ทิศทางละครไทยในเดือนกันยายนนี้ยังคงทรงตัวต่อเนื่องและส่วนใหญ่ยังนำเสนอในรูปแบบออนไลน์เช่นเดียวกับแนวโน้มที่เกิดขึ้นในเดือนก่อนๆ รัฐบาลได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 มาเป็นระยะ ตั้งแต่การอนุญาตให้นั่งทานอาหารที่ร้าน การเปิดห้างสรรพสินค้า พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ โรงภาพยนตร์ ไปจนกระทั่งการเล่นดนตรีสดในร้านอาหาร สำหรับการเปิดโรงละครนั้นรัฐบาลให้อำนาจคณะกรรมการโรคติดต่อของแต่ละจังหวัดเป็นผู้พิจารณาอนุญาต โดยอนุโลมให้นักแสดงสามารถถอดหน้ากากระหว่างการแสดงได้ แต่ผู้ชมซึ่งจำกัดจำนวนไม่เกินรอบละ 50 คน ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา และสามารถทำการแสดงได้ไม่เกินเวลา 3 ทุ่ม นอกจากเรื่องโควิดแล้ว กระแสการหนุน Soft Power ไทยสู่ระดับโลก จากกระแสนิยมที่เกิดขึ้นหลังการเปิดตัว MV ของ ลิซ่า แบล็กพิงค์ ก็เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง และเรายังคงต้องติดตามวิกฤตทางอุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้
ศิลปินยังคงสร้างสรรค์และไม่หยุดที่จะค้นหา ทดลอง และผลิตงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์โดยปรับประยุกต์เทคนิคในการแสดงสดสู่พื้นที่ใหม่ซึ่งเป็นโลกเสมือน และยังดึงเอาศักยภาพของเครื่องมือในพื้นที่เสมือนเหล่านั้นมาสร้างให้เกิด “ประสบการณ์ใหม่” แก่ผู้ชมด้วย เริ่มต้นที่การแสดง “รำแก้บนออนไลน์” (DANCE OFFERING: The experimental work in progress) โดย กรกาญจน์ รุ่งสว่าง และภาพยนตร์สั้นในชื่อเดียวกันของ ธนัทภัณ ปาละกะวงค์ ณ อยุธยา ซึ่งตั้งคำถามกับสถานะความศักดิ์สิทธิ์และการต่อรองเชิงอำนาจ นอกจากตัวงานที่น่าสนใจแล้วเรายังเห็นความพยายามในการใช้เครื่องมือ “Paid Online Event” ของ Facebook ในจัดเก็บค่าเข้าชมในการชมการแสดงออนไลน์ แทนการชำระเงินผ่านตัวกลางอื่นๆ ส่วนทาง อักษร จุฬาฯ ได้นำเสนอละครออนไลน์ “เช่า.เขา.อยู่” ผ่านโปรแกรม Zoom ซึ่งเล่ามุมมองของผู้หญิง 4 คน ผ่าน 4 ห้องประชุมออนไลน์ ผู้ชมสามารถเลือกเข้าชมการแสดงเดี่ยวได้เพียง 3 จาก 4 ห้องเท่านั้น โดยผู้ชมจะได้รับรู้เรื่องราวของห้องที่เหลือจากการพูดคุยหลังการแสดง นับเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ใหม่ที่ศิลปินพยายามทดลองในการเล่าเรื่องบนพื้นที่ที่แตกต่างออกไป
ในส่วนของเทศกาลและงานเวิร์คชอป เทศกาลศิลปะการแสดงร่วมสมัยนานาชาติ BIPAM2021 ภายใต้แนวคิด “ความเป็นเจ้าของ” ผ่านการแสดง 6 เรื่อง กับ 8 หัวข้อเสวนา ได้สำเร็จลงอย่างสมบูรณ์ เราได้เห็นการปะทะสังสรรค์ของงานศิลปะกับสหวิทยาการแขนงอื่นๆ ในขณะที่ CAPT FEST ขยายประเด็นความเป็นสหสาขาของงานศิลปะการแสดงให้ชัดเจนยิ่งขึ้นผ่านชุดหัวข้อสนทนาออนไลน์และเวิร์คชอปในหลากหลายประเด็น อาทิ “Destination Art & Culture”, “Storytelling for Game Design”, และ “ศิลปะ x สุขภาพจิต x ธุรกิจโมเดล?” ซึ่งทำให้เราเห็นว่าศิลปะไม่ถูกจำกัดอยู่เฉพาะแต่ในแวดวงของตัวมันเอง หากแต่ยังสอดประสานและเชื่อมโยงเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันธุรกิจรวมทั้งศาสตร์อื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย ปลายเดือนกันยายน กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยได้ปิดรับโครงการศิลปะร่วมสมัยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในปีนี้ สศร. เน้นสนับสนุนโครงการศิลปะที่มีการประยุกต์เทคโนโลยีมาสร้างเป็นนวัตกรรม การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และการส่งเสริมความเป็นไทยสู่สากล ซึ่ง TTF ได้มีส่วนช่วยเสริมทักษะให้นักการละครที่กำลังเตรียมจะขอทุนผ่านกิจกรรม “Grantwriting Circle” ด้วย
