เดือนกรกฎาคมที่มาตรการล็อกดาวน์เข้มข้นขึ้นจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกรุงเทพมหานครที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นเดินหน้ารณรงค์กับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อช่วยเหลือนักการละคร เกิดเป็นโครงการจัดหาวัคซีนกลุ่มแก่นักการละครเมื่อต้นเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ TTF ยังมีโครงการร้านค้าละครไทยสู่ชุมชนกับโครงการจัดหาชุดตรวจโควิด Rapid Antigen Test ก่อนหน้าที่จะหาซื้อได้ทั่วไปอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เดือนนี้ละครออนไลน์คึกคักพอสมควรให้ผู้ชมและแฟนกลุ่มต่างๆ หายคิดถึง ประเดิมด้วยแวดวงละครเพลงที่ปรับตัวจากการฉายผลงานออนไลน์เป็นนำบทเพลงละครมิวสิคัลมานำเสนอในแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น สยามพิฆเนศปล่อยบทเพลงมิวสิคัลเรื่องดังลง Apple Music, iTunes, SPOTIFY และ JOOX ส่วน The Showhopper สื่อละครเวทีจัดคอนเสิร์ตกลาง Clubhouse ชื่อ “Musical Café Member Showcase: Once Upon a Time” Clubhouse เป็นช่องทางสื่อสารที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องนับแต่เปิดตัว นอกจากการเปิดห้องสนทนาในหัวข้อต่างๆ แล้ว ยังเป็นครั้งแรกที่เกิดละครวิทยุบนพื้นที่นี้ โดย Qrious Theatre ได้นำผลงาน “คืนนั้นฉันรักโจชัว หว่อง” ละครเวทีที่จัดแสดงไปเมื่อปี 2562 มาแสดงอีกครั้งแบบละครวิทยุ ด้านต่างประเทศ For What Theatre ที่หลังจากกลับมาจากทัวร์ยุโรปก็ส่งการแสดงเรื่อง “เพลงนี้พ่อเคยร้อง” เผยแพร่ในเทศกาล National Arts Festival ประเทศแอฟริกาใต้
สืบเนื่องจากปัญหาขาดแคลนพื้นที่สร้างสรรค์ผลงานละครเวทีอย่างรุนแรงในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา หลุยส์ - กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ นักจัดการศิลปะที่สนใจทำงานกับชุมชนและภาคธุรกิจสร้างสรรค์ได้ขยับขยายบ้านของตนให้เป็นโรงละครขนาดย่อม จากเดิมที่เปิดเป็นบ้านเรียนการแสดง ในชื่อ Act It House By Louis พื้นที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่สำคัญที่จะทำให้วงการละครเวทีเติบโตได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สำหรับทดลอง/ซ้อม หรือพื้นที่จัดแสดงงาน การเคลื่อนไหวของหลุยส์ในครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง
ฝั่งภูมิภาค เดือนนี้เทศกาล “เสียงสะท้อน” โดย Dhepsiri Creative Space ที่นำเสนอผลงานจากศิลปินเชียงใหม่กว่า 50 ท่าน เผยแพร่ออนไลน์ให้ได้ชมกันอย่างจุใจ นักฟ้อน 2 ท่าน รณรงค์ คำผา และแววดาว สิริสุข ได้เดินทางไปซ้อมการแสดงเรื่อง The Mahabharata ที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งจะจัดแสดงในเดือนสิงหาคม ในขณะเดียวกัน โรงเรียนศิลปะการแสดงกาดสวนแก้วได้ประกาศเลื่อนการแสดงละครเวทีเรื่อง ฟอลคอน เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ The Musical ไปเป็นต้นปีหน้า ซึ่งตามแผนเดิมวางว่าจะจัดแสดงต้นปีนี้ การเลื่อนการแสดงออกไปนี้เกิดขึ้นกับหลายกลุ่มละคร บางกลุ่มละครก็ตัดสินใจยกเลิกการแสดงของตนเอง แน่นอนว่าเหล่านี้คือ การสูญเสียต้นทุนทางเวลาและรายได้ ดังที่ TTF ได้เสนอไว้ในการรณรงค์กับหน่วยงานรัฐ
ขอนแก่นนับเป็นจังหวัดเดียวที่ได้นำเสนอละคร ณ สถานที่จริง โดยกลุ่มละคร BlankSpace ละครเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ISAN CREATIVE FESTIVAL 2021 อีสานโคตรซิ่ง” กลุ่มละคร BlankSpace เป็นกลุ่มละครอิสระ ศิษย์เก่าสาขาวิชาศิลปะการแสดง ม. ขอนแก่น ที่เริ่มออกมาทำงานนอกรั้วมหาวิทยาลัย มีคณาจารย์ช่วยสนับสนุนและเป็นที่ปรึกษา นับเป็นการเติบโตของวงการละครเวทีร่วมสมัยในภูมิภาคที่น่าตื่นเต้น
ฝั่งการศึกษา นำเทรนด์โดยสาขาศิลปะการแสดง ม. กรุงเทพ ที่เริ่มเปิดสอนการ Live Streaming และการใช้โปรแกรมออกแบบดิจิทัลอย่าง Unreal Engine เพื่อเสริมทักษะให้นักศึกษาการละครในยามที่ประตูโลกเทคโนโลยี ออนไลน์ และศิลปะแสดงสดเชื่อมกันแล้ว
ด้านต่างประเทศ นักการละครไทย - ออสเตรเลีย Felicia King ได้ร่วมพูดคุยสัมภาษณ์ David Henry Hwang ศิลปินละครเวทีอเมริกัน เจ้าของบทละคร M. Butterfly ใน Conversation Series ของ National Institute of Dramatic Art ประเทศออสเตรเลีย
TTF เปิดกิจกรรมใหม่ในโปรแกรมเชื่อมต่อละครไทย นั่นก็คือ ปฏิทินทุน รวบรวมข่าวสารและกรอบเวลาของทุนทุกประเภทที่เกี่ยวกับวงการ ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรม residency ส่งผลงาน ทุนสนับสนุน ทุนความร่วมมือ และทุนการศึกษา ติดตามได้ที่ ปฏิทินทุน เริ่มแล้ว!