต่อเรามาได้ผ่านโปรแกรมที่ปรึกษาละครไทย

 

TTF ขอให้ทุกท่านรักษาสุขภาพในช่วงเวลานี้ และหวังว่าเราจะกลับมาพบกันโรงละครเร็วๆ นี้



ละครไทยเดือนนี้ - มีนาคม 64


เมื่อกระแสโรคระบาดของโควิด-19 ผ่อนคลายลงบ้าง กิจกรรมในพื้นที่ปิดก็กลับมาเริ่มจัดอีกครั้งโดยดำเนินไปแบบมีมาตรการป้องกัน นอกจากการแสดง ก็ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อันเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจมากมายปรากฎขึ้นในเดือนนี้

ณ กลางเมืองหลวง กลุ่มละครได้นำเสนอการแสดงที่ออกแบบให้เกิดขึ้นในช่วงภาวะพิเศษนี้อย่างเหมาะสม อย่างเช่น การกลับมาครั้งที่ 2 ของ Siam Supernatural จากกลุ่มละคร FULLFAT theatre การแสดง site-specific ที่ผู้ชมเดินชมไปตามเส้นทางต่างๆ ในโรงละครสยามพิฆเนศ รวมไปถึงละครเรื่อง โรงรับจำนำความรู้สึก ของกลุ่มละคร RHYTHMthinker การแสดง interactive ที่ออกแบบมาให้ผู้ชมชมแบบส่วนตัว โดยขายบัตรแบบกลุ่ม 1-3 คนและ 4-6 คน

อีกกิจกรรมที่เป็นหมุดหมายของการเชื่อมต่อองค์ความรู้ คือ “โครงการพัฒนาองค์ความรู้จากศิลปะการแสดงโขนและร่างกายศึกษา” ซึ่งท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซนเป็นภัณฑารักษ์ ได้ศึกษาและถอดโขนออกมานำเสนอในรูปแบบร่วมสมัย ผ่านภาพยนตร์สารคดีและศิลปะการแสดง โดยร่วมมือกับนักเต้นและผู้กำกับ จิตติ ชมพี ผู้ก่อตั้ง 18 monkeysdance theatre

Fab cafe ที่ TCDC ได้ทดลองนำเทคโนโลยี 3D PHOTO SCAN มาใช้กับศิลปะการแสดง ครั้งนี้ ได้ทดลองใช้กับรำโนราตอน พระสุธนเลือกคู่ แสดงโดย วรเชษฐ์ มูฮัมหมัดสอิด ดูภาพกิจกรรมได้ที่นี่ นับเป็นอีกหนึ่งความฝันของมูลนิธิละครไทยที่ศิลปินละครเวทีจะมีโอกาสและได้รับงบประมาณให้ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อนำไปสู่มิติใหม่ของการสร้างสรรค์ผลงาน

สนทนาทำ ของกลุ่มละครบีฟลอร์ก็เป็นรูปแบบงานที่แปลกใหม่ โดยจะเปิดการแสดงพร้อมมี commentary จากผู้กำกับ นักออกแบบ และนักแสดงจากเรื่องดังกล่าว พูดคุยกันถึงเบื้องหลังของฉากที่ปรากฎ เป็นกิจกรรมที่ทำให้เราได้รู้เบื้องลึกเบื้องหลังจากคนสร้างงาน ประเดิมตอนแรกไปกับเรื่อง สถาปนา สามารถติดตามตอนต่อไปได้จากเพจ Bfloor 

ก่อนจะข้ามไปฝั่งภูมิภาค มูลนิธิละครไทยขอแสดงความยินดีกับธีระวัฒน์ มุลวิไล จากกลุ่มละครบีฟลอร์ และ นพพันธ์ บุญใหญ่ จาก FULLFAT theatre 2 หัวเรือใหญ่ของกลุ่มที่ได้รับคัดเลือกร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Thirteen Lives เรื่องราวเหตุการณ์ติดถ้ำของทีมหมูป่า กำกับโดย Ron Howard ขณะที่เขียนบทความนี้ ทั้งคู่ได้บินลัดฟ้าไปถ่ายทำที่ประเทศออสเตรเลียเเล้ว

