Chiang Mai Theatre Series: บันทึกบทสนทนา “ละคร ปรากฏการณ์สังคม กับเสียงคนรุ่นใหม่”

นลธวัช มะชัย : เรื่อง

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

ปลายปีที่แล้วผมมีโอกาสเป็นผู้ดำเนินรายการเวทีเสวนา ละคร ปรากฏการณ์สังคม กับเสียงคนรุ่นใหม่ ในเทศกาลละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชียงใหม่ ครั้งที่ 1 Act Up : Chiangmai Transformative Theatre Festival วันที่ 2 พฤศจิกายน 2562  

เทศกาลละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชียงใหม่ ครั้งที่ 1 คือพื้นที่ศิลปะการแสดงละคร ที่จัดขึ้นโดยเครือข่ายกลุ่มละคร 8 กลุ่มในเชียงใหม่ โดยมีมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) เป็นพี่เลี้ยง มีเอกลักษณ์คือการให้ความสำคัญกับคุณค่าความงามของสุนทรียศิลป์ กับการขับเคลื่อนประเด็นปัญหาสังคม โดยคาดหวังการเปลี่ยนแปลงทั้งระดับบุคคล ระดับชุมชนและสังคม 

เทศกาลนี้จึงมุ่งเน้นในการสร้างผู้นำนักการสื่อสารละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง ใช้ระยะเวลามากกว่า 8 เดือน ตั้งแต่กระบวนการเรียนรู้ละคร สร้างงาน จนถึงออกจัดแสดง 

โดยการฝึกทักษะการทำงานละครสร้างสรรค์ เทคนิคการแสดงต่างๆ พัฒนาความรู้ความเข้าใจในการคิดวิเคราะห์ จับประเด็นปัญหาที่สนใจทั้งในชุมชนหรือสังคมอย่างเป็นระบบ ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถนำเสนอทางออกเพื่อแก้ไขปัญหานั้นผ่านกระบวนการละคร จัดการแสดงละคร และมารวมตัวแสดงร่วมกันอีกครั้งในเทศกาลละครเชียงใหม่ครั้งนี้ 

เป็นโอกาสดีที่เราจะมาคุยกับคนที่ขับเคลื่อนงานละครในเชียงใหม่และขับเคลื่อนงานศิลปะด้านอื่นๆ เครือข่ายผู้จัดเทศกาลเปิดวงเสวนาชื่อ ‘ละคร ปรากฏการณ์สังคม กับเสียงคนรุ่นใหม่’ โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย 



  1. คุณนันท์ณิชา ศรีวุฒิ ผู้ประสานงานโครงการ Human ร้าย Human wrong จากร้านหนังสือ Book Re:public เชียงใหม่

  2. คุณธนุพล ยินดี หัวหน้าโครงการนักการสื่อสารการละคร Act Up : Chiangmai Transformative Theatre Project 1st  มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม)

  3. อ.แววดาว ศิริสุข อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปะการดนตรีและการแสดง ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  4. อ.คำรณ คุณะดิลก ผู้ก่อตั้งคณะละครพระจันทร์เสี้ยวการละคร อดีตอาจารย์ผู้สอนศิลปะการแสดง คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  5. ผู้ช่วยศาสตรจารย์สมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ ฝ่ายพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำหรับเด็กและเยาวชน กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ดำเนินรายการโดยผม นลธวัช มะชัย สมาชิกกลุ่มลานยิ้มการละคร 


ผมเข้าใจเอาเองว่าวงการละครเชียงใหม่ควรมีคนบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นไว้บ้าง ทั้งในมิติเหตุการณ์ทั่วไป การวิพากษ์วิจารณ์ พัฒนาการ หรือแม้กระทั่งการทะเลาะวิวาทวิวาทะกันในวงการละคร เพื่อเป็นประโยชน์กับการศึกษาประวัติศาสตร์วงการละครเชียงใหม่ไม่มากก็น้อยในอนาคต

ผมคิดว่านี่เป็นหมุดหมายที่ดีในการบันทึกวงการละครเชียงใหม่ยุคปัจจุบัน

และต่อไปนี้คือบทสนทนาที่เกิดขึ้นวันนั้นครับ

 

นลธวัช มะชัย :

ผมขอเริ่มที่ผู้ร่วมเสวนาคนแรก พี่บัว นันท์ณิชา ศรีวุฒิ ผู้ประสานงานโครงการ Human ร้าย Human wrong ซึ่งปีนี้โครงการก็เป็นปีที่ 3 แล้ว ใครอยู่ในเชียงใหม่หรือเคยได้ยินข่าวนี้จากหน้าสื่อก็จะเห็นนะครับว่าทางร้านหนังสือ Book Re:public มีโครงการหลายโครงการมาก หนึ่งในนั้นก็คือโครงการ Human ร้าย Human wrong ซึ่งทำงานศิลปะร่วมสมัย ถ่ายทอดเรื่องราวหลากมิติหลายเฉดสีของความเป็นมนุษย์ในบริบททางสังคม

ปีนี้มีผลงานจัดแสดงถึง 13 ชิ้น เล่าเรื่องมนุษย์ผู้ต่อรองกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในบริบททางสังคมที่หลากหลาย ทั้งในฐานะปัจเจกที่ตั้งคำถามจากสภาวะที่ถูกกดทับหรือความเป็นมนุษย์ถูกลดทอน โดยนำมาปะติดปะต่อ ตีความ และบอกเล่าในรูปแบบใหม่

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ทั้งหมดที่นั่งอยู่ตรงนี้มีสองท่านที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับละครโดยตรง นั่นก็คืออาจารย์สมเกียรติ และพี่บัว ซึ่งใช้ศิลปะหลายแขนง หนึ่งในนั้นก็เป็นละครด้วย แล้วก็ทำงานกับเยาวชนหรือคนที่สมัครเข้ามาในค่าย อันนี้จะมีความต่างกันอยู่บ้างกับกระบวนการที่เราใช้ในเทศกาลละคร อยากให้พี่บัวเล่าให้ฟังหน่อยว่าทำงานอย่างไร แล้วเจอข้อค้นพบอะไรบ้างกับการใช้กระบวนการทำงานศิลปะกับเยาวชน หรือเกิดปัญหาและมันนำไปสู่การเชื่อมโยงกับการแก้ไขปัญหาร่วมกันกับคนรุ่นใหม่ยังไง ?

2 ปีแรกงานของโครงการ Human ร้าย Human wrong  ทำงานกับกลุ่มคนที่สมัครมาร่วมและทำงานอยู่ในเมือง ได้ข่าวว่าปีนี้ขยับไปทำงานกับชุมชนทำไมมันถึงออกมาเป็นรูปแบบรสชาติแบบนี้ได้ครับ ?

นันท์ณิชา ศรีวุฒิ :

สวัสดีค่ะ อย่างที่นลธวัชบอกนะคะ โครงการ Human ร้าย Human wrong ขึ้นปีที่ 3 แล้ว โครงการของเราเปิดพื้นที่ให้กับเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้ออกมาพูดเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม เรื่องของสิทธิมนุษยชนผ่านกระบวนการทำงานศิลปะร่วมสมัย ซึ่งในโครงการนี้เราประกาศตัวเลยว่าเราอยากจะเปิดรับเสียงของคนรุ่นใหม่จริงๆ ที่ต้องการนำเสนอประเด็นต่างๆ ที่พวกเขาได้เจอในชีวิตประจำวัน ซึ่งเรารู้สึกว่าเด็กและเยาวชนในยุคปัจจุบันมีเรื่องสิ่งที่อยากจะพูดมากขึ้น แต่เวทีหรือพื้นที่ที่จะทำให้ได้แสดงออกในสิ่งที่พูดหรือส่งเสริมศักยภาพในการพูดเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่มันเป็นเรื่องไกลตัวให้มันอยู่ใกล้ตัวเค้ามากขึ้น 

เราก็เลย Create เป็นโครงการ Human ร้าย Human wrong ขึ้นมา ซึ่งใช้กระบวนการทำงานศิลปะควบคู่กับความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนผนวกรวมกันให้กลายเป็น workshop ต่างๆ แล้วปลายทางงานเด็กๆ จะสามารถ Create เป็น Project งานศิลปะของตัวเองขึ้นมาคนละหนึ่งชิ้น

เพื่อที่จะสะท้อนเสียงของเค้าที่มีต่อประเด็นทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Cyber Bully เรื่องของความเท่าเทียมกันของเพศสภาพต่างๆ หรือเรื่องการถูกทำร้ายในครอบครัวตัวเองผ่านงานศิลปะต่างๆ ซึ่งเด็กเหล่านี้มีมาจากหลายพื้นที่ทั้งที่ บางคนไม่เคยเรียนศิลปะเลย หรือบางคนอยู่ใน Field งานศิลปะด้วย ซึ่งดีใจมากที่ได้มาแลกเปลี่ยนกับโครงการของ Act Up ในครั้งนี้ เพราะว่าเราเห็นถึงตัวจุดประสงค์ของโครงการ Act Up ตรงที่อยากจะเปิดพื้นที่และใช้งานศิลปะในการส่งเสียงต่างๆ ให้กับเด็กและเยาวชน โดยให้เขาได้เป็นคนส่งเสียงเองด้วย

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

ตั้งแต่ทำมาจากรุ่น 1 ถึงรุ่น 3 เห็นได้ว่าสิ่งที่เด็กและเยาวชนต้องการจะพูดมากที่สุดถึงแม้ว่าสิ่งที่เขาพูดมันจะเป็นเสียงสะท้อนที่ถ้าเป็นผู้ใหญ่อย่างเรามอง เราก็อาจจะรู้สึกว่าเป็นการข้ามหน้าข้ามตาผู้ใหญ่หรือเปล่า หรือเป็นเด็กแค่นี้ทำไมต้องมาพูดเรื่องการเมือง เรื่องของสิทธิมนุษยชนต่างๆ

ซึ่งเราต้องพยายามบอกให้รู้ว่าเรื่องการเมืองมันเป็นเรื่องใกล้ตัว เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเขามากๆ แล้วทำไมหน้าที่ของผู้ใหญ่จึงไม่มีพื้นที่หรือว่าไม่เปิดพื้นที่ให้กับเด็กได้ออกมาพูดบ้าง แน่นอนว่ากลุ่มเป้าหมายของเด็กและเยาวชนถึงแม้ว่าเขาจะพูดกันเอง แต่สิ่งที่พวกเขาพูดกันเองมันต้องไปปะทะ ไปตั้งคำถามกับผู้ใหญ่ด้วยว่าจะยอมรับในสิ่งที่เด็กเรียกร้องรึเปล่า

การทำงานของ Human ร้าย Human wrong ใน 2 ปีแรก เราอยากจะให้เด็กได้รู้จัก Concept ของเรื่องสิทธิมนุษยชนและเรื่องใกล้ตัวเขาก่อน แต่ทีนี้เรารู้สึกว่าในเมื่อเข้าใจตัวเองแล้วเราลองขยับไปเข้าใจกลุ่มคนที่มีพื้นที่ในการส่งเสียงน้อยกว่าคนในเมืองกว่าเราดูไหม หรือกลุ่มคนที่เรารู้สึกว่าเค้าเป็นคนชายขอบ เป็นคนที่ต้องการความช่วยเหลือ มันคือภาพแบบนั้นจริงๆ รึเปล่า

เราลองเปิดพื้นที่ให้เด็กได้ทำความเข้าใจคนที่มีความหลากหลาย เป็นชนชาติพันธุ์หรือมีความคิดที่แตกต่างกับเรามากขึ้น เพื่อที่จะเป็นวัตถุดิบในการนำมาผลิตงานศิลปะให้มากขึ้น แล้วก็จะสามารถทำให้คนได้เข้าใจความหลากหลายของมนุษย์มากขึ้น ซึ่งมันเป็น theme หลักๆ ของโครงการ Human ร้าย Human wrong ปีนี้ 

มีคำถามเกิดขึ้นกับเด็กในโครงการหลายคำถามเหมือนกันกับภาพก่อนที่จะเข้าไปในพื้นที่และหลังเข้าไปเจอจริงๆ เราไปในพื้นที่ของหมู่บ้านหนองเต่าซึ่งเป็นหมู่บ้านปกาเกอะญอ เขาก็รู้สึกว่าภาพที่เขารู้จักคือภาพของชนบท ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง น้ำประปา สาธารณูปโภคต่างๆ เข้าไม่ถึง ซึ่งพอไปเห็นจริงๆ มันต่างจากนั้นมาก 

ตัว Project นี้ เด็กทุกคนไม่ได้มาจากเด็กที่เรียนศิลปะ เขาก็จะพยายามหาเครื่องมือต่างๆ ที่เขาพอจะทำงานเป็นงานศิลปะได้ ทั้งงานวีดีโอ งานละคร งาน Installation Art ค่อยๆ ทำความคุ้นเคย หรือนำเอาวัตถุดิบต่างๆ จากที่ค้นคว้ามาทำเป็นงานศิลปะ เพื่อสื่อสารกับคนภายนอกให้มากยิ่งขึ้น แล้วเขาก็ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานศิลปะไปด้วยในตัว เราตั้งโจทย์ว่าทุกอย่างที่คุณสื่อสารมันสามารถเป็นงานศิลปะได้ คุณอย่าไปกลัวเส้นแบ่งว่าอันไหนคือศิลปินอันไหนคือคนธรรมดาทำงาน เราเลยพยายามจะทำลายกรอบตรงนี้ให้มากขึ้น ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของงานศิลปะและผลิตงานศิลปะได้เหมือนกัน

นลธวัช มะชัย :

เป็นข้อค้นพบจากที่ทำงานมา 3 ปีเต็ม น่าสนใจมากครับ 

ผมขอขยับมาทางฝั่งพี่กอล์ฟบ้าง คุณธนุพล ยินดี หัวหน้าโครงการนักการสื่อสารการละคร Act Up : Chiangmai Transformative Theatre Project  มูลนิธิสื่อชาวบ้าน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อกลุ่มมะขามป้อม คนสำคัญในการประสานและเชื่อมกลุ่มละครทั้งหมดในวันนี้ มาเจอแล้วสร้างเทศกาลละครด้วยกัน

เมื่อวานผมเห็นเฮียก๋วยโพสต์สเตตัสบอกว่าพี่กอล์ฟจากเป็นเด็กค่ายละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เวลาผ่านไป ตอนนี้กลายเป็นผู้จัดเทศกาลละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง 

10 ปีแล้วนะครับ ผมเลยไม่ได้อยากถามแค่ในตัวงานของ  Act Up แต่ขอถามกลับไปตั้งแต่พี่กอล์ฟเข้ามาทำงานเป็นอาสาสมัครมะขามป้อม มันพัฒนาหรือมันเจออะไรมาบ้างจนกว่าจะมาถึงการเป็น Producer งานในวันนี้ครับ ทั้งข้อค้นพบและกระบวนการที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันกับคนรุ่นใหม่ยังไง ?

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

ธนุพล ยินดี :

จริงๆ ก็รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันก็เล่าได้ทั้งหมดนะว่าการที่เป็น “ผู้ใหญ่”  ไม่ใช่หมายถึงแค่ Sponsors  แต่หมายถึงผู้ใหญ่จริงๆ คนที่มีประสบการณ์ คนที่มีความรู้ คนที่ผ่านโลกมาก่อน เขาไม่ลืมคนรุ่นใหม่นะ มันมีความสำคัญมาก มันเปลี่ยนชีวิตเรามากๆ คือถ้าวันหนึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้วทีมพี่ก๋วย ทีมมะขามป้อม ไม่ทำโครงการเหล่านั้นก็คงจะไม่มีผมที่มานั่งทำโครงการเหล่านี้ด้วย และผมก็คงจะไม่สามารถมาเจอคนอีกพันกว่าคนในชียงใหม่แล้วก็ไปสร้าง Impact อย่างน้อยก็ให้เขารู้ว่ามันเกิดอะไรบ้างในเชียงใหม่ มันจำเป็นมากที่ต้องการเห็นภาพแบบนี้บ่อยๆ 

แต่ผมคิดว่าระหว่างทาง 10 ปี ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเรามันมีเงื่อนไขทางสังคมเยอะแยะมากมาย อาจยากที่คนทำงานด้านศิลปะจะเติบโตได้อย่างที่เขาตั้งใจ ผมคิดว่าในบทเรียนของ 10 ปีที่ผ่านมาผมเห็นข้อนี้ชัดที่สุดว่า ถ้าภาครัฐเข้ามามีส่วนจริงๆ ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของชาติ มันจะขยับไปได้เยอะมาก ซึ่งโชคดีที่งานนี้ได้กองทุนมาช่วยทำให้ก้าวสำคัญของเชียงใหม่ขึ้นเป็นก้าวประวัติศาสตร์ที่จะทำยังไงให้เรารู้ว่า เรามีฝันนะ แล้วเขาก็พร้อมที่จะสนับสนุน ผมรู้สึกว่านี่มันกระทบกับใจเรามาก

ข้อค้นพบแรกก็คือ จะทำงาน Art อย่ากลัวเรื่องการจัดการ แล้วคนทำการจัดการก็ต้องเรียนรู้เรื่อง Art ด้วย มันต้องทำงานไปด้วยกัน จึงจะมีประสิทธิภาพ

นลธวัช มะชัย :

น่าสนใจครับ คนละครที่นั่งอยู่ในนี้หลายคนคงเข้าใจดี

ถ้าอย่างนั้นผมเอาข้อค้นพบนี้กลับมาถามอาจารย์แววดาวในฐานะของคนที่เป็นศิลปินมาก่อน แล้ววันหนึ่งก็จับพลัดจับผลูยังไงไม่รู้ กระโดดมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ขอถามอาจารย์แววดาว ศิริสุข อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปะการดนตรีและการแสดง ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เวลาเราเห็นอาจารย์มหาวิทยาลัยทำงานก็จะทำงานกับนักศึกษาในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย แต่ว่าของอาจารย์แววดาวไม่ว่างานไหนก็จะพานักศึกษาลงไปลุยงาน จากศิลปินขยับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย สอนหนังสือ ทำงานจัดการ สร้างงานละครแล้วเกิดมาเป็นกลุ่มละคร Sirisook Dance Theatre ให้นักศึกษาของตัวเองที่จบไปแล้วหรือที่กำลังจะจบได้เข้ามาใช้พื้นที่ของกลุ่มละครทำงาน ที่ผ่านมาอาจารย์สร้างสมดุลยังไงในการทำงาน ทั้งการทำงานศิลปะและการจัดการไปพร้อมกัน แล้วค้นพบอะไรบ้าง ?