ฟากฝั่งการศึกษา เราเห็นก้าวกระโดดของมหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งได้เปิดหลักสูตรใหม่ในชื่อหลักสูตร “การแสดง” (Performance Practice) ซึ่งจัดการเรียนการสอนแบบ Learning Paradigm Curriculum ที่เน้นการเรียนรู้เป็นชุดวิชาเพื่อพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพและมุ่งสร้างบัณฑิตที่สามารถประยุกต์ศาสตร์การแสดงไปสู่การทำงานที่หลากหลายโดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะในรูปแบบการแสดงสดหรือการแสดงบนเวทีเท่านั้น นอกจากนี้ สาขาวิชาการแสดง มข. ยังได้ดำเนินโครงการประกวดเยาวชนสร้างสรรค์ “แก่นอีสานวัฒน์” ครั้งที่ 3 เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย ทำให้เราได้เห็นอัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่พร้อมจะเปล่งประกายในสังคมไทยต่อไป ส่วนสมาพันธ์ศิลปะการแสดงระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทยก็ได้จัดงานเสวนาในหลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับ Soft Power และ ลิซ่า แบล็กพิงค์ ซึ่งกำลังเป็น Talk of the town ในขณะนี้ด้วย ประเด็นเหล่านี้คงจะเป็นแนวทางให้เราได้ถกกันถึงที่ทางของศิลปะการแสดงในสังคมไทยและสังคมโลก
ในท่ามกลางกระแสโควิดซึ่งยังไม่ได้หายไปไหนและการพูดถึงศิลปะวัฒนธรรมในฐานะที่เป็น Soft Power ในการส่งออกและนำเสนอความเป็นไทยไปสู่สายตาโลกนั้น เราได้เห็นชื่อของ Chang Theatre ซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปนำเสนอผลงานการเคลื่อนไหวร่างกายในโปรเจค “14” ซึ่งมีนักเต้นจากทั่วโลกเข้าร่วม นอกจากนี้เรายังได้รับข่าวการยุติกิจการถาวรของ สยามนิรมิต กรุงเทพฯ ที่จำต้องปิดตัวลงถาวรจากวิกฤตโควิด การปิดตัวลงครั้งนี้เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของผลกระทบจากวิกฤตทางสาธารณสุขและการขาดการเยียวยาที่ชัดเจนจากรัฐต่อวงการศิลปะ ทำให้โชว์สำหรับการท่องเที่ยวที่อาจเรียกได้ว่ามีขนาดใหญ่และก่อให้เกิดการจ้างงานหลายอัตราไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
หลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษาวันที่ 29 กันยายน 2564 TTF ได้รวบรวมประกาศของจังหวัดต่างๆ เกี่ยวกับการจัดแสดงละครเวทีไว้ใน Facebook ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่น ท่านสามารถติดตามอ่านได้ และกำลังจะออกข้อเสนอแนะในการจัดแสดงละครในสถานที่จริง (ฉบับปรับปรุง) ในลำดับต่อไป
หวังว่าการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคติดต่อตามสถานการณ์โควิดซึ่งมีแนวโน้มดีขึ้นบ้างนี้จะเป็นสัญญาณแห่งการเริ่มต้นให้ ผู้เสพ-ผู้สร้างละครเวทีไทย ได้กลับมาพบกันบนโลกจริงในเร็ววันนี้
ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