ละครไทยเดือนนี้ - ธันวาคม 63

เดือนธันวาคม แม้จะเป็นเดือนสุดท้ายของปีแต่ความเคลื่อนไหวของละครเวทีก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง 

มูลนิธิฯ ต้องขอแสดงความยินดีกับกลุ่มละคร B-Floor กับละครเวทีผสมมัลติมีเดียเรื่อง Flu-Fool ที่ได้รับการตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี จนเพิ่มรอบการแสดง โครงการละครใบ้สัญจรของ Babymime ยังคงเดินทางไปแสดงในอีกหลายจังหวัด พิเชษฐ​ กลั่น​ชื่น​ แดนซ์ คอมพานี​ เปิดตัวหนังสือ THE COMPANY 10 ปี แห่งการเดินทางของ พิเชษฐ​ กลั่น​ชื่น​ แดนซ์ คอมพานี ในงานไหว้ครูศิลปะการแสดงร่วมสมัย ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว 

ฝั่งภูมิภาคยังคงคึกคัก B-Floor ได้เดินทางไปจัดการแสดงสดในโปรเจค Khonkaen Manifesto ที่เชียงใหม่ โรงเรียนศิลปะการแสดงกาดสวนแก้วก็ได้ทำงานร่วมมือกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในโครงการพัฒนาศักยภาพเด็ก เยาวชน สังคม และวัฒนธรรมภาคเหนือผ่านศิลปะการแสดง ยังมีผลงานละครเวทีโดย ธนุพล ยินดีได้นำเสนอการแสดงบูโตที่ได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตจริงของคุณพอลลีน งามพริ้ง หญิงข้ามเพศ ลงใต้กันบ้างที่เทศกาล Living Arts Phuket เราได้เห็นงานสร้างสรรค์ร่วมระหว่างศาสตร์โนราและเครื่องดนตรีตะวันตก-เปียโน และตะวันออก-โกโตะ รวมไปถึง ศิลปะการแสดง Drag สร้างสรรค์ใหม่โดย Amadiva ผู้เพิ่งมีการแสดงเดี่ยวไปเมื่อไม่นานมานี้

อย่างไรก็ตาม ด้วยการกลับมาแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงปลายเดือนธันวาคม ทำให้หลายกิจกรรมทางการแสดงที่วางไว้ในเดือนมกราคมได้ทยอยประกาศเลื่อนแล้ว หากคณะละครหรือศิลปินท่านใดประสบปัญหา มูลนิธิฯ ละครไทยพร้อมช่วยเหลือให้คำปรึกษาอย่างเต็มกำลัง เราจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

ด้านละครออนไลน์ ล่าสุดนี้ เราได้เห็นคณะละครหลายคณะได้ทดลองจัดรอบสตรีมมิ่ง แบบชมสดพร้อมผู้ชมในสถานที่จริง สามารถขยายฐานไปยังผู้ชมที่ไม่สามารถเดินทางมาได้ ไม่ว่าจะด้วยอยู่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ แต่ยังอยากได้รับกลิ่นอายของการชมสด  ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับอย่างดี น่าคิดต่อไปว่าการสตรีมมิ่งนี้เป็นโอกาสที่คุ้มค่าคุ้มทุนสำหรับคณะละครในอนาคตหรือไม่ ไม่ว่าสถานการณ์โรคระบาดจะมีอยู่หรือไม่มีแล้วก็ตาม 

ด้านเมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ก็ได้นำบันทึกการแสดงละครมิวสิคัลหลายเรื่อง ฉายให้ชมฟรีผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง ONE นับว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน สร้างกระแส Talk of the Town ในช่วงปีใหม่กันเลยทีเดียว

BU Theatre Company เป็นเจ้าภาพเปิดบ้านต้อนรับนักวิชาการ คณาจารย์ และศิลปินสาขาศิลปะการแสดงทั่วประเทศ เพื่อระดมความคิดก่อตั้ง "กลุ่มขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมทางศิลปะเพื่อการพัฒนาประเทศ" จัดทำร่างยุทธศาสตร์เสนอต่อกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม นับเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวเชิงรุกของวงวิชาการ

ฟากชมรมวิจารณ์การแสดงได้คัดเลือกผลงานละครเวทีแห่งปีของตนลงบทความ “ละครเวทีแห่งปี 2020” โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง เหล่านักวิจารณ์ได้เขียน Special Mention ถึงปรากฏการณ์อันสำคัญเกี่ยวกับการแสดงในปีนี้ ได้แก่ ละครออนไลน์ vs. ละคอนออนสตรีท และกำเนิดคณะละครรุ่นใหม่ในช่วงเวลาที่ท้าทาย ติดตามอ่านได้ที่ The Momentum

ด้านต่างประเทศ  ยังคงเน้นไปที่การแลกเปลี่ยนออนไลน์ ในเดือนนี้ ภาวิณี สมรรคบุตร จาก Democrazy Theatre Studio เป็นตัวแทนร่วมสนทนาในหัวข้อ The Artist as Activist จัดโดยกลุ่ม Wild Rice ข้ามทะเลไปฝั่งอเมริกา นานา เดกิ้น ประธานกรรมการ Thai Theatre Foundation (USA) ได้รับเชิญให้เป็น teaching artist ในโครงการ Youth Artistic Instigator จัดโดย New York Theatre Workshop 

ติดตามความคืบหน้าคดีวิธญา คลังนิล สมาชิกกลุ่มลานยิ้มการละคร เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อัยการได้เลื่อนสั่งฟ้องออกไปก่อน ด้านธนุพล ยินดี นักการละครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักที่ร่วมก่อตั้ง Chiangmai Theatre Network ได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามถึงที่พัก หลังทำการแสดงเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประชาธิปไตย ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 5 ที่ถูกติดตามแล้ว

2020 นับว่าเป็นปีแห่งการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด 19 โดยแท้ และโลกที่เปลี่ยนไปนี้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ศิลปินละครเวทีเป็นผู้ปรับตัวได้อย่างดีเยี่ยม วิกฤติก็มิอาจหยุดความคิดสร้างสรรค์ของทุกคนได้ มูลนิธิฯ  ขอแสดงความชื่นชมต่อศิลปินและบุคลากรด้านศิลปะการละครทุกด้านที่เข้มแข็ง ไม่ย่อท้อ ฝ่าฝันปีอันแสนทรหดนี้ร่วมกันมา 

มูลนิธิฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า 12 บทความที่นำเสนอเป็นประจำทุกเดือนจะเป็นหมุดหมายให้กับสิ่งละอันพันละน้อยที่เกิดขึ้นในชุมชนคนละครทั่วประเทศ ขอให้ 2021 เป็นอีกหนึ่งปีน่าจดจำ 

สวัสดีปีใหม่

ร่วมเขียนโดย เพียงดาว จริยะพันธ์ุ

ละครไทยเดือนนี้ - พฤศจิกายน 63

    BICT Fest 2020 เดินทางมาถึงตอนสุดท้ายในเดือนนี้ในธีม Play From Home ในรูปแบบออนไลน์ ปีนี้ทาง BICT Fest ได้ออกแบบสินค้าที่ระลึกด้วย

เดือนนี้ถ้าไม่กล่าวถึงเทศกาลละครกรุงเทพเห็นทีจะไม่ได้ มาในธีม We make it possible แม้ขนาดเทศกาลจะลดลงด้วยปัจจัยต่างๆ แต่ก็ยังมีผู้ชมมาเนืองแน่น ความพิเศษอย่างหนึ่งคือสามารถถ่ายทอดสดออนไลน์ได้ เราจึงได้เห็นกลุ่มละคร Sirisook Dance Theater จากเชียงใหม่เข้าร่วมเทศกาลละครกรุงเทพด้วยในปีนี้ เป็นการเลือนเส้นของพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ด้วยเทคโนโลยี ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการอบรมอาสาสมัครนักวิจารณ์อีกด้วย เป็นอีกแนวทางที่จะช่วยเชื่อมละครเวทีกับผู้ชมได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

มูลนิธิฯ ขอแสดงความยินดีกับครูช่าง ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง และพี่ตั้ว ประดิษฐ ประสาททอง ที่ได้รับรางวัล Lifetime Achievement Award ในเทศกาลละครกรุงเทพปีนี้ด้วย เป็นครั้งแรกที่มีการมอบรางวัลนี้ นอกจากนี้ก็ขอแสดงความยินดีกับศิลปินและทุกคณะละครที่ได้รับรางวัลต่างๆ ในเทศกาลด้วย ปีนี้ไม่ได้มีเฉพาะรางวัลทางการ จบงานยังมีการมอบรางวัลหม่นหมองอวอร์ดต่อกันเองอีกต่างหาก

น่าสนใจว่าสถานการณ์การเมืองที่ร้อนระอุไม่ได้ทำให้การมาชมละครลดลงสักเท่าใด เห็นได้จากละครหลายเรื่องในเทศกาลละครกรุงเทพในปีนี้ รวมถึงละครในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ต้องเลื่อนการแสดงไปก่อนหน้า เช่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สามารถขายบัตรได้หมดเกือบทุกรอบ

พฤศจิกายนเป็นเดือนเกิดของมูลนิธิละครไทย มูลนิธิฯ จัดงาน Thai Theatre Night 2020 “Together We Will Get Through” เพื่อระดมทุนสนับสนุนละครเวทีไทยร่วมสมัย มูลนิธิขอขอบพระคุณทุกแรงสนับสนุนอีกครั้งมา ณ ที่นี้ด้วย หลังจบงานระดมทุน มูลนิธิฯ ก็เดินทางเยี่ยมพบพันธมิตรทั้งในปริมณฑลและเชียงใหม่

พูดถึงเชียงใหม่  กลุ่มละคร Part Time Theatre ได้นำละครเวทีเรื่อง “เฉาก๊วยถ้วยสุดท้าย” มาดัดแปลงให้เข้ากับบริบทของเชียงใหม่  เป็นเทรนด์ต่อเนื่องของการนำวัตถุดิบจากกรุงเทพฯ ไปผลิตซ้ำและดัดแปลงในเชียงใหม่

ข่าวดีอีกอย่างจากเชียงใหม่คือกลุ่มละครชุมชนกั๊บไฟได้รับรองเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ (คนละอย่างกับสถานสาธารณกุศล)

ข้ามฟากมาทางอเมริกา มูลนิธิฯ จัดประชุมเครือข่ายละครไทยในสหรัฐอเมริกาออนไลน์เป็นครั้งแรก ศิลปินละครไทยทั้งชาวไทยและไทย - อเมริกันที่ไม่เคยได้พบปะกันมาก่อนได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และวางแผนร่วมงานกันต่อไปในอนาคต

ไม่ใช่แค่ประชุมออนไลน์ แต่ยังมีศิลปินไทยแสดงคอนเสิร์ตออนไลน์ด้วย น้องลูค ณภัทร เสถียรถิระกุล เด็กไทยผู้ได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในนักแสดง The Perfect Fit แสดงความสามารถถ่ายทอดสดเมื่อเดือนที่ผ่านมาร่วมกับนักแสดงอเมริกัน

ร่วมเขียนโดย พิชญ์ฌาชาญ เอี่ยมสอาด

ละครไทยเดือนนี้ - ตุลาคม 63

    ตุลาคมเริ่มต้นด้วยสถานการณ์ Covid-19 รอบโลกที่เริ่มกลับมาระบาดอีกครั้ง ในขณะที่สถานการณ์ในไทยยังคงทรงตัว ถือว่าประมาทไม่ได้เด็ดขาดที่จะต้องป้องกันตัวเอง

        ละครเวทีจากที่จัดแสดงออนไลน์ก็เริ่มกลับมาครึกครื้นในสถานที่จริง โรงละคร KBank Siam Pic-Ganesha เปิดดีลพิเศษส่งท้ายปีให้เช่าสถานที่สุดคุ้ม พร้อมมาตรการดูแลความปลอดภัย ฝั่ง Scenario & Rachadalai ก็จัดคอนเสิร์ตในสถานที่ของตน ฟากโรงเล็ก ละครเวทีซ้อม 6 ปี ยังไม่ได้เล่น ก็กลับมารีสเตจอีกครั้ง

แม้จะเริ่มกลับมาจัดแสดงในสถานที่จริงกันบ้างแล้ว แต่ละครออนไลน์ก็ไม่ได้หายไป เดือนนี้ Dreambox จัดฉายทึนทึก 3 One Night in Tokyo ออนไลน์

เรื่องน่าเสียใจเดือนนี้ ด้วยผลกระทบของ Covid-19 โรงละครคาลิปโซที่เปิดแสดงคาบาเร่มา 33 ปีได้ปิดตัวลงและจะปรับเปลี่ยนธุรกิจเปิดให้เช่าสถานที่จัดงานทั้งในร้านอาหารและโรงละครแทน

