ละครไทยเดือนนี้ - สิงหาคม 64

สิงหาคมนี้ยังคงเป็นอีกเดือนหนึ่งที่ละครไทยอยู่ในภาวะชะลอตัวท่ามกลางเหตุการณ์สำคัญและความผันผวนในระดับโลก ทั้งการปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2021 ที่ประเทศญี่ปุ่น การเข้ายึดกรุงคาบูลเมืองหลวงของอัฟกานิสถานของกองกำลังตาลีบัน และการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา กับทั้งวิกฤตภายในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น การขยายมาตรการกึ่งล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นตลอดทั้งเดือน และการชุมนุมทางเมืองที่กลับมาเป็นประเด็นทางสังคมที่ร้อนแรงอีกครั้ง  

TTF ได้เป็นตัวกลางรับบริจาคและสั่งอาหารจากร้านค้าละครไทยเพื่อส่งมอบให้ชุมชนที่ขาดแคลนโดยไรเดอร์ที่ได้รับผลกระทบผ่าน “โครงการร้านค้าละครไทยสู่ชุมชน” ได้จัดส่งอาหารจำนวน 1,050 กล่อง 4 ร้านค้า 39 รอบจัดส่ง และทำให้ไรเดอร์ 8 ท่านมีรายได้ นอกจากนี้ TTF ยังได้ช่วย Theatre Without Borders (TWB) ระดมทุนและกดดันผู้แทนในสหรัฐอเมริกาเพื่อให้ความช่วยศิลปินที่ติดอยู่ในสนามบินกรุงคาบูลโดยด่วนที่สุด พร้อมทั้งยังได้เชิญชวนศิลปินไทยโพสรูปพร้อมข้อความ “Love and Support from Thai Theatre Makers” เพื่อส่งกำลังใจให้กับกลุ่มศิลปินที่กำลังรอความช่วยเหลือที่สนามบินด้วย  

เมื่อโรงละครยังเปิดไม่ได้ ศิลปินได้ขยายพื้นที่โรงละครและเครือข่ายศิลปะเข้าสู่แพลตฟอร์มใหม่ ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง แม้เส้นแบ่งระหว่างความเป็นภาพยนตร์กับการเก็บเสน่ห์แบบสดๆ ของละครเวทียังเป็นเรื่องที่ถกเถียง แต่เราก็ได้เห็นนักการละครพยายามค้นหาวิธีการเล่าเรื่องและนำเสนอด้วยวิธีการที่ไม่ซ้ำเดิม เดือนนี้มีการสร้างสรรค์ผลงานการแสดงหลายเรื่องเริ่มด้วยการแสดง “ปีศาจแรงโน้มถ่วง” ของกวิน พิชิตกุล ที่นำความโกรธและความอัดอั้นใจจากประเด็นการจับกุม อุ้มหาย และการทำร้ายผู้มีความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองมาถ่ายทอดเป็นการแสดง  “In Own Space: การแสดงในพื้นที่ส่วนตัว” โครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เป็นวิธีการที่ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานออนไลน์ขนาดสั้นด้วยแรงบันดาลใจจากเรื่องก่อนหน้า ครั้งนี้ได้คัดสรรศิลปินการละครทำงานคู่กับผู้กำกับภาพเคลื่อนไหวโดยเฉพาะ ทุกท่านสามารถติดตามได้ที่นี่  ปลายเดือนเราได้เห็นละครออนไลน์เรื่อง “สมหมายสายสมรและคำวิงวอนต่อโควิดสิบเก้า” ของ ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ ซึ่งถ่ายทำออนไลน์แสดงห่างกันไปคนละจอคอมพิวเตอร์สามารถเข้าชมทั้ง 3 ตอนได้ผ่านละครไทยออนดีมานด์  

เราเห็นการเคลื่อนไหวมากขึ้นจากฝั่งละครเชิงพาณิชย์ด้วยเช่นกัน อย่างโรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศได้เปิดตัวรายการสนทนา “Siam Pic Talk” ที่ได้เชิญศิลปินทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังมาพูดคุยถึงประสบการณ์ชีวิตและกระบวนการทำงานในฐานะคนละคร ส่วนเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ก็ยังคงนำบันทึกการแสดงละครเพลงหลายเรื่องหมุนเวียนเข้าฉายให้ได้รับชมกันทาง TrueID  ซึ่งคงช่วยให้เราได้หายคิดถึงการทำงานงานและการไปชมละครในโรงละครไปได้บ้าง 

