ค่าจ้างเพื่อชีวิต
กฎหมายไทยนิยามค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage) ว่า “อัตราค่าจ้างที่เพียงพอสําหรับแรงงานทั่วไปแรกเข้าทํางาน 1 คนให้สามารถดํารงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเหมาะสมตาม ความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น”
ในขณะที่ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ และอ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นิยามค่าจ้างเพื่อชีวิต (Living Wage) ไว้ว่า “ระดับค่าจ้างที่ทำให้แรงงานสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีระดับมาตรฐานการครองชีพที่อยู่ได้อย่างภาคภูมิใจ สามารถธำรงความเคารพนับถือในตัวเอง อีกทั้งเป็นระดับค่าจ้างที่ทำให้แรงงานมีหนทางและเวลาว่างเพียงพอที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของสังคม”
ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นเห็นว่าค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายในหลายจังหวัดนั้นไม่สอดคล้องกับระดับค่าใช้จ่ายจริงในปัจจุบัน จึงคำนวณและกำหนดค่าจ้างเพื่อชีวิตเพื่อเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำในการจ่ายค่าตอบแทนแรงงานละครเวทีอย่างเสมอภาค
ค่าจ้างเพื่อชีวิตในแต่ละจังหวัด
ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567
กระบี่ 46 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
กรุงเทพมหานคร 99 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
กาญจนบุรี 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
กาฬสินธุ์ 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
กำแพงเพชร 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
ขอนแก่น 44 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
จันทบุรี 52 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
ฉะเชิงเทรา 59 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
ชลบุรี 68 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
ชัยนาท 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
ชัยภูมิ 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
ชุมพร 45 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
เชียงราย 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
เชียงใหม่ 46 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
ตรัง 42 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
ตราด 57 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
ตาก 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
นครนายก 45 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
นครปฐม 65 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
นครพนม 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
นครราชสีมา 44 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
นครศรีธรรมราช 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
นครสวรรค์ 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
นนทบุรี 84 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
นราธิวาส 41 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
น่าน 42 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
บึงกาฬ 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
บุรีรัมย์ 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
ปทุมธานี 123 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
ประจวบคีรีขันธ์ 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
ปราจีนบุรี 65 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
ปัตตานี 41 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
พระนครศรีอยุธยา 54 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
พะเยา 42 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
พังงา 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
พัทลุง 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
พิจิตร 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
พิษณุโลก 44 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