การเมืองเดือนนี้ร้อนระอุมาก ชาวละครเวทีหลายท่านใช้ละครเวทีเป็นเครื่องมือแสดงความคิด นักการละครที่สนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงหลายกลุ่ม เช่น กลุ่ม B-Floor และกลุ่มศิลปินปลดแอกได้จัดแสดงละครเวทีในการชุมนุมประท้วงตามสถานที่ต่างๆ

มูลนิธิละครไทยมีนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เราเชื่อว่าไม่ว่าจะมีแนวคิดทางการเมืองอย่างไร ศิลปินทุกท่านควรมีเสรีภาพทางศิลปะเสมอกัน เดือนนี้สมาชิกกลุ่มลานยิ้มการละครได้รับหมายจับเพิ่มอีก 5 ข้อหา มูลนิธิยืนยันในจุดยืนเดิมว่าการแสดงงานศิลปะไม่ว่าจะในครั้งใดไม่สมควรถูกคุกคามด้วยการดำเนินคดีเป็นอย่างยิ่ง จึงออกแถลงการณ์ยืนหยัดเคียงข้างเสรีภาพทางศิลปะเป็นครั้งที่สอง

    การชุมนุมประท้วงส่งผลกระทบต่อการจัดแสดงละครเช่นกัน การแสดงหลายเรื่องต้องเลื่อนหรืองดการแสดงเนื่องจากคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ชมหากเกิดสถานการณ์วุ่นวายและขนส่งสาธารณะประกาศปิดให้บริการ

ฝั่งทุน DAAD Artists-in-Berlin Program มอบทุนให้ศิลปินสร้างผลงานที่ประเทศเยอรมนีเป็นระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี

     ฟากการศึกษา มีข่าวน่ายินดีจากสาขาศิลปะการละครและความเป็นผู้ประกอบการสร้างสรรค์ มหาวิทยาราชภัฏสวนสุนันทาที่มีจำนวนผู้สมัครเข้าเรียนมากที่สุดในคณะ เป็นเรื่องน่าชื่นใจที่ได้เห็นเด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจศิลปะการละคร

ต่างจังหวัด กลุ่ม Homeroom ที่อ่างทอง ย้ายสถานที่เพื่อให้ครูและเด็กๆ ทำกิจกรรมศิลปะได้คล่องตัวขึ้น Babymime Show ยังคงเดินสายไปตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วไทย เดือนนี้ไปที่นครราชสีมา เชียงใหม่ และพัทลุง Cherrytheatre ก็ไปทำละครที่จังหวัดเลย

สิ่งที่เราไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนักในละครโรงเล็กคือการเปิดคัดเลือกนักแสดง สุดใจโปรดักชั่นได้ประกาศผลการคัดเลือกนักแสดงไป ขอแสดงความยินดีกับศิลปินที่ได้รับเลือกด้วย

ฝั่งละครภาษาอังกฤษ กลุ่ม Bangkok Community Theatre ได้จัดเวิร์คชอป Forum Theatre ไป

    ต่างประเทศ คุณสิริกาญจน์ บรรจงทัดนำผลงานร่วมเทศกาล Besta Bonaka 2020 คุณนพพันธ์ บุญใหญ่จัดอ่านบทละครเรื่อง Taxi Radio ออนไลน์กับ Columbia University School of the Arts ลานยิ้มการละครเข้าร่วม Asian Youth Theatre Festival คุณศศพินทุ์ ศิริวานิชร่วมเสวนากับ IETM International network for contemporary performing arts คุณอมิธา อัมระนันทน์เข้าร่วมพูดคุยกับศิลปินอาเซียนในพอดแคสต์ของ WILD RICE มูลนิธิละครไทยเองก็เข้าร่วมประชุม Performing Arts Market in Seoul  (PAMS) ด้วย

ฟากหน่วยงานรัฐ สยามนิรมิตร่วมแสดงความยินดีกับนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงวัฒนธรรม ครบรอบ ๑๘ ปี

สุดท้ายนี้ มูลนิธิฯ ขอแสดงความยินดีกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พันพัสสา ธูปเทียน ที่ได้รับ ‘รางวัลคึกฤทธิ์’ สาขาศิลปะการแสดงประจำปี 2563 ด้วย

ร่วมเขียนโดย พิชญ์ฌาชาญ เอี่ยมสอาด

ละครไทยเดือนนี้ - กันยายน 63

เดือนกันยายน งานละครเวทีและ Live Performance กลับมาคึกคักอีกครั้งหลังงานส่วนใหญ่เกิดขึ้นออนไลน์มาหลายเดือน มีทั้งเล่นในโรงละครและเล่นในร้านอาหาร มาตรการดูแลความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นการจัดเตรียมเจลล้างมือ การชำระเงินผ่าน QR Code เพื่อลดการจับเงินสด หรือการสวมหน้ากากอนามัยเป็นสิ่งที่ผู้คนคุ้นเคยมากขึ้นและปฏิบัติตามได้อย่างราบรื่น หากท่านต้องการเช่าอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดในราคาย่อมเยา กรุณาติดต่อมูลนิธิละครไทย

เราได้เห็นศิลปินใส่ใจบันทึกและเผยแพร่ผลงานผ่านโลกออนไลน์เพิ่มขึ้น หลายท่านนำการแสดงไม่ว่าจะเป็นเรื่องเก่าหรือเรื่องที่เพิ่งเล่นจบมาขายผ่านละครไทยออนดีมานด์ของมูลนิธิละครไทยหรือช่องทางต่างๆ ของตน

การรับบริจาคแทนการขายบัตรก็มีให้เห็นอยู่ในเดือนนี้ เช่น 4 Sister ของ Part Time Theatre ในเชียงใหม่ที่เปิดรอบบริจาค 2 รอบ

การนำเสนองานออนไลน์มิได้หายไปเลยเสียทีเดียว โดยมากจะเป็นกิจกรรมนานาชาติที่ใช้ช่วงที่ผู้คนยังคงพบปะออนไลน์อยู่นี้ให้เป็นประโยชน์ BIPAM กับ BICT Fest จัดเสวนาต่อเนื่องเชื่อมต่อนักการละครทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจากทั่วโลก นักการละครไทยก็ออกไปร่วมเสวนาในแพลตฟอร์มต่างๆ นอกบ้านเช่นกัน อาทิ ร่วมเสวนาใน WildRice และ IETM

ประเด็นการเมืองในเดือนนี้ก็ร้อนระอุ เมื่อต้นเดือนกันยายน FreeArts จัดเทศกาลศิลปะ Act สิ Art รวมกลุ่มศิลปินแขนงต่างๆ หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นำเสนอผลงานที่พูดถึงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงประเด็นการเมืองและสังคมในมุมมองของคนทำงานศิลปะ หลังจากนั้นนักการละครและกลุ่มคนทำงานศิลปะในเชียงใหม่ก็ได้รับลูกต่อ จัดเทศกาล FreeAct เชียงใหม่ในช่วงกลางเดือน บีฟลอร์เองก็เปิดรับอาสาสมัครเตรียมแสดงละครในการชุมนุม

ฟากสถาบันการศึกษา มีการจัดประกวดละครในรั้วมหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการเผยแพร่รูปแบบและแนวคิดการทำงานของศิลปินศิลปาธรปี 2563 ผ่านงานเสวนาและงานออนไลน์ โดยสศร. นอกจากนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังเปิดจองหนังสือ “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเพอร์ฟอร์มานซ์” ซึ่งมีผู้ลงชื่อจองล้นหลามอีกด้วย

ฟากภาครัฐ กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยประกาศมอบทุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สามารถยื่นขอรับการส่งเสริมฯ ได้ระหว่างวันที่ 1 – 31 ตุลาคม 2563 กองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมเองก็ได้รับเรื่องจากสมาคมวิทยากลแห่งประเทศไทย กรณีเปิดเผยเคล็ดลับมายากลผ่านช่อง YouTube และจะดำเนินการต่อไป

ต่างจังหวัด นอกจากที่กล่าวไปแล้ว Cherrytheatre โรงละครเพื่อการพัฒนายังได้ออกไปทำงานละครที่จังหวัดเลย Babymime ก็นำละครสัญจรไปชลบุรี

ส่งท้ายนี้ มูลนิธิละครไทยขอแสดงความยินดีกับครูช่าง อาจารย์ชลประคัลภ์ จันทร์เรืองกับรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประเภทภาพยนตร์และละคร ประจำปี 2563 บรรดาลูกศิษย์ตั้งแต่รุ่นก่อตั้งคณะละครมรดกใหม่ได้ร่วมกันจัดงานเลี้ยงฉลองและมุทิตาจิตกึ่งเซอร์ไพรส์ไปเมื่อต้นเดือนกันยายนนี้ด้วย

เขียนโดย คุณภาวิณี สมรรคบุตร และคุณรักษ์ศักดิ์ ก้งเส้ง

ละครไทยเดือนนี้ - สิงหาคม 63

สิงหาคมมีละครหลายชิ้นงานกลับมาแสดงในพื้นที่จริง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงที่เลื่อนมาจาก COVID-19 เริ่มระบาดในเดือนมีนาคมหรือสร้างใหม่ ต่างก็มีมาตรการดูแลความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นจัดที่นั่งแบบเว้นระยะห่างหรือสวมหน้ากากอนามัยตลอดการชม มีการจัดเตรียมเจลล้างมือหน้าโรงละคร ชำระเงินผ่าน QR Code เพื่อลดการจับเงินสด หลายรอบการแสดงผู้ชมเต็มโรงจนต้องเพิ่มรอบก็มี เป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้ชมละครเวทียังคงเหนียวแน่น หากท่านต้องการเช่าอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดในราคาย่อมเยา กรุณาติดต่อมูลนิธิละครไทย

ในขณะเดียวกันเทรนด์การขายออนไลน์ยังคงมีอยู่ คณะละครใบ้เบบี้ไมม์ได้นำโมเดลการตั้งกลุ่ม facebook แบบ private ที่ Dreambox ใช้แล้วประสบความสำเร็จอย่างดีมาใช้กับการแสดงเรื่อง BABYMIME LOVE SHOW นอกจากนี้ ยังมีการแสดงที่อีกเรื่องจากหลากหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นเรื่องเก่าหรือเรื่องที่เพิ่งเล่นจบไปได้นำขึ้นมาขายผ่าน vimeo มูลนิธิละครไทย 

เทศกาลละครกรุงเทพปี 2020 ปิดรับสมัครไปเรียบร้อยแล้ว ในอีกไม่นานเราน่าจะได้เห็นโปรแกรมที่น่าสนใจ เทศกาลละครกรุงเทพเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Performative Art Project ครั้งที่ 9 สนับสนุนโดยหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งเริ่มกิจกรรมแรกในเดือนสิงหาคมกับละครเรื่อง “กรุงเทพฯ น่ารักน่าชัง” โดยกลุ่มละคร 8x8 และจะมีการแสดงทุกเดือน ติดตามได้ที่ www.bacc.or.th

กิจกรรมระดับนานาชาติเดือนสิงหาคมนี้ต้องยกให้ BIPAM ที่จัด Webinar Series - Under The SEA เปิดโอกาสให้ทั่วโลกได้เข้าใจศิลปะการแสดงร่วมสมัยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างที่เป็น เริ่มแล้วในเดือนสิงหาคมและจะดำเนินไปอีก 11 สัปดาห์ กลุ่ม Wild Rice ประเทศสิงคโปร์ได้จัดเสวนาเกี่ยวกับการทำงานละครดิจิตัลในช่วงวิกฤตโดยมีศิลปินไทยเข้าร่วมแบ่งปันความคิด กลุ่มละครกั๊บไฟจัดอบรมออนไลน์ให้กับองค์กร ACD ของประเทศลาวผ่าน Zoom ในช่วงวิกฤตินี้เช่นกัน เรียกได้ว่าการใช้งานออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วง COVID-19 นี้ เป็นผลดีกับกิจกรรมระหว่างประเทศ ทำให้กิจกรรม workshop เสวนา หรือชั้นเรียนต่างๆ ข้ามประเทศจัดขึ้นได้ง่ายและคึกคักกว่าเดิม

ด้านกลุ่มการศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติในหัวข้อ “โลกเปลี่ยนศิลป์ ศิลป์เปลี่ยนโลก” นำเสนอบทความวิจัยหลากหลายหัวข้อผ่าน Zoom และยังเป็นเจ้าภาพต้อนรับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา แลกเปลี่ยนเรียนรู้การแสดงและคติชนระหว่างภาคอีสานและภาคใต้ เชื่อมโยงองค์ความรู้ข้ามวัฒนธรรม ทำให้เข้าใจเขา เข้าใจเรา มูลนิธิฯ หวังว่าจะได้เห็นการแลกเปลี่ยนที่สร้างสรรค์เช่นนี้เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศไทย

เดือนสิงหาคมเราได้เห็นแวดวงศิลปะเกิดกระแสเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนว่ารัฐต้องให้เสรีภาพกับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ชาวละครเวทีส่วนหนึ่งได้ร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตยกับศิลปินหลายแขนง ก่อนจะออกแถลงการณ์สนับสนุนเยาวชนและจัดกิจกรรมพ้องไปกับข้อเรียกร้องของนักศึกษา สำหรับคดีของนายวิธญา คลังนิล ศิลปินกลุ่มลานยิ้มการละครยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ คาดว่าจะทราบผลปลายเดือนกันยายน 2563

ด้านงานรณรงค์ มูลนิธิฯ ได้เดินทางไปผลักดันกับคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมของรัฐสภาต่อเนื่องเคียงข้างภาคีศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยและสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

ส่งท้ายด้วยการแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลจากชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงปี 2019 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา และขอขอบคุณชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงเองที่ยืนเคียงข้างและเป็นเสียงสะท้อนให้ศิลปินเสมอมา

เขียนโดย เพียงดาว จริยะพันธุ์

ละครไทยเดือนนี้ - กรกฎาคม 63

เดือนกรกฎาคมนับว่าเป็นเดือนที่น่าจับตามองเพราะเป็นเดือนแรกหลังจากรัฐบาลประกาศคลายล็อคดาวน์ สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ กลุ่มละครต่างๆ ได้กลับมาสร้างงานละครและจัด workshop ไม่เฉพาะในกรุงเทพมหานครแต่ทั่วทุกภูมิภาค บรรยากาศจึงเป็นไปอย่างคึกคัก 

กลุ่มละคร Fullfat Theatre ออกแบบละครแบบมีระยะห่างให้เข้าชมทีละคนรอบละ 10 คน เรื่อง Save For Later นำเสนออย่างสร้างสรรค์เพื่อตอบโจทย์ในช่วงที่มีข้อจำกัด คุณพิเชษฐ กลั่นชื่นจัดการแสดงบรรยาย “หมายเลข 60” โดยจำกัดจำนวนผู้ชม จากนั้นก็ฉายบันทึกการแสดงในนิทรรศการ “สาธิต หมายเลข 60” อีกครั้ง เห็นได้ว่าผู้ชมเริ่มคลายกังวลจากสถานการณ์โรคระบาดบ้างแล้ว  ก็ต้องติดตามกันต่อไปกับบรรยากาศในเดือนสิงหาคม

การแสดงออนไลน์ยังมีอยู่ต่อเนื่อง โครงการ Open Up The Lock Down ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสศร. รวบรวมศิลปินและองค์กรศิลปะ 36 แห่งนำเสนอการแสดงและเสวนาออนไลน์ตลอด 5 วัน Dreambox Theatre ปล่อยวีดิโอการแสดงที่นำแสดงโดยคุณตั้ว ศรัณยู วงษ์กระจ่าง เพื่อรำลึกถึงการจากไปของคุณตั้วเมื่อเดือนที่ผ่านมา

เทศกาลละครกรุงเทพประจำปี 2020 ได้ประกาศรับสมัครแล้วอย่างเป็นทางการไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม ดูรายละเอียดได้ที่ Facebook Fanpage Bangkok Theatre Festival

มูลนิธิละครไทยเห็นว่าการเว้นระยะห่างทำให้จำนวนที่นั่งลดลง คณะละครย่อมต้องสูญเสียรายได้ จึงเปิด Vimeo ของมูลนิธิละครไทยเป็นช่องทาง official ให้คณะละครนำผลงานมาปล่อยเช่าออนไลน์ในระยะฟื้นฟูหลังโควิดนี้ นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังมีชุดป้องกันโควิดให้เช่าในราคาย่อมเยาอีกด้วย

ภาครัฐจัดโครงการพัฒนาทักษะแก่ศิลปินหลายโครงการไม่ว่าจะเป็น ทักษะการเขียนออนไลน์กับนักเขียนนิยายมือรางวัลของสศร. และฝึกการเล่าเรื่องเป็นละครโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ฝั่งมูลนิธิฯ ก็ได้จัด workshop พัฒนาทักษะการตลาดและประชาสัมพันธ์สำหรับละครเวที โรงละครขนาดใหญ่อย่างเมืองไทย รัชดาลัย เธียร์เตอร์ก็ออก workshop summer camp สำหรับเยาวชนอีกด้วย

เดือนนี้ต้องขอส่งเสียงเชียร์ดังๆ ให้กับการละครฝั่งภูมิภาค Part Time Theatre จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดเทศกาลละคร 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นโมเดลริเริ่มจากพระจันทร์เสี้ยวการละคร จับกลุ่มนักแสดง ผู้กำกับ และนักเขียนบททำละครให้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมง มรดกใหม่จัดการแสดงทั้งที่คลอง 6 และโคราช ในบรรยากาศสบายๆ ชมไปทานข้าวเย็นไป ฝั่งภาคตะวันออกเริ่มประกาศ audition กับเทศกาลละครบางแสนครั้งที่ 12 เราน่าจะได้เห็นความคึกคักของฝั่งภาคตะวันออกเร็วๆ นี้

สืบเนื่องจากสมาชิกกลุ่มลานยิ้มการละครได้จัดแสดงอ่านบทกวีในการชุมนุมวันที่ 19 กรกฎาคมและได้รับหมายเรียกจากสำนักตำรวจแห่งชาติ ในการนี้ มูลนิธิละครไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงออกแถลงการณ์คัดค้านการละเมิดเสรีภาพทางศิลปะ มีผู้ลงชื่อร่วมคัดค้านกว่า 3,000 คนผ่าน change.org มูลนิธิละครไทยเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าสังคมเสรีคือสังคมที่ประชาชนล้วนมีสิทธิใช้วิจารญาณของตนประเมินค่าว่างานศิลปะใดเหมาะควรแก่การสร้างสรรค์หรือสนับสนุน ลานยิ้มการละครจัดการแสดง performance art  Hope I Breath l De - กระจายทั่วคูเมืองเชียงใหม่หลังจากนั้นเพื่อยืนยันเสรีภาพดังกล่าว

ฝั่งการศึกษา การละคอน ธรรมศาสตร์ ประเดิมโรงละครใหม่ด้วยโครงการ Shape the Young Mind เปิดรับเยาวชนระดับม.ปลายและมหาวิทยาลัยมาเรียนรู้กระบวนการสร้างสรรค์ละคอนพร้อมทุนสนับสนุนสร้างผลงาน ศิลปกรรม ม.ขอนแก่นก็จัดอบรมและประกวดละครสำหรับนักเรียนม.ปลายในภาคอีสานเช่นกัน โครงการนี้ประสบความสำเร็จจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 แล้ว ส่วนศิลปะการแสดง ม.ศรีปทุมจัดแสดงละครสั้นภาษาอังกฤษออนไลน์ในเดือนนี้  ส่งเสริมทักษะภาษาผ่านศาสตร์ละครที่นักศึกษาสนใจกันอยู่แล้ว 

การสนับสนุนการละครจากภาคส่วนอื่นๆ ยังมีอยู่ต่อเนื่อง ทั้งจาก CEA ร่วมกับเซ็นทรัลกรุ๊ป สนับสนุนผู้ประกอบการด้านศิลปะในตลาดรวมใจไทยช่วยไทย BACC ยังคงเปิดให้ใช้พื้นที่ฟรีซึ่งในเดือนนี้และเดือนหน้าก็มีละครเวทีไปใช้อย่างต่อเนื่อง Goethe มีทุน Residency หลายทุน ทั้งสำหรับศิลปิน นักบริหารจัดการศิลปะ และเจ้าของ space ยังคงสมัครกันได้ ดูรายละเอียดได้ที่ www.goethe.de

ความร่วมมือระดับต่างประเทศเดือนนี้มีโปรเจคที่น่าสนใจ โครงการ IN OWN SPACE ของคุณอริสรา แก้วม่วงและคุณกวิน พิชิตกุล ได้รับทุนสนับสนุนจากเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ และ Gyeonggi Cultural Foundation ประเทศเกาหลีใต้ ความร่วมมือกับญี่ปุ่นยังมีอีกหนึ่งโครงการคือ “THE CITY & THE CITY” จาก BIPAM ร่วมมือกับ FESTIVAL TOKYO เฟ้นหาศิลปินหลากหลายแขนงสำรวจความเป็นเมือง “กรุงเทพ & โตเกียว” BIPAM เองก็ launch โครงการ Webinar Series Under The SEA พูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน 11 ประเทศ เริ่มเดือนสิงหาคม

เปิดตัวสื่อศิลปะรายการใหม่ "Mellow Art and Culture” ทางวิทยุ Mellow975 ผู้ดำเนินรายการก็ไม่ใช่อื่นไกล คุณวสุ วรรลยางกูร จากกลุ่มละคร Underduck

ท้ายสุดนี้ มูลนิธิละครไทยต้องขอแสดงความยินดีกับคุณกั๊ก วรรณศักดิ์ ศิริหล้า ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดงประจำปี 2563 ด้วย

เขียนโดย เพียงดาว จริยะพันธุ์

ละครไทยเดือนนี้ - มิถุนายน 63

เดือนมิถุนายนเป็นเดือนที่รัฐบาลประกาศคลายล็อคหลายส่วน ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ละครเวทีก็ยังไม่ได้กลับมาดำเนินกิจกรรมอย่างเป็นปกติ ตามผลสำรวจล่าสุดของมูลนิธิฯ พบว่าผู้คนจะยินดีกลับมาชมละครในโรงละครเร็วที่สุดคือเดือนกรกฎาคม และผู้ชมเกินครึ่งพร้อมจะกลับมาชมละครในโรงในเดือนกันยายน ดังน้ัน ละครออนไลน์ การจัดฉายการแสดง และจำหน่ายวีดิโอการแสดงสำหรับชมออนไลน์ ก็ยังเป็นตัวเลือกอยู่

อย่างไรก็ตาม คำถามที่ว่าศิลปินจะสร้างรายได้อย่างไรกับงานออนไลน์ จากผลสำรวจเดิมชี้ให้เห็นว่า 62.5% ยินดีจ่ายเงินให้กับละครออนไลน์ ราคาเฉลี่ยที่คนยินดีจ่ายสำหรับชมละครออนไลน์ อยู่ระหว่าง 200 - 500 บาท นอกเหนือการเก็บค่าบัตรจากการเข้าชม 8x8 เปิดจำหน่ายเสื้อยืดของคณะละครเพื่อสนับสนุนกลุ่มละคร เห็นได้ว่าการจำหน่ายของที่ระลึกหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งเช่นกัน

มูลนิธิได้ออกข้อเสนอแนะในการกลับมาจัดแสดงละครในสถานที่จริงโดยอิงจากมาตรการของ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ของประเทศสหรัฐอเมริกา และแนวทางที่คณะละคร American Repertory Theater ศึกษาร่วมกับ Harvard University T.H. Chan School of Public Health การจัดแสดงละครแต่ละเรื่องย่อมมีรายละเอียดและวิธีการป้องกันการแพร่เชื้อแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะของละคร สถานที่ และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ข้อแนะนำนี้จึงเป็นเพียงภาพกว้างเท่านั้น ศิลปินและคณะละครควรนำข้อเสนอแนะไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของตน

เดือนมิถุนายนนี้ เราได้เห็นทุนสนับสนุนศิลปินจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) มากขึ้น หลังจากโครงการ Co With Us นอก -ใน การเดินทางระหว่างเรา โครงการการแสดงออนไลน์ของศิลปินศิลปาธร 10 ท่านประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม สศร. เดินหน้ามอบทุนให้กับศิลปินรุ่นกลางและหน้าใหม่อีก 36 ทุนในโครงการ Open Up the Lockdown รวมถึงมอบทุนแก่สมาคมวิทยากลแห่งประเทศไทยและเทศกาลหุ่นร่วมสมัยออนไลน์

การสนับสนุนไม่จำเป็นต้องมาในรูปแบบเม็ดเงินเพียงอย่างเดียวยังสามารถมาในรูปการให้ใช้สถานที่สำหรับซ้อมหรือจัดแสดงฟรีได้ด้วย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม BACC สนับสนุนพื้นที่กิจกรรมให้ศิลปินที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) เองก็เปิด CEA Live House ใช้ซ้อมและจัดการแสดงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

BICT Fest x Mappa by Flock Learning เปิดเทศกาลละครเด็กและเยาวชนนานาชาติออนไลน์แล้วอย่างเป็นทางการ โดยร่วมมือกับเครือข่ายจากทุกภูมิภาคทั่วไทย งานนี้น่าสนใจตรงที่ไม่ใช่มีแต่ผลงานของศิลปินแต่ดึงเอาเรื่องเล่าหรือกิจกรรมศิลปะของแต่ละครอบครัวมานำเสนอ ในอีกด้านหนึ่งศิลปินหลายท่านก็ออกไปแสดงความคิดเห็นและร่วมกิจกรรมรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน ซึ่งจัดพร้อมๆ กันทั่วประเทศตลอดทั้งวัน