ในส่วนภูมิภาค “Loei Art Fest (LAF) – เทศกาลศิลปะร่วมสมัยแห่งจิตวิญญาณเมืองเลย” ได้จุดประกายการสร้างสรรค์โดยผนึกกำลังระหว่างเครือข่ายกลุ่มพลเมืองที่ขับเคลื่อนชุมชนมาทำงานร่วมกับศิลปินร่วมสมัยมาสร้างเป็นผลงานศิลปะที่เกิดจากอัตลักษณ์ชุมชนซึ่งจัดในลักษณะคู่ขนานทั้งในพื้นที่จริงและออนไลน์สำหรับผู้ชมนอกพื้นที่ในช่วงที่ยังเดินทางข้ามจังหวัดลำบาก กิจกรรมจะจัดต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกันยายน ส่วนมหาวิทยาลัยขอนแก่นยังคงเดินหน้าโครงการละครเยาวชนสร้างสรรค์ “แก่นอีสานวัฒน์ ปีที่ 3” โดยปรับรูปแบบเป็นออนไลน์ ในขณะที่หมอลำหุ่นคณะเด็กเทวดา ได้แง้มให้เราเห็นบางส่วนของโรงละครเล็กหมอลำหุ่นที่จะกลายเป็นพื้นที่การแสดงที่ผสานชุมชนผ่านงานศิลปะ นับว่าความเคลื่อนไหวเหล่านี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมและศิลปะการแสดงไทยให้ยั่งยืนขึ้นในทุกมิติ 

ฝั่งเทศกาลก็มีกิจกรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย ทั้งการเปิดตัว CAPT FEST กิจกรรมแรกจากสมาคมการค้าส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (Contemporary Arts & Cultural Industry Promotion Trade Association Thailand - CAPT) ซึ่งจะกลายเป็นอีกหนึ่งพลังในการยกระดับและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมศิลปะร่วมสมัยในสังคมไทยให้เกิดคุณค่าทั้งในเชิงสุนทรียะและในทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ติดตามกิจกรรมทั้งเวิร์คชอปและการสนทนาประเด็นศิลปะที่ต่อยอดไปในมิติต่างๆ อันจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ที่ Facebook fanpage ของ CAPT ในขณะที่ BIPAM ก็ได้จัดชุดงานเสวนาทาง Clubhouse เสพศิลป์ร่วมสมัย โดยชวนตั้งคำถามว่าเราเป็นเจ้าของอะไรได้บ้างในช่วงเวลาที่ไร้ความหวังนี้ซึ่งจะสอดคล้องกับ Theme หลักของเทศกาลศิลปะการแสดงร่วมสมัยนานาชาติ BIPAM2021 ในปีนี้ก็คือ “Ownership” ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนนี้ และปิดท้ายด้วยกิจกรรมรวมพลคนละครประจำปีของไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นจัดปีนี้เป็นปีแรกในชื่อ “Unity and Resilience” และจะจัดเป็นประจำทุกปี 

สำหรับฝั่งการศึกษาก็จัดเสวนาออนไลน์กันอย่างคึกคัก คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานประชุมวิชาการสร้างสรรค์ด้านศิลปกรรมระดับชาติ ครั้งที่ 2 ขึ้น โดยภายในงานมีเสวนาพิเศษเรื่อง “การสร้างและการขยายฐานวิชาชีพศิลปะการแสดงในช่วงเวลาแห่งความพลิกผัน” โดยสมาพันธ์ศิลปะการแสดงระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย และการนำเสนอผลงานของเหล่าคณาจารย์ด้านศิลปะการแสดงด้วย ทางฝั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้นำเสนอชุดงานเสวนาออนไลน์ Life | Performance  “ชวนคุย ชวนคิด ชีวิตกับละคร” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนิเวศวัฒนธรรมด้านการแสดง: สร้างสรรค์ วิจัย และนวัตกรรม โดยได้เชิญนักวิจัย ศิลปิน และผู้เชี่ยวชาญมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการสร้างพื้นที่ศิลปะในมหาวิทยาลัยและชุมชน นอกจากนี้ สมาพันธ์ศิลปะการแสดงฯ ร่วมกับ Pichet Klunchun Dance Company ยังได้จัดงานเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “สาธิตหมายเลข 60 โดยพิเชษฐ กลั่นชื่น กับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ” เป็นการส่งท้ายเดือน และคุณพิเชษฐ ยังได้นำเตรียมนำเสนอการบรรยาย “หลักคิดของ หมายเลข 60” แก่สถาบันการศึกษาที่สนใจโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอีกด้วย 

ท่ามกลางความน่ายินดีที่เราได้เห็นความเคลื่อนไหวของละครเวทีไทยที่พยายามยืนหยัดเพื่อวงการและสังคมในช่วงวิกฤตสาธาณะสุขและวิกฤตการเมืองที่เป็นอยู่นี้ TTF ขอคัดค้านการยกเลิกการเชิดชูเกียรติ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณกรรม ปี 2554 เพราะสังคมเสรีคือสังคมที่ประชาชนทุกคนล้วนมีสิทธิใช้วิจารณญาณของตนประเมินค่าว่าแนวคิดใดเหมาะควรแก่การสนับสนุนและยึดถือปฏิบัติ  TTF ดำเนินงานด้วยนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เราขอยืนยันในหลักสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของศิลปินไทย  

นอกจากนี้ ยังได้ออกแถลงการณ์ขอคัดค้านและรวบรวมรายชื่อ “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. ….” ซึ่งจำกัดการเติบโตขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรอันรวมถึงองค์กรอันจะกระทบแวดวงละครเวทีไทยโดยตรงอีกด้วย  

ขอให้เรามีความหวังสำหรับวันพรุ่งนี้ แล้วพบกันเดือนหน้า 

ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