เมื่อพายุฝนเริ่มอ่อนกำลังลงจนมีกระแสลมเย็นเอื่อย ๆ พัดเข้ามาแทนที่ เราจึงตระหนักได้ว่าฤดูกาลใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว ฤดูกาลที่ไม่ใช่เพียงสภาพดินฟ้าอากาศเท่านั้นแต่เป็นฤดูของการจัดกิจกรรมการแสดงภายใต้ “ความปกติใหม่” (New Normal) ซึ่งมีผลงานการแสดงหลากหลายให้ชมกันสด ๆ ภายใต้สถานการณ์โควิดภาพรวมในประเทศที่ยังทรงตัว
อาจกล่าวได้เดือนพฤศจิกายนเป็นเดือนแห่งการเริ่มต้นพบกันใหม่ของทั้งศิลปินและผู้ชมละครภายหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคที่ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นระยะ ๆ พลังแห่งความสร้างสรรค์ที่อัดอั้นมาหลายเดือนได้ถูกปลดปล่อยผ่านหลายเทศกาลที่จัดต่อเนื่องกัน ได้แก่ เทศกาลละครกรุงเทพ (Bangkok Theatre Festival) โครงการศิลปการแสดง ครั้งที่ 10 (BACC Performative Arts Project #10) และเทศกาล Bangkok 23rd International Festival of Dance and Music ส่วนเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชนยังจัดในรูปแบบออนไลน์อยู่ โรงละครขนาดใหญ่อย่างโรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศก็ได้กลับมาเปิดทำการต้อนรับคนรักการแสดงสดในเดือนนี้อีกเช่นกัน
การจัดการแสดงภายในยุคโควิดมีขั้นตอนเพิ่มเติมจากธรรมเนียมปฏิบัติเล็กน้อย สิ่งที่เราเห็นได้ชัดก็คือ จำนวนการแสดงและจำนวนที่นั่งต้องปรับลดลงอย่างชัดเจน การตรวจวัดอุณหภูมิบริเวณทางเข้าอาคาร การจัดผังที่นั่งแบบกระจายเก้าอี้เพื่อให้เกิดระยะห่าง การจำกัดจำนวนผู้ชมต่อรอบ การขอให้ผู้ชมสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาชมการแสดง และการกำหนดให้นักแสดงทุกคนต้องฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 2 เข็ม ละครบางเรื่อง เช่น “โจนาทาน ชาญวิทย์ แห่งออซ” ของลานยิ้มการละครก็ได้บันทึกการแสดงและเปิดให้ชมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ภายหลังการแสดงจบด้วย เห็นได้ว่าทั้งผู้สร้างและผู้เสพต่างคุ้นชินกับกฎเกณฑ์เหล่านี้มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ละครเวทียังพิสูจน์ตัวเองว่าไม่ว่าอย่างไรผู้ชมก็รอคอยที่จะกลับมาพบกันแบบสด ๆ สังเกตได้จากบรรยากาศที่ครึกครื้นและเสียงตอบรับในทุก ๆ เทศกาล
ด้านภูมิภาค เชียงใหม่ยังคงเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับงานแสดงที่โดดเด่น Dhepsiri Creative Space จัด “เทศกาลศิลปะเพื่อชุมชน Dhepsiri Creative Art Festival-DCAF” ขึ้น ซึ่งอัดแน่นไปด้วยกิจกรรมทางศิลปะหลากหลายแขนง เฉพาะส่วนของละครในเดือนพฤศจิกายนนี้ Part Time Theatre นำเสนอละคร 2 เรื่อง คือ “การหายตัวไปของนักการละคร พ.ศ. 2584” และ “จดหมายรักจากเมียเช่า” ในขณะที่ หมอลำหุ่นคณะเด็กเทวดา นำเสนอละครเปิดหมวกในงาน “หลง (ฮัก) ดง ไทบ้าน Folk Art” ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดมหาสารคาม ส่วนในภาคใต้ มูลนิธิหุ่นสายเสมา ศิลปะเพื่อสังคม ได้ร่วมงานการจัดแสดงหุ่นนานาชาติ “Harmony World Puppet Festival” ที่จังหวัดภูเก็ต เรียกได้ว่าเดือนพฤศจิกายนนี้เป็นเดือนที่คึกคักไม่น้อยสำหรับแวดวงละครไทย
ระดับนานาชาติ TTF ขอแสดงความยินดีกับ จิตติ ชมพี ที่ได้รับรางวัล Chevalier des Arts et Lettres จากสถานฑูตฝรั่งเศส รางวัลนี้จะมอบให้กับผู้มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างมรดกทางวัฒนธรรมของฝรั่งเศส และฑิตยา สินุธก นักประพันธ์เพลงชาวไทยที่ได้รับรางวัล Fred Ebb Award ในฐานะนักประพันธ์เพลงสำหรับละครเพลงที่มีความโดดเด่น
ศิลปินไทยยังนำเสนอผลงานในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง สิริกานต์ บรรจงทัด ศิลปินจากกลุ่ม puppet by Jae ได้ส่งผลงานชื่อ “Angoon’s Garden” ในเทศกาลละครหุ่นออนไลน์ “No Strings Attached 2021” ประเทศสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพ พิเชษฐ์ กลั่นชื่น แดนซ์ คอมพานี ได้นำเสนองานซ้อมงานแสดงชิ้นใหม่ที่ช่างชุย ก่อนจะนำไปแสดงที่พิพิธภัณฑ์ Quai Branly ประเทศฝรั่งเศส
ด้านการศึกษา ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุงได้เปิดตัวหนังสือใหม่ “วิจัยการแสดง: สร้างความรู้ใหม่ด้วยการทำละคร” ซึ่งได้ช่วยชี้แนะแนวทางการทำวิจัยจากการลงมือทำละครเพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้จากการปฏิบัติที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ ภาควิชาการละคร จุฬาฯ นำเสนอชุดการแสดงออนไลน์ “Since 1971: เทศกาลละครนอกโรง” เพื่อฉลองวาระ 50 ปี ภาควิชา ในขณะที่ ภาควิชาการแสดง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เผยให้เห็นความคืบหน้าของอาคารปฏิบัติการทางการแสดงหลังใหม่ซึ่งคาดว่าจะพร้อมสำหรับการเรียนการสอนเทอมหน้า นับเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในแวดวงการศึกษาการละครในประเทศไทย
ท้ายที่สุด TTF ได้จัด Thai Theatre Night 2021 เพื่อระดมทุนสำหรับการดำเนินงานของมูลนิธิซึ่งในปีนี้จัดภายใต้แนวคิด “คิดถึงละครเวทีโคตร ๆ” ซึ่งคิดว่าคงจะเป็นวลีที่ทั้งศิลปินและผู้ชมละครในไทยคงจะมีความรู้สึกนี้คล้าย ๆ กัน เดือนหน้าจะเป็นเดือนสุดท้ายของปีและน่าจะเป็นอีกเดือนที่งานแสดงให้เราได้ชมติดตามกันภายใต้ความปกติใหม่นี้
ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