สิงหาคมผ่านพ้น เดือนนี้เป็นเดือนแห่งการกลับมาเปิดภาคเรียนแบบ On-site อีกครั้งของมหาวิทยาลัยในไทยทำให้โรงละครในสถาบันการศึกษากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง วงการละครไทยทั้งโรงใหญ่และเล็กที่ทยอยเริ่มเปิดทำการแสดงกันมาตั้งแต่เดือนก่อนก็ยังคงมีแผนการแสดงต่อเนื่องยาวไปถึงปลายปี ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ (ชั่วคราว) กรณีดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี และสภาพเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวต่อเนื่อง
การแสดงเดือนนี้ LiFE THEATRE นำเสนอ “Closer” ที่ศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล ที่ BACC ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ นำเสนอละครเวที “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ประเดิมโครงการศิลปะการแสดง ครั้งที่ 11 ที่จัดขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงธันวาคมนี้ ในขณะที่ Scarlette Theatre แสดง “เธอผู้ไม่แพ้” ที่ Yellow Lane อารีย์ นอกจากนี้ยังมีศิลปะแสดงสด “LOVEvolution LIFEvolution:ปฏิวัติการณ์แห่งจินตนาการ” ของศิลปินจากยูเครน ยูโกสลาเวีย เยอรมัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไทย ที่ BACC อีกด้วย
ฟากฝั่งการศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มธ. จัดงานเสวนา “การสร้างศิลปะการแสดงข้ามสื่อบนแพลตฟอร์มที่หลากหลาย” โดยการเชิญนักจัดการเทศกาลละครมาแบ่งปันประสบการณ์การจัดงานศิลปะบนพื้นที่เสมือน คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม นำเสนอละครเรื่อง “ไลฟ์มรณะ” จากบทละครที่แต่งขึ้นใหม่ ส่วนสาขาละครเพลง มหาวิทยาลัยมหิดลได้นำการแสดงของนักศึกษาเข้าร่วมแสดงในงานเปิดตัว “นครปฐมเมืองดนตรี” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนให้จัดหวัดนครปฐมเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีของ UNESCO และทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพได้ดำเนินการปรับปรุง Blackbox Theatre และกำลังจะพัฒนาพื้นที่การแสดงอีกแห่งหนึ่งเป็นโรงละครแห่งที่สองเพื่อเสริมศักยภาพในนำเสนองานที่หลากหลายขึ้น
ในส่วนของเครือข่ายละคร BIPAM กับ EVE (เครือข่ายศิลปินอิสระจากประเทศอิสราเอล) เปิดรับสมัครศิลปินเข้าร่วมโครงการและเปลี่ยน “Coast to Coast: ข้ามฟากแลกฝั่ง” เพื่อการแลกเปลี่ยนความคิด วิธีการทำงาน และจะร่วมพัฒนาผลงานชิ้นใหม่ขึ้นในปลายปีนี้ ส่วน Bangkok Theatre Festival เปิดระดมทุนโครงการแลกเปลี่ยนพูดคุยสำหรับศิลปินสาขาศิลปะการแสดงรุ่นใหม่ “SPECTATION AND SUSPICION” โดยมุ่งหวังจะให้เกิดการะปะทะสังสรรค์และศิลปะสนทนาโดยมีละครเป็นจุดเริ่มต้น และในเดือนนี้ CAPT ยังริเริ่มจัดทำ “Art Directory” ที่รวบรวมรายชื่อนักจัดการศิลปะ พื้นที่ศิลปะ และธุรกิจเกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ในการติดต่อสืบค้นอันจะเติมเต็มระบบนิเวศศิลป์ให้วงการละครไทยด้วย
ในต่างประเทศ การแสดง “เพลงนี้พ่อเคยร้อง” ของ For WhaT theatre เดินสายจัดแสดงตามโรงละครและเทศกาลละครในหลายประเทศแถบยุโรปอีกครั้ง และ “ตลาดปลา: TA-LAD PLA (FISH MARKET)” เข้าร่วมแสดงออนไลน์ในงาน World Stage Design 2022
ท้ายนี้ TTF ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ อ. สำเภา ไตรอุดม ผู้ประพันธ์เพลงให้แก่ละครเวทีและละครโทรทัศน์หลายเรื่อง
จนกว่าจะพบกันใหม่ สวัสดี
ร่วมเขียนโดย สุรศักดิ์ นามวัฒน์โสภณ