ฝั่งภูมิภาค เดือนนี้เราไม่ได้เห็นการแสดงมากนัก แต่มีความเคลื่อนไหวอยู่เสมอๆ ที่จังหวัดหนองบัวลำภู ศิลปินศิลปาธรนิมิตร พิพิธกุลลงพื้นที่สร้างการแสดงและอบรมให้กับเยาวชน ที่เชียงใหม่นับว่าเป็นอีกเดือนที่ร้อนแรงเต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวเรียกร้อง ไม่ว่าจะในประเด็นเสรีภาพการแสดงทางศิลปะ และการเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงในประเทศเมียนมาร์ ในการนี้ มูลนิธิละครไทย และองค์กรทางศิลปะอื่นๆ ในประเทศไทยก็ได้ออกแถลงการณ์ด้วยเช่นกัน

กระแสการนำศิลปะการแสดงไปผนวกรวมกับการท่องเที่ยว รวมไปถึงการพัฒนาชุมชนเมืองรองนั้นโดดเด่นขึ้นมาในเดือนนี้ เห็นได้จากการจัดกิจกรรมเสวนา “ศิลปะร่วมสมัยเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การท่องเที่ยว และชุมชนอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 1” ที่จังหวัดเลย ที่ได้รวมเครือข่ายภาคประชาชน เอกชน องค์กรท้องถิ่น เข้ากับเครือข่ายพันธมิตรจากต่างประเทศมาหารือแลกเปลี่ยนกัน กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานระยะยาวของเครือข่ายประยูรเพื่อศิลปะ ซึ่งจะจัดเทศกาล LAF - Loei Art Fes I LFAF4 ในเดือนมิถุนายนนี้ 

ส่วนจังหวัดอุบลราชธานี TCEB ร่วมกับ TIEFA (สมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย) เชิญคุณนิมิตร พิพิธกุลไปเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปะและศิลปินให้กับกลุ่มธุรกิจ TCEB มุ่งผลักดันนโยบาย ‘Festival Economy’ นำเทศกาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโดยเน้นการใช้อัตลักษณ์ของเมืองนั้นๆ ในการออกแบบกิจกรรมมาหลายปีแล้ว นโยบายนี้ได้ขยายผลยังเมืองรองที่มีศักยภาพมากขึ้นเรื่อยๆ CAPT (สมาคมการค้าส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย) ก็รับลูกนโยบายนี้ด้วยเช่นกัน ในอนาคตศิลปินด้านศิลปะการแสดงน่าจะมีพื้นที่ให้สร้างสรรค์ผลงานหรือเกิดการสร้างงานข้ามพื้นที่กันมากขึ้น หากศิลปินท่านใดต้องการเชื่อมต่อข้อมูลแหล่งทุนต่างๆ มูลนิธิฯ ยินดีให้คำปรึกษาผ่านโปรแกรมที่ปรึกษา ส่วน CAPT นั้น ขณะนี้ยังเปิดรับสมาชิกอยู่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ 

ฝั่งต่างประเทศ การแสดงออนไลน์ยังเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ มีการแสดงจากศิลปินชาวไทยจัดแสดงออนไลน์ในเทศกาลต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เพลงนี้พ่อเคยร้อง ของกลุ่มละคร For What Theatre และ Butterfly effect ของ Asia Butoh Tree Project ที่มีศิลปินไทยอยู่ในกลุ่ม 3 ท่าน น่าสนใจว่าแพลตฟอร์มศิลปะการแสดงของต่างประเทศนั้นยังได้รับทุนสนับสนุนแม้ในยามวิกฤต 

นอกจากนี้ ยังมีข่าวคราวของกลุ่มละคร MONO จากประเทศญี่ปุ่นจัดแสดงละครเวทีชื่อว่า อยุธยา ว่าด้วยเรื่องราวสมัยคนญี่ปุ่นอพยพมายังสยามจนเกิดเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่น   ที่ออสเตรเลีย การแสดงเรื่อง White Pearl อันเป็นผลงานเขียนบทของลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลีย Anchuli Felicia King ก็เปิดแสดงทั่วประเทศด้วยเช่นกัน