ด้านการศึกษา สมาพันธ์ศิลปะการแสดงอุดมศึกษาแห่งประเทศไทยจัด Forum ครั้งที่ 1 ออนไลน์ ในหัวข้อ “หลักสูตรศิลปะการแสดงในยุคหลังโควิด: จะไปต่อกันอย่างไร?” EducationUSA Thailand จัดเวิร์คชอปออนไลน์เรียนต่อปริญญาโทด้านละครเวทีที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ไม่เพียงแต่ศิลปินที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ฝั่งนักวิจารณ์ละครเวที คุณต่อ คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง ได้เขียนบทความ “บทบันทึกถึงละครเวทีไทยท่ามกลางวิกฤตโควิด-19” กล่าวว่า นักวิจารณ์เองก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของตนเช่นกัน นอกจากนี้ ยังยกประเด็นที่ชวนขบคิดว่า หากต้องตัดสินรางวัลละครประจำปี ละครออนไลน์จะถูกนับด้วยหรือไม่ การนำเสนอหลายเรื่องมีการตัดต่อใส่เพลงประกอบจนทำให้เส้นแบ่งละครเวทีกับภาพยนตร์นั้นพร่าเลือนไป เราจะประเมินคุณค่าละครออนไลน์อย่างไร

ในเดือนนี้ BACC ประกาศข่าวใหญ่รับสมัครผู้อำนวยการหอศิลปฯ หมดเขตวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ มารอติดตามกันว่าใครจะได้เป็นผู้อำนวยการหอศิลปฯ คนต่อไป 

BACC ถือว่าเป็นองค์กรสนับสนุนศิลปะของประเทศไทย เป็นเพื่อนที่ดีของวงการละครเวทีไทย นอกจากมอบทุนสร้างงาน ยังเอื้อเฟื้อพื้นที่ให้ซ้อมและจัดแสดงละครติดต่อกันมาหลายปี 

มูลนิธิต้องขอแสดงความเสียใจต่อบุคคลสำคัญผู้ผลักดันให้เกิดการสร้างหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คุณไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ซึ่งจากไปในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 

เรายังสูญเสียนักแสดงมากฝีมืออีกคนหนึ่งของวงการ นั่นก็คือ คุณตั้ว ศรัณยู วงศ์กระจ่าง นอกจากภาพยนตร์ โทรทัศน์ คุณตั้วยังแสดงละครเวทีซึ่งแสดงนำในละครเวทีของดรีมบอกซ์มากว่า 10 เรื่อง มูลนิธิต้องขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของคุณตั้ว ศรัณยู วงศ์กระจ่างมา ณ ที่นี้

เขียนโดย เพียงดาว จริยะพันธุ์

ละครไทยเดือนนี้ - พฤษภาคม 2563

เปิดเดือนพฤษภาคมด้วยข่าวดีจากกระทรวงวัฒนธรรมที่ได้ตอบกลับและรับรายชื่อศิลปินละครเวทีไทยที่ตกหล่นจากมาตรการเยียวยา 5,000 บาทเข้ากระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาต่อไป ในเดือนที่สถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โรงละครต่างๆ ก็เริ่มเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดตัวมากขึ้น โรงละครทั้งขนาดเล็กและใหญ่ได้โพสต์แผนผังการจัดที่นั่งแบบมีระยะห่าง เห็นได้ว่าจำนวนที่นั่งลดลงไปเยอะตามคาด 

ตั้งแต่เดือนเมษายนเราเริ่มเห็นกลุ่มละครหรือโรงละครจัดทำ poll สอบถามใน facebook ของตน ครั้งนี้ Sliding Elbow เปิดรับความคิดเห็นจากฝั่งศิลปินว่าพร้อมสร้างงานเมื่อไหร่ คำตอบนั้นหลากหลาย มุมของ performer ยิ่งได้สร้างงานเร็วยิ่งเป็นผลดี แต่ในมุมเจ้าของโครงการคำตอบจะเป็นเป็นปลายปีหรือปีหน้า สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนในระยะอันใกล้มีความเสี่ยงสูง

ดังคำพูดที่ว่า Data is the new gold การทำสำรวจเปรียบเสมือนการฉายแสงในที่มืด มูลนิธิฯ อยากสนับสนุนให้ชาวละครมุ่งสำรวจและเก็บข้อมูลมากขึ้นเพื่อประโยชน์ของการพัฒนางาน ในการนี้ ก็ต้องขอขอบคุณ Bangkok Post ที่ร่วมเผยแพร่ผลสำรวจผลกระทบ COVID-19 มา ณ ที่นี้

การนำเสนอออนไลน์ยังเป็นช่องทางสำคัญอย่างเสียไม่ได้ เดือนนี้เรายังได้เห็นการแสดงหลากหลายรูปแบบทั้ง Full Production ถ่ายทอดแบบ Live, ถ่ายทำสำหรับออนไลน์โดยเฉพาะ, นำผลงานเก่ามาเปิดฉาย หรือกระทั่งผลงานจาก Miss Theatre เรื่อง Warmest Regards: A lecture from home performance ที่เล่นสดพูดคุยกับผู้ชมผ่าน Facebook Live ก็เป็นรูปแบบที่ท้าทายผู้สร้างงานเช่นกัน 

อีกเทรนด์หนึ่งที่เห็นหลายกลุ่มละครเริ่มทำมาบ้าง คือ การ Live พุดคุยสบายหรือทำกิจกรรมผู้ชมมีส่วนร่วมตามคาแรคเตอร์ของกลุ่มละคร เพื่อเชื่อมต่อแฟนคลับของตน นับว่าเป็นเนื้อหาเบาๆ ที่มา break ชุมชนออนไลน์ที่หนาแน่นขึ้นในช่วงนี้ได้อย่างไม่ซ้ำใคร

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Collaboration ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ในเดือนนี้ คือ Co With Us นอก -ใน การเดินทางระหว่างเรา โครงการศิลปินรุ่นใหญ่ ศิลปินศิลปาธร 10 ท่าน ร่วมกับ เผยแพร่ BTN สนับสนุนโดยสศร. สร้างสรรค์การแสดงร่วมกับศิลปินรับเชิญอีกหลายท่าน เปิดตัวในเดือนพฤษภาคมและจะจัดแสดงในเดือนมิถุนายน ส่วนศิลปินรุ่นเล็ก ส่วนศิลปินรุ่นเล็ก นักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยก็ได้ทดลองสร้างงานความยาว 2 นาที ตามแบบฉบับของ IN OWN SPACE จาก DD Theatre ที่จบไปเมื่อเดือนก่อน ทั้ง 2 โครงการเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของแนวทางโครงการประเภทบ่มเพาะ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการเติบโตของศิลปินรุ่นกลางและรุ่นใหม่

ฝั่งสสส. ก็ได้มอบทุนเกี่ยวกับงานสำหรับเด็กและเยาวชนรวมไปถึงละครเพื่อการศึกษา เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนที่ครอบครัวมีนิทานมากมายให้ได้ฟังได้ชมกันออนไลน์ยาวไปทั้งเดือน และจะยาวไปอีกหลายเดือน เพราะ BICT หรือเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชน เปิดตัว Play From Home เทศกาลบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ร่วมกับ Flock Learning นับว่าเป็นการปรับตัวที่ดีเยี่ยมในช่วงนี้

ฝั่งอเมริกา มูลนิธิขอแสดงความยินดีแก่ คุณแวว - ฑิตยา สินุธก ผู้ประพันธ์มิวสิคัลเรื่องใหม่ที่มีตัวเอกเป็นสาวไทยอเมริกัน เรื่อง Half The Sky ได้นำเสนอ excerpt การแสดง ผ่าน Youtube ของ New York Theatre Barn

เทรนด์การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นออนไลน์ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฝั่ง Btitish Council จัดเสวนา ร่วมกับ BICT fest และประยูรเพื่อศิลปะ ด้าน UNESCO เอง ก็เปิดวงสนทนาศิลปะทุกแขนงรวมถึงละครเวทีด้วย นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุยข้ามคณะละครเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กันเช่น กลุ่มยุวธิปัตย์เพื่อสังคมพูดคุยหัวข้อ พลังแห่งการเคลื่อนไหวผ่านงานละคร, กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ พูดคุยเพื่อค้นหาไอเดียใหม่ๆ ที่นำละครมาสร้างสรรค์สังคม สะท้อนในเห็นว่าในยามที่เราต้องการคำตอบวงสนทนานั้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด 

ปิดท้ายเดือนพฤษภาคมด้วยข่าวประชาสัมพันธ์ ทุนโครงการออนไลน์จาก Japan Foundation Bangkok เพื่อการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมไม่ว่าเป็น นิทรรศการศิลปะ การแสดงละครเวทีและภาพยนตร์ ตีพิมพ์บทความออนไลน์ การจัดสัมมนาออนไลน์ สนับสนุนค่าใช้จ่ายได้สูงสุดเป็นจำนวน 100,000 บาท ยังเปิดรับสมัครอยู่ถึงเดือนสิงหาคม


มูลนิธิฯ เปิดใช้ประกาศละครไทยและปฏิทินละครไทยเต็มรูปแบบแล้ว มูลนิธิฯ ยินดีลงข่าวประชาสัมพันธ์ให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สถานการณ์โรคระบาดนี้ทำให้ต้องเผชิญวิกฤติที่ไม่คาดฝัน ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสใหม่ๆ ไม่ว่าอย่างไร เราจะเดินหน้าเข้าสู่ช่วง Post-COVID ไปด้วยกัน มูลนิธิฯ จะยืนเคียงข้างชาวละครทุกคน

ร่วมเขียนโดย เพียงดาว จริยะพันธุ์ และณัฐพัชร อาษากิจ

ละครไทยเดือนนี้ - เมษายน 2563

ก้าวเข้าสู่เดือนเมษายน เดือนที่ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะล็อคดาวน์เต็มเดือน กระนั้น ชาวละครก็ไม่หยุดสร้างสรรค์ หลายกลุ่มละครนำเสนอผลงานออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการแสดง คอนเสิร์ตทั้งที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ ละครที่เคยเล่นไปแล้วนำกลับมาแสดงใหม่ บ้างเต็มเรื่อง บ้างเป็นฉากสั้นๆ นำบันทึกการแสดงมาฉายใหม่ ทั้งจากฟากฝั่งโรงเล็ก โรงใหญ่ และสถาบันศึกษา กิจกรรมการพูดคุย การจัด podcast และการอ่านบท เป็นต้น 

เป็นเรื่องน่ายินดีที่แม้ในวิกฤติ ชุมชนละครก็ไม่หยุดนิ่ง ยังคงค้นหาความเป็นไปได้ที่การละครจะทำได้ รวมถึงพยายามรักษาความสัมพันธ์กับฐานผู้ชมของตนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าจะต้องพูดถึงตัววิกฤติเองซึ่งส่งผลกระทบในทุกภาคส่วน

Dreambox ได้สำรวจความคิดเห็นเพื่อคาดการณ์อนาคตของการละคร ผลสำรวจแสดงว่าผู้ชมส่วนใหญ่จะรอหลังสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง 2 - 5 เดือนจึงจะกลับเข้ามาชมละครในโรงละครอีกครั้ง มูลนิธิละครไทยได้นำเสนอผลสำรวจนี้พร้อมกับการสำรวจของมูลนิธิเองในการเสวนาออนไลน์ “หมด COVID-19 แล้วยังไงต่อ” เพื่อรวบรวมความคิดเห็นสรุปเป็นข้อเสนอต่อภาครัฐ 

ในการเสวนาครั้งนี้มูลนิธิละครไทยได้ยื่นผลสำรวจและข้อเสนอแนะต่อสศร. อีกทั้ง UNESCO ก็ได้ช่วยประสานกับกระทรวงวัฒนธรรมอีกทาง สถาบัน Goethe เองก็ช่วยกระจายผลสำรวจของมูลนิธิฯ อีกด้วย

ชุมชนละครต่างเห็นพ้องว่าสถานการณ์ละครเวทีน่าจะซบเซาจนถึงปลายปีนี้ ช่วงครึ่งปีหลังนับเป็นระยะฟื้นฟู จะเป็นช่วงที่ชาวละครต้องปรับตัว podcast รายการ Bangkok Offstage ก็ได้นำเสนอข้อคิดเห็นของชาวละครในหลากหลายบทบาทว่าด้วยการปรับตัวท่ามกลางวิกฤตินี้ กลุ่มโปรดิวเซอร์มองว่าโรงละครขนาดเล็กได้เปรียบมากกว่าโรงละครขนาดใหญ่เพราะรองรับผู้ชมน้อย เปิดทำการแสดงง่าย และลักษณะการแสดงสามารถปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นให้เข้ากับสถานการณ์ได้ง่ายกว่า