เพชรบุรี 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
เพชรบูรณ์ 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
แพร่ 42 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
ภูเก็ต 89 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
มหาสารคาม 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
มุกดาหาร 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
แม่ฮ่องสอน 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
ยโสธร 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
ยะลา 41 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
ร้อยเอ็ด 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
ระนอง 49 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
ระยอง 76 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
ราชบุรี 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
ลพบุรี 44 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
ลำปาง 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
ลำพูน 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
เลย 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
ศรีสะเกษ 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
สกลนคร 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
สงขลา 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
สตูล 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
สมุทรปราการ 97 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
สมุทรสงคราม 44 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
สมุทรสาคร 93 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
สระแก้ว 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
สระบุรี 59 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
สิงห์บุรี 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
สุโขทัย 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
สุพรรณบุรี 44 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
สุราษฎร์ธานี 51 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
สุรินทร์ 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
หนองคาย 44 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
หนองบัวลำภู 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
อ่างทอง 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
อำนาจเจริญ 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
อุดรธานี 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
อุตรดิตถ์ 36 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
อุทัยธานี 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
อุบลราชธานี 43 บาทต่อชั่วโมงหลังหักภาษี
ผู้ว่าจ้างต้องจ่ายแพงไปไหม
ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นตระหนักดีว่านักจัดการละครเวทีในประเทศไทยมีภาระหนักอึ้งในการหารายได้สำหรับละครเวทีที่ก็ยากเย็นอยู่แล้ว ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นเองก็เป็นหนึ่งในนั้น มีประสบการณ์โดยตรง จึงเข้าใจนักจัดการละครเวทีเป็นอย่างมาก เราจึงพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเพื่อให้อัตราค่าจ้างเพื่อชีวิตที่กำหนดไม่กลับกลายเป็นการสร้างภาระเกินจำเป็น จนอาจส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมละครเวทีโดยรวมโดยมิได้ตั้งใจ
กราฟข้างบนนี้ใช้ข้อมูลของกรุงเทพมหานครเพื่อขับเน้นให้เห็นความแตกต่างระหว่างระดับรายได้และค่าใช้จ่าย กราฟนี้แสดงให้เห็นว่าค่าจ้างขั้นต่ำของกรุงเทพมหานครต่ำกว่าค่าใช้จ่ายจริงของประชาชนประมาณครึ่งหนึ่งของเมืองถึงกว่า 2 - 2.5 เท่าเลยทีเดียว
หากจะตอบคำถามว่าผู้ว่าจ้างต้องจ่ายแพงไปไหม ก็ต้องมาพิจารณาว่าอะไรคือค่าตอบแทนระดับดี ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นเห็นว่าการมีรายได้มากกว่าประชาชนประมาณครึ่งหนึ่งของจังหวัดเป็นตัวบ่งชี้ว่ามีรายได้ระดับดี ผู้ว่าจ้างจะถือว่าจ่ายแพงก็ต่อเมื่อจ่ายค่าตอบแทนสูงกว่าระดับรายได้เฉลี่ยของจังหวัด ซึ่งในกรุงเทพมหานครนั้นสูงกว่าค่าจ้างเพื่อชีวิตไปอีกประมาณ 1.5 เท่า
