ละครไทยเดือนนี้ - ตุลาคม 64

ท่ามกลางการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 และการเตรียมการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง ทิศทางละครไทยเดือนนี้ยังคงผสมระหว่างการนำเสนอในรูปแบบออนไลน์และการขยับขยายจากโลกเสมือนเข้าสู่เวทีจริง นอกจากนี้แนวโน้มที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือการได้เห็นงานของศิลปินไทยหลายชิ้นก้าวเข้าสู่เวทีละครและจอภาพยนตร์ในระดับโลก

เริ่มต้นที่ความสำเร็จของภาพยนตร์ “ร่างทรง” (The Medium) โดย บรรจง ปิสัญธนะกูล ซึ่งได้รับรางวัล Best of Bucheon จากเทศกาลภาพยนตร์ Bucheon International Fantastic Film Festival (BIFAN) ประเทศเกาหลีใต้ และได้รับเลือกจากสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ให้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยในการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 94 สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม โดยผู้กำกับการแสดงได้กล่าวว่าส่วนหนึ่งในความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเพราะ “การใช้บริการคนละครเวทีมาแสดง” ในภาพยนตร์เราได้เห็นฝีมือการแสดงที่เข้มข้นของคนละครเวที อาทิ เอี้ยง สวณีย์ อุทุมมา, สืบ บุญส่ง, ปู ยะสะกะ, ทา Ta Lent Show, และ ชัชวัฒน์ แสงเวียน ซึ่งได้นำทักษะที่ฝึกฝนอย่างเชี่ยวชาญจากโลกเวทีละครมาถ่ายทอดผ่านสื่อภาพยนตร์ อันเป็นเครื่องบ่งชี้ถึง “คุณภาพ” และ “ฝีมือ” ของคนละครไทยซึ่งหากได้รับการส่งเสริมที่เหมาะสมก็จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงไทยเป็น Soft Power ของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง

เชียงใหม่ดูจะเป็นจังหวัดที่มีการแสดงคึกคักเป็นพิเศษในเดือนนี้ เริ่มตั้งแต่การแสดงรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา โดยเครือข่ายศิลปินเชียงใหม่ที่ประตูท่าแพ การแสดงผลงานของนักศึกษาวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่นำเสนอทั้งในโรงละครจริง คือ “แสงตะวัน” และการแสดง Showcase ออนไลน์หลายชิ้น ทาง Facebook Page “กีด-Keet” นอกจากนี้ยังมีละครจากคณะละครต่าง ๆ เช่น “สุมาเต๊อะเจ้า...ที่กวนตีน” โดย Part Time Theatre และ “ไม้ค้อนแมน” โดย Cat oN oX Theatre ซึ่งได้นำเสนอบนพื้นที่จริง นักแสดงและผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์จริง อันเป็นเสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์ของละครเวทีที่สื่ออื่น ๆ ยังทดแทนไม่ได้ นับว่าศิลปินในเชียงใหม่ได้ใช้โอกาสสั้น ๆ ในช่วงที่มาตรการการควบคุมโรคของจังหวัดคลายความเข้มข้นลงในการนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ก่อนยอดผู้ติดเชื้อใหม่ของจังหวัดจะกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง ท่ามกลางความคึกคักนี้ สวนอัญญา - เฮือนครูองุ่น มาลิก: หอประวัติศาสตร์ประชาชนภาคเหนือ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่การแสดงสำคัญของคณะละครในจังหวัดเชียงใหม่ก็ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ โดยตัวอาคารไม่ได้รับความเสียหายมากนัก แต่ก็ส่งผลให้กระบวนการฝึกซ้อมละครชะงักลงระยะหนึ่ง

ในโลกเสมือนจริง ละครออนไลน์และละครวิทยุยังคงมีบทบาทคู่ขนาน สถานีละครมรดกใหม่ นำเสนอละครออนไลน์โดยมีเค้าโครงจากวรรณคดีไทย คือ “สินสมุทรร้องทุกข์” และ Kantana Motion Pictures ได้เปิดตัวละครเสียง “หมาดำ” ซึ่งถือเป็นการดึงเอาศักยภาพและความถนัดของตนมาสร้างสรรค์งานบนสื่อออนไลน์นี้