แม้เดือนเมษายนจะเป็นช่วงที่ศิลปินกำลังทดลองแพลตฟอร์มใหม่และยังไม่กล้าเก็บค่าบัตรกันมากนัก แต่ก็เห็นได้ว่าศิลปินคำนึงถึงการสร้างรายได้ในระยะยาวอยู่พอสมควร บางคณะใช้รูปแบบการเปิดแสดงฟรีแต่รับเป็นเงินบริจาค เช่น คณะละคร 8x8 และกิจกรรมของ Sliding Elbow อีกเทรนด์บริจาคหนึ่ง คือ ทำงานศิลปะแล้วบริจาคช่วยเหลือสังคม เช่น กิจกรรม Musical from home เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ จัดร่วมกับนิตยสาร Vogue แบบเก็บค่าเข้าชมก็มีเช่นกัน ได้แก่ Dreambox ที่ตั้งกลุ่มเฉพาะกิจสำหรับผู้ที่ซื้อบัตรเพื่อเข้าชมบันทึกการแสดงเรื่อง “ซ้อน A New Musical”

เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มูลนิธิละครไทยเปิดตัวปฏิทินละครและประกาศละครไทย รวมถึงได้เปิดร้านค้าละครไทยสู่ชุมชน ขณะนี้ก็มีร้านค้าเข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ ท่านสามารถสนับสนุนธุรกิจเสริมของชาวละครได้ที่ www.thaitheatre.org/shop 

ท้ายสุดนี้ มูลนิธิละครไทยต้องขอแสดงความอาลัยต่อการจากไปของผู้มีคุณูปการต่อวงการละครเวที คุณน้ำมนต์ จ้อยรักษา นักแสดง ผู้กำกับและครูสอนการแสดง และอ. อภิธรรม กำแพงแก้ว อดีตรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัย พัฒนาและสาธิตการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ร่วมเขียนโดย เพียงดาว จริยะพันธุ์ และณัฐพัชร อาษากิจ

0 Likes

ละครไทยเดือนนี้ - มีนาคม 2563

มูลนิธิออกคำแนะนำสำหรับบุคคลทั่วไป โรงละคร คณะละคร และสถานศึกษาไปเมื่อต้นเดือนมีนาคม แต่ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น รัฐบาลจึงสั่งปิดโรงมหรสพชั่วคราวและงดการชุมนุมคน ก่อนจะยกระดับมาตรการเรื่อยมา สื่อละครเวทีออนไลน์อย่าง The Showhopper รายงานว่ามีกว่า 18 การแสดงที่ต้องยกเลิกหรือเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด รวมไปถึงศิลปินไทยหลายท่านที่มีแผนไปร่วมเทศกาลต่างประเทศก็ถูกยกเลิกหรือเลื่อนเช่นกัน มูลนิธิฯ ขอเป็นกำลังใจให้ศิลปินทุกท่านที่ได้รับผลกระทบในวิกฤตครั้งนี้ด้วย

 

ก่อนทุกอย่างจะหยุดชะงัก For What Theatre นำ “เพลงนี้พ่อเคยร้อง” ไปจัดแสดงที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ และกลุ่มละคร 8X8 นำ “ไร้พำนัก” ไปซ้อมและจัดแสดงที่ญี่ปุ่นร่วมเดือนเศษ ทั้งสองคณะเดินทางกลับไทยโดยสวัสดิภาพแล้ว มูลนิธิฯ ขอเป็นกำลังใจให้กลุ่มละครมรดกใหม่ที่ยังคงพำนักอยู่ที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ด้วยไม่สามารถเดินทางกลับในช่วงเวลานี้ ทางมรดกใหม่ได้ประสานกับสถานทูตไทยเรียบร้อยแล้ว หากมีปัญหาอื่นใดมูลนิธิละครไทยยินดีให้ความช่วยเหลือ

 

ช่วงต้นเดือนมีละครได้จัดแสดงไปแล้วบ้าง ละครเวทีเรื่อง “ซ้อม 6 ปียังไม่ได้เล่น” ของ Crystal Theatre แสดงไปหนึ่งสัปดาห์ก่อนมีประกาศจากรัฐบาล “การเดินทางของลินด์เบิร์ก” งานร่วมมือระหว่างศิลปินญี่ปุ่น - ไทยจัดแสดงได้ครบทุกรอบ ทั้งสองเรื่องมีมาตรการป้องกันโรคติดต่อรองรับอย่างเรียบร้อย

โปรแกรมสำรวจละครไทยของมูลนิธิฯ เริ่มลงพื้นที่เก็บข้อมูลผู้ชมละครไตรมาสแรกของปีบ้างแล้ว ทว่าก็ต้องระงับไว้เช่นกัน เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตอันใกล้จะได้กลับมาเจอะเจอกันอีกหน้าโรงละครและพื้นที่การแสดง

 

ในช่วงที่ยังไม่สามารถมาเจอกันได้ พื้นที่ออนไลน์จึงกลายเป็นช่องทางนำเสนออะไรใหม่ๆ B-Floor Theatre ได้ปล่อยวิดีโอการแสดงที่ผ่านมาให้ได้ชมกันเต็มเรื่อง ละครเรื่อง “ตัดต่อเวลา” ที่เขียนขึ้นเพื่อแสดงออนไลน์โดยเฉพาะก็ได้จัดแสดงผ่าน Facebook Live นอกจากนี้คุณศศพินทุ์ยังได้จัดแสดงสดออนไลน์ข้ามประเทศกับคุณ Eva นักดนตรีชาวมาเลเซีย โปรเจค IN OWN SPACE ขนาดยาวของศิลปิน 15 ท่านที่จะร่วมสร้างการแสดงต่อเนื่องใน "พื้นที่ส่วนตัว" ของตนเอง ต่างสถานที่แต่เชื่อมโยงถึงกันก็ได้จับสลากลำดับการแสดงไปเมื่อสิ้นเดือนที่ผ่านมาและจะแสดงเกือบทั้งเดือนเมษายน ปรากฎการณ์ครั้งนี้นับว่าเป็นภาพที่น่าสนใจมากๆ ของวงการละครเวทีซึ่งเป็นศิลปะการแสดงสด ขณะนี้รัฐบาลได้ประกาศขยายการ lockdown ไปถึงปลายเมษายนแล้ว มูลนิธิเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์จากชาวละครจะไม่หยุดนิ่งแน่นอน

 

ด้านภูมิภาค Parampara Traveling Theatre จัดแสดงละครเร่เรื่อง WOMEN ในโครงการ Drama on Street ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

 

ฝั่งการศึกษาต้องปรับตัวกันมากเช่นกันในวิกฤติครั้งนี้ มูลนิธิได้จัด webinar ครั้งแรกว่าด้วย “สอนปฏิบัติออนไลน์อย่างไรดี” ทุกท่านได้แชร์กระบวนการ วิธีการและความคิดเห็นกันอย่างออกรส โรงเรียนสอนการแสดงหลายแห่งก็ปรับมาเป็นออนไลน์มากขึ้น แม้การสอนออนไลน์จะทำได้ แต่เชื่อว่านักเรียนละครหลายท่านก็คงคิดถึงการมาเจอกันในห้องปฏิบัติการไม่น้อยเลยทีเดียว

 

ในภาวะวิกฤตินี้สำคัญมากที่ต้องช่วยเหลือกัน ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธนเปิดอพาร์ทเมนต์ใกล้ศิริราชเพื่อให้หมอได้พักผ่อน MasterClass Studio อาสาอำนวยความสะดวกผู้สูงวัยในย่านลาดพร้าว Malongdu Theatre เปิดรับอาสาสมัครหลากหลายสาขานำเสนอประเด็นสังคม Self-Factory เปิดรับบริจาคและบริการจัดหาหน้ากากส่งไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ และอีกหลายท่านที่ออกมาทำหน้ากากผ้าและ face shield แก่ผู้ขาดแคลน นับเป็นเรื่องน่าชื่นใจ

 

ปิดท้ายด้วยเรื่องราวความสุข วันที่ 27 มีนาคม มูลนิธิฯ ออกแคมเปญ I <3 Theatre เพื่อฉลองวันละครเวทีโลก (World Theatre Day) นับว่าเป็นวันที่ชื่นมื่นอีกวันหนึ่ง ขอขอบคุณกว่า 100 ท่านที่ร่วมแสดงพลังด้วยป้าย I <3 Theatre ทำมือ วันสุดท้ายของเดือน (31 มีนาคม) ยังเป็นวันเกิดโรงละครสยามพิฆเนศเคแบงก์ พื้นที่ศิลปะสำหรับทุกคนทั้งละครเชิงพาณิชย์ โรงเล็ก เวิร์คชอป คอนเสิร์ต และกิจกรรมนักศึกษามาอย่างต่อเนื่องกว่า 6 ปีอีกด้วย มูลนิธิขออวยพรสุขสันต์วันเกิด

ร่วมเขียนโดย เพียงดาว จริยะพันธุ์ และณัฐพัชร อาษากิจ

ละครไทยเดือนนี้ - กุมภาพันธ์ 2563

ท่ามกลางข่าว COVID-19 ที่ทำให้ชาวละครทั้งตื่นตัวและตื่นกลัว แม้การแสดงหลายเรื่องจะประกาศยกเลิกหรือเลื่อนไปแล้ว แต่วงการละครเวทีไทยร่วมสมัยก็ใช่ว่าจะชะงักงันไปเสียทีเดียว ศิลปินไทยยังคงเดินหน้าต่อไป

มูลนิธิละครไทยได้ออกคำแนะนำแก่บุคคลทั่วไป โรงละครและคณะละคร รวมถึงสถานศึกษาที่เปิดสอนละครเวทีร่วมสมัย อ่านคำแนะนำได้ที่ www.thaitheatre.org

มหาวิทยาลัยและโรงละครหลายแห่งได้ออกมาตรการป้องกันมาให้เห็นกันแล้ว มูลนิธิฯ ขอให้ทุกกิจการไม่ว่าจะเล่น เลื่อน หรือเลิกดำเนินไปด้วยดีในที่สุด

ความเคลื่อนไหวระหว่างประเทศมิได้แผ่วไปเสียทีเดียวแม้จะเป็นเดือนที่การเดินทางข้ามชาติเป็นประเด็นใหญ่ แปดคูณแปดโดย​กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย​นำทีมนักแสดงไปฝึกซ้อมและเตรียมจัดแสดง "​ไร้พำนัก" ที่โตเกียว​ ณ โรงละคร​ Theater Momo เบบี้ไมม์นำทีมน้องหูหนวกไปจัดแสดงที่โรงเรียนเวียงจันทน์นานาชาติและโรงเรียนบุญเกิด Broadway Bangkok เองก็จัด Intensive Program เชิญผู้เชี่ยวชาญจากบรอดเวย์มาฝึกฝนทักษะมิวสิคัลที่ Be Musical Studio

 

นอกจากข้ามชาติแล้วเรายังได้เห็นการข้ามศาสตร์ด้วย เดือนที่ผ่านมามีศิลปินละครไทยเข้าร่วม Bangkok Design Week ทั้งกลุ่ม Dee-ng และพระจันทร์เสี้ยวการละคร นอกจากจะเป็นเครื่องเตือนว่าละครเวทีไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในโรงละครแล้ว ยังเป็นการเปิดไปหาคนรักศิลปะแขนงอื่นๆ เป็นการขยายฐานคนดูที่ดีอีกด้วย

เบบี้ไมม์โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์นอกจากจะไปลาวแล้ว ยังออกต่างจังหวัดแสดงละครใบ้ สอนละครใบ้พื้นฐานให้เด็กๆ และถ่ายทำรายการ "ละครชวนขยับ สื่อสร้างสนุก" ด้วย เชียงใหม่ก็มีชีวิตชีวาต่อเนื่อง เทพศิริครีเอทีฟสเปซจัดแสดง “ผู้ชายกับความรัก” Empty Space Chiangmai จัดการแสดงเคลื่อนไหว - สื่อผสมข้ามสี่วัฒนธรรม ไทย เกาหลี มาเลเซีย ญี่ปุ่น Part Time Theatre เปิดบ้านจัดค่ายกำกับการแสดงที่เชียงดาว BU Theatre Company จัดแสดงละครวิทยานิพนธ์ที่เชียงใหม่บ้านเกิดของนักศึกษา มูลนิธิฯ ขอชื่นชมความใส่ใจจริงในการส่งบัณฑิตสู่เส้นทางอาชีพ นครปฐมมีโครงการ Learning Through the Seasons จัดโดย Cherrytheatre โรงละครเพื่อการพัฒนา สมุทรปราการมีเวิร์คช็อปละครโดยคณะละครมรดกใหม่ และโคราชมีละครหุ่นโดยมูลนิธิหุ่นสายเสมาที่ Korat Art Care 

