ละครไทยเดือนนี้ - มีนาคม 65

เดือนมีนาคมมาเยือน โควิดยังอยู่กับเราไม่หายไปไหน การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และนายกเมืองพัทยาเพิ่งเริ่มต้นอันเป็นสัญญาณที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปในอนาคตอันใกล้นี้ ในขณะที่สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนก็ยังคงยืดเยื้อทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นสวนทางกับค่าครองชีพของคนไทยในยุคเงินเฟ้อ สถานการณ์เหล่านี้นอกจากจะส่งผลทางอ้อมต่อวงการละครเวทีไทยในแง่การเพิ่มของต้นทุนการเสพ-การสร้างงานศิลปะแล้ว ยังส่งผลทางตรงต่อการกำหนดเนื้อหาในการนำเสนอด้วย


ละครและการแสดงในเดือนมีนาคมนี้มีบทบาทสำคัญ 2 อย่างคือ “การชุบชูใจ” (Mind Healing) และ “การฟื้นคืนชีวิตให้แก่เมือง” (Urban Revitalization) ในรูปแบบและบริบทต่าง ๆ “ถึงแล้วบอกนิดหนึ่ง” ของ Sliding Elbow Studio, “เก็บใจไว้ที่หมา” ของ ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์, “Unwrap the Memories”, รวมถึงการเต้นร่วมสมัยในชื่อ “คลื่นจากระยะไกล (A Wave from a Distance)” ได้นำพาผู้ชมสำรวจความสัมพันธ์รอบตัวเราในมิติต่าง ๆ คน-คน, คน-สัตว์เลี้ยง, คน-ที่อยู่อาศัย, และคนตะวันตก-คนตะวันออก ในขณะที่ Journey in the City นำเสนอชุดกิจกรรม “เที่ยว 3 แพร่ง เดิน 4 ท่า ชม 6 หอศิลป์ ไหว้พระ 9 วัด” ตลอดทั้งเดือนมีนาคม โดยตลอดเส้นทางการท่องเที่ยวในย่านเมืองเก่าได้มีการนำเสนอการแสดง อาทิ ละครเดี่ยว “ผมจะพาเธอไปเดทที่เขตพระนคร” และการแสดงหุ่นละครเล็ก ซึ่งเป็นการนำศิลปะการแสดงมาพลิกฟื้นความมีชีวิตชีวาให้กับชุมชน เช่นเดียวกับ “แผ่นดินของเรา เดอะมิวสิคัล” ของ Village of Illumination ซึ่งได้เสนอละครเพลงกลางแจ้ง ณ เมืองโบราณ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการใช้การแสดงเน้นย้ำคุณค่าดั้งเดิม หรือสร้างนิยามความหมายใหม่ให้ “พื้นที่” และ “ชุมชน” สอดคล้องกับกิจกรรม “สามย่านละลานใจ” ที่จะจัดขึ้นในต้นเดือนเมษายนนี้


ในส่วนภูมิภาค การแสดงชุด “แผ่นดินร้องไห้” ซึ่งประกอบด้วย Performance Art ของ จิตติมา ผลเสวก และ มโนห์ราร่วมสมัยของ สมบัติ แก้วเนื้ออ่อน ได้ใช้การแสดงสื่อสารประเด็นการบุกรุกโบราณสถานเขาหัวแดง จังหวัดสงขลา ในขณะที่ Gabfai เปิดตัว “เทศกาลละคร ศิลปะ วัฒนธรรม ชุมชน (ข่วงหลวงฯ)”, Makhampom Art Space ได้กลับมาเปิดหลักสูตรต่าง ๆ ของ “โรงเรียนวิทยากร” และกิ่งก้านใบ LearnScape ได้เริ่มนำเสนอการแสดงออนไลน์ควบคู่กับการแสดงบนพื้นที่จริงในไร่กิ่งก้านใบแล้ว


ส่วนในฝั่งการศึกษา งานเสวนา และเวิร์คชอป BU Theatre Company ร่วมกับ ศูนย์วิจัย IDIERI (International Drama in Education Research Institute) University of Warwick ได้เปิดรับ Proposal จากนักการละครประยุกต์ เพื่อจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติในหัวข้อ “Navigating Mess and Complexity in Uncertain Times: values, practices, methods and impacts” ในต้นเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ส่วน TED Circles โดย TEDxCharoenkrung ได้จัดงานเสวนาออนไลน์ “ศิลปะละครที่ยกระดับหัวใจไปสู่พลังเปลี่ยนแปลงสังคม” มีศิลปินที่ทำละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงเข้าร่วมหลากหลาย อาทิ ปรีชา การุณ, นลธวัช มะชัย, จารุนันท์ พันธชาติ, และวิปัศยา อยู่พูล ในขณะที่กลุ่มดินสอสีนำเสนอศิลปะเสวนา “Women : Unfinished Justice” โดยภายในงานมีการแสดงของลานยิ้มการละครด้วย


แวดวงละครไทยในต่างประเทศ อโนชา สุวิชากรพงค์ ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย โดยการทำงานร่วมกับนักแสดงละครเวทีไทย อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ และ ศศิธร พานิชนก นำเสนอเวิร์คชอปการแสดงสดในโรงภาพยตร์ “Freetime” ที่พยายามทำความเข้าใจ ความทรงจำ ความรุนแรง ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของไทย ณ Walker Art Center ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วน กรกาญจน์ รุ่งสว่าง และ Henry Tan นำเสนอการแสดง “Dance Offering” ใน Vector#2 DYADS ที่ Esplanade Annexe Studio, Esplanade - Theatre on the bay ประเทศสิงคโปร์


จึงอาจกล่าวได้ว่าเนื้อหาของละครไทยเดือนที่มีวัน “World Theatre Day” นี้ มีน้ำหนักไปในทาง “ชุบชูใจ” หรือไม่ก็ทำหน้าที่ “ฟื้นคืนชีวิตให้แก่เมือง”​ ในแง่ใดแง่หนึ่ง ละครสะท้อนชีวิต จิตใจ และความทรงจำทั้งดีและร้ายที่เกิดขึ้นในสังคม เป็นบทบันทึกของยุคสมัย และวิสัยทัศน์ให้ชวนฝันถึงวันพรุ่งนี้


ปิดท้ายด้วยข่าวสารทั่วไปในแวดวงศิลปะ BACC เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครและมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นขอแสดงความยินดีกับ ธีรพันธ์ เงาจีนานันท์ และวิชญ์ แสนอาจหาญ ที่ได้รับคัดสรรเพื่อเข้าร่วมในโครงการศิลปะการแสดง ของ BACC ประจำปีนี้ และขอแสดงยินดีกับศิลปินละครไทยที่รับรางวัลจากการประกวดนวัตกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ด้วย ท้ายนี้ ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่น ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ เกรียงศักดิ์ ศิลาทอง ผู้กำกับละครเวทีและภาพยนตร์ที่ได้เคยสร้างผลงานที่มีคุณค่าต่อแวดวงละครไทย


แล้วพบกันใหม่ในเดือนเมษายน




ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