ด้านเทศกาลและงานเวิร์คชอป CAPT Fest 2021 ยังคงดำเนินการเสวนาออนไลน์ในการพร่าเลือนเส้นแบ่งพรมแดนของศิลปะการแสดงและชี้ให้เห็นถึงคุณค่าของศิลปะในลักษณะที่ปรับปนอยู่ร่วมกับศาสตร์อื่น ๆ โดยส่งท้ายชุดการเสวนาในหัวข้อ “Art is All Around - The Finale” ในขณะที่เทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชน (BICT Fest) ในปีนี้ ได้เตรียมทั้งงานแสดงและเวิร์คชอปหลากหลายมานำเสนอในรูปแบบออนไลน์ โดยผู้สนใจสามารถเข้าร่วมได้ไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วน Bangkok Theatre Festival 2021 ได้ประกาศรายชื่อการแสดงในเทศกาลที่จะเกิดขึ้นในเดือนหน้านี้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แม้ปีนี้เทศกาลจะต้องจำกัดจำนวนการแสดงและจำนวนผู้ชมต่อรอบให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิดในกรุงเทพฯ แต่คงจะไม่เกินเลยนักหากจะกล่าวว่างานนี้เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทั้ง “ผู้เสพ-ผู้สร้าง” ละครไทย รอคอยที่จะได้กลับมาพบกันในสถานที่จริงอีกครั้ง โดยที่ TTF ได้จัดแคมเปญ “25% ก่อน 25” เพื่อให้ผู้ได้รับสิทธิพิเศษที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี สามารถซื้อบัตรในเทศกาลละครกรุงเทพฯ และการแสดงอื่น ๆ ที่จัดแสดงในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนในราคาเพียง 25% เท่านั้น แคมเปญนี้จัดเป็นประจำทุก ๆ เดือน เพื่อช่วยกระตุ้นให้ผู้ชมที่ยังอยู่ในวัยเรียนและเพิ่งเริ่มทำงานได้เข้าถึงละครเวทีร่วมสมัยได้อย่างเสมอภาค

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ได้เปิดตัว “Live Recording Sessions: การแสดงสดด้วยโปรดักชั่นเต็มรูปแบบ” เพื่อช่วยสนับสนุนคุณภาพการถ่ายทำการแสดงสดของศิลปินเพื่อใช้สำหรับการแสดงสดและสำหรับให้ศิลปินได้เผยแพร่ผลงานในช่วงของโควิดนี้ นอกจากนี้ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และ Bangkok Art Biennale ต่างก็ได้เริ่มประกาศหลักเกณฑ์การให้ทุนสนับสนุนและรับสมัครศิลปินที่สนใจเข้าแสดงงาน 

ในต่างประเทศ ศิลปินไทยได้แสดงศักยภาพบนเวทีโลก ฝั่งอเมริกา ฑิตยา สินุธก แต่ง Book and Music ของละครเพลงเรื่องใหม่ “Dear Mr.C” นำเสนอผลงานการซ้อม ณ นครนิวยอร์ก นอกจากนี้คนละครไทยที่ทำงานอยู่ในสหรัฐฯได้ริเริ่ม TTF Spotlight Podcast เพื่อเป็นพื้นที่แบ่งปันประสบการณ์ของนักละครชาวไทยซึ่งทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกา ฝั่งยุโรป ในงาน Festival d’Automne a’ Paris วิชย อาทมาทได้นำเสนอการแสดงในชื่อ “Four Days in September” พร้อมด้วยผลงานภาพยนตร์ “Memoria” ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ส่วนในเอเชีย พิเชษฐ กลั่นชื่น ร่วมกับศิลปินชาวฮ่องกง นำเสนอผลงาน “No.60: Back to Basic”  สิรี ริ้วไพบูลย์เป็นตัวแทนชาวไทยในการเสวนาเรื่อง “Arts, culture, covid - pandemic survival stories” ในเวที Asia Pacific Network for Cultural Education and Research (ANCER Lab) ซึ่งจัดขึ้นที่มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ Babymine นำเสนอการแสดงเดี่ยวออนไลน์ “Survivor” ในโปรเจค Livestream “14” ซึ่งเป็นเทศกาลละครที่มีศิลปินจากหลายชาติเข้าร่วม และ สิริกาญจน์ บรรจงทัดได้นำเสนอการแสดงในงาน Lize  นับเป็นเดือนที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อยที่ได้เห็นบทบาทของศิลปินไทยในหลายเวทีทั่วโลก

