ละครไทยเดือนนี้ - มิถุนายน 2565

เดือนมิถุนายนอีกครั้ง ภาวะข้าวยากหมากแพงยังเป็นประเด็นร้อนที่ท้าทายทุกภาคส่วนของสังคม  ผู้คนทั่วโลกรวมถึงในไทยเฉลิมฉลอง Pride Month ให้กับความหลากหลาย เป็นเวลาไล่เลี่ยกันกับที่รัฐสภาไทยรับหลักการกฏหมายสมรสเท่าเทียมซึ่งเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการปรับปรุงแก้ไขกฏหมายในการสมรสระหว่างบุคคล เดือนนี้ยังเป็นเดือนที่ประชาธิปไตยไทยดำเนินเข้าสู่ปีที่ 90 บริบูรณ์ ในขณะที่สังคมไทยยังอยู่ระหว่างการต่อสู้เพื่อสิทธิ ความเท่าเทียม และความหลากหลายในอีกหลายประเด็น ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการที่รัฐบาลผ่อนคลายข้อปฏิบัติในการสวมหน้ากากอนามัยให้เป็นการสวมใส่ตามความสมัครใจ สอดรับกับการเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในยุคหลังโควิด

การแสดงในเดือนมิถุนายนมีให้ชมกันตลอดทั้งเดือน Patravadi Channel เปิดตัวละครออนไลน์ซึ่งเป็นผลงานจากห้องเรียนละครของครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน ส่วนที่ noblePLAY กรกาญจน์ รุ่งสว่าง นำ “Dance Offering” การรำแก้บนผสมผสานเทคโนโลยี VR และ AR มาจัดแสดงอีกครั้ง ในขณะที่ในงานรำลึกวาระ 32 ปี มรณกรรมของครูองุ่น มาลิก ได้มีแสดงละครหุ่นประกอบดนตรีเรื่อง “ครูองุ่น มาลิก” โดย Puppet by Jae และที่ Buffalo Bridge มีการแสดงเดี่ยวผสม installation และ video art ชื่อ “Timeless To make it, Heck the dan enough Useless” ส่วนที่เชียงใหม่ ลานยิ้มการละครเสนอ “ข่วง République” ในวาระ 90 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และกลุ่มละคร Wonderjuey นำเสนอละครเวที “จุมพิษ” ซึ่งดัดแปลงจาก Kiss of the Spider Woman ในเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศนี้

ฝั่งการศึกษา จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยจัดงาน Drama Talk#17 “คุยเรื่องละครกับ Kinn Porsche the series” และเสวนาออนไลน์หัวข้อ “ความหลากหลายทางเพศในละครทีวีเทศและไทย” ในขณะที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ นำเสนอ “Dancing Brain: NeoruBallet Experiment in Process” ซึ่งเป็นการศึกษาทดลองความสัมพันธ์ของการเคลื่อนไหวร่างกายและการทำงานของสมอง ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ BU Theatre Company ได้เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมเวิร์คช้อปใน “เทศกาลละครเพื่อการพัฒนา” ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนหน้า นอกจากนี้ สาขาสื่อสารการแสดง มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้ขยายเวลาจัดนิทรรศการ “Scene & Lighting Design Immersive Exhibition: Try to-be Me จง (ลอง) มาเป็นฉัน” สำหรับผู้ที่พลาดชม และ สาขาวิชาศิลปะและธุรกิจการแสดง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดรับสมัครเยาวชนเข้าร่วมโครงการสร้างสรรค์ละครแบบมีส่วนร่วม “Devised Theatre: ปลุกความคิดเยาวชนต้นแบบ” อีกด้วย

ในส่วนของกิจกรรมเวิร์คชอปและความเคลื่อนไหวในแวดวงละคร กั๊บไฟทำละคร “ห้องน้อยในโลกกว้าง” เกี่ยวกับการส่งเสริมงานปกป้องคุ้มครองเด็กจากสื่อและภัยออนไลน์และการปรับปรุงขับเคลื่อนกฎหมายแพ่งฯ ม.๑๕๖๗ (๒) เพื่อการยุติการลงโทษเด็กทางกายที่อาคารรัฐสภาไทย ส่วนที่ noblePLAY มีเวิร์คชอปการสร้างอนิเมชั่นสามมิติจากไดอะแกรมการเต้น “Through Technology Workshop: Dance Diagram to 3D Animation” โดย Henry Tan และ Tas Chongchadklang นอกจากนี้ Workpoint Entertainment, Skybox Entertainment, และ Dreambox Acting ร่วมมือกันเปิดสถาบัน Finale Academy เพื่อพัฒนาคนรองรับอุตสาหกรรมบันเทิง โดยได้เปิดตัวหลักสูตร “Professional Acting Program” เป็นหลักสูตรแรก ส่วนคณะผู้จัดงานเทศกาลละครกรุงเทพก็ได้เริ่มประกาศรับสมัครศิลปินเพื่อเข้าเสนอผลงานในเทศกาลแล้ว โดยปรับเปลี่ยนวิธีการเปิดรับผลงานมาเป็นการคัดสรรทั้งหมดเพื่อให้สามารถบริหารจัดการการแสดงในสถานการณ์ความไม่แน่นอนของ Covid 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ TTF เองก็ได้มีส่วนร่วมใน “ศิลปะกับการสื่อสารปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อมโลก” กับโครงการห้องเรียนพลเมืองโลก คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังได้มีโอกาสหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการผลักดันศิลปะการแสดงไทยสู่บรอดเวย์กับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสำนักงานนิวยอร์กด้วย

ท้ายนี้ TTF ขอแสดงความยินดีกับ รัถยา ตรีรัตน์ ในโอกาสที่ได้รับรางวัล Best Set Design จาก Irish Times Theater Awards ครั้งที่ 23 และมีข่าวสารซึ่งควรบันทึกไว้ด้วยว่าในเดือนนี้ ศูนย์การค้ากาดสวนแก้วซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่ทางการแสดงขนาดใหญ่ของเชียงใหม่ได้ประกาศปิดทำการลงอย่างเป็นทางการแล้ว หากแต่ก็ยังมีความเคลื่อนไหวที่ดีในกรุงเทพฯ โรงละครโรงใหญ่ได้ทยอยประกาศแผนการกลับมาเปิดโรงละครอีกครั้งหลังปิดต่อเนื่องเกือบสองปีจากสถานการณ์โควิด อาทิ ละครเพลงสุนทราภรณ์ “เพลงรักเพลงแผ่นดิน” ณ เคแบงค์สยามพิฆเนศ ละครเพลง “พินัยกรรมของหญิงวิกลจริต A One-Woman Musical” ของ Dreambox และ คอนเสิร์ต “เปิดม่านใหม่เมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์” ของรัชดาลัย 

กล่าวได้ว่าละครไทยเดือนนี้มีความหลากหลายและมีความสอดคล้องกับเทศกาลหรือวันสำคัญของเดือนมิถุนายนอย่างแนบแน่น ในขณะเดียวกันก็มีสัญญาณการฟื้นตัวของวงการละครทั้งโรงเล็กและโรงใหญ่ที่กำลังหวนกลับมาภายหลังการหยุดทำการจากสถาณการณ์โควิด

Happy Pride Month… 

ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