กระบวนการพวกนี้เกิดจากการเรียนรู้กันในห้องเรียนหรือเกิดจากการเรียนรู้ข้างนอกห้องเรียน มากน้อยกว่ากันแค่ไหนยังไง ? 

อ.แววดาว ศิริสุข :

ค้นพบว่า ข้อหนึ่ง การทำงานกับเด็กๆ ทำให้ Energy เราดีขึ้น หมายถึงว่าการทำงานกับเด็กทำให้เราเด็กลงไปด้วย เพราะฉะนั้นทำงานกับเด็กบ่อยๆ นะคะ ทำให้เรารู้สึกว่าพอมี Energy แล้ว เขามีอะไรที่จะให้กลับมากับเราอีกเยอะแยะ เขาเป็นคนที่ให้แรงบันดาลใจกับเราเยอะมาก

เรื่องของการจัดการ ไม่ห่วง เพราะว่าตัวเองก็จัดการตัวเองมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาแล้ว คือรับงานแสดง รับไปแสดงที่อื่นตั้งนานมาแล้ว เพราะฉะนั้นการจัดการของเรา เรารู้ว่าเราจะต้องทำอะไรบ้าง 

แต่เวลาการไปจัดการคนอื่นใหม่ๆ จะมีปัญหา คือความไม่ไว้วางใจคนอื่น ความไม่ยอมวางงานให้ใครเลย จะทำคนเดียวทั้งหมด แต่พอหลังๆ มาเรารู้แล้วว่าคนนี้มีศักยภาพทำอะไรได้บ้าง เราต้องไว้ใจเขา เมื่อมอบหมายงานให้แล้วเขาจะไปจัดการได้ อาจจะไม่ใช่แบบที่เราต้องการ แต่ว่าเขาจะมีวิธีการจัดการของเขาให้มันออกมาได้ในแบบที่เขาคิดว่าเรารับได้ ทำให้เราปล่อยวางขึ้นเยอะ

จากเมื่อก่อนที่ไม่ยอมปล่อยวางอะไรเลย เกิดอะไรผิดเล็กๆ น้อยๆ เด็กจะรู้เลยว่าเราเริ่มชักสีหน้าแล้ว จะไม่งามแล้ว เครียดทันที ทุกอย่างจะแสดงออกทางสีหน้า เขารู้ว่าเราไม่พอใจ 

ตอนนี้ คนนี้มาไม่ทันก็ไม่เป็นไรเดี๋ยวมันก็ต้องไปตามครรลองของมัน หรือกระจกแตก กระจกดีๆ ไหลลงมาแตก ขาดไปหนึ่งอันเหลือสี่อันก็ไม่เป็นไร ทุกอย่างมันยังรันต่อไปได้ถ้าเรารู้ว่าจริงๆ แล้วเราต้องการที่จะทำอะไร ผลงานที่ออกมาเราต้องการอยากให้มันออกมาเป็นยังไง

ทุกวันนี้ที่สอนเอาทฤษฎีหรือว่าประสบการณ์ที่เรามีมาสอนแค่ครึ่งเดียว แค่ 50 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 50 เปอร์เซ็นต์ เขาจะเป็นคนบอกเราเองว่าเราจะต้องสอนอะไรเขา เพราะว่านักศึกษาแต่ละคน Nature ไม่เหมือนกันเลย ในห้องเรียนเราจะเป็นคนพบว่า เขาถนัดแบบนี้ เขาไม่ถนัดแบบนั้น แล้วเราก็จะปรับตัวเองหรือว่าปรับลักษณะการสอนหลายๆ อย่างให้เข้ากับเขา โดยที่เราเองจริงๆ ก็เรียนรู้จากเขา 

เราจะเห็นได้ว่าบางครั้งของบางอย่างเราคิดว่าเราล้ำแล้ว เราคิดว่าเราไปข้างหน้าเยอะแล้ว เราคิดว่ามันไม่ปลอดภัย มันไม่ปลอดภัยก็คือมันข้ามจุดของ Safe zone ไปแล้ว บางครั้งที่เราทำ เรารู้สึกว่าเขาจะต้องรับไม่ได้ หรือเขาจะต้องไม่รู้สึกสบายใจกับตรงนั้น ปรากฏว่าไม่ใช่นะคะ บางทีเห็นเขาผลิตงานของเขาออกมาเอง เขาไปได้ไกลกว่าเราอีก และเขาพร้อมที่จะทำอะไรใหม่ๆ มากกว่าที่เราคิดเยอะ มันก็ทำให้เรารู้ว่า ถึงแม้ว่าเราจะคิดว่าเราเป็นคนรุ่นใหม่ขนาดไหน มันมีคนรุ่นใหม่กว่ามาอีกเสมอ 

เพราะฉะนั้นเราก็ต้องปรับทัศนคติของเราให้เข้ากับตรงนั้น แล้วเปิดใจยอมรับในสิ่งที่เขาพร้อมจะให้เราด้วย อันนี้สำคัญ แต่ยังไงก็ตามวิธีการสอนแบบเก่ามันก็ยังต้องมีอยู่ไม่ใช่ว่าทุกอย่างปล่อยไปหมด

การเรียนรู้ประมาณ 60 – 40 เปอร์เซ็นต์ค่ะ ในห้องเรียนประมาณ 60 การออกมาข้างนอกเราจะมีทีมที่เอานักศึกษามาแสดงข้างนอกบ่อยๆ ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ 

จริงๆ เราแทบแยกไม่ออกว่าอันไหนในห้องเรียน อันไหนข้างนอก เพราะว่าทุกวันนี้ในห้องเรียนเราก็นั่งกินข้าวเช้าด้วยกัน Update กันไปว่าเกิดอะไรขึ้น อันไหนดีอันไหนไม่ดีจะปรับปรุงยังไง เลยไปถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น พ่อแม่ใครไม่สบาย คนนี้เลิกกับใคร คือเราแทบจะคุยกันได้ทุกเรื่อง เลยไม่ได้เรียกว่าเป็นห้องเรียนอีกต่อไปแล้ว เราทำงานร่วมกัน เรียกอย่างนั้นดีกว่า

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

อาจารย์ของอาจารย์อีกที คืออาจารย์วิถี พานิชพันธ์  แกเป็นคนที่มองหรือคิดไปข้างหน้ามาตั้งนานแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาที่สอน แกไม่เคยสอนเราว่าเราจะต้องฟ้อนยังไง เราจะต้องใส่ชุดอะไร แต่แกจะสอนว่าคุณอยากจะฟ้อนแบบไหน แล้วคุณอยากจะให้คนเห็นคุณแบบไหน เพราะฉะนั้นอาจารย์วิถีสอนให้เราคิดเอง ไม่มาคิดให้ เราก็เลยนำเอาแนวคิดตรงนั้นมาถ่ายทอดต่อ แต่ต้องไปถามลูกศิษย์เราเองนะ ว่าเขาคิดอย่างนั้นหรือเปล่า (หัวเราะ) 

ที่สำคัญที่สุดก็คือเราต้องรักกัน เพราะบางทีมันเกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้แหละ ถ้าเราได้กอดกันมันก็จบแล้วเรื่องที่มันเกิดขึ้นไม่ดีกับเรามันก็จะค่อยๆ จางหายไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระหว่างเรากับเขาหรือว่าเรื่องระหว่างเขากับคนอื่น

นลธวัช มะชัย :

ขอบคุณครับ

เราต้องได้กอดกันนะครับ ขอบคุณอาจารย์แววดาวมากครับ

ทีนี้ขยับอีกนิดมาถามอาจารย์คำรณ คุณะดิลก บ้างครับ ในฐานะผู้ก่อตั้งคณะละครพระจันทร์เสี้ยวการละคร อดีตอาจารย์ผู้สอนศิลปะการแสดง คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเมื่อไม่นานมานี้เพิ่งจัดงานครบ 6 รอบไป กาลเวลาก็ผ่านล่วงเลยมา เห็นการเปลี่ยนแปลงใน Generation  และในวงการศิลปะการละครตั้งแต่ยุคแรกๆ และเห็นกระบวนการผลิตนักการละครเรื่อยมา เจอการเปลี่ยนแปลงในวงการละครหลายระลอก อาจารย์เห็นหรือเจอข้อค้นพบอย่างไรบ้าง ?

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

อ.คำรณ คุณะดิลก :

ผมจับละครมาตั้งแต่แรก ละครในสถานการณ์ที่มันผันแปร ผ่านสงครามมา 3 แบบชัดๆ ละครแรกๆ ก็เป็นการต่อสู้ เรื่องแรกทำที่เชียงใหม่ไปค้นคว้าปัญหาความยากจนของชาวนาภาคเหนือ ไปอยู่กับชาวบ้านเลย แล้วก็เอากลับมาทำเป็นละคร ก่อนที่จะเป็น 14 ตุลา 

หลังจาก 14 ตุลา มันก็พัฒนาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งใกล้ๆ 6 ตุลา เริ่มรู้ว่ามีแนวโน้มจะรัฐประหาร หรืออาจจะรุนแรง เราพยายามลงมาหาแนวร่วมชนชั้นกลาง คนในเมืองอธิบายว่ากระบวนการนักศึกษาที่เขาทำแบบนี้ ทำเพื่ออะไรยังไง เลยออกมาเป็นรูปแบบละครเรื่อง ก่อนอรุณรุ่ง แต่ก็ไม่ทัน มี 6 ตุลาฯ เกิดขึ้น 

คณะละครเราเป็นคณะที่อยู่ในสถานการณ์สู้รบตลอด ก่อน 6 ตุลา เราออกไปแสดงตามชนบทต่างๆเคียงคู่กับคาราวาน ไปแสดงที่พิษณุโลกก็โดนปืนกลใส่ ต้องโดดหมอบกัน ไปแสดงที่โรงงานก็โดนปาระเบิด แต่ไม่ลงตรงเวที ไปลงตรงคนดูตาย เราหนีรอดมาได้ 

6 ตุลาฯ คณะละครกำลังแสดงอยู่ กำลังทำขวัญนาคถนอมอยู่บนเวที ก็โดนยิง m79 เข้ามา แล้วก็โดนจับไปครึ่งหนึ่ง 

นั่นคือยุคสมัยที่ต้องทำงานแบบนั้น ต่อสู้ขึ้นมาเรื่อยๆ  แล้วเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ในส่วนของการทำละครสมัยก่อน ช่วงแรกเราลงไปทำแทนเขา ไปรีเสิร์ชออกมา แล้วเราก็มีงานแสดง จนกระทั่งพัฒนาขึ้นมา ในช่วงยุคหลังๆ ที่เริ่มพยายามลงไปทำงานกับชุมชนแล้วให้เขาเป็นคนเล่าเรื่องเอง เราไปสนับสนุนเป็นพี่เลี้ยงด้านเทคนิค ด้านเครื่องมือ เพราะเราถือว่าใครที่เป็นคนเล่าเรื่อง คนนั้นเขาจะมีอำนาจของเขาเอง 

พอในยุคนี้ก็เป็นการต่อสู้อีกหลากรูปแบบ แต่อยากจะฝากไว้นิดหนึ่งก็คือ สิ่งที่เราต้องยึดถือในการทำงานคือ  

1) ประชาธิปไตย 

2) มี Participation หรือกระบวนการมีส่วนร่วม 

3) ไม่ใช่แค่ผลงานที่ออกมา แต่เป็นการกระตุ้นให้ชุมชนตระหนักในศักยภาพของเขาที่จะสามารถทำได้ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะหรืองานอะไรก็ตาม 

คำว่าประชาธิปไตยโดยมากเราใช้กันแค่ 2 ขา คือขาของเสรีภาพ อีกขาหนึ่งเสมอภาค โดยขาที่สามคือภราดรภาพไม่ค่อยพูดถึง เหมือนอาจารย์แววดาวบอกว่าทำงานกับนักศึกษา ทำงานกับคนรุ่นใหม่ให้มีความรักก่อน ถ้าเกิดราไม่เริ่มต้นด้วยความรัก เราเริ่มต้นด้วย Hate speech ต่างๆ มันก็ไปไหนไม่ได้ 

ถ้าเกิดเรามีความรักจริงๆ เวลาที่เราทำละคร เราต้องรักความเป็นมนุษย์  เราต้องเคารพในความเป็นมนุษย์ก่อน เวลาเราทำเรื่องของความเป็นมนุษย์ แน่นอนมันต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง ในสมัยก่อนนั้นก็คือต่อต้านทั้งเผด็จการทางฝ่ายขวา และเผด็จการทางฝ่ายซ้าย 

ทีนี้ก็อยากจะเตือนพวกรุ่นหนุ่มสาวตอนนี้ เห็นมีการสร้างงาน เห็นมีออกแสดง ระวังนิดหนึ่งนะครับ เราหาทุนมาเพื่อสร้างงาน อย่าสร้างงานเพื่อไปหาทุน ไม่ใช่ว่าตรงนี้มาทำเรื่องปลอดภัยและสร้างสรรค์ เราก็สร้างงานปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อจะได้ทุน แต่งานต้องไปทำให้เขาเข้าใจว่างานของเรามันเกี่ยวยังไง 

สมัยนี้เราก็พูดถึงเรื่องทุนต่างๆ  รัฐไม่มีให้โดยตรง ค่าผ่านประตูก็ใช้ไม่ได้ มันเลยลำบากในการหาทุน พระจันทร์เสี้ยวไม่เคยรับทุน เราทำงานแบบที่เราอยากจะทำ ถ้าไม่งั้นก็ไปขายก๋วยเตี๋ยว ไปขายน้ำเต้าหู้ แต่ถ้าจะทำงานละครเราจะไม่ persecute ตัวเรา งานละครเราก็ทำอย่างที่เราอยากจะทำ 

อย่าคิดว่าละครเป็นแค่เครื่องมือ ในตัวของศิลปะการละครถ้าเราจะทำงานละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อสาธารณสุข เพื่ออะไรก็ตาม อย่าเพียงแค่ขโมยเครื่องมือแล้วก็ไปทำ ต้องศึกษาเครื่องมือนั้นให้ดี เพราะในเครื่องมือของศิลปะการละครมันจะเป็นเครื่องมือที่จะทำงานพัฒนาภายในของเราได้มาก 

ยุคสมัยนี้ที่ต้องเผชิญหน้า เราถูกผลักเข้าไปสู่สังคม Digital ต่างๆ ทั้งหลาย ไทยแลนด์ 4.0 ในขณะที่องค์กรทุนทั้งหลายก็เริ่มประกาศว่าเวลาเรามองปัญหาอะไรให้มองเป็นองค์รวมอย่าแยกส่วน ทีนี้องค์รวมของเขาคืออะไร? สสส. สุขภาวะ องค์รวมสุขภาวะคืออะไร หรือว่าเรามองปัญหาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องสิทธิเสรีภาพ องค์รวมของปัญหามันคืออะไร 

พวกนี้เขาเป็นคนประกาศเองนะครับว่าองค์รวมของเขา หมายถึงมิติทางกายภาพ  (Physical Dimension) มิติทางด้านจิตวิทยา (Psychological Dimension) และ อันที่สามคือ มิติทางด้านจิตวิญญาณ ซึ่งถ้าคุณขอทุนและขอทำงานทางด้านมิติทางด้านจิตวิญญาณ ก็น่าห่วง เพราะมันวัดไม่ได้ จะวิจัยเชิงคุณภาพก็ไม่ใช่ วิจัยเชิงปริมาณก็ไม่ใช่ แต่หมายความว่ามิติทางด้านจิตวิญญาณ มันมีอาชีพของเราอาชีพเดียวที่ใช้คำว่ามิติทางด้านจิตวิญญาณอย่างตรงไปตรงมา 

มิติทางด้านจิตวิญญาณไม่ใช่เชื่อทางด้านผีสางเทวดา แต่มันหมายถึงว่าเรามีความสัมพันธ์กับสรรพสิ่งและกับสรรพสัตว์ มีความสัมพันธ์กัน เป็นหนึ่งเดียวกัน เวลาเราพูดถึงนิทานเรื่องเทพารักษ์กับคนตัดไม้ เราจะไม่พูดถึงว่าแค่เทพารักษ์มีจริงหรือไม่จริง แต่ถ้าเกิดเราอยู่ในชุดความคิดอย่างนี้เราจะตัดไม้อยู่ไหม เราจะโยนขยะลงแม่น้ำลำคลองไหม เพราะฉะนั้นการผูกทางด้านจิตวิญญาณไม่มีใครจะมาช่วยแก้ได้ พระก็แก้ไม่ได้ มีแต่ศิลปะการละครที่ยึดกับคำว่าอนัตตาและอนิจจัง กายเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา และเราสัมพันธ์ เราเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้องกับต้นไม้ นั่นคือเรา 

อีกอันหนึ่งคือต้องพยายามต่อสู้สุนทรียภาพ ตอนนี้มันถูกรวบไว้เป็นศูนย์กลาง สุนทรียะมันจะมีอยู่เพียงแค่มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือแค่ในวิชาที่สอน Painting สอนอะไรต่างๆ ชาวบ้านไม่มีสุนทรียะเหรอ?

