ละครไทยเดือนนี้ - มีนาคม 64


เมื่อกระแสโรคระบาดของโควิด-19 ผ่อนคลายลงบ้าง กิจกรรมในพื้นที่ปิดก็กลับมาเริ่มจัดอีกครั้งโดยดำเนินไปแบบมีมาตรการป้องกัน นอกจากการแสดง ก็ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อันเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจมากมายปรากฎขึ้นในเดือนนี้

ณ กลางเมืองหลวง กลุ่มละครได้นำเสนอการแสดงที่ออกแบบให้เกิดขึ้นในช่วงภาวะพิเศษนี้อย่างเหมาะสม อย่างเช่น การกลับมาครั้งที่ 2 ของ Siam Supernatural จากกลุ่มละคร FULLFAT theatre การแสดง site-specific ที่ผู้ชมเดินชมไปตามเส้นทางต่างๆ ในโรงละครสยามพิฆเนศ รวมไปถึงละครเรื่อง โรงรับจำนำความรู้สึก ของกลุ่มละคร RHYTHMthinker การแสดง interactive ที่ออกแบบมาให้ผู้ชมชมแบบส่วนตัว โดยขายบัตรแบบกลุ่ม 1-3 คนและ 4-6 คน

อีกกิจกรรมที่เป็นหมุดหมายของการเชื่อมต่อองค์ความรู้ คือ “โครงการพัฒนาองค์ความรู้จากศิลปะการแสดงโขนและร่างกายศึกษา” ซึ่งท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซนเป็นภัณฑารักษ์ ได้ศึกษาและถอดโขนออกมานำเสนอในรูปแบบร่วมสมัย ผ่านภาพยนตร์สารคดีและศิลปะการแสดง โดยร่วมมือกับนักเต้นและผู้กำกับ จิตติ ชมพี ผู้ก่อตั้ง 18 monkeysdance theatre

Fab cafe ที่ TCDC ได้ทดลองนำเทคโนโลยี 3D PHOTO SCAN มาใช้กับศิลปะการแสดง ครั้งนี้ ได้ทดลองใช้กับรำโนราตอน พระสุธนเลือกคู่ แสดงโดย วรเชษฐ์ มูฮัมหมัดสอิด ดูภาพกิจกรรมได้ที่นี่ นับเป็นอีกหนึ่งความฝันของมูลนิธิละครไทยที่ศิลปินละครเวทีจะมีโอกาสและได้รับงบประมาณให้ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อนำไปสู่มิติใหม่ของการสร้างสรรค์ผลงาน

สนทนาทำ ของกลุ่มละครบีฟลอร์ก็เป็นรูปแบบงานที่แปลกใหม่ โดยจะเปิดการแสดงพร้อมมี commentary จากผู้กำกับ นักออกแบบ และนักแสดงจากเรื่องดังกล่าว พูดคุยกันถึงเบื้องหลังของฉากที่ปรากฎ เป็นกิจกรรมที่ทำให้เราได้รู้เบื้องลึกเบื้องหลังจากคนสร้างงาน ประเดิมตอนแรกไปกับเรื่อง สถาปนา สามารถติดตามตอนต่อไปได้จากเพจ Bfloor 

ก่อนจะข้ามไปฝั่งภูมิภาค มูลนิธิละครไทยขอแสดงความยินดีกับธีระวัฒน์ มุลวิไล จากกลุ่มละครบีฟลอร์ และ นพพันธ์ บุญใหญ่ จาก FULLFAT theatre 2 หัวเรือใหญ่ของกลุ่มที่ได้รับคัดเลือกร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Thirteen Lives เรื่องราวเหตุการณ์ติดถ้ำของทีมหมูป่า กำกับโดย Ron Howard ขณะที่เขียนบทความนี้ ทั้งคู่ได้บินลัดฟ้าไปถ่ายทำที่ประเทศออสเตรเลียเเล้ว

ฝั่งภูมิภาค เดือนนี้เราไม่ได้เห็นการแสดงมากนัก แต่มีความเคลื่อนไหวอยู่เสมอๆ ที่จังหวัดหนองบัวลำภู ศิลปินศิลปาธรนิมิตร พิพิธกุลลงพื้นที่สร้างการแสดงและอบรมให้กับเยาวชน ที่เชียงใหม่นับว่าเป็นอีกเดือนที่ร้อนแรงเต็มไปด้วยการเคลื่อนไหวเรียกร้อง ไม่ว่าจะในประเด็นเสรีภาพการแสดงทางศิลปะ และการเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงในประเทศเมียนมาร์ ในการนี้ มูลนิธิละครไทย และองค์กรทางศิลปะอื่นๆ ในประเทศไทยก็ได้ออกแถลงการณ์ด้วยเช่นกัน

กระแสการนำศิลปะการแสดงไปผนวกรวมกับการท่องเที่ยว รวมไปถึงการพัฒนาชุมชนเมืองรองนั้นโดดเด่นขึ้นมาในเดือนนี้ เห็นได้จากการจัดกิจกรรมเสวนา “ศิลปะร่วมสมัยเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การท่องเที่ยว และชุมชนอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 1” ที่จังหวัดเลย ที่ได้รวมเครือข่ายภาคประชาชน เอกชน องค์กรท้องถิ่น เข้ากับเครือข่ายพันธมิตรจากต่างประเทศมาหารือแลกเปลี่ยนกัน กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานระยะยาวของเครือข่ายประยูรเพื่อศิลปะ ซึ่งจะจัดเทศกาล LAF - Loei Art Fes I LFAF4 ในเดือนมิถุนายนนี้ 

