เดือนสุดท้ายของปีมาถึง ท่ามกลางข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ “โอไมครอน” ที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนไทยจำนวนไม่น้อย ในขณะที่ผู้คนอีกส่วนเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตบนความปกติใหม่ได้บ้างแล้ว วงการละครในช่วงนี้ได้เริ่มฟื้นตัวจากการบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัดและกลับมาผลิตผลงานใหม่ ๆ กันอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมเข้าสู่ศักราชใหม่ที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านเข้ามา
กิจกรรมทางการแสดงที่น่าสนใจส่งท้ายปีเกิดขึ้นในแทบทุกภูมิภาค เริ่มต้นที่ “Biopsy of Fear” ชุดการแสดง 3 เรื่องของ 3 คณะละคร คือ “A Thorn of Conceptual Pain” โดย B-Floor x ราษดรัมส์ “The Cowbell and the Invisible” ของพระจันทร์เสี้ยวการละคร และ “แม่งูเอ๋ยฯ (Ibu Ular)” ของลานยิ้มการละคร ซึ่งชวนเราสำรวจความกลัวผ่านประเด็นทางสังคมในแง่มุมต่าง ๆ ชุมชนละครในเชียงใหม่ยังคงครึกครื้นด้วยการแสดงหลากหลาย ทั้ง “Karma Cheap” ของลานยิ้มการละครที่นำเสนองานแนวทดลองซึ่งพัฒนามาจากการสังเกตชีวิตของแรงงานในพื้นที่ช้างม่อย ในขณะที่ Part Time Theatre นำเสนอละครเรื่อง “มุกหนอก” และ “เทศกาลละคร 24 ชั่วโมง เชียงใหม่ครั้งที่ 2” ในภาคอีสานมีเทศกาลศิลปะใหญ่ ๆ 2 งาน คือ “Thailand Biennale Korat 2021” และ “สกล จังซั่น” โดยมีรูปแบบการนำงานศิลปะเข้าไปพลิกฟื้นความมีชีวิตให้กับชุมชน ทั้งแบบที่เชิญศิลปินชาวต่างชาติและแบบที่เชิญศิลปินท้องถิ่นมาสร้างผลงาน ในงาน Biennale ที่โคราชนี้ มูลนิธิหุ่นสายเสมา ศิลปะเพื่อสังคม ได้นำเสนอ “Trace Legend: ร่องรอยในตำนาน” ซึ่งมีจุดสนใจที่การประดิษฐ์หุ่นสายจากดินมวลเบาด่านเกวียน และการสร้างหุ่นสายช้างขนาดใหญ่ เป็นการพัฒนาเชิงเทคนิคการสร้างหุ่นและสร้างความน่าตื่นตาแก่ผู้ชมได้ไม่น้อย
นอกจากการแสดงในสถานที่จริงแล้ว การบรรจบกันของโลกจริงและโลกดิจิทัลยังไม่ได้หยุดชะงัก คณะละครมรดกใหม่ เสนอ “เทศกาลละครนานาชาติมรดกใหม่” ในรูปแบบออนไลน์ โดยมีการแสดงจำนวน 25 เรื่องจากศิลปินใน 10 ประเทศเข้าร่วมงาน โดยนำเสนอในรูปแบบที่หลากหลาย อาทิ ละครหุ่น ละครใบ้ และวิดีโออาร์ต ในขณะที่ Wildtype และ Documemtary Club เปิดตัว “Wildtypr Re-play” นำบันทึกการแสดงสดของการแสดงในละครโรงเล็กมาฉายผ่าน Doc Club & Pub ให้เราได้ชมกันบนจออีกครั้ง ส่วน Artpedia ร่วมกับ Pichet Klunchun Dance Company เสนอ “My Dance, Let’s Dance” เปิดโอกาสให้นักเต้นในโลก Tiktok มาร่วมเวิร์คชอปกับศิลปินอาชีพเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสื่อสารผ่านภาษาท่าทางและการเต้น อันเป็นการบรรจบกันของโลกคู่ขนานที่มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ
ฟากฝั่งการศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือทางวิชาการด้านการสื่อสารการแสดง เพื่อร่วมกันพัฒนาเครือข่ายทางวิชาการและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เรายังได้เห็นการก่อตั้งสมาพันธ์นาฏศิลป์ระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทยในปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่เริ่มจะมีความเคลื่อนไหวด้วยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ งานเสวนาออนไลน์ ซึ่งน่าจะเป็นการเติมเต็มมิติของวงการละครไทยในอนาคตให้มีความรอบด้านยิ่งขึ้น
ในระดับนานาชาติ พิเชษฐ กลั่นชื่น และศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ได้รับเชิญเป็น Keynote Speaker ในงาน “Yokohama International Performing Arts Meeting (YPAM)” และได้ส่งคณะนักแสดงจาก พิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์ คอมพานี ไปแสดงโขน ณ พิพิธภัณฑ์ The musée du quai Branly - Jacques Chirac ประเทศฝรั่งเศส รวมไปถึงผลงานละคร “OK Land” โดย Circle Theatre ก็ได้นำเสนอในเทศกาล Fringe ประเทศสิงคโปร์ในรูปแบบ Video on Demand
ภาพรวมของละครไทยเดือนธันวาคมนี้ จึงเป็นไปในลักษณะที่มีชีวิตชีวาทั้งบนเวทีจริงคู่ขนานไปกับความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ แม้ความคึกคักยังไม่กลับมา 100% แต่เป็นการกลับมาที่ราบรื่นและหวังว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตทางการตลาดที่น่าสนใจ อาทิ Biopsy of Fear ได้ปรับโปรโมชั่นการขายบัตรสำหรับการซื้อบัตรเป็นกลุ่มจาก 10 ที่นั่งขึ้นไป เป็น 4 ที่นั่งเพื่อให้สะดวกกับผู้ชมในการรวมตัวกันซื้อบัตรราคาพิเศษ นอกจากนี้เรายังได้เห็นการร่วมมือระหว่างคณะละครโรงเล็กและโรงภาพยนตร์นอกกระแสที่จะนำบันทึกการแสดงมาฉายให้ผู้ชมได้ชมอีกครั้ง นับเป็นความร่วมมือที่น่าติดตามอีกรูปแบบหนึ่งในวงการละครไทย
ท้ายที่สุดนี้ TTF ขอแสดงความยินดีกับ ฐานชน จันทร์เรือง ศุภวัฒน์ หงษ์สา และทีมเขียนบทที่ได้รับรางวัล Best Script Writing ในงาน Asian Television Awards 2021 จากผลงานเขียนบทละครโทรทัศน์เรื่อง “'อินจัน' Extraordinary Siamese Story : Eng & Chang” และขอร่วมยินดีกับผู้ที่ได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2564 ประเภทส่งเสริมและสนับสนุนเด็กและเยาวชนด้วย ในโอกาสการขึ้นปีใหม่ 2565 TTF ขอส่งความสุขและความปรานาดีมายังผู้เสพ-ผู้สร้างละครไทยทุกคน ขอให้ปีนี้เป็นปีแห่งการเติบโตและการสร้างสรรค์สำหรับตัวท่านและสังคมไทย
สวัสดีปีใหม่จากไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่น
ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