เพราะฉะนั้นควรคืนศิลปะ คืนสุนทรียะให้แก่ชุมชน ละครก็เหมือนกัน คือการคืนศิลปะการละครซึ่งเป็นภาษาแรกของมนุษย์ ในระหว่างที่เป็นภาษากาย เล่าเพื่อเกิดความเข้าใจ ในสมัยก่อนทุกคนเป็นทั้งผู้เล่นและผู้ชม แล้วต่อมาศิลปะการละครก็เหมือนศิลปะอื่นๆ ใครมีอำนาจในสังคม เป็นพวกพ่อมดหมอผีก็เอาไปใช้ พวกคริสต์ศาสนาก็เอาไปใช้เป็นพิธีกรรมทางคริสต์ศาสนา พอมาถึงทุนนิยม ทุนนิยมก็เอาไปใช้ในการสร้างกำไร ทำละคร ทำโทรทัศน์ มันน่าสนใจ 

ฉะนั้นงานอีกอย่างของเราคือการคืนศิลปะการละครให้ชุมชมเพื่อสื่อสารกันและทำความเข้าใจกัน

นลธวัช มะชัย :

ขอบคุณครับอาจารย์ 

อาจารย์คำรณไล่มาตั้งแต่ Timeline วงการละครคร่าวๆ แล้วก็ให้ข้อแนะนำไว้ประมาณ 3 ข้อใหญ่ๆ ซึ่งข้อแรกคือว่าเราหาทุนมาสร้างงาน ต้องตอบให้ได้ว่าเราหาทุนมาสร้างงานหรือสร้างงานเพื่อจะให้ได้รับทุน สองคืออย่าคิดว่าศิลปะการละครเป็นแค่เครื่องมือ แต่ให้เราทำความเข้าใจลงไปให้ลึกมากกว่านั้น ซึ่งก็สัมพันธ์กันกับที่พวกเรากำลังคุยกันถึงเรื่องของการใช้กระบวนการละครหรือกระบวนการทางศิลปะอื่นๆ อย่างที่พี่บัวทำงานกันอยู่กับทุกคนตอนนี้ 

ผมขอถามต่อไปถึงอาจารย์สมเกียรตินะครับ ซึ่งอาจารย์ก็ดูแลกองทุนพัฒนาสื่อฯ ในฐานะแหล่งทุนของงานวันนี้ด้วย ผู้ช่วยศาสตรจารย์สมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ ฝ่ายพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำหรับเด็กและเยาวชน กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

เมื่อสักครู่เราพูดถึงเรื่องการจัดการ ได้ข้อสรุปมาข้อหนึ่งที่น่าสนใจว่าคนทำละครต้องทำความเข้าใจการจัดการ คนทำการจัดการต้องเข้าใจศิลปะการละครด้วย อาจารย์แววดาวที่ใช้กระบวนการจัดการการละครในสถาบันการศึกษา อาจารย์คำรณขมวดให้เห็นว่าสภาวะเหล่านั้น ไม่ใช่เกิดแค่ตอนนี้ แต่มันเกิดมาตั้งนานแล้ว ยิ่งอยู่ในยุคทุนนิยมด้วย ก็เลยทิ้งข้อเสนอประเด็นทำงานหาทุนมาสร้างงานหรือสร้างงานให้ทุน 

เพราะฉะนั้นขอถามอาจารย์สมเกียรติ ในแง่ของนโยบายด้านศิลปะการละคร หรือภาพตามนโยบายของรัฐ จะทำยังไงดีกับข้อค้นพบจากสี่ท่านที่ผ่านมา หรือจริงๆ แล้ววิธีคิดของทางฝั่งรัฐ เจอข้อค้นพบแบบไหนที่เรายังไม่ได้คุยกันและนำไปสู่การทำงานของคนรุ่นใหม่ครับ เรียนเชิญครับอาจารย์

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ :

สวัสดีครับ  เมื่อสิบปีที่แล้วผมมีโอกาสได้ศึกษาข้อมูลชุดหนึ่งอย่างละเอียดเลย คือเกิดอะไรขึ้น ทำไมวัฒนธรรมแบบเกาหลีถึงกลืนโลกไปเกือบครึ่งโลก พูดง่ายๆ ว่าเอเชียทั้งหมดเป็นกลิ่นนั้นหมดเลย แต่ก่อนหน้านั้นผมค้นพบว่าตัวผมโตมากับการเป็นผู้นำเข้าทางวัฒนธรรม มีสองกระแสหลักที่ส่งออกวัฒนธรรม

อันที่หนึ่งก็คือจากสหรัฐอเมริกาส่งออกวัฒนธรรม Pop หรือ วัฒนธรรม Fast food เขาทำให้คนทั้งโลกรวมทั้งผมด้วยจะต้องใส่เสื้อยืด เพราะเสื้อยืดมันแปลว่าอะไรง่ายๆ คือเราไม่ได้ใส่เสื้อยืดนะ แต่มันคือความรู้สึกว่าเรากำลังสวมใส่อะไรง่ายๆ 

อีกฟากหนึ่งผมก็โตมากับวัฒนธรรมแบบมังงะของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นนักเล่าเรื่อง การ์ตูนยุค Generation ของผมก็โตมากับวัฒนธรรมการเล่าเรื่องแบบภาพ โดเรม่อน อาลาเร่ มดเอ็กซ์ อะไรแบบนี้ แต่สิ่งที่ญี่ปุ่นพิเศษไปกว่านั้นคือเขาไม่ได้ส่งในเชิงของบันเทิงสร้างสรรค์ ญี่ปุ่นส่งออกวัฒนธรรมที่แข็งแรงมากคือวัฒนธรรมมังงะ 

ผมขอเท้าความในฐานะที่เป็นนักเรียนทางวัฒนธรรม ผมรู้สึกว่าผมไม่ได้เป็นเหยื่อของวัฒนธรรมแบบ Hollywood และก็วัฒนธรรมแบบมังงะของญี่ปุ่น แต่อยู่มาวันหนึ่งเกิดอะไรขึ้น ทำไมแชมป์เก่าสองประเทศนี้ถึงถูกเกาหลีล้มไป สร้างวัฒนธรรม K-Pop ทำให้พวกเรากลายเป็นติ่งไปหมดเลย มันเกิดอะไรขึ้น เกาหลีมีอะไรดี เมื่อตอนปี 2490  ประเทศไทยยังต้องส่งทหารไปช่วยอยู่เลย ยังเป็นประเทศยากจนอยู่ ช่วงปี 2500 ต้นๆ จนถึงปี 2530 เขายังเดินทางมาดูงานประเทศไทยอยู่เลย 

ผมค้นพบข้อหนึ่งจากการเข้าไปศึกษาเรื่องของเกาหลีในช่วง 10-12  ปีที่แล้ว พบว่าเขามีนโยบายจากรัฐสนับสนุน ยกตัวอย่าง ถ้าจำซีรีย์แดจังกึมได้ เราชอบอาหารเกาหลีกันจากหนังเรื่องนั้นใช่ไหมครับ ถึงขั้นไปเที่ยวเกาะนามิกัน แล้วก็พบว่าเกาะนี้ไม่มีอะไรเลย มีแค่ต้นไม้ แต่ประเด็นคือเราไปยืนอยู่ตรงที่เป็นแนวสนของต้นไม้นั้นแล้วก็ถ่ายรูปกลับมา เรานั่งเรือข้ามไปตั้งนานเพื่อถ่ายรูปๆ เดียว 

หนัง วงดนตรี ซีรีส์ เกิดจากกลยุทธ์ที่ภาครัฐให้งบประมาณไป แดจังกึมไม่สามารถสร้างด้วยทุนเอกชนได้เพราะละเอียดอ่อนลึกซึ้ง แล้วต้องใช้ทุนมหาศาลโดยที่ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนด้วย 

ย้อนกลับมาที่พูดถึงอเมริกา พูดถึงญี่ปุ่น แล้วเมืองไทยล่ะ เกิดอะไรขึ้น ผมโตมากับยุคสมัยที่มันมีคำหนึ่งครับ คำว่า ศิลปะเพื่อชีวิต หมายความว่าถ้าคุณทำงานศิลปะคุณต้องรับใช้ประชาชน เราจึงได้ยินคำว่าวรรณกรรมเพื่อชีวิต ดนตรีเพื่อชีวิต ละครเพื่อชีวิต มันมีการชกต่อยทางความคิด เนื่องจากมีอีกกระแสหนึ่งประท้วง เขาบอกว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องรับใช้ประชาชน ศิลปะจำเป็นต้องรับใช้ศิลปะ เหมือนที่อาจารย์คำรณพูด เวลาที่คิดโจทย์อย่าไปคิดว่าทุนเขาสนใจเรื่องนี้แล้วก็เสนอโครงการเพื่อหาทุน อันนี้เหมือนกันเลยเขามองในมุมว่า ถ้าจะสร้างงานศิลปะจะต้องเกิดจากความงามของความอยากทำตรงนั้น ไม่ใช่คิดว่าศิลปะจะต้องสร้างมาแล้วต้องเชิดชูอุดมการณ์ในลักษณะแบบสังคมนิยมล้วน ผมก็รู้สึกว่าผมโชคดีที่ผมโตมากับตรงช่วงนั้นพอดี 

ผมไม่ได้เรียนละครนะครับ แต่สนใจด้านนี้มาก พระจันทร์เสี้ยว มรดกใหม่ มะขามป้อม สองแปด ผมคิดว่าชื่อกลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มปู่ย่าตายายของพวกเราที่กำลังนั่งในงานกันอยู่วันนี้ มาดูลักษณะพวกนี้เราก็เห็นอย่างหนึ่งว่าทุกคนเกิดจากการงอกงามและการดิ้นรนกันเอง เสียสละชีวิต เอาเลือดเนื้อ เอาชีวิตจิตวิญญาณลงมาทำ 

วันนี้เผอิญผมมานั่งอยู่ตรงนี้เรียกว่ามาในฐานะกองเชียร์ คำว่ากองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์คือชื่อชัดเจน หมายถึงว่า วันนี้ท่ามกลางสังคมที่ใครๆ ก็สร้างเนื้อหาออกมาได้ มันมีเนื้อหาบวก เนื้อหาลบ เนื้อหาสีขาว เนื้อหาสีดำ แต่เรามีความรู้สึกว่าโดยปรัชญาของกองทุนวันนี้เนื้อหาสีดำมันสร้างง่ายมากเลย แต่เนื้อหาสีขาวมันน้อยไปหน่อย

ผมจะพูดว่าอย่าคิดว่ากองทุนสนับสนุน กองทุนคืออะไรครับ กองทุนคือการเอาเงินภาษีแบ่งสันปันส่วนมาทำงานด้านนี้ กองทุนคือภาษี เพราะฉะนั้นพวกเราไม่ต้องกังวลเลย พวกเราที่นั่งอยู่ตรงนี้ คนที่ทำงานด้านนี้คือกองทุนไม่ได้สนับสนุนพวกเรา ประชาชนคนอื่นๆ ต่างหากที่มาสนับสนุนพวกเรา 

ผมจะทิ้งท้ายไว้อย่างนี้ครับว่า ถ้าหากโครงการละครนี้ไม่ได้จัดที่เชียงใหม่ อาจจะเป็นดุลยพินิจส่วนตัวนะ ผมเชื่อว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุน ขออนุญาตเทียบเคียงล่าสุด มีโครงการที่นำเสนอเข้ามาปีล่าสุด มีคนเสนอเข้ามา 270 โครงการ ได้รับการสนับสนุน 27 โครงการ  

จาก 270 ได้ทุน 27 โครงการ ก็แปลว่ามีคนอกหัก  243 โครงการ เขาไม่ดี ไม่เก่ง ไม่พิเศษ ตรงไหนหรือ ถึงไม่ได้รับการสนับสนุน อย่างที่ทราบว่ากองทุนเราใช้เงินภาษี มันมีวงเงินงบประมาณอยู่ส่วนหนึ่ง ผมถึงได้บอกว่าถ้าหากมะขามป้อมบอกว่าจะจัดเทศกาลละครกรุงเทพฯ จะไม่ได้รับการสนับสนุน เพราะว่าอะไร กรุงเทพมีเทศกาลละครเยอะแล้ว มีเทศกาลละครที่มีกลุ่มคนเล็กๆ 30-50 กลุ่ม จนถึงเทศกาลละครนานาชาติ คือเรียกง่ายๆ ว่าครบหมดแล้ว กรุงเทพไม่ต้องการการขับเคลื่อนทางด้านจิตวิญญาณแล้ว 

อีกส่วนที่มีความน่าสนใจของกระบวนการก็คือตั้งแต่ตอนตั้งชื่อ ถ้าบอกว่าเป็นเทศกาลละครก็คือเทศกาลละคร ทุกคนจะเห็นภาพว่าเทศกาลละครก็คือมาเยอะๆ ต่างคนต่างซ้อม แล้วมาแสดงบนเวที ไม่ว่าจะเป็นเวทีรูปแบบไหนก็ตาม แต่อันนี้ตั้งชื่อว่า “ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง” มันน่าสนใจตรงนี้ คำว่าเปลี่ยนแปลงคืออะไร พอผมอ่านรายละเอียดโครงการผมทราบว่าอันนี้ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสังคม แต่มันคือการบอกว่าละครคือเครื่องมือในการทำให้สิ่งที่อยู่ภายในเติบโตงอกงามขึ้น 

ผมคิดว่าเวทีวันนี้เป็นปลายทาง แต่ที่ทำมาหกเดือนแปดเดือนตลอดเส้นทางน่าจะทำให้แต่ละกลุ่มละครได้รับความเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาแล้ว ผมอยากจะใช้โอกาสนี้พูดในฐานะที่เป็นกองเชียร์ว่าอยากจะผลักดันงานด้านนี้เพื่อให้สิ่งพวกนั้นงอกงาม 

กองทุนไม่ได้สนับสนุนแบบสะเปะสะปะนะครับ ต้องบอกว่ามีกลยุทธ์สูงเลยล่ะ จะมีกลุ่มงานที่ทำงานสร้างสรรค์เยอะมาก มีภาพยนตร์สั้น ละคร ซีรีย์ การ์ตูน มีเกม มีแอพพลิเคชั่นบนมือถือ เยอะแยะไปหมดเลย แล้วสิ่งที่ครูคำรณพูดบอกว่า พวกนี้มันวัดในเชิงคุณภาพ วัดปริมาณ วัดอะไรไม่ได้ เลยไม่ได้รับความสนใจ เขาเรียกว่ามันเป็นสิ่งที่งอกงาม มันไม่สามารถวัดได้แบบแบบสอบถาม มันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นขอให้สบายใจได้ว่าทำงานสร้างสรรค์ในสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นต่อไปครับ 

นลธวัช มะชัย :

ขอบคุณครับ 

ใครเห็นด้วยเห็นต่างอย่างไร เดี๋ยวเราแลกเปลี่ยนกันต่อนะครับ

พอฟังอาจารย์สมเกียรติพูด ผมเริ่มรู้สึกมีความหวังขึ้นมาบ้างแล้ว คิดว่าอย่างน้อยอาจารย์เข้าใจพวกเราบ้างแล้วนิดนึง 

คำถามต่อไป ผมจะถามทุกท่าน เหลือเวลาอีกแค่นิดเดียวครับ แต่อยากจะชวนคุยกันว่า แล้วยังไงกันต่อดีในอนาคต ใครอยากพูดก่อนดีครับ

อ.คำรณ คุณะดิลก :

ต้องยอมรับว่าเราเห็นงานของกลุ่มคนรุ่นใหม่ เติบโตขึ้นเร็วมากแม้ยังไม่ลงตัวในตัวงานตัวศิลปะ ยังจะต้องฝึกฝนขัดเกลาอีกมาก แต่ก็น่าชื่นชม และไม่ใช่จู่ๆ เราจะสร้างแดจังกึมขึ้นมาได้ โดยที่ถ้าเกิดเรายื่นขอทุนไป ขอทำ Capacity  building ในองค์กร สร้างให้พร้อมเพื่อทำ Workshop ทำเรื่องบท ทำเรื่องอะไรต่ออะไรขึ้นมาเพื่อพัฒนาคนในกลุ่ม

ผมอยากจะเห็นองค์กรทุนลองมองให้การสนับสนุนบ้าง เพราะว่าก่อนที่เราจะทำผลงานอย่างนั้นได้ ในมหาวิทยาลัยก็ไม่พอ ถ้าเกิดเราสามารถ Shopping คนได้แล้วเราสามารถจัดการได้ ยกระดับคนทำงานให้มี Skill ในอาชีพของตัวให้สูงขึ้น หลังจากนั้นมันถึงจะออกไปสู้ได้ ผมว่าตรงนี้สำคัญมาก ถ้าเกิดเราจะเติบโตต่อไปเราต้องหยุดนิดหนึ่งแล้วย้อนกลับ เพราะตอนนี้รู้สึกว่าทุกคนรู้สึกว่าเรามาสิ้นสุดแล้วพวกเราทำงานได้ทันที แล้วก็หยุดพัฒนาตัวเอง อยากฝากไว้ช่วยประคับประคองกันหน่อย ถ้าเกิดเป็นรุ่นผมใช้คำว่า ถอยหลังหนึ่งก้าวเพื่อก้าวไปข้างหน้าสองก้าว 

นลธวัช มะชัย :

น่าสนใจครับอาจารย์

อาจารย์คำรณเสนอว่าการสนับสนุนไม่ใช่แค่ Project แต่ต้องสนับสนุนการเรียนรู้ การสร้างกลุ่มละครหรือคนทำงานด้วย ผมขอถามไปที่ถามอาจารย์สมเกียรติต่อเลยครับ มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน หรือถ้าจะเป็นไปได้ จะเป็นไปได้อย่างไรบ้างหรือเป็นไปไม่ได้เลยครับ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมเกียรติ รุ่งเรืองวิริยะ :

ผมคิดว่าแนวทางของการจัดตั้งกองทุนนี้ เขาออกแบบมาด้านนี้อยู่แล้ว แต่ผมไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าเราจะสนับสนุนอะไรได้

อย่างที่บอกว่าเราก็จะมีเรื่องของภาคีผู้ขอทุน แต่ถ้าในลักษณะนี้ ผมจะบอกว่ามาถูกทางแล้ว แล้วก็อย่าเหนื่อยที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองศรัทธาต่อไป

นลธวัช มะชัย :

ขอบคุณครับ

ถามอาจารย์แววดาวต่อเลย อาจารย์คิด มองเห็นภาพ จินตนาการ หรือมีคำแนะนำอย่างไรถึงการก้าวเดินต่อไปของวงการศิลปะการละครในพื้นที่เชียงใหม่ของเราบ้างครับ

อ.แววดาว ศิริสุข :

อาจจะเห็นแตกต่างนิดหน่อย เพราะว่าเราสร้างตัวตนตัวเองมาแบบไม่เคยคาดหวังว่าจะต้องได้ทุนหรือได้อะไร เราขายอย่างเดียว จริงๆ เราเป็นนักขาย แล้วเรามีลูกค้าก็คือชุมชน ผู้ประกอบการต่างๆ ต้องบอกว่าเราไม่ได้เติบโตมาด้วยหลักละครโดยตรง แต่เติบโตมาจากสายวัฒนธรรม ก็คือวัฒนธรรมล้านนา การฟ้อนรำต่างๆ พอเมื่อประมาณ 20 -30 ปีก่อน คำว่าล้านนามันเริ่มขายได้ แล้วมันขายได้ดีด้วย ทำให้เราจำเป็นต้องขายและเราก็ภูมิใจที่เราจะขายด้วย 

พิธีเปิด Money Expo พิธีเปิดกิจกรรมตรงข่วงท่าแพ ฯลฯ ทุกอย่างใช้การแสดงแบบล้านนาในการเปิด และในการปิด และระหว่างนั้น เราให้นักศึกษาเรียนรู้จากการทำงานจริงๆ ทั้งในรั้วมหาวิทยาลัยและกับชุมชน เขาออกไปข้างนอก ทำงานเขาได้เงินจริงๆ จากค่าจ้างที่เขาไปฟ้อนที่เขาไปรำ มันไม่ได้เป็นการขายอย่างเดียวแต่มันเป็นการสร้างงานให้เขา ได้เรียนรู้ว่าถ้าเขาฟ้อนแบบนี้เขาต้องใส่ซิ่นอะไร ต้องใช้เพลงอะไร เพราะตำรวจทางวัฒนธรรมมีเยอะ เขาต้องเรียนรู้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้ สุดท้ายแล้วมันก็ได้มาซึ่งเม็ดเงิน 