ฝั่งเทศกาล ไบแพมเริ่มต้นกิจกรรมแรกของปีนี้ก่อนด้วยเวิร์คชอปเนื้อหาลิขสิทธิ์เกี่ยวกับศิลปะการแสดง อีกทั้ง ยังเปิดพื้นที่ให้ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ นักจัดการศิลปะ และศิลปิน ได้มาแลกเปลี่ยนเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมศิลปะการแสดง นับเป็นหมุดหมายที่สำคัญทั้งในรูปแบบกิจกรรมและเนื้อหาที่ยังไม่เคยหยิบยกมาพูดอย่างกว้างขวาง 

เทศกาลหุ่นโลกเริ่มแล้ว ในปีนี้จัดแสดงออนไลน์ผ่าน www.harmonypuppettheatre.com ผู้ชมจะต้องลงทะเบียนก่อน จากนั้นจะได้รับรหัสเสมือนตั๋วเข้าชมละครเรื่องต่างๆ ในโรงละคร เมื่อชมจบ ระบบจะให้เราสนับสนุนค่าเข้าชมโดยกดบริจาค นี่ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการจัดเก็บเงินเมื่อจัดแสดงออนไลน์

มูลนิธิละครไทยปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้เข้าเรียน Theatre Management Workshop เรียบร้อยแล้ว กลางปีนี้ เราสัญญาว่าจะมีนักบริหารจัดการละครเวทีหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ไม่พูดถึงไม่ได้กับข่าวดีที่ศิลปินลุ้นกันมาหลายเดือน ในที่สุด กรุงเทพมหานครได้ต่อสัญญากับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครอีก 10 ปีแล้ว 

ในวันที่ 27 มีนาคม ซึ่งเป็นวัน World Theatre Day มูลนิธิละครไทยได้จัดแคมเปญ #เรื่องนี้ที่สุด บรรดานักการละครได้ร่วมแชร์ประสบการณ์และรูปภาพกันอย่างคึกคัก เรื่องราวทั้งหมดนั้นพาหวนคิดถึงการได้กลับไปทำงานในโรงละครอย่างเต็มที่อีกครั้ง

ท้ายสุดนี้ ต้องขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับคุณจุ๋ม สุมณฑา สวนผลรัตน์ ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดงคนล่าสุด

ร่วมเขียนโดย เพียงดาว จริยะพันธุ์

ละครไทยเดือนนี้ - กุมภาพันธ์ 64

แม้การจัดแสดงในโรงละครยังมีจำนวนไม่มาก แต่ก็นับเป็นอีกเดือนที่กิจกรรมศิลปะการละครดำเนินไปในหลากหลายรูปแบบทั่วประเทศ ทั้งเวิร์คชอป การพูดคุยแลกเปลี่ยน และการทำงานขับเคลื่อนสังคม  

ละครมีประปรายในกรุงเทพมหานคร พบกับละครเรื่องแรกๆ ของปีที่จัดแสดงในโรงละคร Nuni Productions จับมือกับสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย จัดแสดงเรื่อง Father เขียนโดย Florian Zeller บทละครเรื่องนี้ได้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เข้าชิง Golden Globe ครั้งที่ 78 ด้วย ละครเรื่อง Peace Piece ของ FULLFAT THEATRE ซึ่งจัดแสดงไปเมื่อปี 2018 ปล่อยอัลบั้มเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อใช้ในการแสดง นับเป็นการนำเสนองานต่อเนื่องในรูปแบบอื่น สำหรับละครเรื่องอื่นๆ สามารถดูได้ที่ปฏิทินละครไทย

เดือนนี้ มีศิลปิน/เทศกาลปล่อยบันทึกการแสดงและบันทึกกิจกรรมให้ซื้อย้อนหลัง นับว่าวิกฤตการณ์โควิดส่งผลให้ศิลปินคำนึงถึงการทำงานกับผู้ชมออนไลน์มากขึ้น แม้ว่าผู้ชมก็ยังต้องการชมละครในพื้นที่จริงอยู่ ผู้ชมสามารถชมวีดิโอออนไลน์ได้ที่ ละครไทยออนดีมานด์ ส่วนศิลปินสามารถขอใช้บริการได้ฟรีโดยติดต่อมายังเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ที่ ladda@thaitheatre.org