 

โครงการ Solo Buddy ของ Sliding Elbow Studio ที่ช่วยจับคู่นักศึกษาละครกับศิลปินละครมืออาชีพปิดรับสมัครไปเมื่อเดือนที่แล้ว นับเป็นโปรแกรม mentorship ที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง คาดว่าเราคงได้เห็นโครงการนี้ออกดอกออกผลในไม่ช้า

 

เครือข่ายละครกรุงเทพ (BTN) นัดคนละครมาปาร์ตี้ระดมสมองเรื่องทิศทางของเครือข่ายในอนาคต เราคงได้เห็นทิศทางใหม่ของ BTN ในปีต่อๆ ไป พิเศษตรงที่นัดคุยกันวันที่ 29 กุมภาพันธ์ เรียกได้ว่าเป็นปาร์ตี้ที่มีไม่ได้บ่อย (สี่ปีมีได้ที)

 

หลังมีกระแสตอบรับออนไลน์เชิงลบจากผู้มีทัศนคติต่อศิลปะร่วมสมัยที่แตกต่างกัน Pichet Klunchun Dance Company ได้จัดเสวนาซีรี่ส์ Resilience เราจะอยู่กันอย่างไรดี เพื่อคุยกันถึงการขับเคลื่อน ประเพณี และวัฒนธรรมผ่านงานจารีตและนอกจารีต

โมเดลการเปิดให้บริจาคแทนการคิดค่าบัตรยังคงมีให้เห็นต่อเนื่อง ล่าสุด Noise Theatre เปิดเวิร์คช็อปอ่านโน้ตดนตรีที่ B-Floor space โดยใช้โมเดลนี้ น่าสนใจว่าจะได้ผลอย่างไร

มูลนิธิฯ คาดว่าในอนาคตอันใกล้เราจะได้เห็นองค์กรและแหล่งทุนต่างๆ ให้ความสนใจศิลปะกับความพิการมากขึ้น ละครไทยเราเองมีศิลปินหลายท่านและคณะละครหลายแห่งทำงานด้านนี้อยู่แล้ว Blind Experience เพิ่งปิดออดิชั่นละครเรื่องถัดไปในเดือนที่ผ่านมา Peel the Limelight ก็กำลังสร้าง Theatre in the dark มูลนิธิฯ หวังว่าจะได้เห็นบทสนทนาเรื่องความพิการในวงการละครไทยมากขึ้นทั้งในฐานะผู้เสพและผู้สร้าง

ปิดท้ายด้วยการแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับครูช่าง ชนประคัลภ์ จันทร์เรืองที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละคร) ประจำปีพุทธศักราช 2562

ละครไทยเดือนนี้ - มกราคม 2563

เปิดต้นปี 2563 ด้วยสรุปภาพรวมละครเวทีร่วมสมัยไทยปี 2562 โดย The Showhopper มูลนิธิฯ ขอชื่นชมในการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อไปในภายภาคหน้า ปี 63 นี้มูลนิธิละครไทยเองก็จะเริ่มสำรวจข้อมูลประชากรศาสตร์ของผู้เสพและผู้สร้างละครเวทีไทยเช่นกัน เราจะได้ทราบข้อมูลของวงการละครเวทีไทยร่วมสมัยมากขึ้นไปอีกเมื่อมูลนิธิฯ เผยแพร่รายงาน “ผู้เสพ - ผู้สร้าง” ในต้นปี 64

เดือนมกราคมดูเหมือนความเคลื่อนไหวจะกระจุกตัวอยู่ภาคเหนือเสียเยอะ นอกจากงาน The Breathing of Maps ที่พิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยมที่มีศิลปินละครเวทีร่วมสมัยร่วมแสดงงานกับดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริแล้ว โครงการเทศกาลละครกรุงเทพ 2562 ก็ยังจัด Theatre LAB ให้คนละครขึ้นเหนือไประดมสมองกันที่เชียงดาวอีกด้วย KAD Performing Arts ในเชียงใหม่เองก็คึกคัก ดูเหมือนว่ากลุ่มละครเวทีในเชียงใหม่จะเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ นับเป็นเรื่องน่ายินดี

มกราคมมีงานไหว้ครูสองแห่ง มีพิธีครอบครูบ้านมันตา มูลนิธิหุ่นสายเสมา และ เทศกาลละครสุกดิบ - งานไหว้ครูมรดกใหม่ 2563 ถือเป็นเอกลักษณ์ของการผสานระหว่างความร่วมสมัยและความเป็นไทย

แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงรากเหง้าและความร่วมสมัยก็ต้องพูดถึง Workshop กับบรมครูด้านนาฏศิลป์จาก 4 ประเทศ (ไทย กัมพูชา พม่า และอินโดนีเซีย) ที่โรงละครช้างจัด กิจกรรมนี้มีกระแสตอบรับออนไลน์ทั้งในเชิงบวกและลบ เหตุเพราะทัศนคติต่อศิลปะร่วมสมัยที่ไม่ตรงกัน เหตุการณ์นี้ช่วยให้เราเข้าใจความท้าทายที่ศิลปินขนบร่วมสมัยของไทยต้องเผชิญมากขึ้น

ฝั่งวิชาการ โครงการวิจัยการแสดง : สร้างสรรค์งานวิจัยในสาขาศิลปะการแสดงไทยร่วมสมัยเปิดตัวหนังสือ "ปรากฏการณ์การแสดง" เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าทางวิชาการของวงการศิลปะการแสดง

ในขณะที่วงการละครเวทีทั่วโลกกำลังถกกันว่าสื่อดิจิทัลเป็นภัยต่อศิลปะการแสดงสดอย่างละครเวทีหรือไม่ ดรีมบอกซ์ก็ไม่หยุดสร้างสรรค์และปรับตัว ทางคณะได้จัดฉายละครเวทีเรื่องเก่าๆ ขึ้นจอในเดือนที่ผ่านมา นางพญางูขาว ออน สกรีน บัตรเต็มจนต้องเพิ่มรอบฉาย นับเป็นการทดลองที่น่าสนใจ

ฝั่งเงินทุน บริติช เคานซิล ประเทศไทยประกาศแจกทุน 2 ทุน ทุนแรกชื่อว่า Connections Through Culture มอบให้ทั้งประเภทบุคคลและองค์กรเพื่อแลกเปลี่ยนดูงานระหว่างไทยและสหราชอาณาจักร (รอบ 1 - 3 ปิดรับสมัครไปแล้ว รอบ 4 กำลังจะเปิดในเดือนมีนาคม) ทุนที่สองชื่อ Creative Placemaking Hackathon เพื่อทำงานศิลปะร่วมกับกลุ่มจากฝั่งสหราชอาณาจักรเพื่อพัฒนาพื้นที่นางเลิ้ง (ขยายรับสมัครถึง 27 ก.พ.) ศิลปินละครเวทีท่านใดสนใจสมัคร สามารถปรึกษามูลนิธิละครไทยได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ท้ายสุดกับข่าว COVID-19 ที่เริ่มระบาดอย่างรุนแรงทั่วโลก มูลนิธิขอให้ทุกท่านรักษาสุขอนามัยและขอให้ปลอดภัยจากโรคร้ายนี้ด้วย

ร่วมเขียนโดย พิชญ์ฌาชาญ เอี่ยมสอาด

ละครไทยเดือนนี้ - ธันวาคม 2562

ส่งท้ายละครไทยเดือนธันวาคมด้วยคอนเสิร์ตละครเพลงหลายงาน เริ่มจาก The Musical Reunion Concert โดย Dream Box ซึ่งเป็นงานการกุศล รายได้ทั้งหมดไม่หักค่าใช้จ่ายช่วยเหลือคนทำละครที่โชคร้ายเกิดอุบัติเหตุ ฟาก Selladoor Asia Pasific ก็จัด Friends of Selladoor Musical Concert หยิบบทเพลงจากภาพยนตร์และละครเพลงหลายเรื่องมาร้อง รวมไปถึงเพลงจาก Little Shop of Horrors ที่ทาง Selladoor เคยจัดแสดงมาแล้วด้วย ทาง Blind Exprerince และ Gene Lab เองก็นำศิลปิน The Darkest Romance มาจัดงาน “ความเยาว์” ให้ผู้ชมปิดตาฟังสองรอบ จุใจไปกับคอนเสิร์ตต่างๆ ส่งท้ายปีเลยทีเดียว

งานการกุศลเดือนนี้มิได้มาเพียงในรูปคอนเสิร์ตเท่านั้น The Collective Creations, B-Floor Theatre, Shinome Butoh และ Laosbangfai ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงาและหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจัดแสดง Quiet House (2nd Edition) เป็นการร่วมงานระหว่างศิลปินสามชาติ ไทย ญี่ปุ่น และลาว เพื่อร่วมสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำและความรุนแรงที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังทั่วโลก รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมอบให้โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อน

งานต่างชาติอีกงานคือเทศกาลละครนานาชาติในประเทศอินเดียที่คณะละครมรดกใหม่พาศิลปินรุ่นเยาว์เข้าร่วมเทศกาลด้วย

ฝั่งมหาวิทยาลัยมีความเคลื่อนไหวเยอะเป็นพิเศษ อักษรศาสตร์ จุฬาฯ จัดเทศกาลแหวกม่าน ภาควิชาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยกรุงเทพจัดแสดง CREATURE ในขณะที่ภาควิชานาฏยสังคีต มหาวิทยาลัยศิลปากรจัดแสดงละครพูดชวนหัวเรื่อง ล่ามดี

TCAS รอบ Portfolio ก็เปิดรับสมัครไปเรียบร้อยแล้ว เราอาจได้เห็นนักการละครหน้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

มูลนิธิขอแสดงความยินดีกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เพิ่งเปิดใช้อาคารโรงละคอนใหม่ไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ขอให้โรงละคอนแห่งนี้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ศิลปินชั้นดีเพื่อรังสรรค์วงการละครเวทีไทยร่วมสมัยต่อไป

BU Theatre Company เองก็ไปเยี่ยมชมกาดสวนแก้ว เชียงใหม่เพื่อสร้างความร่วมมือพัฒนาคุณภาพการศึกษาศิลปะการแสดงและดนตรีในเชียงใหม่และภาคเหนือ มูลนิธิขอชื่นชมการร่วมมือกันในครั้งนี้และขอให้ดำเนินการไปได้อย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จด้วยดี

ต่างจังหวัดเดือนนี้ก็ครึกครื้นส่งท้ายปี เพชรบุรีจัดงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมอาเซียนสัมพันธ์และการแสดงนานาชาติ คณะละครมันตราสยามเข้าร่วมงานด้วย กลุ่มพระจันทร์พเนจรเองก็เข้าร่วมงานศิลปะ young อยู่ที่โรงเรียนสุรวิทยาคาร จังหวัดสุรินทร์

เชียงใหม่ที่เดียวมีความเคลื่อนไหวหลายอย่าง ชมรมการแสดง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัด Drama Camp ไป ลานยิ้มการละครก็ไปจัดแสดงละครแม่งูเอ๋ยฯ ที่ลานหน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ Homemade Puppet จัดแสดงเรื่อง  “Journey in the dark” ที่โรงเรียนนานาชาติฝรั่งเศสและจัด Mini Shadow Puppet Workshop ที่บ้านข้างวัด กลุ่มละคร Wonderjuey ร่วมกับ Parttime Theatre ก็จัดแสดง “I AM” ที่บ้านข้างวัดเช่นกัน

โรงละครมายาฤทธิ์ออกมาประกาศว่าอยู่ในสภาวะลำบากเล็กน้อย เนื่องจากเกิดข้อพิพาทกันระหว่างผู้บริหารอาคารและมีการทำลายทรัพย์สินภายในตึกรวมไปถึงโรงละครและอุปกรณ์การแสดงทั้งหมดของมายาฤทธิ์ ขณะนี้กำลังดำเนินการตามกฎหมาย อาจใช้เวลาอย่างน้อยหกเดือนก่อนจะกลับมาจัดแสดงละครได้อีกครั้ง มูลนิธิละครไทยขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและขอเป็นกำลังใจให้โรงละครมายาฤทธิ์ ขอให้ผ่านพ้นสภาวะวิกฤตนี้ไปได้ในเร็ววัน

โรงละครช้างก็จัดกิจกรรมงานไหว้ครูศิลปะการแสดงร่วมสมัยประจำปี 2562 ไปเช่นกัน

ฟากออนไลน์ Babymine Show จะทำรายการเรียนรู้ละครใบ้ทาง Youtube ในปี 63 ฟ้าฝันโปรดักชั่นเองก็เริ่มจำหน่ายเพลงจากละคร Broken Chord the Musical ใน Apple Music แล้ว หากใครสนใจก็สามารถติดตามสนับสนุนกันได้