ด้านการศึกษา สมาพันธ์ศิลปะการแสดงอุดมศึกษาฯ ได้จัดงานเสวนา “หนังสารคดี เกร็ดโขน” และชุดงานเสวนาออนไลน์ภายใต้ชื่อ “Theatre Talks in October” ใน 3 หัวข้อหลัก คือ Theatre Technology, Terminology, Memory โดยคณาจารย์จากหลักสูตรการแสดงและการละครหลายสถาบัน TRF Criticism ได้จัดเสวนาหัวข้อ “ละครเวทีตะวันตก ได้แค่นี้น่ะหรือ?” โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. เจตนา นาควัชระ ซึ่งงานเสวนาออนไลน์จากผู้เชี่ยวชาญการละครในแวดวงการศึกษานี้เป็นแนวโน้มที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นช่วงสถานการณ์โควิดนี้ เพราะทำให้การจัดงานเสวนาหรือการบรรยายทางวิชาการที่แต่เดิมมักจัดในสถานที่จริงซึ่งต้องอาศัยการเตรียมการ งบประมาณ และความพยายามในการเดินทางของผู้จัดและผู้เข้าร่วมเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ผลของการเสวนานั้น ๆ ที่เผยแพร่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ได้เข้าถึงผู้ฟังเป็นจำนวนมาก และยังเป็นประโยชน์สำหรับการสืบค้นทบทวนในอนาคตด้วย

ในโอกาสที่ภาควิชาศิลปการละคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมีอายุครบ 50 ปี ภาควิชาได้จัดงาน “เทศกาลละครนอกโรง” (Offstage Theatre Festival) รวมผลงานละครขนาดสั้น 16 เรื่อง จากผู้กำกับ 16 คน เพื่อเฉลิมฉลองในวาระพิเศษนี้ ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของงานนี้นอกเหนือไปจากการแสดงแล้ว รูปแบบการจำหน่ายบัตรก็น่าสนใจอีกด้วย โดยผู้สนใจสามารถเลือกบริจาคเงินเข้าภาควิชา หรือบริจาคผ่านไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่น เพื่อเป็นการส่งเสริมองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานสนับสนุนให้คนทำละครเวทีไทย คณะละครไทย และวงการละครไทยเติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน นับเป็นอีกก้าวย่างหนึ่งของการร่วมมือกันเพื่อความเข้มแข็งของวงการละครไทยในทุกมิติ

ท้ายที่สุดนี้ TTF ขอแสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง ในโอกาสที่ได้รับการเชิดชูเกียรติ “วัฒนคุณาธร” ประจำปี 2564 จากกระทรวงวัฒนธรรม และขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของอาจารย์บรูซ แกสตัน อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร จุฬาฯ ผู้ซึ่งได้สร้างคุณูปการต่อการอภิวัฒน์วงการดนตรีไทยไปสู่ความร่วมสมัย

เดือนหน้าจะเป็นอีกเดือนที่คนละครได้กลับมาพบกันในโรงละครเพื่อดื่มด่ำกับ “ประสบการณ์สด” อันหลากหลาย และหวังว่าสถานการณ์โควิดในไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้น

ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