ข่าวใหญ่จากฝั่งเมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ คุณบอย ถกลเกียรติประกาศลดบทบาท ให้คุณเอ็ดดี้ จิณณวัตร สิริวัฒน์รับไม้ต่อในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแทน ปฏิเสธไม่ได้ว่าการถือกำเนิดของเมืองไทย รัชดาลัย เธียเตอร์นั้นได้สร้างเเรงกระเพื่อมให้คนในสังคมหันมาสนใจละครเวทีมิวสิคัลมากขึ้น รวมถึงยังเป็นพื้นที่บ่มเพาะศิลปินมิวสิคัลหลากหลายแขนง รอติดตามกันว่าการเปลี่ยนผู้บริหารของซีเนริโอครั้งนี้จะเป็นอย่างไร

ฝั่งภูมิภาค คุณมณฑาทิพย์ สุขโสภา ศิลปินหุ่นเงาจากพระจันทร์พเนจรในเชียงใหม่ ได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนของภูมิภาคประจำปี 2021 - 2022 ของ Mekong Cultural Hub รอติดตามความเคลื่อนไหวอันน่าตื่นเต้นจากชุมชนละครเชียงใหม่ได้อีกมากมาย ศิลปินกลุ่ม performance art จากเชียงใหม่ยังคงเดินหน้าสร้างงานเคลื่อนไหวในประเด็นสังคมอย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้เกิดขึ้น ลานยิ้มการละครข้ามจังหวัดไปแสดงบูโตที่เพชรบุรี 

ภาครัฐ สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) จัดทำโครงการ “CHANGE x2 : แพ็กคู่สู่ธุรกิจใหม่” จับคู่ 'ผู้ประกอบการ' เเละ 'นักสร้างสรรค์'  เพื่อค้นหาโมเดลธุรกิจสร้างสรรค์แบบใหม่ รวมถึงให้ทุนตั้งต้นการทำงาน นับเป็นการต่อยอดและบ่มเพาะธุรกิจสร้างสรรค์รายย่อย โดยครั้งนี้โฟกัสไปที่ 15 จังหวัดในภาคเหนือ อีสาน และใต้

ฝั่งเทศกาล เทศกาลเลย อาร์ต เฟส เริ่มกิจกรรมน้ำจิ้มที่จังหวัดเลยแล้วในเดือนนี้ ก่อนจะจัดเทศกาลเต็มในเดือนมิถุนายน ครั้งนี้คุณเวลา อมตธรรมชาติ ได้เปิดระดมทุนจากภาคประชาชน ซึ่งสำเร็จตามเป้าในการจัดกิจกรรมแรกนี้ นับเป็นสัญญาณที่ดีที่คนให้ความสนใจและต้องการเห็นงานศิลปะเติบโตในชุมชน นอกจากนี้ ยังระดมทุนผ่านการจำหน่ายสินค้าอีกด้วย สามารถสนับสนุนกิจกรรมได้ที่เฟสบุคเพจ ส่วน BIPAM ประกาศวันจัดกิจกรรมประชุมประจำปีแล้ว โดยปีนี้เน้นจัดเทศกาลแบบผสมผสานทั้งออนไลน์และ ณ สถานที่จริง

ปรากฏการณ์ออนไลน์ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ clubhouse แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ผู้คนตื่นตัวกันทั่วทั้งโลก กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญที่ชุมชนละครได้ใช้สื่อสาร พูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างออกรสในประเด็นที่ตนสนใจ รวมถึงมีการอ่านบทละครเวทีผ่านช่องทาง clubhouse อีกด้วย มูลนิธิฯ เองกำลังจะจัดกิจกรรม Intermission Talk เพื่อเชื่อมต่อนักการละครสาขาอาชีพต่างๆ เช่นกัน สามารถลงทะเบียนได้ที่นี่

สถาบันศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา (มายา) ประกาศปิดการทำงานของมายาที่ก่อตั้งมาร่วม 40 ปี ส่วนโรงละครมายาฤทธิ์ ซึ่งปิดสถานที่ไปชั่วคราวจะกลับมาเดินหน้าต่อเมื่อได้บ้านหลังใหม่ พื้นที่ซ้อมและจัดแสดงที่ขาดแคลนเป็นปัญหาใหญ่ของนักการละครเรื่อยมา มูลนิธิฯ ได้นำเสนอปัญหานี้ไว้ในสมุดปกขาว และจะเดินหน้ารณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

ฝั่งการศึกษา มีความตื่นตัวเรื่องการบริหารจัดการศิลปะมากขึ้น ล่าสุดคุณนิมิตร พิพิธกุล ศิลปินศิลปาธรได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรหัวข้อ ‘การจัดการศิลปิน’ ที่วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิฯ เองก็ได้เปิดเวิร์คชอปด้านการจัดการเพื่อสร้างนักจัดการละครเวที ขณะนี้กำลังเปิดรับสมัครอยู่ ท่านที่สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่นี่

BACC เริ่มกิจกรรม Art in Postcards หนึ่งในกิจกรรมระดมทุนเพื่อการดำเนินงานของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เกิดเป็นกระแสให้คนหันมาจับตามองการต่อสัญญาระหว่าง BACC กับกรุงเทพมหานครอีกครั้ง มูลนิธิฯ จะร่วมเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันประเด็นดังกล่าวในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน #savebacc

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ได้ประกาศใช้แผนการปฏิรูปประเทศ 13 ด้านฉบับปรับปรุงใหม่ในราชกิจจานุเบกษา หนึ่งในนั้นมีด้านวัฒนธรรมด้วย สามารถอ่านได้ที่นี่ มูลนิธิฯ กำลังวิเคราะห์และวางแผนผลักดันนโยบายที่จะสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ละครเวทีไทยร่วมสมัยต่อไป

ละครไทยเดือนนี้ - มกราคม 64

รับเดือนแรกของปี 64 ด้วยสถานการณ์โรคระบาดที่ยังคงต่อเนื่องมาจากเดือนธันวาคม 

กรุงเทพมหานคร ละครเวทีหรือคอนเสิร์ต มิวสิคัลหลายเรื่องต้องประกาศเลื่อนออกไปอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม workshop ออนไลน์ยังคงมีประปราย ท่านที่สนใจอยากชมบันทึกการแสดงผ่านช่องทาง Vimeo สามารถเข้าเลือกชมได้ผ่าน ละครไทยออนดีมานด์ ของมูลนิธิละครไทย

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เปิดพื้นที่ซ้อมและจัดแสดงและลดค่าใช้จ่ายในการเช่าสตูดิโอหรือ Live House ที่ดำเนินมาเป็นครั้งที่ 2 สำหรับการระบาดให้ระลอกใหม่นี้ ทุกท่านติดต่อขอเข้าใช้ได้ตั้งแต่มกราคมถึง 26 กุมภาพันธ์นี้


ด้านภูมิภาค จังหวัดเชียงใหม่นั้นประกาศล็อกดาวน์และงดกิจกรรมการรวมกลุ่มเป็นเวลา 14 วันแต่ก็ไม่ได้ทำให้ชุมชนละครเชียงใหม่คึกคักน้อยลงอย่างใด ยังจัดการซ้อมออนไลน์ และเริ่มประชาสัมพันธ์การแสดงที่จะเกิดขึ้นในเดือนถัดไปอย่างแข็งขัน ก่อนจะกลับมาทำงานในโรงละครในช่วงครึ่งเดือนหลัง ช่วงที่โควิด 19 ระบาดนี้ เทพศิริ ครีเอทีฟ สเปซ ได้จัดให้มีเครื่องวัดอุณหภูมิให้เช่าสำหรับชุมชนละครเวทีที่เชียงใหม่อีกด้วย ส่วนจังหวัดขอนแก่นยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 มากนัก เราจึงได้เห็นเทศกาลละครที่เกิดขึ้นตลอดทั้งเดือนนี้