ปี 2563 นี้ มูลนิธิละครไทยจะยังคงยืนหยัดก้าวเคียงข้างละครเวทีไทยร่วมสมัยเพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็ง มูลนิธิขอกล่าวสวัสดีปีใหม่ ขอแรงบันดาลใจจงอยู่กับทุกคน

ร่วมเขียนโดย พิชญ์ฌาชาญ เอี่ยมสอาด

ละครไทยเดือนนี้ - พฤศจิกายน 2562

ครึกครื้นชื่นมื่นในเดือนพฤศจิกายน เริ่มต้นกับเทศกาลละครกรุงเทพ 2019 (Bangkok Theatre Festival) ภายใต้แนวคิด Theatre Farm แปลงเกษตรและคอกสัตว์ของคนรักละคร ที่ทำให้พื้นที่ในกรุงเทพแต่ละจุดเต็มไปด้วยละครเวทีร่วมสมัย ตลอดสามอาทิตย์กับ 30 กว่าการแสดงทั้งไทยและต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1- 17 พฤศจิกายน มูลนิธิละครไทยเป็น Media partner ร่วมผลิตบทความและจัดทำพอดแคสต์สัมภาษณ์คณะละครกว่าครึ่งที่เข้าร่วมเทศกาลปีนี้ด้วย

หากเปรียบแปลงเกษตรและคอกสัตว์เป็นแหล่งผลิตอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายมนุษย์ เทศกาลละครกรุงเทพก็น่าจะเปรียบได้กับฟาร์มผลิตศิลปะการแสดงเพื่อหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของเรา ทิศทางของเทศกาลละครกรุงเทพ 2020 จะเป็นอย่างไรนั้นยังไม่แน่ชัด มูลนิธิหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเทศกาลอันเป็นบ่อเกิดของนักการละครมากหน้าหลายตานี้จะดำเนินต่อไปเพื่อปลูกปั้นคนละครเวทีร่วมสมัยอย่างที่เคยเป็นมา

เทศกาลศิลปะชุมชนสามแพร่ง Facestreet เมื่อวันที่ 23 - 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมาคึกคักทีเดียว ปีนี้จัดในแนวคิด Love Forever รักนิรันดร์ ณ สามแพร่ง รวบรวมศิลปะหลายประเภทรวมถึงศิลปะการแสดง คณะละคร Babymime หุ่นละครเล็กคลองบางหลวง หุ่นสายเสมา Homemade Puppet หุ่นแกะดำดำ Butoh จากพระจันทร์เสี้ยวการละครก็เข้าร่วมเทศกาลด้วย นับเป็นเทศกาลที่เชื่อมโยงวิถีชุมชนกับศิลปะได้เป็นอย่างดี

พฤศจิกาเป็นเดือนแห่งเทศกาลจริงๆ ภาคเหนือมีเทศกาลละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงจังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 1 หรือ Act up : Chiangmai Transformative Theatre festival 1st มีการแสดงแปดเรื่องแปดประเด็นจากกลุ่มละครแปดกลุ่มในเชียงใหม่

อุตรดิตถ์ก็มีเทศกาลดูดี ละคร ดนตรี ศิลปวัฒนธรรม @อุตรดิตถ์เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการแสดงจากคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเล่าเรื่องราวของชุมชนผ่านบทละคร พร้อมที่จะพาทุกคนเรียนรู้ไปพร้อมกัน

ภาคใต้แม้ไม่มีเทศกาล แต่มูลนิธิหุ่นสายเสมาได้เปิดโรงละครหุ่นสายกลางเมืองภูเก็ตเพื่อส่งเสริมศิลปะหุ่นให้เด็กและครอบครัวได้เรียนรู้เรียนเล่น

ความน่าตื่นเต้นในเดือนนี้ไม่ได้มีเพียงเทศกาล แวดวงการศึกษาทางศิลปะการแสดงก็รุดหน้าเช่นกัน BU Theatre Company จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพได้เข้าร่วมผลักดันการศึกษาศิลปะการละครเข้าสู่หลักสูตรสามัญศึกษาทุกช่วงชั้นทั่วประเทศกับกระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิเชื่อเหลือเกินว่าการพัฒนาฐานคนดูที่ดีเริ่มต้นจากการศึกษาศิลปะที่แข็งแรงแต่เยาว์วัย มูลนิธิขอชื่นชมและสนับสนุนวาระนี้เป็นอย่างยิ่ง

มูลนิธิขอแสดงความยินดีอีกครั้งกับกลุ่มละครต่างๆ ที่ได้รับการเสนอชื่อและได้รับรางวัล BTF Award 2019 พร้อมเป็นกำลังใจสนับสนุนให้สร้างผลงานดีๆ ต่อไป และขอแสดงความยินดีกับ Blind Experience ที่ได้รับรางวัล Creativity For Sharing ในงาน Adman Awards & Symposium 2019 ด้วย 

ท่ามกลางความน่าตื่นเต้นที่พฤศจิกาพามาให้คนละครทุกปี เดือนนี้เรามีข่าวความสูญเสียเช่นกัน กลางเดือนที่ผ่านมาเราสูญเสียคุณบี นักการละครผู้เป็นที่รักของชุมชนละคร มูลนิธิขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของคุณบีด้วย อีกข่าวคือข่าวเพลิงไหม้โกดังเก็บวัสดุและอุปกรณ์ประกอบฉากเมื่อสิ้นเดือนที่ผ่านมา ฉากละครเรื่อง I will dream of you Peter Pan ของ MasterClass Studio เสียหายทั้งหมดเพียงไม่กี่วันก่อนเริ่มแสดง โชคดีที่ทางคณะละครสามารถเช่าฉากใหม่ได้ทันและจัดการแสดงไปได้ด้วยดี

ความเคลื่อนไหวระหว่างประเทศ เดือนนี้กลุ่ม Project C เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแสดงผลงานในเทศกาล Rebel Live Action ที่เกาหลีใต้ ผู้อำนวยการมูลนิธิเองก็เดินทางกลับมายังประเทศไทยเพื่อเข้าพบองค์กรต่างๆ เพื่อสร้างพันธมิตรและช่องทางสนับสนุนทรัพยากรด้านต่างๆ เพื่อช่วยให้ละครเวทีไทยร่วมสมัยดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมอีกด้วย

ร่วมเขียนโดย พิชญ์ฌาชาญ เอี่ยมสอาด

ละครไทยเดือนนี้ - ตุลาคม 2562

เริ่มกันที่การประชุมนานาชาติทางศิลปะการแสดงแห่งกรุงเทพมหานคร หรือ ไบแพม (BIPAM) กับการแสดง 25 รอบจากศิลปินไทยและนานาชาติตลอด 5 วัน ไม่ว่าจะเป็น Damage Joy โดยบีฟลอร์เธียเตอร์ กำกับโดยคุณนานา เดกิ้น (ประธานคณะกรรมการมูลนิธิละครไทย) และ Violent Event โดยกลุ่ม Billinger & Schulz จากเยอรมนี รวมถึงการกลับมาอีกครั้งของ "In Ter's View" โดยหนึ่งในผู้กำกับนางร้ายจาก Apropos ร่วมกับแดนเซอร์จากเสียมเรียบ กัมพูชาด้วย

ในปีนี้การบรรยายหลักของไบแพมมีหัวข้อว่า “Becoming Pradith Prasartthong" โดยคุณประดิษฐ ประสาททอง พูดถึงประวัติศาสตร์ละครร่วมสมัยไทยผ่านมุมมองการทำงานตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังมีการบรรยายอีก 15 หัวข้อโดยศิลปิน โปรดิวเซอร์ไทยและนานาชาติ อาทิ Sustainability of Long-standing theatre Companies in Southeast Asia ที่คุณปิยฉัตร สินพิมลบูรณ์จากกลุ่มมะขามป้อม และคุณสินีนาฏ เกษประไพจากพระจันทร์เสี้ยวการละครเข้าร่วมพูดคุยกับกลุ่มละครจากมาเลเซียและฟิลิปปินส์ถึงบริบททางสังคมที่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อการมีอยู่และดำเนินไปของคณะละครในแถบ SEA

ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงเองก็เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าร่วมช่วง Q & A กับนักวิจารณ์มืออาชีพจากชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง นำโดยคุณอมิธา อัมระนันทน์ คุณคันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง และกัลปพฤกษ์อีกด้วย

ที่น่าชื่นใจคือการเห็น BIPAM เชิญชวนให้บุคคลทั่วไปและนักเรียนนักศึกษาที่สนใจศิลปะการแสดงมาทำความรู้จักกับศิลปินผ่านการเป็นอาสาสมัครและผ่านเวิร์คช็อปจากศิลปินทั้งไทยและนานาชาติ นับเป็นการสร้างบุคลากรด้านละครเวทีร่วมสมัยที่ดีในอนาคต

ตลอด 5 วันของ BIPAM ในช่วงเวลากลางคืนมีกิจกรรม Late-night Networking เพื่อแลกเปลี่ยน พูดคุย พบปะในหมู่ศิลปิน องค์กร และบุคคลทั่วไปที่สนใจศิลปะการแสดง คืนวันที่ 17 ตุลาคม มูลนิธิละครไทยจัดงาน Thai Theatre Night แสดงจุดยืนให้เป็นที่รู้จักแก่ผู้เข้าร่วมงานด้วย

ฝั่งเทศกาลละครกรุงเทพก็ได้เปิดตัวเว็บไซต์อย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาและประชาสัมพันธ์ละครที่จะจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 1 - 17 พฤศจิกายนตามสถานที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพตลอดเดือน มูลนิธิละครไทยเป็น media partner ของเทศกาลละครกรุงเทพ ได้จัดทำพอดแคสต์และเผยแพร่บทความลงเว็บไซต์เทศกาลละครกรุงเทพด้วย

ช่วงสิ้นเดือนที่ผ่านมาเราได้เห็นโปรโมชั่นแพคคู่หรือแพคสามระหว่างคณะละครต่างๆ ที่จัดแสดงในเทศกาลละครกรุงเทพ เป็นความร่วมมือระหว่างคณะละครที่น่าศึกษาว่าส่งผลอย่างไรก็ต่อการขายบัตร

การสร้างความร่วมมือไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในเทศกาล ต่อยอดจากการประชุมของศอท. Sliding Elbow Studio ได้จัด ”เสวนาเกือบวิชาการ เรือพึ่งเรือ” ไปเมื่อ 26 ตุลาคมที่ผ่านมาเพื่อพูดคุยเรื่องพื้นที่การแสดงละครเวทีร่วมสมัย มีทั้งนักการละคร นักวิชาการ ตัวแทนพื้นที่การแสดง และตัวแทนองค์กรสนับสนุนศิลปะมาร่วมพูดคุยด้วย

ต่างจังหวัดก็ครึกครื้นไม่แพ้กรุงเทพมหานคร เทศกาลละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงจังหวัดเชียงใหม่ หรือ Act up Chiangmai Transformative Theatre Festival 1st ได้มาร่วมพูดคุยใน TTF พอดแคสต์เกี่ยวกับเทศกาลละครเวทีร่วมสมัยครั้งแรกในเชียงใหม่ที่จะจัดในวันที่ 2 - 3 พฤศจิกายนนี้ด้วย ชมรมการแสดง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ออกตัวนำไปก่อนด้วยการจัดแสดงละครชุด “กระดานดำ” ซึ่งก็เป็นหนึ่งในโครงการ Act up Chiangmai 

Cherrylala Learning Center ก็ได้จัด Drama Camp for Kids Season 2 ไปที่โรงเรียนปาริมา จังหวัดพิษณุโลกเช่นกัน

ฟากการศึกษาก็มีเรื่องให้ตื่นเต้นเมื่อสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมมือกับ Carnegie Mellon University เปิดตัวหลักสูตรปริญญาโท Entertainment Innovation Center เพื่อสร้างบุคลากรด้านธุรกิจการบันเทิงไทย

ปิดท้าย ถ้าจะไม่กล่าวถึงละครเวทีโรงใหญ่ก็กระไรอยู่ The Lion King Bangkok เปิดแสดงตลอดเดือนที่ผ่านมาและเพิ่มรอบการแสดงอีก 2 สัปดาห์จนถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน มีศิลปินดารามาชมกันคับคั่ง

โรงใหญ่รองลงมาที่สยามพารากอนก็มีศิลปะการแสดงหุ่นจาก 13 ประเทศในงาน “SIAM PARAGON ASIAN FASCINATING PUPPETS” โดยมูลนิธิหุ่นสายเสมา ศิลปะเพื่อสังคม เริ่มไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา

โรงใหญ่รองลงมาอีกแห่งคือสามย่านมิตรทาวน์ Blind Experience ได้จัดแสดง “เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย” อีกครั้ง ความน่าฮือฮาคือขายบัตรหมดทุกรอบก่อนปิดการแสดงไปเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม Blind Experience เป็นคณะละครโรงเล็กที่เติบโตจนก้าวมาทำละครในโรงที่ใหญ่ขึ้น นับว่าเป็นที่น่าจับตาเป็นอย่างมาก