การมีรายได้เพียงพอจับจ่ายเหมือนประชาชนประมาณครึ่งหนึ่งของจังหวัดนั้นไม่ใช่ความหรูหรา แต่เป็นคุณภาพชีวิตขั้นต่ำที่แรงงานละครไทยควรมีเพื่อให้ดำรงชีพอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้ เหตุนี้ ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นจึงยึดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของจังหวัดเป็นค่าจ้างเพื่อชีวิต และไม่ได้มองว่าเป็นระดับค่าตอบแทนที่แพงไปแม้แต่น้อย
งานคิด งานเขียน งานออกแบบ คิดค่าจ้างเท่าไรดี
นักการละครหลายท่านเมื่อเห็นค่าจ้างเพื่อชีวิตกำหนดเป็นรายชั่วโมงก็อาจสงสัยว่าแล้วงานบางประเภทที่ไม่สามารถกำหนดชั่วโมงทำงานได้ชัดเจน เช่น งานออกแบบโครงการ งานเขียนบทละคร หรืองานออกแบบศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า แสง เสียง อุปกรณ์ประกอบฉาก จะต้องคิดค่าจ้างอย่างไร ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นยึดหลักง่ายๆ คือ สามารถคิดเหมาว่าทำงานครึ่งวันเท่ากับ 4 ชั่วโมง และเต็มวันเท่ากับ 8 ชั่วโมงได้
ตัวอย่างที่ 1 นักเขียนบทละครในกรุงเทพมหานครท่านหนึ่งใช้เวลาทั้งสิ้น 15 สัปดาห์ในการพัฒนาบทแต่ต้นจนพร้อมนำไปใช้แสดง ในหนึ่งวันอาจมิได้นั่งเขียนบทอยู่ตลอด อาจจะแวะไปเดินเล่นบ้าง ทำงานอย่างอื่นไปด้วยบ้าง แล้วกลับมาเขียนบทต่อเมื่อมีแรงบันดาลใจ ประมาณเวลาว่าเขียนบทครึ่งวัน 5 วันต่อสัปดาห์ ค่าตอบแทนขั้นต่ำที่นักเขียนบทละครท่านนี้ควรได้รับเพื่อให้เสมอภาคคือ
ค่าจ้างเพื่อชีวิต x ชั่วโมงทำงานรวมทั้งหมด = ค่าตอบแทนขั้นต่ำที่ควรได้รับ
99 x (4 x 5 x 15) = 29,700 บาทหลังหักภาษี
หมายเหตุ: บทละครหรืองานออกแบบที่เขียนหรือออกแบบขึ้นใหม่สำหรับการแสดงหนึ่งๆ ผู้ว่าจ้างต้องจ่ายค่าตอบแทนตามชั่วโมงทำงานรวม หากเป็นบทละครหรืองานออกแบบที่เขียนหรือออกแบบไว้ก่อนแล้ว ผู้ว่าจ้างสามารถจ่ายเป็นค่าสิทธิ (Royalty) แทนได้
ตัวอย่างที่ 2 เช่น นักออกแบบแสงในจังหวัดเชียงใหม่ใช้เวลาทั้งสิ้น 2 สัปดาห์เฉพาะส่วนของการออกแบบแสงจนพร้อมติดตั้งหน้างาน ยังไม่รวมจำนวนชั่วโมงที่ต้องไปดูซ้อมและแขวนไฟเอง ในหนึ่งวันอาจมิได้ออกแบบแสงให้โปรดักชั่นนี้ทั้งวัน ประมาณเวลาว่าทำงานนี้ครึ่งวันทุกวัน ค่าตอบแทนขั้นต่ำที่นักออกแบบแสงท่านนี้ควรได้รับเพื่อให้เสมอภาคเฉพาะช่วงคิดงานออกแบบคือ
ค่าจ้างเพื่อชีวิต x ชั่วโมงทำงานรวมทั้งหมด = ค่าตอบแทนขั้นต่ำที่ควรได้รับ
46 x (4 x 7 x 2) = 2,576 บาทหลังหักภาษี
นักออกแบบแสงท่านนี้ต้องไปนั่งดูซ้อมด้วยรวม 4 ชั่วโมง และแขวนไฟเองอีก 16 ชั่วโมง ค่าตอบแทนขั้นต่ำที่นักออกแบบแสงท่านนี้ควรได้รับในช่วงดูซ้อมและแขวนไฟคือ
ค่าจ้างเพื่อชีวิต x ชั่วโมงทำงานรวมทั้งหมด = ค่าตอบแทนขั้นต่ำที่ควรได้รับ
46 x 20 = 920 บาทหลังหักภาษี
ดังนั้น นักออกแบบแสงท่านนี้ควรได้รับค่าตอบแทนอย่างน้อย 3,496 บาทจากโปรดักชั่นนี้
ต้องไม่ลืมว่าค่าจ้างเพื่อชีวิตเป็นเพียงค่าจ้างขั้นต่ำที่สอดคล้องกับความเป็นจริงเท่านั้น หากแรงงานละครไทยได้ค่าตอบแทนสูงกว่าค่าจ้างเพื่อชีวิตก็จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ
งานอาสาสมัครเสมอภาคไหม
การอาสาช่วยเหลืองานเพื่อสังคมอันรวมถึงการสร้างสรรค์งานศิลปะนั้นไม่ใช่การจ้างงาน ดังนั้นจึงไม่มีเรื่องความเสมอภาคเข้ามาเกี่ยวข้อง กระนั้นหลายครั้งคำว่า “อาสาสมัคร” ก็กลายเป็นเครื่องอำพรางการจ้างงานโดยไม่จ่ายค่าตอบแทน การกระทำเช่นนี้ไม่เสมอภาคอย่างแน่นอน ผู้รับจ้างทุกคนต้องได้รับค่าตอบแทน
ข้อแตกต่างระหว่างงานอาสาสมัครและงานรับจ้างที่ต้องได้ค่าตอบแทนคือ งานอาสาสมัครไม่มีภาระผูกพัน อาสาสมัครสามารถยกเลิกเมื่อใดด้วยเหตุผลใดก็ได้ ในขณะที่งานรับจ้างไม่ว่าจะเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตามมีภาระผูกพัน ผู้ว่าจ้างคาดหวังให้ผู้รับจ้างปฏิบัติงานให้สำเร็จตามที่กำหนด
ตัวอย่างงานอาสาสมัคร เช่น ตำแหน่งต้อนรับหน้าโรงละคร ผู้จัดไม่ผูกมัดให้ต้องมาทุกรอบ เพียงแต่ขอให้แจ้งล่วงหน้าหากจะไม่มาในรอบใดเพื่อจะได้หาอาสาสมัครทดแทนทันเวลา อาสาสมัครสามารถเลือกไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อนแทนมาทำงานอาสาได้โดยไม่เสียประวัติการทำงาน เป็นต้น ตัวอย่างเดียวกันแต่หากผู้จัดคาดหวังให้มาทุกรอบและมีผลต่อประวัติการทำงานเมื่อแจ้งล่วงหน้าว่าจะไม่มาในรอบใดรอบหนึ่ง กรณีเช่นนี้เข้าข่ายเป็นการว่าจ้าง ต้องจ่ายค่าตอบแทน มิเช่นนั้นถือเป็นการเอาเปรียบแรงงาน