ด้วยสถานการณ์โรคระบาดที่กลับมาทวีความรุนแรงอีกครั้งในปีนี้ส่งผลให้ขบวนการแรงงานออกแถลงการณ์ในวันที่ 11 มกราคม 2564 ว่าด้วยแนวทางการช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างมีเป้าหมาย มูลนิธิละครไทยได้ร่วมเป็นอีกเสียงหนึ่งที่ส่งถึงภาครัฐให้เยียวยาและอย่าละเลยศิลปินด้านศิลปะร่วมสมัยไม่ว่าจะระยะสั้นหรือระยะยาว

ออกจากการอัพเดตสถานการณ์ผลกระทบจากโควิด 19 เดือนมกราคมเป็นเดือนแห่งการเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ในแวดวงการละครอีกเช่นกัน

กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ นักการละครที่ทำงานสังคมอย่างต่อเนื่องได้ประกาศใช้กองทุนส่วนตัวชื่อ “กองทุนศิลปะไมตรีมิตร” เพื่อศิลปะเพื่อพัฒนา กองทุนนี้เป็นไปให้ลักษณะร่วมลงทุนในโครงการที่ริเริ่ม หากท่านสนใจสามารถติดต่อได้ที่ facebook Kris Sanguanpiyapand  

นอกจากนี้ กฤษณ์ และ ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย จากกลุ่มละครมาร็องดู ได้ร่วมพูดคุยกับ TED circles ในหัวข้อศิลปะเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมอีกด้วย อีกกิจกรรมหนึ่งของ TED ที่ผ่านมา คือ TEDxCharoenkrung 2020 : Shift Happens! มีนักการละครส่งการแสดงเข้าร่วม ได้แก่ จตุรชัย ศรีจันทร์วันเพ็ญ เรื่อง Granted และกวิน พิชิตกุล เรื่อง Shake 

เวลา อมตธรรมชาติ หัวหอกหลักของคณะทำงาน Low Fat Art Fest เทศกาลศิลปะร่วมสมัยที่มุ่งเน้นการทำงานกับชุมชน 2564 นี้พลิกโฉมเป็น Loei Art Fes 2021 (LAF) เทศกาลศิลปะร่วมสมัยแห่งจิตวิญญาณเมืองเลย ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงระยะเวลาเดียวกันกับเทศกาลผีตาโขน ซึ่งกำลังจะเปิดระดมทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของเทศกาล ผ่าน facebook page LAF - Loei Art Fes I LFAF4 เร็วๆ นี้ มูลนิธิฯ ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมสนับสนุนกิจกรรมกัน

ต่างประเทศ ละครมิวสิคัลเรื่อง Half the Sky ของแวว ฑิตยา สินุธก กำกับดนตรีได้เผยแพร่ใน Musical Radio Play ของ the 5th Avenue ระหว่างวันที่ 8-31 มกราคมที่ผ่านมา

ฝั่งการศึกษา เป็นช่วงที่ต้องกลับมาสอนออนไลน์อีกครั้งและกำลังเปิดรับนักศึกษาใหม่ทั้งระดับปริญญาตรีและโท ในระดับปริญญาตรีปีนี้ หลายที่เปิดรับตรงมากขึ้น เราน่าจะได้เห็นนักศึกษาด้านการละครที่ตั้งใจจะเข้ามาเรียนละครเวทีในระดับอุดมศึกษาโดยเฉพาะ ต้องจับตามองระยะยาวว่าความมุ่งมั่นของนักศึกษากลุ่มนี้จะสร้างศิลปินคลื่นลูกใหม่ในวงการหรือไม่

ก่อตั้งแล้วสมาคมการค้าส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปะร่วมสมัย(CAPT) นับเป็นการยกระดับของภาคศิลปะร่วมสมัยที่จะเพิ่มอำนาจต่อรองกับภาครัฐ และเป็นอีกหนึ่งแหล่งทุนในอนาคต ขณะนี้ กำลังเปิดรับสมาชิก ทั้งสามัญและวิสามัญ รอบแรกถึง 26 กพ. นี้ ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ facebook Contemporary Arts&Culture Industry Promotion Trade Association - Thailand