จริงๆ การเป็นช่างฟ้อนมันเป็นห่วงโซ่สุดท้ายของห่วงโซ่อาหารเลย เมื่อก่อนทำงานให้ ททท. เยอะ ททท. มีเงินมาก้อนหนึ่ง ออก Campaign มาว่าจะไป Promote Amazing Thailand กว่าจะมาถึงเราผ่านหลายที่มาก เงินตรงนั้นมันเป็นส่วนน้อยที่สุดที่เขาจะเจียดจะเกลี่ยมาให้จัดกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรม 

แต่เราต้องพยายามที่จะผลักดันออกไปข้างหน้า แล้วคนรุ่นใหม่มันจะต้องเห็นว่ามันขายได้ มันจะต้องเป็นเรื่องที่มันเจ๋งสำหรับเขา เขาฟ้อนรำได้ เขาสามารถที่จะสร้างรายได้จากตรงนั้น มันอาจจะไม่ใช่ทางเดียวที่เป็นการผลักดันทางด้านศิลปะการแสดง แต่มันเป็นทางหนึ่งที่ทำให้เขาสามารถมองเห็นคุณค่าในตัวเองได้

นลธวัช มะชัย :

ขอบคุณมากครับอาจารย์แววดาว 

สองคนสุดท้ายสั้นๆ นะครับ จากพี่บัวก่อน มองงานที่ตัวเองทำแล้วจะขยับออกไปยังไงบ้าง เห็นภาพที่จะเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ยังไงต่อไปครับ

นันท์ณิชา ศรีวุฒิ :

เรามองว่าเด็กสมัยนี้เก่ง แล้วก็โตไวและเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ ในวันพรุ่งนี้เราอาจจะแก่เกินไปแล้วก็ได้ การที่เราเป็นคนประสานงาน เป็น Producer ดูแลภาพรวมของโครงการที่จะพาเด็กได้ใช้เครื่องมือกระบวนการศิลปะสื่อสารประเด็นทางสังคมที่สนใจ เราต้องมองภาพรวมเหมือนเป็นเพื่อนกับเขาที่จะค่อยๆ เรียนรู้ไปด้วยกัน

เขามีความรู้ใหม่เราก็มีความรู้อีกชุดหนึ่งมาแลกเปลี่ยนกัน แล้วค่อยๆ ประคับประคองหรือว่าค่อยๆ ผลิตงานไปร่วมกัน ซึ่งเราไม่ได้มองว่าเป็นเหมือนพี่เลี้ยง เป็นรุ่นพี่หรืออะไรอย่างนี้ 

เรามองว่าเราเป็นเพื่อนกับคนรุ่นใหม่ อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดจากคนรุ่นใหม่จริงๆ แล้วเรามีความใจกว้างพอไหมที่จะเปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการอยากจะพูดอะไรบางอย่าง ให้เขาได้มีพื้นที่

ดังนั้นเราเป็นคนประสานงาน ในฐานะที่มีพื้นที่จะทำให้เขาได้ไปถึงจุดหมายที่เขาต้องการ เรามีหน้าที่และมีศักยภาพพอที่จะผลักดันคนรุ่นใหม่ให้อยู่ในพื้นที่ที่ต้องการสื่อสารได้มากน้อยแค่ไหน มันเป็นโจทย์ของ Producer ผู้ประสานงานหรือคนที่ทำโครงการเกี่ยวกับงานศิลปะ

นลธวัช มะชัย :

เป็นโจทย์ที่น่าสนใจ 

ขอบคุณมากครับพี่บัว 

ถามพี่กอล์ฟปิดท้ายนะครับ เทศกาลเกิดขึ้นแล้ววันนี้ ขยับต่อยังไงดี จาก 10 ปีที่ผ่านมา มอง Act Up ต่อไปยังไงได้บ้างครับ


ธนุพล ยินดี :

คิดว่ายังไม่สามารถตอบได้ เพราะว่าสิ่งที่จะตอบมันคือกระบวนการ เป็นสิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับการทำงานก้าวแรกของ  Act Up รวมไปถึงมันอาจจะเป็นที่ต้องการมากในสังคมไทยรวมถึงสังคมโลกในตอนนี้ก็คือ การฟังกัน  

ที่บอกว่าทำไมตอบไม่ได้ก็เพราะว่าต้องรอ รอวันที่เราได้เสร็จงานนี้ก่อนแล้วประชุมกัน มาสรุปกันอีกทีว่าเครือข่ายรู้สึกยังไง เห็นกันยังไง แล้วจะเอายังไงต่อไปถ้าวันหนึ่งเราต้องช่วยกันจัดการ ถ้าวันหนึ่งเรามาแชร์เป็นเครือข่ายร่วมกันจริงๆ ไม่ใช่แค่มะขามป้อม เขาควรลุกขึ้นมาทำมันเอง จะเป็นยังไง 

รู้สึกว่านี่คือความท้าทายของโครงการที่เราจะเปิดโอกาสยังไงให้เราได้ฟังกันจริงๆ แล้วเราก็จะได้ยินเสียงจริงๆ ไม่ใช่แค่ไปออกแบบกิจกรรมให้เขาทำ นี่คือความท้าทายของเรา รวมไปถึงสังคมด้วยนะ เรารู้สึกว่าสังคมทุกวันนี้ฟังกันน้อย มันเลยทำให้เกิดภาพปัญหาต่างๆ ในทุกวิกฤติ

นลธวัช มะชัย :

ขอบคุณมากครับ

เห็นภาพในการคิดฝันต่อนะครับ อาจารย์คำรณครับจะเอายังไงกับอนาคตครับ

อ.คำรณ คุณะดิลก :

พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าให้อยู่กับปัจจุบัน ซึ่งมีผลมาจากอดีต เพราะฉะนั้นอนาคตอยู่ที่เรา พวกคุณ คนหนุ่มสาว

ผมเขียนบันทึกนี้ย้อนหลัง ขณะเก็บตัวอยู่ในบ้าน เพราะมาตรการปิดเมืองป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาดโควิด 19 หลังจากหมดยุคโควิด คงต้องรื้อกระบวนการกันใหม่ รื้อวิธีคิดกันใหม่หมด โจทย์ใหญ่ของมนุษยชาติ วงการละครก็หนีไม่พ้น หวังว่าเราทุกคนจะได้สนทนาคิดฝันกันต่อนะครับ

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

ภาพ : เพจ Act Up Chiangmai

ผู้เขียน

นลธวัช มะชัย เกิดปี 2539 อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกเริ่มต้นการเดินทางจากเทือกเขาบรรทัด พัทลุง – นครศรีธรรมราช ดั้นด้นมาค้นหาความหมายของชีวิต โดยฝากตัวเป็นลูกศิษย์ อ.คำรณ คุณะดิลก เพื่อฝึกฝนการเขียนและทำละครอยู่ที่เชียงใหม่ในนามกลุ่มลานยิ้มการละคร หลังรัฐประหารเมื่อปี 2557 ได้ไม่กี่วัน จนกลางปี 2560 กลายเป็นผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 หรือที่เรียกกันว่าคดี ‘เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร’ จากการจัดกิจกรรมประชุมวิชาการนานาชาติด้านไทยศึกษา

ก่อนหันหลังให้กับการเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยแล้วหันไปเผชิญหน้ากับความไม่รู้ของตัวเองด้วยการฝึกฝนการทำละครพร้อมกับทำงานอยู่ที่หอประวัติศาสตร์ประชาชนภาคเหนือ เฮือนครูองุ่น มาลิก (สวนอัญญา) มูลนิธิไชยวนา เชียงใหม่ ปัจจุบันออกเดินทางสำรวจตัวเองทั้งภายในและภายนอก ประกอบอาชีพเป็นนักแสดง ผู้กำกับฯ นักเขียนบท คอลัมนิสต์อิสสระ เปิดสตูดิโอชื่อ MA-MA Studio สำหรับให้คนอยากทำงานศิลปะได้มีพื้นที่ใช้ทำงาน

ภาพรวมละครเวทีร่วมสมัยไทยปี 2562

ภาพรวมละครเวทีร่วมสมัยไทยปี 2562 โดย The Showhopper

(เผยแพร่ครั้งแรกใน Facebook Page The Showhopper)

82234247_982265752143827_8809603855449849856_o.jpg

ภาพรวมละครเวทีร่วมสมัยไทยปี 2562 มีละครเวทีทั้งหมด 176 เรื่อง เปิดแสดงไป 974 รอบ ถือว่าเพิ่มขึ้นจากปี2561เป็นเท่าตัว แต่ทั้งนี้ยังไม่รวมละครศิลปนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ส่วนถ้าจะแบ่งหยาบๆ จากจำนวนทั้งหมดคิดเป็นละครพูด 49% ละครเพลง 24% และละครที่ไม่ใช้ภาษาในการสื่อสาร(ทั้งละครใบ้ เต้น เคลื่อนไหว ใช้ร่างกาย ขออนุญาตจัดรวม) 25% และคอนเสิร์ตเพลงละครเวทีอีก 2%
.
จากความรู้สึกดูเหมือนว่าปีที่ผ่านมารูปแบบละครเพลงจะคึกคักทีเดียว แต่จากตัวเลขกลับมีเปอเซ็นต์ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2561 ส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นคือละครที่ไม่ใช้ภาษาในการสื่อสาร จากสัดส่วน 6% ของปีที่แล้ว ปีนี้มีมากถึง 25% และช่วงที่มีละครประเภทนี้จำนวนมากคือช่วงสามเดือนท้ายของปี ที่มีทั้งงาน BIPAM เทศกาลละครกรุงเทพฯ เทศกาลเต้นที่ทุ่งสนามควาย และในปีนี้ยังมีเทศกาลศิลปะ Unfolding Kafka Festival ที่จัดทุกสองปี รวมถึงงานเทศกาลศิลปะในรูปแบบงานไหว้ครูศิลปะการแสดงเป็นครั้งแรก ณ โรงละครช้างอีกด้วย
.
ช่วงเดือนพฤศจิกายน ถือเป็นเดือนที่คึกคักที่สุดก็ว่าได้ ทั้งเทศกาลละครกรุงเทพฯ ละครเวทีนักศึกษา และยังเป็นเดือนที่ค่ายใหญ่สามค่ายรีสเตจละครเวทีพร้อมกันทั้ง ‘แม่นาค เดอะมิวสิคัล’ ของ DreamboxTheatre Bkk ที่กลับมาแสดงที่โรงละครเอ็มเธียเตอร์ในรอบ 10 ปี รวมถึง ‘ชายกลาง เดอะมิวสิคัล’ โดย โต๊ะกลม ก็กลับมารีสเตจอีกครั้งในปีเดียวกันที่ KBank Siam Pic-Ganesha และ ‘สี่แผ่นดิน’ จากรัชดาลัยที่ย้ายไปเล่นกลางแจ้ง ณ ล้ง1919
.
จริงๆ ละครเวทีก็อาจจะมีให้เลือกดูเยอะมานานแล้ว แต่พอเราเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ก็เลยรู้สึกว่ามันมีละครเยอะมากและหลากหลายขึ้น อย่างในปีที่ผ่านมามีละครเวทีร่วมสมัยให้ดูได้ทุกเดือน หาละครดูได้เกือบทุกวัน เฉลี่ยเดือนละ 16 เรื่อง อาจเนื่องด้วยเป็นปีที่น่ายินดี มีการฉลองครบรอบกันมากมาย ตั้งแต่ดรีมบอกซ์ฉลองครบรอบ 33 ปี ด้วยการทำละครเวที 3 เรื่อง เป็นหนึ่งเรื่องใหม่กับสองเรื่องรีสเตจ คณะละคร B-floor ก็ฉลองครบรอบ 20 ปี ด้วยการทำละครเพลง ‘A Midsummer Night’s Dream ฝันกลางสวน’ ที่เปิดแสดงนานเป็นเดือน
.
และในโอกาสครบรอบ 500 ปีสนธิสัญญาการค้าและความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกส ก็ฉลองด้วยการนำละครเวที ‘My Mother’s Kitchen’ โดย NUNi Productions กลับมาแสดงอีกครั้ง และก็ได้รับเสียงตอบรับดีจนต้องเปิดการแสดงซ้ำถึงสองรอบในหนึ่งปีและไปแสดงถึงเชียงใหม่อีกด้วย ทางด้านท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ล้ง1919 เองก็ฉลองครบรอบ 100 ปี ด้วยการนำละครเวที ‘สี่แผ่นดิน’ ของรัชดาลัยมาเปิดการแสดงกลางแจ้งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนทางด้านรัชดาลัยเองก็นำ ‘บัลลังก์เมฆ’ มาเปิดการแสดงใหม่และมีการฉลองที่เรื่องนี้เปิดการแสดงจนถึง 100 รอบ ถือเป็นเรื่องที่สองต่อจากสี่แผ่นดินที่มีการฉลองครบหนึ่งร้อยรอบ มารอดูกันว่าเรื่องไหนจะเป็นเรื่องต่อไป
.
นอกจากบัลลังก์เมฆโรงละครเมืองไทยรัชดาลัยก็ได้ต้อนรับละครเวทีเรื่องยิ่งใหญ่ระดับโลก ‘Disney’s The Lion King’ ที่พอมีข่าวว่าจะมาเปิดการแสดงที่ประเทศไทย มีกระแสตอบรับล้นหลานจนอาจเรียกได้ว่าเป็นข่าวที่ดีที่สุดของปี แต่เมื่อไลอ้อนคิงเดินทางมาถึงจริงๆ ผลตอบรับกลับไม่เป็นไปตามคาด บัตรขายดีเพียงแค่เดือนแรกเท่านั้น ส่วนสองเดือนหลังเฉลี่ยขายไปได้เพียง 60% ถือเป็นสัญญาณไม่ค่อยดี เพราะขนาดเรื่องคลาสสิกสุดยิ่งใหญ่ที่ใครก็คาดว่าต้องขายบัตรได้แน่ๆ ยังขายยากขนาดนี้ หากละครเวทีเรื่องไหนหวังจะเข้ามาเปิดการแสดงที่ประเทศไทยคงต้องทำการบ้านเตรียมการอย่างหนักว่าตอนนี้ผู้ชมสนใจเรื่องอะไรอยู่กันแน่
.
ปี2562 ไม่เพียงมีละครเวทีจากต่างประเทศมาเปิดการแสดงที่ประเทศไทย ในปีนี้มีนักแสดงและคนทำงานชาวไทยมากมายที่ได้ฝากผลงานไว้ในเวทีสากล เริ่มจากผลงานต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 ของไมร่า มณีภัสสร มอลลอย กับบทบาท คิม (Alternate) ใน ‘Miss Saigon’ โปรดักชั่นทัวร์อเมริกาตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 ยาวมาจนถึง 2562 ตลอด 14 เดือน และเซย์ระ โศรยา เพฑูรย์สิทธิชัย ในการรับบท Eliza ในละครเวที ‘The King and I’ โปรดักชั่นทัวร์อเมริกาและแคนาดาที่ต่อเนื่องยาวมาจนถึงปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมี แก้ม กุลกรณ์พัชร์ โพธิ์ทองนาค ที่ก้าวจาก Understudy สู่นักแสดงนำบท ทับทิบ ในโปรดักชั่นทัวร์อังกฤษและญี่ปุ่น ของ ‘The King and I’
.
ไม่เพียงสามนักแสดงสาว แต่ยังมีคนไทยที่ผลักดันละครเวทีให้เกิดในต่างประเทศอยู่อีกทั้ง วิน ดนัยนันท์ กฤดากร และรอย วงศ์ธามา กับผลงานละครเวที ‘The Brothers Paranormal’ ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวงการละครเวทีออฟบรอดเวย์ สหรัฐอเมริกา และทางฝั่งอังกฤษเองก็มีผลงาน ‘White Pearl’ ละครตลกสะท้อนสังคม ผลงานของ Anchuli Felicia King ผู้เขียนบทลูกครึ่งไทยออสเตรเลีย และ Nana Dakin ผู้กำกับลูกครึ่งไทยอเมริกัน รวมถึงข่าวการพัฒนาต่อของ ‘Waterfall’ ละครเวทีที่ได้แรงบันดาลใจจาก ข้างหลังภาพ เปลี่ยนชื่อเป็น ‘Dancers at the Waterfall’ บอย ถกลเกียรติยังคงรับหน้าที่ผู้กำกับ ตัวเรื่องมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้เข้มข้นและทันสมัยขึ้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนพัฒนาเพื่อมุ่งหน้าสู่บรอดเวย์อีกครั้ง
.
ถึงแม้จะมีจำนวนละครเวทีร่วมสมัยในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น แต่ยอดซื้อบัตรของผู้ชมกลับไม่ได้สูงขึ้นตามไปด้วย คณะละครเองต่างก็บ่นกันว่ายอดขายบัตรไม่ดี ทางด้านละครโรงใหญ่เองก็ไม่ดีนัก รวมถึงยอดขายบัตรละครเวทีในช่วงเทศกาลต่างๆ เองด้วย เห็นจะมีเพียง Blind Experience เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย ที่ขายบัตรหมด Sold out ไปได้ทุกรอบ ทั้งรอบที่เปิดแสดงที่ลิโด้ คอนเนค และสามย่านมิตรทาวน์ จนเกิดเป็นกระแสของผู้ชมที่สนใจรูปแบบใหม่ในการนำเสนอเรื่องราวกันมาก น่าติดตามว่ากระแสของเรื่องถัดไปจะเป็นอย่างไร
.
ทีมสร้างอาจต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ว่าขณะนี้ผู้ชมสนใจอยากจะเห็นอะไรกันบ้าง ส่วนตัวในฐานะคนดูรู้สึกว่าปีที่ผ่านมานี้ ละครเรื่องต่างๆ ผู้สร้างเต็มไปด้วยเรื่องราวที่อยากจะเล่า บางครั้งก็มากเสียจนคนรับสารเหนื่อยอยู่เหมือนกัน ตั้งแต่เรื่องที่ยาวนานหลายชั่วโมง บทพูดที่เยอะมาก และในหนึ่งเรื่องเองก็มีสารที่อยากจะส่ง มีนัยที่อยากจะสื่อซ้อนทับอยู่มากเสียจนบางทีทำให้หัวข้อหลักนั้นสื่อสารได้ไม่ชัดเจน
.
ว่ากันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาจะเป็นเมล็ดพันธุ์ส่งผลไปถึงปีถัดมา ถึงแม้ยอดขายบัตรอาจไม่ดี แต่ก็เกิดความเคลื่อนไหวดีๆ ในวงการละครเวทีร่วมสมัยในปีที่ผ่านมามากมาย ทั้งการก่อตั้งและดำเนินงานอย่างเป็นทางการของ มูลนิธิละครไทย Thai Theatre Foundation และมี Bangkok Offstage พอดแคสท์วงการละครเวทีให้ได้ติดตาม ทางฝั่งชมรมณ์วิจารณ์ศิลปะการแสดง AICT เองก็จัดเวิร์กชอปเขียนวิจารณ์ละครในเทศกาล BIPAM น่าจะทำให้มีผู้ชมรีวิวหรือเขียนวิจารณ์พูดถึงละครเวทีกันมากขึ้น และแม้ Democrazy Theater Studio จะปิดตัวไปและสถานการณ์ของหอศิลปกรุงเทพฯเองจะน่าหวั่นๆ แต่ในปี 2562 ก็มีสถานที่ทำการแสดงเกิดขึ้นใหม่ทั้ง ลิโด้: LIDO Connect แหล่งศิลปะวัฒนธรรมใจกลางสยามและ Hostbkk สถานที่แสดงใหม่ใกล้ MRT สวนลุมพินี
.
ปีนี้เราดูละครเวทีไป 48 รอบ 43 เรื่อง คำนวนดูก็เพียงแค่ 24% จากละครเวทีทั้งหมดคาดว่าปี 2563 น่าจะได้ดูละครเวทีมากขึ้นกว่านี้แน่นอน เปิดเดือนมกราคมด้วยละครเวทีนักศึกษาคุณภาพจากหลายสถาบัน แม้จะยังไม่มีข่าวคราวละครเวทีเรื่องใหญ่ เรื่องไหนอีก แต่ก็เป็นปีที่น่าตื่นเต้นติดตามรอว่าจะมีอะไรน่าสนใจรออยู่บ้าง พี่เบิร์ดจะมีละครเวทีไหม หรือเราอาจได้เห็นนักแสดงหน้าใหม่ในวงการละครเวทีเพิ่มขึ้นบ้าง
.
***ข้อมูลเชิงสถิติคำนวนจากละครเวทีที่มีการประชาสัมพันธ์ผ่านเพจ The Showhopper***