ต้องจ่ายนักศึกษาฝึกงานและเจ้าหน้าที่ฝึกหัดไหม
การฝึกงานที่เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษา (Internship) มิใช่การจ้างงาน แต่เป็นการฝึกปฏิบัติเพื่อเตรียมทักษะก่อนเข้าตลาดแรงงาน กฎหมายมิได้บังคับให้จ่ายค่าตอบแทนนักศึกษาฝึกงาน ผู้ว่าจ้างจะจ่ายค่าตอบแทนหรือไม่ก็ได้
การฝึกงานที่มิได้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษา (Apprenticeship) เช่น นักศึกษามาขอฝึกงานด้วยตนเอง หรือผู้ว่าจ้างเปิดโอกาสให้ฝึกงานโดยไม่ต้องมีหนังสือรับรองจากสถานศึกษา กฎหมายถือว่าเป็นการจ้างงาน มิใช่นักศึกษาฝึกงาน ผู้ว่าจ้างต้องจ่ายค่าตอบแทน ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นเรียกตำแหน่งนี้ว่าเจ้าหน้าที่ฝึกหัด
แม้กฎหมายจะมิได้บังคับให้ผู้ว่าจ้างจ่ายค่าตอบแทนนักศึกษาฝึกงาน แต่ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นเห็นว่าการเปิดรับนักศึกษาฝึกงานโดยไม่จ่ายค่าตอบแทนนั้นสร้างความเหลื่อมล้ำทางโอกาส ทำให้นักศึกษาที่ฐานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่า มีความจำเป็นต้องหาเลี้ยงชีพไปด้วยขณะเรียน อาจไม่สามารถใช้โอกาสนี้พัฒนาตนเองได้เหมือนนักศึกษาที่ฐานะทางเศรษฐกิจสูงกว่าและไม่จำเป็นต้องหาเลี้ยงชีพขณะเรียน ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นจึงกำหนดให้ผู้ใช้โล่เสมอภาคในสื่อประชาสัมพันธ์ของตนต้องจ่ายค่าตอบแทนนักศึกษางานฝึกงานด้วย
ทั้งนี้ ด้วยวัตถุประสงค์หลักของนักศึกษาฝึกงานและเจ้าหน้าที่ฝึกหัดเป็นไปเพื่อพัฒนาทักษะผ่านการปฏิบัติงานจริง มิใช่เพื่อทดแทนการจ้างงาน ผู้ว่าจ้างยังคงมีหน้าที่ให้คำแนะนำในการปฏิบัติงาน ต่างจากผู้รับจ้างที่พร้อมปฏิบัติงานทันที เหตุนี้ ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นจึงกำหนดให้ผู้ว่าจ้างสามารถจ่ายค่าตอบแทนนักศึกษาฝึกงานและเจ้าหน้าที่ฝึกหัดที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายแทนอัตราค่าจ้างเพื่อชีวิตได้ เพื่อผ่อนปรนภาระในการพัฒนาทักษะแรงงาน
ระเบียบวิธีกำหนดค่าจ้างเพื่อชีวิต
ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นใช้ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในการคำนวณค่าใช้จ่ายเฉลี่ย (Mean) ในแต่ละจังหวัดต่อคนต่อชั่วโมง และยึดเอาอัตรานี้เป็นค่าจ้างเพื่อชีวิตรายชั่วโมง เหตุที่ประกาศเป็นรายชั่วโมงแทนรายวันก็เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติการทำงานของแรงงานศิลปะละครเวที
จังหวัดใดมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นจะยึดเอาค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างเพื่อชีวิต
เป้าประสงค์หลักของการกำหนดอัตราค่าจ้างเพื่อชีวิตนี้คือเพื่อเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำให้ผู้ว่าจ้างอ้างอิงในการคำนวณค่าตอบแทน ฉะนั้นเราจึงประกาศเพียงอัตราเดียวต่อจังหวัดสำหรับแรงงาน 1 คน และไม่ได้นำจำนวนสมาชิกในครัวเรือนมาร่วมคำนวณด้วย
ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นเลือกไม่ใช้ค่ามัธยฐาน (Median) ตามงานวิจัยของผศ.ปกป้องและอ.ดร.พรเทพแม้จะเป็นตัววัดแนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลางของข้อมูลชุดใหญ่ที่แจกแจงแบบเบ้ได้แม่นยำกว่า เนื่องจากไม่มีข้อมูลสาธารณะพร้อมใช้งานเพียงพอต่อการคำนวณค่ามัธยฐาน ทั้งนี้ ชุดข้อมูลรายจ่ายโดยทั่วไปจะแจกแจงแบบเบ้ขวาและมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าค่ามัธยฐาน การเลือกใช้ค่าเฉลี่ยแทนค่ามัธยฐานจึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ศิลปินได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกทาง
ระดับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสิบปีย้อนหลังตั้งแต่พ.ศ. 2554 - 2563 ไม่มีความผันผวนมากนัก ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องคำนวณค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในรอบเวลามากกว่าหนึ่งปี (เช่นเฉลี่ย 4 ปี) เพื่อลดความผันผวน จึงยึดเอาค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของแต่ละปีเป็นอัตราค่าจ้างเพื่อชีวิตเลย
อนึ่ง องค์กรหลายแห่งเสนอตัวเลขและวิธีคำนวณที่แตกต่างกัน เช่น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแม้กระทั่งกระทรวงแรงงานเอง