ละครไทยเดือนนี้ - เมษายน 65

เดือนเมษายนนอกจากจะเป็นเดือนที่ขึ้นชื่อว่าร้อนที่สุดแล้วยังเป็นเดือนเถลิงศกใหม่ตามคติของคนในแถบภูมิภาคนี้ด้วย คนไทยใช้โอกาสในช่วงหยุดยาวในการกลับบ้าน เดินทางท่องเที่ยว หรือพักผ่อนตามอัตภาพ ในขณะที่สถานการณ์การหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ยังดำเนินคู่ขนานไปกับปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นตามความขัดแย้งในระดับโลก นอกจากนี้ ปรากฏการณ์มิลลิกินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวที Coachella ก็ได้ทำให้ความคิดเรื่องการผลักดัน “Soft Power” กลายมาเป็นประเด็นให้ถกกันอีกครั้ง บทบาทของงานศิลปวัฒนธรรม นิเวศศิลป์ และความต้องการของผู้เสพ-ผู้สร้าง ถูกหยิบยกขึ้นมาทบทวนครั้งแล้วครั้งเล่าเช่นเดียวกับลมร้อนเดือนเมษาที่พัดผ่านมาและผ่านไปเมื่อถึงช่วงเวลาของมัน


ละครและการแสดงในเดือนเมษายนนี้มีให้รับชมกันโดยไม่ขาดตอน เริ่มต้นที่เทศกาลการแสดง “สามย่าน ละลานใจ” ซึ่งนำเสนอการแสดงหลากหลายรูปแบบทั้งละครสมัยใหม่ ละครหุ่น ละครพูด และงานแสดงที่ผสมผสานระหว่างความเป็นสมัยใหม่และงานแบบประเพณีที่ล้วนเป็นการใช้ศิลปะคืนชีวิตชีวาให้กับชุมชนสามย่าน-บรรทัดทอง และกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในละแวกนั้น เฉกเช่นเดียวกับนิทรรศการ “Evolution” ของ Pichet Klunchun Dance Company และ noble PLAY ที่ได้ก่อให้เกิดการปะทะสังสรรค์อันนำไปสู่การบรรจบกันระหว่างศิลปะการแสดงและเทคโนโลยีเพื่อมาปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ นำเสนอความคิด และสร้างความหมายให้กับ “พื้นที่” วิธี “การบูรณาการข้ามศาสตร์” เช่นนี้ ยังปรากฏให้เห็นในละคร “Quartet: ละครสะท้อนดนตรี”  อีกด้วย ในขณะที่ส่วนภูมิภาค โรงละครเสมาลัยนำเสนอละครและการแสดงเดี่ยว 4 เรื่องซึ่งแตกต่างกันทั้งวิธีการและเทคนิคการนำเสนอ


ในฝั่งการศึกษา เดือนเมษายนนับเป็นช่วงเวลาแห่งการนำเสนอผลงานสารนิพนธ์ มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรทางด้านการละครหรือการแสดงต่างทยอยเปิดโรงละครที่ถูกปิดชั่วคราวจากโควิดมาเกือบสองปีเพื่อต้อนรับผู้ชมอีกครั้ง ในช่วงนี้บรรยากาศเทศกาลละครในรั้วมหาวิทยาลัยจึงกลับมาคึกคักเป็นพิเศษ นักศึกษาได้ใช้โรงละครเป็นเวทีสำหรับการประมวลองค์ความรู้และทดลองฝึกฝน ในขณะที่ผู้ชมทั้งหน้าเก่าและใหม่ได้ร่วมกันค่อย ๆ สร้างสมวัฒนธรรมการชมละครให้เกิดขึ้น ในเดือนนี้ยังมีการเปิดเผยการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS World University Rankings ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำในไทยอย่างมหิดล และจุฬาฯ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดด้าน Performing Arts ในช่วงอันดับ 1-100 ของโลก


ในวงเสวนาทางการละคร TTF ได้นำเสนอ “ผลสำรวจ ผู้เสพ-ผู้สร้าง ปี 2564 บอกอะไร?” ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว แม้แนวโน้มของผลสำรวจเปรียบเทียบกันทั้งสองปีจะยังไม่ต่างกันมากนัก แต่ก็มีประเด็นย่อย ๆ หลายแง่มุมให้ทั้งผู้วิเคราะห์และผู้ฟังร่วมกันขบคิดต่อ ท่านที่สนใจฟังบันทึกบทวิเคราะห์ย้อนหลัง คลิกที่นี่ นอกจากนี้ TTF ยังได้จัดกิจกรรม Intermission Talk ต่อเนื่องตั้งแต่เดือน เมษายน-กันยายน เพื่อเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สานสนทนาระหว่างคนละครที่มีความสนใจเดียวกันอีกด้วย สนใจรายละเอียด คลิกที่นี่

ศิลปินไทยก็มีความเคลื่อนไหวในต่างประเทศเช่นกัน “A Nowhere Place” ของอนัตตา ได้นำเสนอในเทศกาล Anti-Rescure Arts Festival ที่ฮ่องกง ในขณะที่กลุ่มศิลปินไทยได้ส่งผลงาน “Nong Gam” เข้าร่วมประกวดในงาน Taiwan International Documentary Festival ส่วน Felicia King ลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลีย ในฐานะ Playwright Director ก็มีผลงานเขียนซีรีย์โทรทัศน์ “The Baby” ทาง HBO และการแสดงละครเวที “Golden Shield” รอบปฐมทัศน์ในเดือนเดียวกัน ส่วน ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย ได้ร่วมเป็นแขกรับเชิญให้กับรายการ Podcast “Theatre for Good” ของประเทศแคนนาดาเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับละครของผู้ถูกกดขี่ในการขับเคลื่อนสังคม


อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่แม้จะพูดได้ไม่เต็มปากว่าเป็นความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับวงการละครโดยตรงแต่ก็ถือเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญในเดือนนี้คือ การที่ “กลุ่มทะลุฟ้า” ได้รวมตัวกันเพื่อคัดค้านการรื้อถอนอาคารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ ซึ่งผู้บริการสถาบันได้ออกมาชี้แจงในภายหลังว่าต้องมีการรื้อถอนเพราะความชำรุดทรุดโทรมของตัวอาคาร อ่านรายละเอียดที่นี่ จึงเป็นที่น่าจับตาว่าท้ายที่สุดอนาคตของพื้นที่ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการละครโรงเล็กในประเทศไทยจะเป็นเช่นไร?


ท้ายนี้ TTF ขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2564 จำนวน 12 ท่าน และขอแสดงความยินดีกับอีกหนึ่งก้าวย่างความสำเร็จในการจัดตั้ง “มูลนิธิประยูรเพื่อศิลปะ” ซึ่งจะเป็นองค์กรศิลปะด้านการบริการอีกหน่วยหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ระบบนิเวศวงการละครไทยเข้มแข็งขึ้น


รื่นเริงเถลิงศกและสวัสดีปีใหม่ไทย



ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