ร่วมเขียนโดย พิชญ์ฌาชาญ เอี่ยมสอาด

ละครไทยเดือนนี้ - กันยายน 2562

กันยายนปิดท้ายด้วยข่าวสะเทือนวงการศิลปะเมื่อผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ออกมาประกาศว่าถูกคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร “ไล่ออก” เชื่อว่าคนศิลป์กำลังจับตามองอยู่ว่าทางมูลนิธิหอศิลปฯ จะมีท่าทีอย่างไรต่อเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าละครเวทีไทยร่วมสมัยจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากหอศิลป์ในระดับที่เป็นมาหลังจากครูป้อมหมดวาระแล้ว

ตัดไปที่ความเคลื่อนไหวที่น่าตื่นเต้นกันบ้าง โรงละครช้างออกมาประกาศเปิดให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาลงไปเข้าชมการแสดงฟรีทุกรอบตั้งแต่นี้เป็นต้นไป นับเป็นก้าวย่างชาญฉลาดที่จะช่วยพัฒนาฐานผู้ชมรุ่นเยาว์ในประเทศไทย มูลนิธิละครไทยขอชื่นชมและขอให้โรงละครช้างดำเนินนโยบายนี้ลุล่วงด้วยดี

ความน่าตื่นเต้นอีกอย่างคือการเปิดตัว Bangkok Offstage รายการพอดแคสต์ไทย - อังกฤษที่จะพาไปเจาะลึกแวดวงศิลปะการแสดงในกรุงเทพผ่านการสัมภาษณ์ ถกประเด็น และรีวิวการแสดงไทยและเทศ ทำให้วงการสื่อละครเวทีไทยครึกครื้นขึ้นไปอีกหนึ่งระดับหลังจากที่ The Showhopper สื่อละครอีกเจ้าได้เปิดตัวไปอย่างยิ่งใหญ่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา


ฟากเทศกาลก็ไม่น้อยหน้า หมดเขตไปแล้วเมื่อ 30 กันยายนที่ผ่านมาสำหรับบัตร Early Bird ของ BIPAM ต่อจากนี้ก็จะเป็นบัตรราคาเต็มรูปแบบต่างๆ และราคานักศึกษา สำหรับใครที่สนใจเรียนรู้แลกเปลี่ยนไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง เพราะไบแพมเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ต่อยอดไม่สิ้นสุด มูลนิธิละครไทยเองก็ถือกำเนิดจากบทสนทนาและงานวิจัยในไบแพมในปีแรก สำหรับไบแพมปีนี้ มูลนิธิละครไทยจะจัด Thai Theatre Night ในคืนวันพฤหัสที่ 17 ตุลาคม เวลา 21 - 24 น.


เทศกาลละครกรุงเทพก็จัดสัมภาษณ์คณะละครต่างๆ ที่เข้าร่วมเทศกาลและถ่ายทอดสดผ่าน Facebook เปิดฟาร์มลับของแต่ละคณะในเดือนที่ผ่านมาเช่นกัน คณะละครตอนนี้ก็กำลังซุ่มซ้อมกันเต็มที่เพื่อเตรียมแสดงผลงานในเดือนพฤศจิกาที่จะถึงนี้ 


เทศกาล “ชีวิต | การแสดง" โดย Thai Performance Practice as Research ก็จัดไปในเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีกิจกรรมเรียนรู้ทั้งจากลิเกไทยและศิลปินต่างประเทศอย่างกลุ่ม Gecko Parade (ญี่ปุ่น) ที่ผสานความรู้สถาปัตยกรรมเข้ากับศิลปะการละคร


ทางนิวยอร์กเอง มูลนิธิละครไทยก็ได้ไปร่วมออกร้านกับสถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์กในงาน Experience Thailand เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมงานและให้ความสนใจแก่งานของมูลนิธิเป็นจำนวนมาก อาทิ ศิลปินอเมริกันที่เคยทำงานร่วมกับลานยิ้มการละครที่เชียงใหม่


ผู้อำนวยการมูลนิธิละครไทยยังได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี นิวยอร์ก เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมาเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีและส่งเสริมให้ภาครัฐสนับสนุนวงการละครเวทีไทยร่วมสมัยอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นด้วย



ร่วมเขียนโดย พิชญ์ฌาชาญ เอี่ยมสอาด

ละครไทยเดือนนี้ - สิงหาคม 2562

ละครไทยเดือนนี้ - สิงหาคม 2562

ละครไทยเดือนสิงหาคมนี้ราวกับมีผู้กำกับทิศทาง มีละครพูดถึงประเด็นความพิการทางสายตาถึง 2 เรื่องในเดือนเดียว ได้แก่ เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย และ Nil's Vision เกือบสุขเองก็จะจัดแสดงในเดือนกันยายนนี้ มูลนิธิหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทสนทนาเรื่องความพิการในวงการละครเวทีไทยร่วมสมัยจะมิจบอยู่แต่เพียงในเดือนสิงหาคมและกันยายน แต่จะดำเนินต่อไปเพื่อให้ผู้มีความบกพร่องทางกายภาพมีส่วนร่วมทั้งในฐานะผู้เสพและผู้สร้างละครเวทีมากขึ้น

ความน่าสนใจอีกอย่างนึงคือเราเห็นกิจกรรมระดมทุนเพื่อละครเวทีเพิ่มขึ้นในประเทศไทย B-Floor ระดมทุนเพื่อนำ Damage Joy จากนิวยอร์กมาจัดแสดงที่ Bangkok International Performing Arts Meeting (BIPAM) ในกรุงเทพฯ ตุลาคมนี้ เกือบสุขเองก็จัดระดมทุนโดยมีของขวัญแทนคำขอบคุณ Project C ก็จัดเวิร์คชอปโดยมีจำนวนเงินที่แนะนำให้ผู้เข้าร่วมบริจาค นับเป็นกระแส/การทดลองที่น่าจับตามอง

ยิ่ง BIPAM และเทศกาลละครกรุงเทพใกล้เข้ามาเท่าไร กิจกรรมละครเวทีต่างๆ ในกรุงเทพฯ ก็จะยิ่งคึกคักขึ้นเรื่อยๆ ตามธรรมเนียม คาดว่าเราจะได้เห็นตารางงานตัวเต็มของทั้ง 2 เทศกาลภายในเดือนกันยายนนี้ มูลนิธิละครไทยร่วมจัด Thai Theatre Night ใน BIPAM ในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 และร่วมผลิตเนื้อหากับเทศกาลละครกรุงเทพด้วย

ต่างจังหวัดก็ไม่ได้เงียบหายไป Homemade Puppet เดินทางไปแสดงที่อุตรดิตถ์ The playlish : I’m (not) alone โดย wonderjuey ที่เชียงใหม่ก็ขายบัตรหมดไปหลายรอบ นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดี Babymime ได้ปิดท้ายโครงการทัวร์ที่โรงเรียนในสมุทรปราการไปเป็นที่เรียบร้อย ลานยิ้มการละครจัดการแสดงที่เชียงใหม่ภายใต้แนวคิดกระบวนการสร้างเทวดาและอภินิหารทางกฎหมาย มูลนิธิดีใจที่ได้เห็นว่าละครวิพากษ์สังคมมิได้เป็นของเฉพาะสำหรับคนกรุงเทพฯ เท่านั้น

ฟากต่างชาติ The (Un)Governed Body โดยคุณธีระวัฒน์ มุลวิไลไปจัดแสดงที่ญี่ปุ่นเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ก่อนเตรียมจัดแสดงในเมืองไทยในเดือนกันยายนนี้ แปดคูณแปดและ Creatives industries ก็ร่วมมือกันจัดแสดงละครเวทีสองภาษาไทย - ญี่ปุ่น Shizuka Daijobu? ชิสุกะสบายดีมั้ย? Spine Party Movement เองก็จัดเวิร์คชอปในอิหร่านไป

ฝั่งงานการกุศล Cherrylala Learning Center ได้จัด Creative Drama Workshop for Charity No.2 และส่งมอบเงินบริจาคให้แก่มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุงจาก Thai Performance Practice as Research ก็มาร่วมพูดคุยในพอดแคสต์อันล่าสุดของมูลนิธิละครไทยด้วย

ร่วมเขียนโดย พิชญ์ฌาชาญ เอี่ยมสอาด

ละครไทยเดือนนี้ - กรกฎาคม 2562

ละครไทยเดือนนี้ - กรกฎาคม 2562


กรกฎาคมดูจะเป็นเดือนของวงการการศึกษา ขอเริ่มต้นด้วยการแสดงความยินดีกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหิดลที่หลักสูตรดุริยางคศาสตรบัณฑิตเป็นโปรแกรมดนตรีอุดมศึกษาแห่งแรกในเอเชียที่ได้รับรองมาตรฐาน MusiQuE ของยุโรป สาขาละครเพลงเป็นหนึ่งในหลักสูตรนี้ด้วย

สมาพันธ์ศิลปะการแสดงอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ศอท.) เองก็จัดโครงการประชุมวิชาการระดับชาติด้านศิลปะการแสดงไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เป็นการสร้างความเคลื่อนไหวทางวิชาการ มีอาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย และนักศึกษานำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนความเห็น

Thai Performance Practice as Research (PPAR) ก็จัดสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติ “จากวิจัยการแสดงสู่นิเวศวัฒนธรรม : สร้างสรรค์ชุมชนศิลปะให้ยั่งยืน" เช่นกัน เปิดพื้นที่ให้ศิลปิน นักจัดการศิลปะ และนักวิชาการมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างจุดเชื่อมต่อระหว่างบุคคลจากหลายภาคส่วน

ภาควิชาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยกรุงเทพก็เพิ่งลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการกับโรงเรียนอัสสัมชัญ สร้างแผนการเรียนศิลป์ - ศิลปะและการแสดง นับเป็นนิมิตหมายที่ดีของการผลักดันวงการการศึกษาศิลปะในประเทศไทย

เทศกาลต่างๆ ในกรุงเทพฯ กำลังเริ่มกลับมาครึกครื้นอีกครั้ง เทศกาลละครกรุงเทพขยายเวลารับสมัครในแต่ละหมวด BIPAM เองก็ขยายเวลาซื้อบัตร Super Early Bird ถึงสิ้นเดือนที่ผ่านมา

ความเคลื่อนไหวไม่ได้กระจุกตัวอยู่แต่เพียงในกรุงเทพฯ เท่านั้น ต่างจังหวัดก็คึกคักไม่แพ้กัน เชียงใหม่มีค่ายทักษะการแสดงนักการสื่อสารละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงโดยโครงการ Act Up ของมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) และยังติดตามผลกับกลุ่มละคร 8 กลุ่มหลังร่วมเข้าค่ายด้วย

อ่างทองก็มีคณะละคร Homeroom ที่เปิดคลาสการแสดง สร้างพื้นที่ให้เด็กๆ ได้ทำละคร เป็นเรื่องน่ายินดีที่มีละครเพื่อเยาวชนนอกเหนือจากในเขตกรุงเทพมหานครด้วย

Cherry Theatre โรงละครเพื่อการพัฒนาก็จัดกิจกรรมละครสร้างสรรค์ “มหัศจรรย์ละครฉับพลัน ตอน กวี ดนตรี ฝน คน สัตว์ สิ่งของ” ที่นครปฐม เป็นหนึ่งในกระบวนการละครเพื่อการพัฒนาที่น่าจับตามอง

Babymime ก็เดินสายทัวร์แสดงหลายโรงเรียนในสมุทรสาคร

ละครไทยมีไปเยือนต่างประเทศเช่นกัน ปรารถนา : ภาพเหมือนการเข้าสิงไปจัดแสดงอีกครั้งที่ญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

มูลนิธิละครไทยเองก็ได้รับยกเว้นภาษีตามกฎหมายสหรัฐอเมริกาเรียบร้อยแล้ว และกำลังสร้าง Thai Theatre Network เพื่อรวบรวมศิลปินและนักบริหารจัดการศิลปะชาวไทยในอเมริกาให้มาเชื่อมต่อกัน สร้างโอกาสทำงานร่วมกันในอนาคต

ขณะนี้มูลนิธิละครไทยมีพันธมิตรรวมทั้งสิ้น 35 องค์กรทั้งในไทยและต่างประเทศ ประกอบไปด้วยคณะละคร 23 แห่ง องค์กรสนับสนุนศิลปะ 9 แห่ง สถาบันการศึกษา 3 แห่ง หากท่านสนใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรละครไทย กรุณาติดต่อผู้อำนวยการมูลนิธิละครไทยที่ raksak@thaitheatre.org