เขียน: บรรณาธิการ The Showhopper

WFH Series #05: กักตัวยังไงไม่ให้เหมือนกักกัน

สถานการณ์ COVID-19 ดำเนินมาจนถึงจุดที่เราต้องรักษาระยะห่าง (SOCIAL DISTANCING) กันอย่างจริงจัง มูลนิธิละครไทยในฐานะองค์กรออนไลน์เต็มรูปแบบขอนำเสนอ WFH SERIES ซีรีส์บทความที่จะช่วยไกด์ชาวละครในการปรับเปลี่ยนมาทำงานจากบ้านหรือ WORK FROM HOME (WFH)


WFH Series #05: กักตัวยังไงไม่ให้เหมือนกักกัน


ศิลปินละครจำนวนมากเป็นฟรีแลนซ์ทำงานทางไกลอยู่แล้ว ไม่ต้องปรับตัวอะไรมากในภาวะเช่นนี้ แต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่คุ้นชินกับการต้องอยู่บ้านนานๆ พาลให้รู้สึกเหมือนตัวเองติดคุก เราอาจต้องเผชิญหลายอย่างเมื่อต้องกักตัวเป็นเวลานาน เช่น

  • วิตกกังวลในความปลอดภัยของตนเองและคนที่เรารัก

  • เริ่มนอนและทานอาหารไม่เป็นเวลา

  • นอนไม่หลับ

  • ไม่มีสมาธิ

  • โรคต่างๆ ที่มีอยู่อาจกำเริบ

  • ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติดอื่นมากขึ้น

กักตัวให้ปลอดภัยจากโรคทางกายแล้ว ต้องอย่าลืมดูแลตัวเองให้ปลอดโรคทางใจด้วย วันนี้มูลนิธิฯ รวบรวมคำแนะนำมาฝาก

 

สุขภาพกาย

 

ทำสมาธิ

ลองหายใจเข้าลึกๆ ดูบ่อยๆ หรือจะนั่งสมาธิก็ได้ งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าการนั่งสมาธิสามารถช่วยลดความดันโลหิตและผ่อนคลายความกังวลและความเครียดต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับอีกด้วย

 
meditate-12.png.jpeg
 
 

กินดี อยู่ดี

ช่างเป็นคำแนะนำที่เราได้ยินบ่อย แต่สำคัญเป็นพิเศษในช่วงนี้ที่อาจมีข้อจำกัดในการออกไปซื้อหาอาหาร

  • ลดอาหารที่มีไขมันทรานส์ (Trans fat) เช่น ของทอด โดนัท เค้ก พาย พิซซ่า คุกกี้ เพื่อลดโอกาสเป็นโรคหัวใจต่างๆ

  • ทานไขมันที่มีประโยชน์แทน เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก อัลมอนด์ งา อโวคาโด กรดไขมันโอเมกา-3 (Omega-3)

  • ลดอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารสำเร็จรูป

  • ทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก (นึ่งดีกว่าต้ม) ผลไม้ ถั่วลันเตา

  • ทานอาหารหลากสี อาหารสีเขียว ส้ม แดงอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ

ต่อไปเวลาซื้ออาหารลองพลิกดูข้อมูลโภชนาการด้านหลัง (ถ้ามี) อาจจะตะลึงกับสิ่งที่ทานอยู่ทุกวันก็เป็นได้

 
Content-16641.jpg
 
 

ออกกำลังกาย

นั่งแกว่งขาบนโซฟานี่ไม่นับว่าออกกำลังกาย สิ่งที่นับคือกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง (Moderate-Intensity Aerobic Activity) จะเป็นกิจกรรมอะไรก็ได้ ขอแค่ทำแล้วหัวใจเต้นเร็วขึ้นและเหงื่อออก วิธีวัดง่ายๆ คือต้องยังพอพูดได้แต่เหนื่อยเกินกว่าจะร้องเพลง ทำให้ได้ 150 นาทีต่อสัปดาห์ จะแบ่งเป็น 5 วัน วันละ 30 นาทีก็ได้ หลายคนข้ออ้างเยอะ ช่วงนี้โอกาสดี ลองเปิดดูคลิปหรือคลาสออกกำลังกายออนไลน์ที่มีอยู่มากมายแล้วทำตามที่บ้าน อาจจะติดใจ

นอกจากนี้พยายามอย่านั่งนานๆ ระหว่างวัน ลองยืนทุกๆ 30 นาทีก็อาจช่วยได้

 
woman-home-workout-exercising-at-home-vector-20636458.jpg
 
 

สุขภาพจิต

 

ดูข่าวแต่พอดี

การเกาะติดข่าวตลอดวันอาจทำให้เครียดเกินจำเป็น ลองจัดเวลาดูว่าวันนี้จะติดตามสถานการณ์แค่ 20 นาที 10 นาทีตอนเช้าและ 10 นาทีตอนเย็น วิธีนี้อาจช่วยลดความวิตกกังวลแต่เราเองก็ยังทันต่อสถานการณ์

อีกอย่างคือต้องระวังข่าวปลอม ข่าวพวกนี้ทำให้เราเครียดโดยไม่จำเป็น ฟังข่าวแต่จากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น เคล็ดลับง่ายๆ คือก่อนจะอ่านพาดหัวอะไรออนไลน์ ดูชื่อเวปไซต์เสียก่อน ถ้าไม่คุ้นก็ไม่ต้องสนใจอ่านเลยก็ได้ ประหยัดเวลาดีด้วย

 
 
 

ระบายให้คนอื่นฟัง

ถ้าเครียดอย่าเก็บไว้ การเล่าให้คนที่เราไว้ใจฟังสามารถช่วยได้ ถ้าเครียดมากหรือไม่รู้จะเล่าให้ใครฟัง การปรึกษาจิตแพทย์ก็เป็นทางเลือกที่ดี อย่าใส่ใจกับความคิดเชยๆ ที่ว่าการปรึกษาจิตแพทย์คือเราเป็นคนบ้า

 
find-therapist.jpg
 
 

ค่าของคนอาจไม่ได้อยู่ที่ผลของงาน

ในช่วงนี้ที่บ้านกลายเป็นที่ทำงาน เวลางานกับเวลาส่วนตัวอาจแยกออกจากกันยาก เราอาจรู้สึกเหมือนยังทำงานไม่พอ สำคัญมากๆ ที่เราต้องท่องไว้ว่าคุณค่าของเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณงานที่เราทำได้ในแต่ละวัน อย่าให้ความคิดแบบทุนนิยมนี้มากำหนดคุณค่าในตัวเรา เราไม่จำเป็นต้องขยันเพิ่มขึ้นเพื่อให้รู้สึกมีคุณค่าทางเศรษฐกิจเมื่อต้องทำงานจากบ้าน จัดเวลาให้เหมาะสม ทำงานส่งให้เรียบร้อยตามกำหนด แค่นั้นก็พอแล้ว

 
shutterstock_175903370.0.0.jpg
 
 

ที่มา

WFH Series #04: ส่งอีเมล์หาหลายคนในครั้งเดียว

สถานการณ์ COVID-19 ดำเนินมาจนถึงจุดที่เราต้องรักษาระยะห่าง (SOCIAL DISTANCING) กันอย่างจริงจัง มูลนิธิละครไทยในฐานะองค์กรออนไลน์เต็มรูปแบบขอนำเสนอ WFH SERIES ซีรีส์บทความที่จะช่วยไกด์ชาวละครในการปรับเปลี่ยนมาทำงานจากบ้านหรือ WORK FROM HOME (WFH)


WFH Series #04: ส่งอีเมล์หาหลายคนในครั้งเดียว

น่าชื่นชมที่เราได้เห็นความไม่ย่อท้อของชาวละคร เมื่อจัดกิจกรรมหรือชั้นเรียนจริงไม่ได้ก็ย้ายมาจัดออนไลน์ชั่วคราว พอจัดงานอะไรสักอย่าง เราอาจต้องส่งอีเมล์หาคนจำนวนมาก ถ้าไม่ถือสาอะไรก็เพียงแค่ใส่รายชื่ออีเมล์ทั้งหมดลงไปแล้วกดส่งได้เลย แต่หากไม่ต้องการให้ผู้รับทราบว่ามีใครได้รับอีเมล์นี้บ้าง เช่น ส่งอีเมล์เดียวกันหาผู้ชมละคร 100 ท่าน มูลนิธิฯ มี 2 วิธีที่ทำได้แบบไม่ต้องเสียเงินซื้อโปรแกรมมานำเสนอ

 

Bcc

หลายคนรู้จัก Cc (Carbon Copy) อยู่แล้ว ไม่ได้ใช้กระดาษคาร์บอนแต่อย่างใด แต่เป็นการบอกผู้ที่อยู่ใน Cc ว่าส่งมาให้รับทราบเฉยๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเขาโดยตรง การส่งแบบนี้ทั้งผู้รับรายหลักและผู้รับที่อยู่ใน CC จะเห็นกันหมดว่าใครได้รับอีเมล์นี้บ้าง

ส่วน Bcc (Blind Carbon Copy) นั้นต่างตรงที่ผู้รับรายหลักจะไม่เห็นว่าใครอยู่ใน Bcc บ้าง เสมือนว่าผู้ที่อยู่ใน Bcc สวมผ้าคลุมล่องหนอยู่ ตัวอย่างการใช้ เช่น อีเมล์ลูกค้าแล้ว Bcc เจ้านายเพื่อให้เห็นว่าส่งหาลูกค้าแล้ว แต่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องรู้อีเมล์เจ้านาย

มูลนิธิฯ ใช้ Google Platform เพราะฉะนั้นขอยกตัวอย่าง Gmail ประกอบ หากต้องการ Bcc ใคร เพียงแค่กด Bcc ตรงมุมขวา ช่อง Bcc ก็จะปรากฏ

Screen Shot 2020-03-23 at 4.22.29 PM.png
 

ไม่ว่าจะใส่ไปกี่สิบอีเมล์ ผู้รับจะไม่เห็นอีเมล์คนอื่นเลย จะรู้เพียงแค่ว่าตัวเองได้รับ Bcc

Screen Shot 2020-03-23 at 4.28.49 PM.png
 

ถ้าไม่เป็นทางการอะไรมาก วิธี Bcc ก็เพียงพอและสะดวกดี แต่หากต้องการความเป็นทางการและดูเป็นมืออาชีพ อยากให้ลองวิธีที่สองดู

 

Mail merge

Mail merge หรือที่ภาษาไทยเรียกว่าจดหมายเวียน คือฟังก์ชั่นใน Microsoft ที่สามารถสร้างจดหมายหลายฉบับที่มีข้อความเดียวกัน แต่เปลี่ยนชื่อ สกุล องค์กร ฯลฯ ของผู้รับให้เราอัตโนมัติตามข้อมูลที่เรามี

หลายคนใช้ Gmail ซึ่งไม่มีฟังก์ชั่น Mail merge ในตัว วิธีแก้คือใช้ Add-on หรือสคริปต์เสริมเอา หามาใช้ฟรีได้เลย ไม่ต้องทำเอง มูลนิธิฯ ใช้สคริปต์ของคุณ Martin Hawksey อยู่ ใช้ง่ายมากๆ เพียงแค่

 

1. โหลดไฟล์ต้นแบบ

โหลดไฟล์ Google Sheet ต้นแบบที่เขียนสคริปต์ไว้เรียบร้อยแล้วลง Google Drive ของท่าน

 

2. กรอกข้อมูล

กรอกข้อมูลที่ต้องการทั้งหมดลงไปในไฟล์ต้นแบบ สามารถปรับเปลี่ยน เพิ่ม ลบหัวข้อในแถวแรกได้ตามใจชอบยกเว้นคอลัมน์สุดท้าย (Email Sent) คอลัมน์นี้เอาไว้แสดงผลว่าส่งสำเร็จหรือไม่

Screen Shot 2020-03-23 at 5.16.22 PM.png
 

3. พิมพ์อีเมล์

เข้าไปที่ Gmail เพื่อพิมพ์อีเมล์ปกติ แต่แทนที่จะใส่ชื่อ - สกุลผู้รับปกติ ให้ใส่เป็นหัวข้อแทน เช่น {{Title}} {{First name}} {{Last name}}

 

4. กดส่งจากไฟล์ต้นแบบ

เมื่อพร้อมส่งแล้วให้กลับไปที่ไฟล์ต้นแบบ เราจะเห็นว่าแถบเมนูด้านบนมีเมนูเสริมมาอีกหนึ่งอันจากไฟล์ Google Sheet ทั่วไป เป็นเพราะสคริปต์ที่เขียนไว้นั่นเอง

Screen Shot 2020-03-23 at 5.24.03 PM.png
 

กด Send Emails แล้วใส่ชื่อของอีเมล์ที่เราต้องการส่งลงไปแล้วกด Ok ในตัวอย่างนี้ชื่ออีเมล์คือ “ทดสอบ Mail Merge”

Screen Shot 2020-03-23 at 5.24.03 PM.png
 

เมื่อสคริปต์ทำงานสำเร็จ ช่อง Email Sent ก็จะเติมวันเวลาที่ส่งอีเมล์อัตโนมัติ เราก็จะสามารถเช็คได้ว่าอีเมล์ไหนส่งไม่สำเร็จบ้าง

 

ผู้รับจะได้รับอีเมล์หน้าตาแบบนี้

Screen+Shot+2020-03-23+at+5.36.50+PM.jpg
 

อีเมล์จะปรากฏเหมือนส่งมาให้เขาโดยเฉพาะคนเดียวเท่านั้น เหมาะกับการส่งอีเมล์หาผู้ชมละคร สปอนเซอร์ ผู้บริจาคสมทบทุน เพราะให้ความรู้สึกพิเศษและตั้งใจส่งกว่าการกว้านส่งด้วย Bcc

Screen Shot 2020-03-23 at 5.37.00 PM.png
 

ง่ายมากจริงๆ แค่นี้ก็ส่งอีเมล์หาลิสต์รายชื่อทีละมากๆ ได้โดยไม่ต้องมานั่งแก้อีเมล์แล้วกดส่งทีละอันให้มือหงิก

การใช้สคริปต์มีข้อจำกัดตรงที่หากส่งจากอีเมล์บุคคลธรรมดา (อีเมล์ที่ลงท้ายด้วย @gmail.com) จะส่งได้แค่ไม่เกิน 100 อีเมล์ภายใน 24 ชั่วโมงด้วยข้อจำกัดสคริปต์ของ Google แต่หากส่งจากอีเมล์องค์กรที่ผูกกับ Google Suite (เช่น อีเมล์ของมูลนิธิละครไทย) จะสามารถส่งได้มากถึง 1,500 อีเมล์ใน 24 ชั่วโมง

WFH Series #03: ทำงานจากบ้านยังไงให้ได้งาน

สถานการณ์ COVID-19 ดำเนินมาจนถึงจุดที่เราต้องรักษาระยะห่าง (SOCIAL DISTANCING) กันอย่างจริงจัง มูลนิธิละครไทยในฐานะองค์กรออนไลน์เต็มรูปแบบขอนำเสนอ WFH SERIES ซีรีส์บทความที่จะช่วยไกด์ชาวละครในการปรับเปลี่ยนมาทำงานจากบ้านหรือ WORK FROM HOME (WFH)


WFH Series #03: ทำงานจากบ้านยังไงให้ได้งาน


การทำงานจากบ้านลดความตึงเครียดและเหนื่อยล้าจากการเดินทางไปทำงานได้ 100% (อันนี้เถียงไม่ได้) นอกจากนี้ 75% ของผู้ทำแบบสำรวจของ Mental Health America ยังระบุว่าการทำงานจากบ้านช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์และลดสิ่งรบกวนอื่นๆ ระหว่างวันทำงาน และที่สำคัญที่สุดสำหรับตอนนี้คือช่วยบรรเทาการระบาดของ COVID-19 ด้วยการรักษาระยะห่าง (Social distancing)

กระนั้นการทำงานจากบ้านก็ไม่ได้เหมาะกับทุกคนเสียทีเดียว บางคนอยู่บ้านทำงานไม่ได้ บางงานทำจากบ้านได้ครึ่งเดียว บางงานไม่ได้เลย ในกรณีนี้ก็ต้องหาทางออกชั่วคราวกันไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

