ขอต้อนรับสู่เดือนแรกของปีเสือ ละครไทยเดือนนี้ถึงแม้ไม่ได้คึกคักมีสีสันหลากหลายเช่นสองเดือนส่งท้ายปีที่ผ่านมา แต่เราก็ได้เห็นสัญญาณของการเตรียมพร้อมของพื้นที่ละคร คณะละคร เครือข่ายละคร และสถาบันการศึกษาเพื่อรองรับการมาถึงของความหวังใหม่ ปีใหม่ และฤดูกาลใหม่ ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ในเดือนมกราคมอันเป็นหมุดหมายของการขึ้นศักราชใหม่ เราได้เห็นการร่วมงานข้ามศาสตร์ข้ามศิลป์ Widetype และ Documentary Club ได้ประเดิมการขึ้นศักราชผ่านโปรเจค “WIDETYPE RE-PLAY” ด้วยการนำบันทึกการแสดงละครเวที “เพลงนี้พ่อเคยร้อง” มาฉายในรูปแบบภาพยนตร์ให้เราได้ชมกันอีกครั้ง องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ได้จัดงาน “Connect Fest 2: Social Movement Weeek for All” ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมในหลายสถานที่ทั้งออนไซต์และออนไลน์ แน่นอนว่าเราได้เห็นคณะละครหรือศิลปินนำเสนอการแสดง การเคลื่อนไหว และเวิร์คชอป อาทิ “Moving Body Workshop” ของพระจันทร์เสี้ยวการละคร หรือการแสดงของ Act It House ที่นำศิลปะการแสดงมาเป็นเครื่องมือในการแสดงออกถึงสิทธิเสรีภาพบนร่างกายและนำเสนอประเด็นความหลากหลายของสังคม อีกทั้งมูลนิธิหุ่นสายเสมาศิลปะเพื่อสังคมได้นำเสนอการแสดง “ละครหุ่นไม้จันทร์หอม” ประกอบการแสดงคอนเสิร์ตของ Thailand Philharmonic Orchestra ณ มหิดลสิทธาคาร เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติด้วย
ในขณะที่ส่วนภูมิภาคเราได้เห็นการนำเสนอละครประยุกต์เรื่อง “ห้าศูนย์หนึ่ง” โดยคณะละครชุมชนป่าพะยอมและเครือข่ายพัทลุงยิ้ม/มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก นอกจากนี้ยังมีการแสดง “อ่าน ฟัง ลุย” และ “Sleep Tight” ทั้งสองเรื่องโดย นิกร แซ่ตั้ง ณ เทพศิริ ครีเอทีฟสเปซในจังหวัดเชียงใหม่
ในท่ามกลางกิจกรรมการแสดงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น กิจกรรมและพื้นที่ทางศิลปะบางส่วนก็ยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคอันเป็นผลพวงจากสถานการณ์โควิด 19 จนทำให้ต้องเลื่อนหรือยุติกิจการลง ไม่ว่าจะเป็นการประกาศยกเลิกการแสดงละครนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การเลื่อนการแสดงออกไปหนึ่งสัปดาห์จากเดิมที่วางแผนจะจัดในช่วงวันเด็กแห่งชาติของ “4House@Art ครั้งที่ 2” และการยุติกิจการของ “สยามนิรมิตร” บนถนนเทียนร่วมมิตรที่ได้ประกาศงดการแสดงตั้งแต่ปีก่อน และได้ทำการรื้อถอนอาคารโรงละคอนและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดลงแล้วในช่วงต้นปีนี้ เหล่านี้ล้วนเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่ส่งผลกระทบต่อวงการละครไทย อ่านสรุปภาพรวมละครเวทีปี 2564 ได้ที่นี่
กระนั้น องค์กรศิลปะและเครือข่ายละครบางส่วนยังคงยืนหยัดเพื่อความอยู่รอดของศิลปะแขนงนี้ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครได้จัดทำสรุปพัฒนาการ “โครงการศิลปะการแสดง (Performative Art Project)” ที่จัดขึ้นต่อเนื่องมาตลอด 10 ปี เพื่อให้เราได้เห็นการเติบโตของหนึ่งในพื้นที่ละครของวงการละครเวทีไทย (อ่านสรุปกิจกรรมได้ที่นี่) นอกจากนี้ ยังมีข่าวที่น่ายินดีว่าวงการละครเวทีกำลังจะมีพื้นที่ทางศิลปะแห่งใหม่ในชื่อ “GalileOasis” ย่าน BTS ราชเทวี อีกด้วย คงจะต้องติดตามกันต่อไปว่าในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงรอบด้านที่เกิดขึ้นนี้ วงการละครเวทีไทยจะเคลื่อนตัวไปในทิศทางใด
ในฟากฝั่งการศึกษา สถาบันทางการละครหลายสถาบันได้เริ่มเปิดรับนักศึกษาใหม่กันแล้ว อาทิ ภาควิชาศิลปการแสดง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสาขาวิชาการละคอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีผู้สนใจสมัครจำนวนมาก ในขณะเดียวกันภาควิชาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็ได้จัดกิจกรรม “PA หางาน (แต่) งานหาใคร” และ “Theatre & Musical Workshop” เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้และได้รับประสบการณ์ตรงจากทีมงานผู้ผลิตงานละครโรงใหญ่ คือ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ และโรงละครรัชดาลัยเธียเตอร์ นับเป็นการเชื่อมต่อนักศึกษาเข้าสู่ตลาดงานในอุตสาหกรรมบันเทิงอีกด้วย
ด้านเครือข่ายการแสดงและงานต่างประเทศ BIPAM ได้ประกาศเปิดรับผลงานการเต้นจากเหล่านักเต้นไทยเพื่อเผยแพร่ลงในแพลตฟอร์ม “Stre@m” ในขณะที่ B-Floor ร่วมกับ Tinder Box Theatre Company ประเทศอังกฤษ จัดเวิร์คชอปออนไลน์ “Connections Through Culture” โดยการสนับสนุนของ British Council ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นเองก็ได้ประกาศเปิดรับไอเดีย “NYC Summer Residency” สำหรับศิลปินที่ต้องการนำการแสดงไปจัดแสดงในนิวยอร์ก และ “Theatre Management Workshop 2565” ซึ่งเป็นโปรแกรมที่จะช่วยเติมเต็มให้นิเวศศิลป์ของวงการละครเวทีไทยเติบโตในทุกมิติ
วงการละครเวทีไทยในศักราชใหม่นี้แม้จะกล่าวไม่ได้เต็มปากนักว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการพลิกฟื้น แต่ความเคลื่อนไหวที่ไม่หยุดนิ่งจากภาคส่วนต่าง ๆ ช่วยให้เราได้เรียนรู้ ถอดบทเรียน และเตรียมความพร้อมอย่างมีความหวังถึงก้าวใหม่ ๆ ที่กำลังจะผ่านเข้ามา ละครเวทีจะผ่านทั้งวิกฤตและโอกาสที่รายล้อมได้อย่างไร เป็นปัญหาที่คนละครไทยต้องช่วยกันจับตา ขบคิด ร่วมมือ และลงมือทำให้เกิดขึ้นในศักราชใหม่นี้
ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