ส่วนจังหวัดอุบลราชธานี TCEB ร่วมกับ TIEFA (สมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย) เชิญคุณนิมิตร พิพิธกุลไปเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปะและศิลปินให้กับกลุ่มธุรกิจ TCEB มุ่งผลักดันนโยบาย ‘Festival Economy’ นำเทศกาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโดยเน้นการใช้อัตลักษณ์ของเมืองนั้นๆ ในการออกแบบกิจกรรมมาหลายปีแล้ว นโยบายนี้ได้ขยายผลยังเมืองรองที่มีศักยภาพมากขึ้นเรื่อยๆ CAPT (สมาคมการค้าส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย) ก็รับลูกนโยบายนี้ด้วยเช่นกัน ในอนาคตศิลปินด้านศิลปะการแสดงน่าจะมีพื้นที่ให้สร้างสรรค์ผลงานหรือเกิดการสร้างงานข้ามพื้นที่กันมากขึ้น หากศิลปินท่านใดต้องการเชื่อมต่อข้อมูลแหล่งทุนต่างๆ มูลนิธิฯ ยินดีให้คำปรึกษาผ่านโปรแกรมที่ปรึกษา ส่วน CAPT นั้น ขณะนี้ยังเปิดรับสมาชิกอยู่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ 

ฝั่งต่างประเทศ การแสดงออนไลน์ยังเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ มีการแสดงจากศิลปินชาวไทยจัดแสดงออนไลน์ในเทศกาลต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เพลงนี้พ่อเคยร้อง ของกลุ่มละคร For What Theatre และ Butterfly effect ของ Asia Butoh Tree Project ที่มีศิลปินไทยอยู่ในกลุ่ม 3 ท่าน น่าสนใจว่าแพลตฟอร์มศิลปะการแสดงของต่างประเทศนั้นยังได้รับทุนสนับสนุนแม้ในยามวิกฤต 

นอกจากนี้ ยังมีข่าวคราวของกลุ่มละคร MONO จากประเทศญี่ปุ่นจัดแสดงละครเวทีชื่อว่า อยุธยา ว่าด้วยเรื่องราวสมัยคนญี่ปุ่นอพยพมายังสยามจนเกิดเป็นหมู่บ้านญี่ปุ่น   ที่ออสเตรเลีย การแสดงเรื่อง White Pearl อันเป็นผลงานเขียนบทของลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลีย Anchuli Felicia King ก็เปิดแสดงทั่วประเทศด้วยเช่นกัน

ฝั่งเทศกาล ไบแพมเริ่มต้นกิจกรรมแรกของปีนี้ก่อนด้วยเวิร์คชอปเนื้อหาลิขสิทธิ์เกี่ยวกับศิลปะการแสดง อีกทั้ง ยังเปิดพื้นที่ให้ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ นักจัดการศิลปะ และศิลปิน ได้มาแลกเปลี่ยนเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมศิลปะการแสดง นับเป็นหมุดหมายที่สำคัญทั้งในรูปแบบกิจกรรมและเนื้อหาที่ยังไม่เคยหยิบยกมาพูดอย่างกว้างขวาง 

เทศกาลหุ่นโลกเริ่มแล้ว ในปีนี้จัดแสดงออนไลน์ผ่าน www.harmonypuppettheatre.com ผู้ชมจะต้องลงทะเบียนก่อน จากนั้นจะได้รับรหัสเสมือนตั๋วเข้าชมละครเรื่องต่างๆ ในโรงละคร เมื่อชมจบ ระบบจะให้เราสนับสนุนค่าเข้าชมโดยกดบริจาค นี่ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการจัดเก็บเงินเมื่อจัดแสดงออนไลน์

มูลนิธิละครไทยปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้เข้าเรียน Theatre Management Workshop เรียบร้อยแล้ว กลางปีนี้ เราสัญญาว่าจะมีนักบริหารจัดการละครเวทีหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ไม่พูดถึงไม่ได้กับข่าวดีที่ศิลปินลุ้นกันมาหลายเดือน ในที่สุด กรุงเทพมหานครได้ต่อสัญญากับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครอีก 10 ปีแล้ว 

ในวันที่ 27 มีนาคม ซึ่งเป็นวัน World Theatre Day มูลนิธิละครไทยได้จัดแคมเปญ #เรื่องนี้ที่สุด บรรดานักการละครได้ร่วมแชร์ประสบการณ์และรูปภาพกันอย่างคึกคัก เรื่องราวทั้งหมดนั้นพาหวนคิดถึงการได้กลับไปทำงานในโรงละครอย่างเต็มที่อีกครั้ง

ท้ายสุดนี้ ต้องขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับคุณจุ๋ม สุมณฑา สวนผลรัตน์ ศิลปินศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดงคนล่าสุด

ร่วมเขียนโดย เพียงดาว จริยะพันธุ์