ศิลปินละครหลายคนทำงานอยู่บ้าน (หรือร้านกาแฟ) เป็นนิจอยู่แล้วก็ไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก บางคนที่ทำงานอนุญาตให้ทำงานจากบ้านได้ถ้าไม่สบายเล็กน้อย บางคนทำงานจากบ้านได้สัปดาห์ละวันเลย แต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่เคยทำงานจากบ้านมาก่อนและไม่แน่ใจว่าต้องทำยังไงถึงจะทำงานจากบ้านได้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด วันนี้มูลนิธิละครไทยมีคำแนะนำมาฝาก

พื้นที่ทำงานดี เราก็มีแรงทำงาน

พื้นที่ทำงานที่เป็นระเบียบและสะอาดช่วยให้ทำงานได้คล่องตัวขึ้น ลองหาพื้นที่ที่เรารู้สึกสบายและมีสิ่งรบกวนน้อยที่สุดในบ้านเป็นมุมทำงาน การวางจัดหน้าจอ เมาส์ และที่นั่งมีส่วนสำคัญมาก ถ้าการยศาสตร์ (Ergonomics) ไม่อำนวยก็อาจส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตของเรา ทำให้ทำงานได้ไม่เต็มที่ แทนที่จะนอนกอด Laptop บนโซฟา ลองจัดที่นั่งแบบนี้ดู

mcdc7_office_ergonomics.jpg

หน้าจอ

หน้าจอควรอยู่ในระดับสายตาและห่างออกไปหนึ่งช่วงแขน หลายคนทำงานจาก Laptop ถ้าวางบนโต๊ะก็ต้องก้มมอง ลองหาคีย์บอร์ดมาต่อแยกและหาอะไรมารอง Laptop ให้ขอบบนของหน้าจอสูงพอดีระดับสายตาเรา (เช่น กองหนังสือที่ซื้อมาไม่เคยได้อ่าน) เท่านี้ก็ไม่ต้องก้มมองจอเป็นชั่วโมงให้ปวดหัว ปวดหลัง ปวดคอแล้ว ถ้ามีโต๊ะทำงานที่ปรับความสูงได้ (Standing desk) ก็จะประเสริฐมาก อย่าลืมวางจอให้ถูกทิศจะได้ไม่มีเงาหน้าต่างสะท้อนบนหน้าจอ

เมาส์

วางเมาส์ในระดับที่ไม่ต้องหักข้อมือ มือควรอยู่ระดับเดียวกันหรือต่ำกว่าข้อศอก ใช้ปุ่มลัดบนคีย์บอร์ดเยอะๆ จะได้ลดการเกร็งข้อมือและนิ้วเวลาใช้เมาส์

ที่นั่ง

เลือกเก้าอี้ที่นั่งสบาย ไม่ปวดกระดูกสันหลัง ปรับความสูงให้เท้าราบไปกับพื้น เข่าอยู่ระดับเดียวกับสะโพก และสะโพกขนานไปกับพื้นพอดี

 

จัดตารางงานและตารางชีวิตให้ชัดเจน

แบ่งตารางเวลาของตัวเองให้ดี กำหนดเวลาเริ่มงาน เวลาพักทานข้าว เวลาเลิกงาน ตารางการประชุม และกำหนดส่งงานต่างๆ ให้ชัดเจน เช็คลิสต์และปฏิทินออนไลน์ (Google Calendar ใช้ฟรี) สามารถช่วยได้มาก อัพเดทปฏิทินออนไลน์สม่ำเสมอและแชร์ให้เพื่อนร่วมงานดู พอต้องนัดประชุมก็จะง่ายขึ้น

tips_calendar_intro.jpg
 

แต่งตัวให้เหมือนออกไปทำงาน

การลุกขึ้นมาอาบน้ำแต่งตัวให้เหมือนออกไปทำงานข้างนอกอาจเป็นวิธีที่ดี ชุดทำงานอาจช่วยให้รู้สึกอยู่ในโหมดทำงานมากขึ้น คงไม่ถึงกับต้องผูกไทใส่สูท แต่พยายามอย่าแต่งตัวครึ่งท่อน

 
2fc48517af3c9a93276771885613784efab785fb_1_ykdft_cg4deshrti2jljoq.jpg
 
 

ทำงานจากบ้านไม่เท่ากับวันหยุด

ท่องไว้ แม้จะอยู่บ้านแต่วันที่เราทำงานจากบ้านนั้นไม่ใช่วันหยุด เพราะฉะนั้นต้องมีวินัยในตนเอง หากต้องติดต่อสื่อสารเรื่องงานไม่ว่าจะเป็นทางข้อความหรือโทรศัพท์ในเวลาที่กำหนดไว้ว่าเป็นเวลางาน เราต้องเตรียมพร้อมที่จะทำงานได้จริงๆ ไม่เหลวไหล

 
e5c699d0-372f-11ea-abfa-63aa5d222bbd.jpg
 
 

รู้จักตัวเอง

ทุกคนมีสไตล์การทำงานแตกต่างกันไป ไม่มีหรอกวิธีสากลที่จะเหมาะกับทุกคน บางคนชอบเปิดเพลงคลอเวลาทำงาน บางคนต้องใส่หูฟังกันเสียงรบกวน บางคนนั่งทำงานรวดเดียวสี่ชั่วโมงมีสมาธิกว่า บางคนต้องพักทุกๆ หนึ่งชั่วโมง ลองสังเกตตัวเองดู เราอาจพบว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่ฝืนทำอยู่เพราะรู้สึกว่าควรทำมันอาจไม่เหมาะกับเราก็ได้

การเท่าทันอารมณ์ตัวเองก็สำคัญไม่แพ้กัน สถานการณ์ระบาดของ COVID-19 นี้ทำให้หลายคนเครียดและกังวล หลายคนรู้สึกอุดอู้ที่ไม่ได้ออกไปไหนเป็นเวลานาน ฉะนั้นรู้จักและเตรียมพร้อมรับมือกับอารมณ์ต่างๆ ของตัวเองไว้ก็ไม่เสียหาย การให้รางวัลตัวเองเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่ง ทำงานเสร็จจะฉลองด้วยการสั่งอะไรอร่อยๆ มากิน นั่งเล่นเกมส์ หรือดูหนังสักเรื่องก็ไม่มีใครว่าอะไร

 
human-emotion-buying-behavior.jpg
 
 

เตรียมพร้อมเสียแต่วันนี้เพราะไม่มีใครรู้แน่ว่าเราต้องทำงานจากบ้านไปอีกนานแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ ถ้ากายพร้อม ใจพร้อม แวดล้อมพร้อม เราจะผ่านมันไปได้ง่ายขึ้น มูลนิธิฯ ขอเป็นกำลังใจและพร้อมสนับสนุนละครเวทีไทยร่วมสมัยให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

 

WFH Series #02: กรอกและเซ็นเอกสารออนไลน์

สถานการณ์ COVID-19 ดำเนินมาจนถึงจุดที่เราต้องรักษาระยะห่าง (SOCIAL DISTANCING) กันอย่างจริงจัง มูลนิธิละครไทยในฐานะองค์กรออนไลน์เต็มรูปแบบขอนำเสนอ WFH SERIES ซีรีส์บทความที่จะช่วยไกด์ชาวละครในการปรับเปลี่ยนมาทำงานจากบ้านหรือ WORK FROM HOME (WFH)


WFH Series #02: กรอกและเซ็นเอกสารออนไลน์


รู้ว่ากรอกและเซ็นเอกสารออนไลน์ได้แต่ยังไม่เคยได้ลองสักที วันนี้สถานการณ์บังคับแล้ว มาลองใช้ดูกัน ง่ายนิดเดียว เตรียมครั้งเดียวใช้ได้ไปอีกยาว ประหยัดเวลาแถมประหยัดกระดาษ รักษ์โลกไปด้วยในตัว

โปรแกรมเซ็นเอกสารออนไลน์มีเยอะมาก แต่อันที่มูลนิธิอยากแชร์เพราะใช้บ่อยสุดและคิดว่าคอมพิวเตอร์เกือบทุกเครื่องมีคือ Adobe Acrobat Reader DC ถ้ายังไม่มีดาวน์โหลดมาใช้ฟรีได้เลย

Screen Shot 2020-03-17 at 1.44.04 AM.png
 
 
 

ไม่ว่าจะกรอกหรือเซ็นเอกสาร เพียงแค่เปิดไฟล์ที่ต้องการด้วย Adobe Acrobat Reader DC แล้วเลือก Fill & Sign ด้านขวามือ

1.png
 

จากนั้นเลือก Fill and sign

2.png
 

เราจะเห็นแถบเมนูเพิ่มขึ้นมาด้านบน แค่นี้ก็เริ่มกรอกหรือเซ็นเอกสารได้แล้ว

3.png
 

กรอกเอกสาร

กดปุ่ม Ab แค่นี้ก็สามารถพิมพ์ข้อความลงตรงไหนก็ได้ในเอกสาร

4.png
 

เซ็นเอกสาร

กดปุ่ม Sign และ Add Signature

5.png
 

เลือกใส่ลายเซ็นได้ 3 แบบ

1) พิมพ์ชื่อเอา

6.jpg
 

2) วาดกะเมาส์หรือนิ้ว

7.png
 

3) อัพโหลดรูป

เพียงแค่เซ็นลงในกระดาษ ถ่ายรูป แล้วอัพโหลด

IMG_6910.jpg
 
8.png
 

โปรแกรม Adobe Acrobat Reader DC จะปรับเปลี่ยนสีพื้นหลังให้ดูราวกับเซ็นในคอมพิวเตอร์ มูลนิธิชอบใช้วิธีนี้เพราะเอกสารจะดูสมจริง

9.png
 

ไม่ว่าจะใส่ลายเซ็นด้วยวิธีไหน เสร็จแล้วให้กด Apply ลายเซ็นของเราก็จะปรากฏให้เลือก ถ้าใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวก็สามารถเก็บลายเซ็นไว้ใช้คราวต่อไปได้เลย การเซ็นเอกสารก็จะไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอีกต่อไป

10.png
 

สามารถปรับขนาดลายเซ็นได้ตามต้องการ

11.png
 

ประเทศไทยมีกฎหมายที่กล่าวถึงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์แล้ว นั่นก็คือพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 หากอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปอ่านได้

ทีนี้พอเซ็นง่ายเซ็นคล่องแล้วก็อย่าลืมว่าจะเซ็นอะไรควรอ่านให้ดีก่อนทุกครั้ง จะได้ไม่มานั่งปวดหัวทีหลัง

WFH Series #01: ประชุมออนไลน์

สถานการณ์ COVID-19 ดำเนินมาจนถึงจุดที่เราต้องรักษาระยะห่าง (Social Distancing) กันอย่างจริงจัง มูลนิธิละครไทยในฐานะองค์กรออนไลน์เต็มรูปแบบขอนำเสนอ WFH Series ซีรีส์บทความที่จะช่วยไกด์ชาวละครในการปรับเปลี่ยนมาทำงานจากบ้านหรือ Work From Home (WFH)


WFH Series #01: ประชุมออนไลน์


การโทรคุยทางไกลไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรอีกต่อไปแล้ว หลายคนคุ้นเคยกับ Facebook Chat, Line และโปรแกรมพูดคุยต่างๆ ดี โปรแกรมเหล่านี้สามารถเปิดกล้องคุยงานพร้อมกันหลายคนได้ ช่วยให้การทำงานทางไกล (Telecommuting) เป็นเรื่องง่ายดาย 

วันนี้มูลนิธิขอพูดถึงอีกโปรแกรมที่หลายองค์กรทั้งในไทยและสหรัฐอเมริกา (รวมถึงมูลนิธิเอง) ใช้ประชุมงาน นั่นก็คือโปรแกรม Zoom

Screen-Shot-2018-04-03-at-2.40.49-PM.png

เราสามารถใช้ Zoom ได้ทั้งแบบฟรีและแบบจ่ายเงิน ไม่ว่าจะจ่ายไม่จ่าย เราก็ใช้ฟังก์ชันต่างๆ ได้แทบเหมือนกันหมด ต่างกันเพียงที่

  • บัญชีฟรีรองรับผู้เข้าประชุมได้ไม่เกิน 100 คน (ซึ่งก็เยอะมากแล้ว) และประชุมได้ครั้งละไม่เกิน 40 นาที ถ้าจะประชุมต่อต้องสร้างห้องประชุมใหม่

  • บัญชีจ่ายเงินรองรับได้มากสุดถึง 1,000 คน (จัดสัมมนาออนไลน์ได้เลยทีเดียว) และประชุมได้มากสุด 24 ชั่วโมง

ฟังก์ชันที่เป็นประโยชน์ บัญชีฟรีก็ใช้ได้ และมูลนิธิใช้บ่อยได้แก่

แชร์หน้าจอ

เราสามารถแชร์หน้าจอของเราให้ผู้ร่วมประชุมดูได้ เป็นประโยชน์มากในการนำเสนอสไลด์ แผนงาน กำหนดการ และเอกสารต่างๆ ให้ผู้ร่วมประชุมได้ดูไปพร้อมกัน ป้องกันการงงจนต้องหันไปถามคนข้างๆ ว่านี่พูดถึงหน้าไหนอยู่นะได้เป็นอย่างดี

 

ตัดต่อพื้นหลัง

ถ้าบ้านรก ไม่ต้องเสียเวลาเก็บกวาดบ้าน Zoom มีฟังก์ชั่น Virtual Background สามารถตัดต่อภาพพื้นหลังออกแล้วใส่ภาพอื่นๆ ลงไปแทนได้ แต่ทางที่ดีประชุมเสร็จแล้วเก็บบ้านหน่อยก็ดี รักษาความสะอาด ป้องกันป่วยไข้ไปในตัว

Screen-Shot-2016-09-23-at-2.49.43-PM-1024x574.png
 

อัดการประชุมได้

Zoom อัดการประชุมได้ทั้งแบบเสียงอย่างเดียวและทั้งภาพและเสียง เผื่อใครติดธุระอื่นมาประชุมไม่ได้ก็สามารถมาตามดูทีหลังได้ บัญชีฟรีต้องดาวน์โหลดไฟล์บันทึกการประชุมลงคอมพิวเตอร์ของเราเท่านั้น บัญชีจ่ายเงินสามารถเลือกดาวน์โหลดหรือเก็บไฟล์ออนไลน์ก็ได้

 

แชท

ในห้องประชุมมีฟังก์ชันแชท สามารถส่งข้อความ คำถาม ลิงค์ หรือเอกสารขณะประชุมได้ เป็นประโยชน์มากในกรณีที่มีผู้ร่วมประชุมหลายคน จะได้ไม่ขัดจังหวะผู้ที่กำลังพูด นอกจากนี้ยังมีปุ่มยกมือด้วย เป็นการแจ้งให้ผู้อื่นทราบว่าตนมีประเด็นจะพูด

hero-bg.png
 

ร่วมประชุมง่ายและฟรี

เพียงแค่ส่งลิงค์ห้องประชุมให้ ผู้เข้าร่วมประชุมก็สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมลงคอมพิวเตอร์หรือมือถือและเข้าร่วมประชุมได้เลยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย จะแนะนำให้ผู้เข้าร่วมประชุมดาวน์โหลดโปรแกรมล่วงหน้าก็ได้จะได้ไม่เสียเวลาประชุม

 

ถ้าคณะละครหรือศิลปินท่านใดต้องการใช้ Zoom ในการประชุมสั้นๆ ไม่เกิน 40 นาที สามารถดาวน์โหลด Zoom มาใช้ฟรีได้เลย หากต้องการประชุมนานกว่านั้น สามารถติดต่อคุณณัฐพัชร อาษากิจเพื่อขอใช้บัญชีของมูลนิธิละครไทยได้ที่ nuttapat@thaitheatre.org โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ละครไทยรับมือกับ COVID-19 อย่างไรดี

ข้อมูล ณ วันที่ 24 มีนาคม 2563

งดกิจกรรมรวมคนจำนวนมากที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกินกว่า 100 คน ถ้าเข้าร่วมกิจกรรมก็จะมีมาตรการเช่น จะต้องนั่งห่างกันไม่น้อยกว่าระยะ 1 เมตร จะต้องทำการขออนุญาตจากเจ้าพนักงาน ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
— อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (17 มีนาคม 2563)
ให้สถานศึกษาทุกแห่งของรัฐและเอกชน ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งอยู่ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ตั้งแต่วันพุธที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลง [...] ทั้งนี้ ให้สถานศึกษาจัดให้มีการเรียนการสอนด้วยการไม่ต้องเข้าชั้นเรียน โดยปรับการเรียนการสอนเป็นทางออนไลน์
— ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (17 มีนาคม 2563)
 

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID19 - โควิด19) ที่กำลังระบาดอย่างหนักส่งผลกระทบไปทั่วโลก แน่นอนว่าศิลปะละครเวทีไทยร่วมสมัยย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากละครเวทีเป็นศิลปะการแสดงสดในที่ประชุมชน มูลนิธิละครไทยเป็นห่วงชุมชนละครเวทีไทยร่วมสมัยเป็นอย่างยิ่ง จึงได้รวบรวมมาตรการและคำแนะนำสำหรับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนของเรา ได้แก่

  1. บุคคลทั่วไป

  2. โรงละครและคณะละคร

  3. สถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนด้านละครเวทีร่วมสมัย

 

บุคคลทั่วไป

อาการ

  • สังเกตอาการตนเอง หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ํามูก หายใจลำบากให้ไปพบแพทย์ทันทีพร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง

  • หลีกเลี่ยงคลุกคลีผู้มีอาการป่วย รักษาระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร

  • กักบริเวณตนเองด้วยความสมัครใจเป็นเวลา 14 วันหากบุคคลในบ้านมีอาการระบบทางเดินหายใจ

ไอ จาม

  • ปิดปากและจมูกด้วยทิชชูทุกครั้งที่ไอหรือจาม ทิ้งทิชชูลงถังขยะ 

info37.jpg

ล้างมือ

  • ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังใช้ห้องน้ำ ก่อนทานอาหาร และหลังไอ จาม หรือสั่งน้ำมูก

  • หากไม่มีสบู่ ให้ล้างมือด้วยน้ำยาแอลกอฮอล์ 70%

info41.jpg

ตา จมูก ปาก

  • ไม่สัมผัสบริเวณตา จมูก และปากโดยไม่ได้ล้างมือ

ทำความสะอาด

  • ทำความสะอาดสิ่งของและผิวสัมผัสต่างๆ ที่จับต้องบ่อย อย่างน้อยวันละ 1 - 2 ครั้ง

หน้ากากอนามัย

  • หากไม่มีอาการระบบทางเดินหายใจ ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย 

