แม้การจัดแสดงในโรงละครยังมีจำนวนไม่มาก แต่ก็นับเป็นอีกเดือนที่กิจกรรมศิลปะการละครดำเนินไปในหลากหลายรูปแบบทั่วประเทศ ทั้งเวิร์คชอป การพูดคุยแลกเปลี่ยน และการทำงานขับเคลื่อนสังคม
ละครมีประปรายในกรุงเทพมหานคร พบกับละครเรื่องแรกๆ ของปีที่จัดแสดงในโรงละคร Nuni Productions จับมือกับสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย จัดแสดงเรื่อง Father เขียนโดย Florian Zeller บทละครเรื่องนี้ได้นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เข้าชิง Golden Globe ครั้งที่ 78 ด้วย ละครเรื่อง Peace Piece ของ FULLFAT THEATRE ซึ่งจัดแสดงไปเมื่อปี 2018 ปล่อยอัลบั้มเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อใช้ในการแสดง นับเป็นการนำเสนองานต่อเนื่องในรูปแบบอื่น สำหรับละครเรื่องอื่นๆ สามารถดูได้ที่ปฏิทินละครไทย
เดือนนี้ มีศิลปิน/เทศกาลปล่อยบันทึกการแสดงและบันทึกกิจกรรมให้ซื้อย้อนหลัง นับว่าวิกฤตการณ์โควิดส่งผลให้ศิลปินคำนึงถึงการทำงานกับผู้ชมออนไลน์มากขึ้น แม้ว่าผู้ชมก็ยังต้องการชมละครในพื้นที่จริงอยู่ ผู้ชมสามารถชมวีดิโอออนไลน์ได้ที่ ละครไทยออนดีมานด์ ส่วนศิลปินสามารถขอใช้บริการได้ฟรีโดยติดต่อมายังเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ที่ ladda@thaitheatre.org
ข่าวใหญ่จากฝั่งเมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ คุณบอย ถกลเกียรติประกาศลดบทบาท ให้คุณเอ็ดดี้ จิณณวัตร สิริวัฒน์รับไม้ต่อในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแทน ปฏิเสธไม่ได้ว่าการถือกำเนิดของเมืองไทย รัชดาลัย เธียเตอร์นั้นได้สร้างเเรงกระเพื่อมให้คนในสังคมหันมาสนใจละครเวทีมิวสิคัลมากขึ้น รวมถึงยังเป็นพื้นที่บ่มเพาะศิลปินมิวสิคัลหลากหลายแขนง รอติดตามกันว่าการเปลี่ยนผู้บริหารของซีเนริโอครั้งนี้จะเป็นอย่างไร
ฝั่งภูมิภาค คุณมณฑาทิพย์ สุขโสภา ศิลปินหุ่นเงาจากพระจันทร์พเนจรในเชียงใหม่ ได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนของภูมิภาคประจำปี 2021 - 2022 ของ Mekong Cultural Hub รอติดตามความเคลื่อนไหวอันน่าตื่นเต้นจากชุมชนละครเชียงใหม่ได้อีกมากมาย ศิลปินกลุ่ม performance art จากเชียงใหม่ยังคงเดินหน้าสร้างงานเคลื่อนไหวในประเด็นสังคมอย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้เกิดขึ้น ลานยิ้มการละครข้ามจังหวัดไปแสดงบูโตที่เพชรบุรี
ภาครัฐ สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) จัดทำโครงการ “CHANGE x2 : แพ็กคู่สู่ธุรกิจใหม่” จับคู่ 'ผู้ประกอบการ' เเละ 'นักสร้างสรรค์' เพื่อค้นหาโมเดลธุรกิจสร้างสรรค์แบบใหม่ รวมถึงให้ทุนตั้งต้นการทำงาน นับเป็นการต่อยอดและบ่มเพาะธุรกิจสร้างสรรค์รายย่อย โดยครั้งนี้โฟกัสไปที่ 15 จังหวัดในภาคเหนือ อีสาน และใต้
ฝั่งเทศกาล เทศกาลเลย อาร์ต เฟส เริ่มกิจกรรมน้ำจิ้มที่จังหวัดเลยแล้วในเดือนนี้ ก่อนจะจัดเทศกาลเต็มในเดือนมิถุนายน ครั้งนี้คุณเวลา อมตธรรมชาติ ได้เปิดระดมทุนจากภาคประชาชน ซึ่งสำเร็จตามเป้าในการจัดกิจกรรมแรกนี้ นับเป็นสัญญาณที่ดีที่คนให้ความสนใจและต้องการเห็นงานศิลปะเติบโตในชุมชน นอกจากนี้ ยังระดมทุนผ่านการจำหน่ายสินค้าอีกด้วย สามารถสนับสนุนกิจกรรมได้ที่เฟสบุคเพจ ส่วน BIPAM ประกาศวันจัดกิจกรรมประชุมประจำปีแล้ว โดยปีนี้เน้นจัดเทศกาลแบบผสมผสานทั้งออนไลน์และ ณ สถานที่จริง
ปรากฏการณ์ออนไลน์ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ clubhouse แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ผู้คนตื่นตัวกันทั่วทั้งโลก กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญที่ชุมชนละครได้ใช้สื่อสาร พูดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างออกรสในประเด็นที่ตนสนใจ รวมถึงมีการอ่านบทละครเวทีผ่านช่องทาง clubhouse อีกด้วย มูลนิธิฯ เองกำลังจะจัดกิจกรรม Intermission Talk เพื่อเชื่อมต่อนักการละครสาขาอาชีพต่างๆ เช่นกัน สามารถลงทะเบียนได้ที่นี่
สถาบันศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา (มายา) ประกาศปิดการทำงานของมายาที่ก่อตั้งมาร่วม 40 ปี ส่วนโรงละครมายาฤทธิ์ ซึ่งปิดสถานที่ไปชั่วคราวจะกลับมาเดินหน้าต่อเมื่อได้บ้านหลังใหม่ พื้นที่ซ้อมและจัดแสดงที่ขาดแคลนเป็นปัญหาใหญ่ของนักการละครเรื่อยมา มูลนิธิฯ ได้นำเสนอปัญหานี้ไว้ในสมุดปกขาว และจะเดินหน้ารณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
ฝั่งการศึกษา มีความตื่นตัวเรื่องการบริหารจัดการศิลปะมากขึ้น ล่าสุดคุณนิมิตร พิพิธกุล ศิลปินศิลปาธรได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรหัวข้อ ‘การจัดการศิลปิน’ ที่วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิฯ เองก็ได้เปิดเวิร์คชอปด้านการจัดการเพื่อสร้างนักจัดการละครเวที ขณะนี้กำลังเปิดรับสมัครอยู่ ท่านที่สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่นี่
BACC เริ่มกิจกรรม Art in Postcards หนึ่งในกิจกรรมระดมทุนเพื่อการดำเนินงานของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เกิดเป็นกระแสให้คนหันมาจับตามองการต่อสัญญาระหว่าง BACC กับกรุงเทพมหานครอีกครั้ง มูลนิธิฯ จะร่วมเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันประเด็นดังกล่าวในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน #savebacc
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ได้ประกาศใช้แผนการปฏิรูปประเทศ 13 ด้านฉบับปรับปรุงใหม่ในราชกิจจานุเบกษา หนึ่งในนั้นมีด้านวัฒนธรรมด้วย สามารถอ่านได้ที่นี่ มูลนิธิฯ กำลังวิเคราะห์และวางแผนผลักดันนโยบายที่จะสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ละครเวทีไทยร่วมสมัยต่อไป