ละครไทยเดือนนี้ - กุมภาพันธ์ 65

เดือนที่สองของปีผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว แนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูงอย่างยิ่ง หลายภาคส่วนเริ่มทบทวนแนวทางการควบคุมโรคใหม่และเริ่มวางแผนจะพิจารณาให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นเพื่อปรับแนวทางการรับมือและปล่อยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้อย่างใกล้เคียงความเป็นปกติที่สุด ด้านการเมืองระหว่างประเทศความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนเริ่มปะทุเป็นสงครามแล้ว ความผันผวนในโลกที่เกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่นี้ส่งผลต่อประเทศไทยทั้งในรูปของภาวะเงินเฟ้อ ของแพง และการชะลอตัวของวงการละครเวทีด้วย

เดือนกุมภาพันธ์นี้มีการแสดงสดให้เราได้ชมกันไม่มากนัก The Showhopper และ Philtration นำเสนอคอนเสิร์ตกึ่งทอล์ค “My Shot! Lin-Manuel Miranda Retrospective Concert” โดยนำเอาบทเพลงจากมิวสิคัลที่ Miranda ประพันธ์ไว้ในละครต่าง ๆ มาร้อยเรียงเป็นคอนเสิร์ต ส่วนละครออนไลน์ยังมีให้ได้ชม อาทิ “ฉิ่งฉับสลับร่าง” โดยประดิษฐ์ ประสาททอง “อาญาสตรี-อาญาชีวิต” ของ ผศ.ดร.พันพัสสา ธูปเทียน จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการแสดงนาฏศิลป์โขน “มัจฉานุ” ซึ่งนำเอานาฏศิลป์ไทยมาผสมผสานกับดนตรีแนวบาโรก โดย เบญจมินทร์ ตาดี และสาลีนี อัมมวรรธน์

ด้านเวิร์คชอปและงานเสวนา มีการจัดเวิร์คชอปการแสดงและการออกแบบแสงในกรุงเทพฯ ส่วนในระดับภูมิภาคนั้น Dhepsiri Creative Space ก็จัดเสวนาออนไลน์ “Bridge Building Exchange Dialogue on the Impact of Pandemic towards Artists” ซึ่งได้เชิญศิลปินไทยและกัมพูชาพูดคุยถึงผลกระทบของโควิดต่อศิลปิน 

ฟากฝั่งการศึกษา BU Theatre Company ร่วมมือกับเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ ในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะของนักศึกษาและเตรียมความพร้อมสู่อุตสาหกรรมบันเทิง นอกจากนี้ยังมีการแสดง “Dream are Free” ซึ่งเป็นผลงานของนักเรียนสายศิลป์-ศิลปะการแสดง ซึ่งเป็นผลผลิตจากความร่วมมือของภาควิชาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ และโรงเรียนอัสสัมชัญ ด้านสาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดการบรรยาย “กระบวนการการจัดคอนเสิร์ตเพื่อการประยุกต์ใช้ในละครเวที” โดยนักจัดงานคอนเสิร์ตมืออาชีพมาเพิ่มพูนทักษะและประสบการณ์แก่นักศึกษาด้วย

ด้านต่างประเทศ ฑิตยา สินุธก นักประพันธ์เพลงชาวไทย และทีม Music Theatre Factory นำเสนอละครเพลง “Half the Sky” ณ Joe’s Pub ของ The Public Theater กลางกรุงนิวยอร์ก ส่วน นานา เดกิ้น สมาชิกกลุ่ม B-Floor ซึ่งได้ย้ายไปสร้างสรรค์งานละครในนครนิวยอร์ก ได้รับทุนจาก New York Council of the Arts (NYSCA) เพื่อสนับสนุนการแสดงเรื่องใหม่ “Mammelephant” ซึ่งมีแผนจะจัดแสดงในเดือนมิถุนายน - สิงหาคมนี้

ปิดท้ายด้วยการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกิจกรรมในแวดวงละคร กิ่งก้านใบ Learnspace เปิดรับนักการละครมาเป็น “Artivist in Residence: นักสร้างสรรค์ในพำนัก” เพื่อร่วมสร้างสรรค์งานกับเยาวชนในพื้นที่ ส่วน TTF ได้เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วม “เวิร์คชอปการออกแบบและทำงานข้ามสื่อ จากละครเวทีสู่วิดิโอบันทึกการแสดง” เพื่อสนับสนุนให้ศิลปินละครเวทีสามารถออกแบบและทำงานข้ามสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมเวิร์คชอป “Theatre Management” เป็นปีที่ 2 ด้วยความมุ่งหวังที่จะพัฒนานักจัดการละครเวทีเพื่อส่งเสริมให้ละครเวทีไทยมีความยั่งยืนในทุกมิติ

แล้วพบกันใหม่ในเดือนมีนาคม


ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