  • หากมีอาการระบบทางเดินหายใจ ควรสวมหน้ากากอนามัย

  • อาจสวมหน้ากากอนามัยเมื่อเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงหรืออยู่ในที่ชุมชน เช่น โรงละคร เพื่อป้องกันตัวเอง

  • หันด้านที่มีสีออก หากไม่มีสี หันด้านที่รอยพับชี้ลงล่างออก ด้านที่มีลวดอยู่ด้านบน ดึงหน้ากากอนามัยให้ครอบคลุมทั้งจมูกและปาก

  • หน้ากาก N95 สำหรับกันฝุ่นไม่สามารถใช้ในทางการแพทย์ได้

พื้นที่เสี่ยง

  • ข้อมูล ณ วันที่ 2 มีนาคม 2563 ท้องท่ีนอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย ได้แก่

    • เกาหลีใต้

    • จีน

    • มาเก๊า

    • ฮ่องกง

    • อิตาลี

    • อิหร่าน

  • งดหรือเลื่อนการเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง

  • หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรมีประกันสุขภาพระหว่างเดินทาง สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด และปฏิบัติตามคําแนะนําของประเทศนั้นๆ อย่างเคร่งครัด

  • ก่อนเดินทางกลับ แจ้งให้เจ้าหน้าที่สายการบินทราบล่วงหน้าหากมีอาการป่วย สายการบินอาจพิจารณาไม่ให้ขึ้นเครื่องบินหากมีอาการป่วยและไม่มีใบรับรองแพทย์

  • เมื่อกลับเข้าประเทศแล้ว ให้ความร่วมมือกับการตรวจคัดกรองที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบทันทีหากมีอาการป่วย

  • สังเกตอาการและวัดไข้ตนเองทุกวันหลังกลับมาเป็นเวลา 14 วัน อาจกักบริเวณตนเองด้วยความสมัครใจ แยกเครื่องใช้ส่วนตัว แยกห้องนอนและห้องน้ำ รับประทานอาหารร่วมกันได้แต่ต้องใช้ช้อนกลางทุกครั้ง งดคลุกคลีใกล้ชิดผู้อื่น งดไปสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก เช่น โรงละคร ตลาด ห้างสรรพสินค้า อยู่ในที่พักอาศัยเป็นหลัก ออกนอกบ้านเท่าที่จําเป็น

  • หยุดงาน ลางาน หรือทํางานจากบ้านตามความเหมาะสมของหน่วยงานของท่าน

  • หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ หรือมีน้ํามูกภายใน 14 วันหลังเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง ควรไปพบแพทย์ทันทีพร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง

  • หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

 

โรงละครและคณะละคร

  • พิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบ เลื่อน หรืองดการจัดแสดงละคร อย่างน้อยจนถึง 1 เมษายน 2563 หรือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเพื่อมิให้ขัดต่อประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

  • ประชุมทีมงานผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์แทนการเดินทางมาประชุมในสถานที่เดียวกัน

  • จัดทำนโยบายคืนเงินที่ชัดเจนและแจ้งให้ผู้ซื้อบัตรทราบโดยทั่วถึง โรงละครและคณะละครอาจเลือกคืนเงิน หรือให้เครดิตสำหรับชมละครในครั้งถัดไปเพื่อให้ผู้ชมที่มีอาการป่วยตัดสินใจอยู่บ้านได้ง่ายขึ้น หรือแนะนำให้ผู้ชมบริจาคค่าตั๋วเพื่อช่วยเหลือคณะละครในยามวิกฤต

  • หากมีประกันภัยอยู่แล้ว โรงละครหรือคณะละครอาจได้รับความคุ้มครองในขณะปิดดำเนินการในสภาวะฉุกเฉิน กรุณาติดต่อตัวแทนประกันของท่านเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

  • ประชาสัมพันธ์วิธีป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคให้ทีมงานทราบ

  • โรงละครและคณะละครสามารถขอคำปรึกษาทางการแพทย์ได้จากโรงพยาบาลในพื้นที่ ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคเขต หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

info29.jpg
 

สถานศึกษา

  • ทำความสะอาดสถานที่และดำเนินการป้องกันโรคตามมาตฐานของกระทรวงสาธารณสุขและนโยบายของหน่วยงานของตนอย่างเคร่งครัด เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดควรสวมหน้ากากอนามัย หมวกคลุมผม แว่นตากันลม ถุงมือยาว รองเท้าบูท และผ้ากันเปื้อนพลาสติก

  • เตรียมความพร้อมเรื่องหลักสูตรการเรียนทางไกลสำหรับนักเรียน นักศึกษาระหว่างปิดสถานศึกษา

  • จัดทำแผนฉุกเฉินและข้อมูลติดต่อในกรณีที่พบผู้ป่วยจํานวนมากในสถานศึกษาไว้ให้พร้อม

  • ประสานกับหน่วยงานสาธารณสุขของสถานศึกษา (ถ้ามี) และโรงพยาบาลใกล้เคียงเพื่อขอแนวทางปฏิบัติ ข้อมูลความรู้ และช่องทางติดต่อในกรณีฉุกเฉิน

  • จัดเตรียมสบู่ น้ำยาล้างมือแอลกอฮอล์ 70% และหน้ากากอนามัยพร้อมใช้ในสถานศึกษา

  • อาจกำหนดพื้นที่ตรวจคัดกรองอาการป่วยก่อนเข้าอาคารหรือโรงละคร ควรเป็นพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก ควรจัดเตรียมเครื่องวัดอุณหภูมิแบบมือถือ (Handheld thermometer) และถุงมือไว้ด้วย

 
 

ข้อจำกัดความรับผิด

การให้ข้อมูลของมูลนิธิละครไทยแก่ท่านนั้นไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลโดยตัวแทนหรืออาสาสมัครของมูลนิธิละครไทยที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์ใดๆ จากการให้ข้อมูลดังกล่าว และเป็นเพียงแต่แนวทางและคำแนะนำเท่านั้น 

เมื่อท่านนำคำแนะนำใดๆ จากมูลนิธิละครไทยไปปฏิบัติ ท่านได้ยอมรับในข้อกำหนดและเงื่อนไขว่าการกระทำหรือตัดสินใจใดๆ ของท่านไม่ว่าโดยอาศัยข้อมูลจากมูลนิธิละครไทยหรือไม่ก็ตาม เป็นความเสี่ยงและอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของท่านหรือองค์กรของท่านเองทั้งสิ้นทุกประการโดยรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และท่านยอมรับว่ามูลนิธิละครไทยไม่มีส่วนต้องรับผิดใดๆ ต่อท่านหรือบุคคลใดๆ ในความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมจากเหตุใดๆ รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงเนื้อหานั้นไม่ถูกต้อง ผิดพลาด ไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์ ถูกลบ หรือถูกแก้ไข

ละครไทยในปี 2562: ปีทองของมิวสิคัล และการแสดงสะท้อนมุมมองผู้พิการ

(เผยแพร่ครั้งแรกในเวปไซต์เทศกาลละครกรุงเทพ 2019)

66b86a_964ea2611e684010b8d4ee98df9a21e3~mv2.jpg

เข้าสู่เดือนพฤศจิกายนที่แวดวงศิลปะการแสดงไทยกำลังคึกคักจากการแสดงกว่า 40 เรื่องที่จัดแสดงในเทศกาลละครกรุงเทพ หรือ BTF และแม้จะเหลืออีกเพียงเดือนเดียวเท่านั้นก่อนปี 2562 จะสิ้นสุดลง แต่ลองมาย้อนดูกันว่าวงการละครไทยในปีนี้มีอะไรที่น่าจับตากันบ้าง

มิวสิคัล

มิวสิคัลถือว่าเป็นดาวเด่นในปีนี้ เพราะหลายคณะได้เปิดการแสดงละครเพลงหลากรส หลายแนว ให้ผู้ชมได้เลือกสรรกันอย่างจุใจ ที่โดดเด่นคงหนีไม่พ้นการรีสเตจจากคณะละครแถวหน้าของไทยไม่ว่าจะเป็นดรีมบอกซ์ที่ฉลองครบรอบ 33 ปีด้วยมิวสิคัล 3 เรื่อง 3 แนว เริ่มด้วย ‘นางฟ้า เดอะ มิวสิคัล’ ในเดือนมิถุนายน ที่ดัดแปลงมาจากละคร ‘อลเวงเพลงนางฟ้า’ ที่เปิดแสดงครั้งแรกเมื่อ 28 ปีก่อน รวมถึงการกลับมาอีกครั้งในรอบ 10 ปีของ ‘แม่นาค เดอะ มิวสิคัล’ ช่วงกลางเดือนนี้ นอกจากนั้น ทางค่ายยังสร้างสรรค์มิวสิคัลเรื่องใหม่จากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์การเมือง‘น้ำเงินแท้ เดอะ มิวสิคัล’ มาให้ชมในช่วงสิงหาคมที่ผ่านมา

66b86a_154bf9e0da0d45f6af638dfa55de0ae1~mv2.jpg

ทางฟากซีเนริโอก็ได้รีสเตจการแสดงโปรดักชันใหญ่ 2 เรื่องที่สร้างจากวรรณกรรมคลาสสิกเป็นครั้งที่ 4 นั่นคือ ‘บัลลังก์เมฆ เดอะมิวสิคัล’ ที่แพท - สุธาสินี พุทธินันทน์มาสวมบทปานรุ้งเป็นครั้งแรก และ ‘สี่แผ่นดินThe Legend Musical’ ณ ลานกลางแจ้งของล้ง 1919 ที่นก - สินใจ เปล่งพานิช เตรียมกลับมารับบทแม่พลอยอีกครั้งในช่วงสิ้นเดือนนี้ อีกการแสดงที่รีสเตจกันไปแบบจัดเต็มถึง 2 ครั้งภายในปีเดียวก็คือ ‘ชายกลาง เดอะมิวสิคัล’ โดยโต๊ะกลม ในเดือนพฤษภาคมและต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

สำหรับมิวสิคัลสุดเซอร์ไพรส์แห่งปีขอยกให้กับB-Floor Theatre คณะละครฟิสิคัลที่ฉลองครบรอบ 20 ปีด้วยการพลิกมาทำมิวสิคัลเป็นครั้งแรกกับเรื่อง ‘A Midsummer Night’s Dream : ฝันกลางสวน’ ซึ่งเป็นงานท้าทายในทุกด้าน รวมถึงการเล่นในลานกลางแจ้ง ณ สวนครูองุ่น ในเดือนเมษายนที่มีฝนกระหน่ำ โดยกลางเดือนนี้

66b86a_8381a3dfdab1426ea6eaa3d423d13168~mv2.jpg

คณะละครภาษาอังกฤษ Peel the Limelight ก็เตรียมเดบิวต์มิวสิคัลออริจินัลเรื่องแรกของคณะเช่นกันกับเรื่อง ‘Life Lessons’ ที่สะท้อนหลากหลายบทเรียนชีวิตของมนุษย์ นอกจากนั้น ยังมีมิวสิคัลที่นำเสนอประเด็นฮอตแห่งยุคอย่าง ‘ไลฟ์โค้ช’ ในเรื่อง ‘The Workshop Musical: A Dress Rehearsal for Life’ โดยเชอรี่ คาร์เตอร์ สกอตต์(Chérie Carter-Scott) ไลฟ์โค้ชชาวอเมริกัน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา


การแสดงที่เปิดประสบการณ์ใหม่ พร้อมสะท้อนมุมมองผู้พิการ

ปีนี้ยังมีการแสดงหลายเรื่องที่เปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้คน ไปพร้อมกับการนำเสนอแง่มุมของผู้พิการทางด้านต่าง ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจดีของคนละครที่อยากจะสื่อสารประเด็นนี้ไปในวงกว้าง เพื่อกระตุ้นให้สังคมเข้าใจและปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเท่าเทียม

โดยเรื่องที่ได้รับความสนใจไม่น้อยคือ ‘เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย’ โดย Blind Experience ที่ประเดิมแสดงในพื้นที่ใหม่อย่างลิโด้คอนเน็คท์ในเดือนสิงหาคม ก่อนจะกลับมาอีกครั้งที่สามย่านมิตรทาวน์ ในเดือนกันยายน ซึ่งผู้เข้าร่วมต้องปิดตาตลอดการแสดง เพื่อเปิดประสาทสัมผัสด้านอื่นทั้งการฟังเสียง การได้กลิ่น การสัมผัส และจินตนาการ โดยเรื่องราวที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง ‘สุสานหิ่งห้อย (Grave of the Fireflies)’ และเพลง ‘นิทานหิ่งห้อย’ ของวงเฉลียง ช่วยส่งให้หลายคนซาบซึ้งไปกับความสัมพันธ์ระหว่างสองพี่น้องในเรื่องยิ่งขึ้น

66b86a_b57a167157144975a2cebc003d59a6cb~mv2.jpg

ในปีนี้เทศกาลศิลปะการแสดง (Performative Arts Festival) ยังสนับสนุนละครที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้พิการ จึงมีการแสดงในประเด็นนี้หลายเรื่องที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครทั้งจากคณะละครต่างประเทศและของไทย โดยในไทยมีการสร้างสรรค์ผลงานเกี่ยวกับผู้บกพร่องทางการมองเห็น 2 เรื่อง คือ ‘Nil’s Vision: ภาพที่นิลเห็น’โดยนพีสี เรเยส ซึ่งผสมผสานการเล่าเรื่อง วิดีโอ และการเล่นดนตรี เพื่อถ่ายทอดเสี้ยวหนึ่งของชีวิตนิล – ยงสิทธิ์ ยงกมล อาจารย์ด้านดนตรีรวมถึงความฝันได้อย่างเรียบง่ายและลงตัว อีกเรื่องคือ ‘Sunny Side Up เกือบสุข’ โดยภัทรียา พัวพงศกร ที่นำเสนอการแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างนักจิตวิทยาผู้พิการทางสายตา และนักแสดงผู้เข้ารับการบำบัดทางจิตใจ ผ่านการพูดคุยและการได้กลิ่น

66b86a_c4b241547b344a24b5b09c17357f1d99~mv2.jpg

ขณะที่คณะดรีมบอกซ์ก็มีการทำโปรเจกต์พิเศษร่วมกับสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ด้วยการนำ ‘นางฟ้า เดอะ มิวสิคัล’ มาจัดแสดงในรูปแบบละครภาษามือเพียงรอบเดียวในวันที่ 23 กันยายน ซึ่งเป็นวันภาษามือโลก โดยมีผู้บกพร่องทางการได้ยินร่วมแสดงด้วย ซึ่งอีกเรื่องที่มีการร่วมงานกับผู้บกพร่องทางการได้ยินคือ ละครเวทีมิวสิคัลคอนเสิร์ตเรื่อง ‘เสียง…ในความเงียบ’ กำกับโดยป้าแจ๋ว - ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์ที่เปิดแสดงเพียงรอบเดียวเช่นกันเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม เพื่อหารายได้สมทบทุนในการผ่าตัดรักษาประสาทหูเทียม

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้นของสิ่งที่เกิดขึ้นในวงการศิลปะการแสดงไทยในปีนี้ ซึ่งปี 2562 ถือเป็นอีกปีที่ได้รับชม ได้ประสบการณ์แปลกใหม่ และได้เปิดมุมมองทางความคิดในหลายประเด็นซึ่งคาดว่าในปี 2563 ก็จะมีการแสดงที่น่าตื่นเต้นให้ได้ติดตามกันต่อไป

 
66b86a_6834113cf099464282dba5ffc1ce6dcf~mv2.jpg

ผู้เขียน : แก้วตา เกษบึงกาฬ

นักเขียน นักแปล และนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ ที่เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์ไทย และศิลปะการแสดง จากประสบการณ์การทำงานในสายข่าวศิลปะวัฒนธรรมและบันเทิงมานาน 9 ปี เข้าร่วมเป็นสมาชิกชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบัน เป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์พอดแคสต์ Bangkok Offstage ที่เจาะลึกแวดวงศิลปะการแสดงในกรุงเทพฯ

นั่งคุยกับโปรดิวเซอร์

(เผยแพร่ครั้งแรกในเวปไซต์เทศกาลละครกรุงเทพ 2019)

โปรดิวเซอร์ในวงการละครเวทีคืออะไร? ทำอะไรบ้าง?

เราคิดว่าโปรดิวเซอร์ในวงการละครเวทีไม่ได้แตกต่างจากโปรดิวเซอร์ในวงการภาพยนต์หรือโฆษณา เพราะมีหน้าที่ในการดูแลการผลิตเหมือนกัน ในส่วนของละครเวทีนั้น ถ้าให้พูดจากประสบการณ์ของตัวเองก็คงจะมีอยู่ 2 ประเภท คือเป็นครีเอทีฟโปรดิวเซอร์ ที่มีความรู้ความสามารถ มีมุมมองทางศิลปะที่สามารถให้คำแนะนำ ความคิดเห็นร่วมกับผู้กำกับหรือศิลปินผู้สร้างงาน ควบคู่ไปกับการทำงานด้านการจัดการให้กับส่วนอื่น ๆ อีกประเภทหนึ่งคือเป็นโปรดิวเซอร์ที่ทำงานด้านการจัดการโดยเฉพาะ ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเชิงศิลปะกับผู้สร้างงานโดยจะดูเรื่องการหาสปอนเซอร์ แหล่งเงินทุนที่จะมาสนับสนุน ดูแลงบประมาณในการผลิต ติดต่อสถานที่ หาทีมงาน ดูเรื่องการประชาสัมพันธ์การขายบัตร สวัสดิการ คือเรียกได้ว่าดูองค์รวมทั้งหมดของการจัดการแสดงหนึ่งเรื่อง

ที่แบ่งประเภทของโปรดิวเซอร์ละครเวทีแบบนี้เพราะเราเป็นแบบที่สอง คือไม่มีความรู้เชิง Artistic เลย จริง ๆ แล้วลักษณะงานที่เราทำถ้าตัดเรื่องการดูงบประมาณ การหาสปอนเซอร์ออกไป มันก็ไม่ต่างจากผู้จัดการโปรดักชั่น บางครั้งเราเองยังสับสนว่าที่ทำอยู่นี่คือเป็นโปรดิวเซอร์ หรือเป็นแมเนเจอร์กันแน่ แต่ทุกครั้งที่ทำงาน เราจะบอกตัวเองว่าเป็นโปรดิวเซอร์นะ เพราะนั่นคือสิ่งที่เราต้องการจะเป็น

เข้ามาทำโปรดิวเซอร์ละครได้ยังไง?

