เดือนพฤษภาคมย่างเข้าสู่หน้าฝน สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อติดพันทำให้ฟินแลนด์และสวีเดนตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ส่วนคนทั่วโลกยังต้องเผชิญกับภาวะข้าวยากหมากแพงเพราะสินค้าอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันขยับราคาสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ สถานการณ์พายุฝนที่โหมกระหน่ำในประเทศไทยทำให้น้ำบ่าเข้าท่วมเชียงใหม่ ในกรุงเทพฯ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ คนใหม่ ความเคลื่อนไหวจากปัจจัยทางสังคม การเมือง และฤดูกาลเหล่านี้กำลังจะค่อย ๆ ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อวงการศิลปะและละครไทย
การแสดงในเดือนพฤษภาคมยังคงทำหน้าที่ “ฟื้นคืนชีวิตให้แก่เมือง” (Urban Revitalization) และยังมีลักษณะของการทำงานบน “พื้นที่จำเพาะ” (Site-Specific) ซึ่งออกแบบให้การแสดงมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับพื้นที่ ต้นเดือน Pichet Klunchun Dance Company นำเสนอ “พญาฉัททันต์” ที่ noble PLAY: Inspiration Playground ในขณะที่ “นาดสินปฏิวัติ” จัดกิจกรรม “นาฏศิลป์เสรี ดนตรีเพื่อมวลชน” ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องให้รัฐคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องหาคดีทางการเมือง กลางเดือน ผดุง จุมพันธ์ นำเสนอการเต้นร่วมสมัย “ผู้บ่วง-สรวง: Worshippers” ที่คำชะโนด โดยนำศิลปะ-ความเชื่อมาผสานให้มีความเป็นร่วมสมัย ปลายเดือน กลุ่มศิลปินได้จัดงาน “เลื่อนฤทธิ์ Arrival” ซึ่งประกอบไปด้วยเวิร์คชอป คอนเสิร์ต และ Street Performance ณ ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ย่านเยาวราช ส่วนที่ช่างชุ่ยก็มีการแสดง Cocktail Theatre “2046: The Greater Exodus” ที่มีลักษณะของ immersive theatre ซึ่งผู้ชมจะได้สัมผัสกับประสบการณ์การชมการแสดงในหลากหลายมิติ
ภาคการศึกษา นอกจากละครจบของนิสิตนักศึกษาจากหลายสถาบันที่เริ่มจัดแสดงต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีและยังคงจัดแสดงต่อไปแล้ว หลายมหาวิทยาลัยยังทำงานแนวทดลอง การบริการสังคม และการเสวนาควบคู่กันไปด้วย สาขาการแสดง ม.ขอนแก่น นำเสนอ Mixed-media performance เรื่อง “สินไซ 2022” ทางออนไลน์ในงาน Contemparary Creative Performing Arts Conference และยังเริ่มการปฐมนิเทศโครงการแก่นอีสานวัฒน์ “เฮ็ดให้เกิ่ง (ลอง) เบิ่งอีสาน” ในขณะที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ จัดงานเสวนาในหัวข้อ “เรียนละครมาก่อนถึงจะดีหรือมาฝึกกันทีหลังก็ได้: บทสนทนาว่าด้วยการพัฒนาฝึกฝนทักษะการแสดงเพื่ออุตสาหกรรมบันเทิง” โดยมีศิลปินและครูการแสดงหลายท่านเข้าร่วมอภิปราย ส่วนคณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว. เชิญศิลปินที่ทำงานในแวดวงการแสดงและศิลปินจากภาคอีสาน เหนือ และใต้ ร่วมพูดคุยในหัวข้อ “ศิลปะกับคนชายขอบ”
งานเวิร์คชอปและงานเครือข่ายละครนั้น Gabfai ได้จัดโครงการแลกเปลี่ยนกับศิลปินชาวกัมพูชา นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การสร้างความปลอดภัยในโรงเรียนด้วยวินัยเชิงบวก” ส่วน Dhepsiri Creative Space ร่วมกับ Ta Lent Show ได้จัดการแสดงและเวิร์คชอปในเดือนนี้ด้วย กลุ่มลานยิ้มการละคร-สวนอัญญา เฮือนครูองุ่น มาลิก ประสบกับภาวะน้ำท่วมเฉียบพลันทำให้ข้าวของเสียหายเป็นจำนวนมาก นับเป็นเดือนที่เชียงใหม่มีกิจกรรมครึกครื้นแต่ก็มีเรื่องที่ต้องส่งกำลังใจให้ชาวละครที่เชียงใหม่ในคราวเดียวกัน (สามารถสนับสนุนเงินสำหรับการฟื้นฟูลานยิ้มการละคร ผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ เลขบัญชี 793-271-2050 ชื่อบัญชี ประภัสสร คอนเมือง และสวนอัญญา-เฮือนครูองุ่น ผ่านธนาคารกรุงเทพ เลขบัญชี 547-019-7765 ชื่อบัญชี กัญญา ใหญ่ประสาน และ ชญาณิฐ สุนทรพิธ ) ในกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้คะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยก่อนการเลือกตั้ง TTF ได้จัดงานเสวนา “กาง เมาท์ ชำแหละ วิสัยทัศน์ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ประเด็นนโยบายศิลปะ” ด้วย สามารถชมบันทึกย้อนหลังได้
เดือนนี้เป็นอีกเดือนหนึ่งที่ศิลปินไทยหลายคนได้ไปทำงานในต่างประเทศ ปานรัตน กริชชาญชัย และสุรัตน์ แก้วสีคร้าม จัดแสดงนิทรรศการในโครงการ Residency AAC_R’s Beyond Biophilia ที่ Asia Cultural Center ประเทศเกาหลีใต้ ส่วนทีม B-Floor เดินทางไปเยอรมนีเพื่อร่วมกันสร้างงานชิ้นใหม่ร่วมกับโรงละคร Residenztheater ซึ่งจะนำเสนอในช่วงปลายปีนี้ อ.อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ กลุ่มศิลปินไทยได้นำการแสดง “มรดก โนรา: Spirit of NORA” ไปจัดแสดง ณ Palazzo Pisani Santa Marina เวนิส ประเทศอิตาลี และ Asian American Performers Action Coalition (AAPAC) ซึ่งมีผู้ร่วมก่อตั้ง คือ Pun Bandhu ศิลปินไทยในสหรัฐอเมริกา ได้รับรางวัล Tony Honors for Excellence Theatre ในฐานะที่ได้สร้างความหลากหลายและยกระดับอุตสากรรมละครในสหรัฐอเมริกา
สืบเนื่องจากการปิดรื้อสถาบันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งละครไทยเดือนนี้ได้รายงานไปเมื่อเดือนก่อน เดือนนี้ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และแนวร่วมปกป้องสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดงานสนทนากลุ่ม “โครงการพัฒนาพื้นที่ของสถาบันปรีดี พนมยงค์” ณ สมาคมธรรมศาสตร์ เปิดโอกาสให้หลายฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ ท้ายนี้ TTF ขอแสดงความยินดีกับศิลปินที่ได้รับเงินอุดหนุนการพัฒนาและส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยครั้งที่ 2 จากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย มา ณ โอกาสนี้ด้วย
แล้วพบกันใหม่เดือนหน้า
ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