เดือนกรกฎาคมมาเยือนทำให้ระลึกได้ว่าเรากำลังย่างเข้าสู่ครึ่งหลังของปี 2565 แล้วอย่างเต็มตัว เวลาที่ผ่านไปโดยรวดเร็วนี้บรรจุด้วยเหตุการณ์ทั้งดีและร้ายไว้เต็มเปี่ยม เกือบสองปีครึ่งมาแล้วที่ละครไทยอยู่ในภาวะ “ปิดปิด-เปิดเปิด” จากสถานการณ์โควิด จนศิลปิน คณะละคร และโรงละครทำงานกันอย่างยากลำบาก แต่ในครึ่งปีหลังนี้ดูเหมือนว่าวงการละครไทยกำลังจะกลับมาดำเนินการใกล้เคียงกับคำว่าเต็มรูปแบบอีกครั้ง
กระแสตอบรับงาน “หนังกลางแปลง” ที่จัดขึ้นในสวนทั่วกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในหลาย ๆสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าผู้คนพร้อมที่จะออกมาเสพศิลป์ในที่สาธารณะ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของรัฐและความเข้าใจของประชาชนทำให้ “ชีวิตวิถีใหม่” กลายเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้จริงแล้ว
การแสดงในเดือนกรกฎาคมนี้มีไม่มากแต่ก็ไม่น้อยจนเกินไปนัก ฟารีดา จิราพันธุ์ นำ “ฮิญาบ: หากพระองค์ทรงประสงค์” กลับมาจัดแสดงใหม่อีกครั้งที่ GalileOasis และ Play Cool Full Time นำเสนอ “The Crescendo บทเพลงอำลา” ที่ Buffalo Bridge Gallery
ในแวดวงการศึกษา ภาควิชาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้จัดอบรม “Acting Pedagogy Workshop” เพื่อพัฒนาครูสอนการแสดง ในขณะที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังคงดำเนินโครงการประกวดละครเยาวชนสร้างสรรค์ “แก่นอีสานวัฒน์ ปีที่ 4” อย่างต่อเนื่องซึ่งได้มีการประกาศโรงเรียนที่ชนะในอันดับต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในวงการศึกษาละครเดือนนี้ก็คือความร่วมมือระหว่างเอกชนและสถาบันการศึกษาในการให้ทุนเพื่อพัฒนาบุคลากรทางการละคร บริษัทซีนารีโอ-เมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ ตั้ง “กองทุนรัชดาลัยเพื่อศิลปะการแสดงละครเวที” เพื่อมอบทุนให้นักศึกษาศิลปะการแสดงโดยได้เริ่มมอบให้มหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นแห่งแรก นอกจากนี้ Finale Academy ได้ประกาศรับสมัครนักเรียนทุน เพื่อให้ทุนเข้าเรียน “หลักสูตรการแสดงต่อเนื่องระดับสากล” โดยไม่มีค่าใช้จ่ายมากถึง 6 ทุนในหลายช่วงอายุผู้เรียน
ด้านกิจกรรมและเวิร์คชอป BIPAM จัดงาน “Performing Arts Beyond Human” เพื่อชวนพูดคุยถึงการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวหลักของงานแสดง ในขณะที่ Act It House จัดเสวนาหัวข้อ “อนาคตของการแสดงริมถนน (Street Show) เมืองและพื้นที่สาธารณะ” นอกจากนี้เรายังเห็นการจัดตั้ง Facebook Group “คนรักละครเพลง” เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนข่าวสารของคนที่ชื่นชอบละครเพลงอีกด้วย
ในต่างประเทศ นิกร แซ่ตั้ง จาก Theatre8x8 นำเสนอการแสดง “Sleep Tight” และเวิร์คชอปในเทศกาล International Enviromental Theatre Festival 2022 ณ ประเทศเกาหลีใต้ และเดือนนี้ถือเป็นอีกหนึ่งเดือนที่มีความหมายสำหรับ TTF ที่ได้จัด “Thai Theate Showcase: โชว์เคสโชว์ของ” เพื่อนำเสนอการแสดงของศิลปินไทยที่ทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกาเป็นครั้งแรก โดยงานจัดขึ้นที่สำนักงาน Theatre Communications Group (TCG) นิวยอร์ก และสามารถชมออนไลน์ผ่าน Zoom ควบคู่กันไปด้วย
การแสดงส่วนใหญ่ในเดือนนี้ Sold Out แทบทั้งหมด และเรายังเห็นถึงแผนการกลับมาของโรงละครโรงใหญ่ที่เริ่มทยอยประชาสัมพันธ์การแสดง อาทิ “พินัยกรรมของหญิงวิกลจริต” ของ Dreambox “ละครเวทีสุนทราภรณ์ เพลงรักเพลงแผ่นดิน” ของ เพลงเอก ที่เคแบงค์สยามพิฆเนศ และ “ลิขิตรักชิงบัลลังก์” ของเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ ในขณะที่อาร์ตสเปซ โรงละครขนาดเล็กและขนาดกลางก็กลับมาคึกคักมากขึ้นในเดือนสิงหาคมและกันยายนที่จะถึงนี้ เช่น GalileOasis ได้กลายเป็นตาน้ำแห่งใหม่ที่สร้างความชุ่มชื้นให้กับละครโรงเล็กได้เปิดตัว “Comedy Tree Festival 2022” ซึ่งประกอบด้วยละคร 3 เรื่อง คือ “แฝดวุ่นลุ้นรัก” “Leftover” และ “Art” ที่จะแสดงต่อเนื่องกัน ในขณะเดียวกัน Life Theatre นำเสนอ “Closer” ด้วยการสลับนักแสดงถึง 3 แคส ที่ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล และ Theeraphanny ก็เตรียมที่จะนำเสนอละครเวที “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ในโครงการศิลปะการแสดงครั้งที่ 11 โดยหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้คณะละครอนัตตาเตรียมสร้างละครเวทีรำลึก 90 ปี ประชาธิปไตยไทย “๔ แผ่นดิน The Last Ten Years” ผ่านวิธีการระดมทุนการผลิตให้ได้จำนวนหนึ่งก่อนจะเริ่มทำงานจริง
TTF ขอแสดงความยินดีกับศิลปินรางวัลศิลปาธรประจำปี 2565 ทั้ง 7 ท่าน ซึ่งสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยได้ประกาศรายชื่อออกมาแล้ว แล้วพบกันใหม่ในเดือนหน้า
ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