มันเริ่มมาจากที่เราได้มีโอกาสไปทำงานในโปรดักชั่นละครเวทีเรื่องหนึ่งที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โปรดักชั่นนั้นเหมือนจะเป็นเรื่องแรกที่ได้กลับมาจับละครเวทีอีกครั้งในช่วงสิบปีเลย หลังจากที่เรียนจบมา ตอนนั้นเราเป็นฟรีแลนซ์ไม่มีงานประจำ รุ่นน้องที่เป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ก็เลยชวนไปทำละครด้วย เลยได้ไปเจอกับพี่เพียว ดวงใจ หิรัญศรีที่นั่น และเริ่มรู้จักกลุ่มละครโรงเล็กในประเทศไทย หลังจากนั้นเราก็ไปขลุกตัวอยู่ที่เดโมเครซี่ เธียเตอร์ สตูดิโออยู่ช่วงหนึ่ง อาศัยว่าเข้าทางรุ่นพี่ที่คณะ (พี่เอ๋ ภาวิณี สมรรคบุตร กับพี่เอี่ยว วสุรัชต อุณาพรหม) นี่แหละ ไปช่วยงานหยิบจับเล็ก ๆ น้อย ๆ หลังจากนั้นไม่นานพี่เอี่ยวก็ทำละครเรื่อง ฉุยฉายสเน่หา โดยที่ให้เรากับน้องอีกคนหนึ่งเป็นผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ ก็เลยได้เริ่มทำงานด้านการจัดการในโปรดักชั่นจริง ๆ จัง ๆ ตั้งแต่นั้นมา

Screen Shot 2019-11-08 at 12.25.59 AM.png

เรียน/ฝึกมาจากไหน?

ถ้าเรียนเรื่องการเป็นโปรดิวเซอร์เลย ก็ตอบได้เลยว่าไม่ได้เรียนมาจากที่ไหน 10 กว่าปีที่แล้วที่ธรรมศาสตร์ก็ไม่ได้มีวิชา Producing in Theatre and Performing Arts สอน แต่เราเลือกเรียนเอกกำกับการแสดง ซึ่งแน่นอนว่ามันได้เรียนรู้เรื่องการจัดการไปในตัวด้วยอยู่แล้วบวกกับที่คณะมีกิจกรรม มีเทศกาล มีละครธีสิสของรุ่นพี่อยู่ทุกปี แล้วเราก็ชอบที่จะทำงานเบื้องหลัง เลยอาจจะเป็นจุดที่ทำให้เราได้ฝึก ได้ซึมซับเรื่องการจัดการโปรดักชั่นไปในตัวตั้งแต่ยังเรียนอยู่ พอเรียนจบมาก็ไปอยู่โปรดักชั่นเฮาส์หนังโฆษณา เป็นผู้ช่วยโปรดิวเซอร์อยู่ปีนึง แล้วก็เลือกไปเรียนต่อปริญญาโทด้านการจัดการโดยเฉพาะ เป็นการจัดการธุรกิจล้วน ๆ ไม่เกี่ยวกับศิลปะเลย

ได้มาเรียนรู้การเป็นโปรดิวเซอร์ละครเวทีก็จากการลงมือทำงานจริงทั้งนั้น จากการไปทำงานกับกลุ่มละครอนัตตา กลุ่มละครบีฟลอร์ศิลปินอิสระ ไปทำงานกับเทศกาลละครกรุงเทพฯ ได้เขียน Proposal ได้เรียนรู้วิธีการหาคนดู คิดราคาบัตร วางแผนการทำงานด้านต่าง ๆโดยที่เราก็เอาความรู้จากที่เราเรียนปริญญาโทมาปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจของละครเวที ทุกวันนี้เราก็ยังฝึกการเป็นโปรดิวเซอร์ที่ดีอยู่ ในความคิดเรา โปรดิวเซอร์ไม่ใช่แค่ทำให้โปรดักชั่นได้กำไรจาการขายบัตร แล้วจบการแสดงไปเป็นรอบ ๆ แค่นั้น เรามองไปถึงว่า เขาต้องช่วยให้ศิลปินเติบโตและพัฒนางาน หาช่องทางให้ศิลปินได้เอาผลงานไปแสดงในที่ต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้คนเห็นงานมากขึ้น สร้างอาชีพไปด้วยกันได้มากขึ้น

ร่วมงานกับอนัตตาครั้งแรกใน "มังกรสลัดเกล็ด ฉบับพิเศษ"

มีที่ไหนในไทยสอน Producing บ้าง?

ปัจจุบันนี้เราว่ามีหลายมหาวิทยาลัยเลยนะที่เริ่มมีหลักสูตร Performing Arts Management ทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท ซึ่งเราว่ามันดีมาก ๆ เลยกับวงการนี้ ตอนนี้มันอาจจะยังเป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่มันจะต้องพัฒนาไปอีก เพราะถ้าเทียบกับเมื่อ 6 ปีที่แล้วที่เราเริ่มเข้ามาในวงการละครเวที เราบอกได้เลยว่าเราเห็นจำนวนของกลุ่มละครรุ่นใหม่ เราเห็นศิลปิน เห็นนักแสดงอิสระเพิ่มมากขึ้น เราว่ามันจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการพัฒนาในด้านการจัดการขึ้นแน่นอน เพราะถ้ามันจะมีหนทางให้ศิลปินสร้างงานสร้างอาชีพได้ มันก็หนีไม่พ้นเรื่องต้องมีคนมาช่วยจัดการ หาวิธี ทำยังไงให้อาชีพของเขาอยู่รอดอย่างยั่งยืน แต่ที่น่าสนใจต่อคือ จะทำยังไงให้คนที่เขาจบ Arts Management ลงมาทำงานกับละครโรงเล็กมากขึ้นล่ะ คนที่เรียนด้านการจัดการมา เขาไม่ได้มองแค่ว่ามีตัวงานให้ทำเยอะแล้วโอเคนะ เขาดูภาพรวม ดูความก้าวหน้าของอาชีพการงาน ถ้ามันไม่เวิร์ค เขาก็เลือกไปทำที่อื่นที่ให้ผลตอบแทนเพียงพอกับการใช้ชีวิตของเขาดีกว่าไหม

เราขาดแคลนโปรดิวเซอร์ไหม? ปัจจุบันคณะละครในไทยทำละครยังไงถ้าไม่มีโปรดิวเซอร์อาชีพ?

ถ้าเทียบกับจำนวนกลุ่มละครและศิลปินอิสระที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันนี้ เราว่าขาด คิดว่ามีไม่ถึง 10% ด้วยมั้งที่ในกลุ่มละครที่เกิดขึ้นมาใหม่จะมีโปรดิวเซอร์ประจำกลุ่มหรือแม้กระทั่งโปรดิวเซอร์อิสระ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักแสดง ผู้กำกับ หรือนักออกแบบ ทุกวันนี้ถ้าโปรดักชั่นไหนไม่มีโปรดิวเซอร์อาชีพ อย่างน้อยก็ต้องมีโปรดักชั่นแมเนเจอร์มาช่วยในเรื่องการติดต่อประสานงาน สวัสดิการ ขายบัตร ผู้กำกับอาจจะต้องเป็นคนเขียน Proposal ขอทุน มีคนในใจไว้แล้วว่าจะให้ใครมาเป็นนักแสดง เป็นทีมงานส่วนไหนบ้าง หนักหน่อยก็จะต้องทำประชาสัมพันธ์ไปด้วยแล้วก็ให้คนในกลุ่มละครหรือเพื่อนสนิทมาช่วยๆ กันเหมือนกิจการในครอบครัว

Screen Shot 2019-11-08 at 12.26.59 AM.png

ร่วมงานกับกลุ่มละครบีฟลอร์ "Ceci n'est pas la politique"

ความท้าทายในการโปรดิวซ์ในไทยคืออะไรบ้าง?

โปรดิวเซอร์เป็นตัวกลางระหว่างระหว่างศิลปินกับผู้ชม ความท้าทายของการทำงานหลัก ๆ คือ ความเข้าใจในเนื้องานในสารที่ศิลปินต้องการ และการสื่อออกไปให้คนดูรับรู้ เพราะสิ่งที่เราจะไปเสนอให้คนดูมันไม่ใช่สินค้าอุปโภคบริโภคที่คนซื้อเขาจะจับต้อง ลองใช้ ลองชิมได้มันเป็นเรื่องของคุณค่าทางจิตใจทางความคิด เรื่องของประสบการณ์ชีวิตที่เขาจะได้เจอก็ตอนที่จ่ายเงินเข้ามาดูแล้ว ศิลปินละครโรงเล็กส่วนใหญ่ทำงานออกมาซักชิ้นเพราะอะไร เพราะเขาต้องการที่จะแสดงออก สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของเขาในเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตที่เขาเจอ บางครั้งมันไม่มีคำตอบตายตัวด้วยซ้ำว่า ดูแล้วได้อะไร เราซึ่งเป็นตัวกลาง จะทำยังไงให้คนจ่ายเงินมาดูงานที่เป็นการแสดงออกทางความคิดของคนอื่นในช่วงเวลา 1 - 2 ชั่วโมงแล้วหมดไป ถ้าเขาไม่ได้สนใจจริง ๆ หรือชอบเสพศิลปะอยู่แล้ว มันท้าทายมากนะ กลุ่มคนดูที่ชอบงานศิลปะ ชอบการแสดงมันมีอยู่แล้วก็จริง แต่มันมีมากพอที่จะมาเติมเต็มที่นั่งคนดูของทุก ๆ รอบการแสดงให้เราไม่ขาดทุนไหม มันคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของคนดูทั้งหมดที่เราต้องการ จะสื่อสารยังไงให้คนที่เขาไม่ได้รู้จัก หรือชอบดูละครเวทีจ่ายเงินมาเติมเต็มเก้าอี้ว่างที่เหลือ

ถ้ามองในมุมมองของคนดู ละครเวทีแพงนะ ไปดูหนังในโรงภาพยนต์ จ่ายเงินไม่เกิน 300 ก็ได้นั่งเก้าอี้นวมดี ๆ แอร์เย็น ๆ ดูหนังโปรดักชั่นหลักล้าน แต่ถ้ามองในมุมคนทำงาน ละครเวทีถ้าคิดราคา 300 นี่คือต้องมีจำนวนคนดูกี่ร้อยคน ต้องแสดงกี่รอบ ถึงจะเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ยิ่งแสดงหลายรอบก็ยิ่งเพิ่มค่าใช้จ่าย ความเป็นไปได้มันน้อยมาก บัตรละครเวทีแต่ละเรื่องสมัยนี้ส่วนใหญ่ก็เริ่มที่ 500 - 600 แล้วคิดง่าย ๆ คือ ดูหนังได้ 2 เรื่อง หรือกินชาบูดี ๆ ได้มื้อนึง คือถ้ายังไม่สามารถทำให้คนดูกลุ่มใหม่เปิดใจรับหรือเห็นคุณค่าของละครโรงเล็กได้ ก็แสตนด์บายตั้งรับได้เลยว่าจะเท่าทุนหรือขาดทุน อันนี้มองในโปรดักชั่นขนาดกลางขึ้นไปนะ

ในแง่ของตัวงานเราว่างานของศิลปินไทยหลาย ๆ คนดีมากนะ แต่คนดูละครเวทีโรงเล็กในไทยมันยังน้อยอยู่ถ้าเทียบกับจำนวนงานที่เกิดขึ้น Demand กับ Supply มันไม่ตอบโจทย์กัน การประชาสัมพันธ์มีส่วนสำคัญมาก ๆ อย่างที่บอกไปว่าเราไม่ได้ขายสินค้าอุปโภค บริโภคการที่จะทำให้คอนเทนต์ของเราเข้าถึงคนดูกลุ่มใหม่ต้องใช้คนที่ทำงาน PR โดยเฉพาะและเงินค่อนข้างมาก แล้วละครโรงเล็กมีคนทำงาน PR โดยเฉพาะหรือมีเงินขนาดนั้นไหม ถ้าเงินตั้งต้นไม่พอก็ต้องขอทุน ทุนภาครัฐก็ไม่เพียงพอกับจำนวนงานที่เกิด ไปขอทุนภาคเอกชนงานคุณก็ต้องแมสพอที่จะทำให้เขาอยากลงทุนให้สินค้าหรือบริการของเขาเข้าถึงผู้บริโภคได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มาในรูปของเม็ดเงินด้วย แต่เราต้องการเงิน ทำไงละทีนี้ ท้าทายสุด ๆ

เรื่องคุณค่าของศิลปะการแสดงโดยเฉพาะละครเวทีมันก็ต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐเหมือนกัน หน่วยงานรัฐบาลสำคัญนะ เพราะเขาเข้าถึงประชาชนได้เป็นกลุ่มใหญ่ ถ้าภาครัฐทำให้คนไทยเห็นคุณค่าของศิลปะการแสดงของนาฏยศิลป์ไทย การแสดงดั้งเดิมตามขนบแบบไทยได้ เราก็เชื่อว่าภาครัฐก็ควรจะต้องสนับสนุน ดึงคุณค่าของศิลปะการแสดงร่วมสมัยออกมาให้คนทั่วไปได้รู้จักให้มากพอด้วยเช่นกัน เวลามันเดินไปข้างหน้า การพัฒนามันต้องเกิด จะอนุรักษ์อย่างเดียวโดยไม่พัฒนามันไม่ได้

ร่วมงานกับ "Bangkok International Performing Arts Meeting (BIPAM)"

ทำไงเราถึงจะมีโปรดิวเซอร์มากขึ้น

มันคงจะดีถ้ามีกลุ่มคนหรือหน่วยงานไม่ว่าจะภาครัฐหรือเอกชนเข้ามาสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมในการสร้างหรือพัฒนาบุคคลากรด้านนี้อย่างยั่งยืน ให้คนทำงานมีที่พึ่ง มีบ้าน มีที่ปรึกษา เวลาที่เจอปัญหา ต่าง ๆ ในการทำงาน ถ้าต้องทำงานเหมือนงมเข็มไปเรื่อย ๆ อยู่คนเดียวมันก็ท้อก็หมดหวังกับอาชีพกันได้

เล่าถึง POTPAN ให้ฟังหน่อย

POTPAN ย่อมาจาก Producers of Thai Performing Arts Network จุดเริ่มต้นมันมาจากคำถามที่เราถามกับตัวเองว่า จะทำยังไงให้เรายังทำงานตรงนี้อยู่ไปได้เรื่อย ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน หลังจากที่เราได้ไปร่วมโครงการ Next Generation : Producing Performing Arts 2018 ของ Japan Foundation Asia Center เราก็ได้ไปเห็น ได้ไปพูดคุยกับศิลปิน ผู้กำกับ นักแสดง โปรดิวเซอร์ คิวเรเตอร์ในวงการศิลปะการแสดงจากประเทศอื่นๆ ว่ามันเป็นอย่างไร เขามีการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลเพื่อต่อยอดองค์รวมของศิลปะการแสดงของพวกเขากันอย่างไร เราก็มองกลับมาที่บ้านเราแล้วรู้สึกว่า เราเห็นกลุ่มละคร เราเห็นกลุ่มศิลปิน เราเห็นเวิร์คช็อป เสวนาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการแสดง การกำกับ การออกแบบแสง แต่เราไม่ค่อยเห็นกลุ่มคนหรือคอมมิวนิตี้ที่เราสามารถมาแบ่งปันประสบการณ์ ฝึกทักษะ หรือเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการให้คนที่สนใจงานโปรดิวเซอร์เลย ก็ได้คุยกับเชอรีนา ญาดามิน แจ่มสุกใส (Producer and I) แล้วก็เห็นเหมือนกันว่ามันต้องมีกลุ่มแบบนี้ในบ้านเราให้ได้ แต่เราทั้งคู่ก็ใหม่กับการทำอะไรแบบนี้ เลยไปปรึกษาปูเป้

ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ (Artistic Director, BIPAM) ให้มาทำด้วยกัน ชวนเพื่อนที่ทำเทศกาลละครมาคุยกัน ในที่สุดมันก็เกิดเป็น POTPAN ขึ้นมาเมื่อต้นปี 2019 เราเปิดรับสมัครสมาชิก วางแผนไว้ว่าในแต่ละเดือนเราจะทำกิจกรรมอะไรบ้าง เช่น แลกเปลี่ยนการทำงานระหว่างโปรดิวเซอร์ด้วยกัน พูดคุยกับผู้กำกับการแสดงหรือศิลปินถึงสิ่งที่เขาต้องการจากโปรดิวเซอร์ จัดคอร์สเรียนเกี่ยวกับการทำประชาสัมพันธ์ ทำเวิร์คช็อปเกี่ยวกับการหาทุน จัดสรรงบประมาณ เป็นต้น แต่ตอนนี้มันยังไม่เป็นคอมมิวนิตี้ที่มีกิจกรรมหรือแอคทีฟอย่างที่เราคิดกันไว้ เพราะสมาชิกแต่ละคนก็ยังคงมีงานประจำ มีหน้าที่หลักของตัวเองที่จะต้องทำ แต่เราเองยังไม่หมดหวังกับโปรเจ็คนี้นะ จะทำให้มันเกิดอย่างจริงจังขึ้นมาให้ได้

 

ผู้เขียน : พิไลพรรณ ธรรมมิตร

จบการศึกษาระดับปริญาตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการละคอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญาโทจากวิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล เคยร่วมงานกับเดโมเครซีเธียเตอร์สตูดิโอ กลุ่มละครอนัตตา กลุ่มละครบีฟลอร์ เบบี้ไมม์ และเทศกาลการแสดงต่าง ๆ เช่นเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็ก เทศกาลละครกรุงเทพฯ และเทศกาลศิลปะบูโตนานาชาติ ปัจจุบัน ร่วมงานกับ Bangkok International Performing Arts Meeting (BIPAM) เป็นผู้ก่อตั้ง Producers of Thai Performing Arts Network (POTPAN) และมีความสนใจเกี่ยวกับ Audience Development

พื้นที่กับการพัฒนาของละครเวทีอย่างยั่งยืน

(เผยแพร่ครั้งแรกในเวปไซต์เทศกาลละครกรุงเทพ 2019)

เทศกาลลักษณะ Fringe ได้มอบมิติของคำว่าพื้นที่ในรูปแบบใหม่ เพื่อบอกล่าวว่าละครเวทีนั้นมีอยู่ได้ทุกที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงละครเพียงอย่างเดียว เทศกาลละครกรุงเทพเมื่อครั้งอยู่ที่ท่าพระอาทิตย์ บางลำพูก็ริเริ่มด้วยแนวคิดในลักษณะเดียวกัน

Screen Shot 2019-11-08 at 12.08.05 AM.png

ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ว่าทุกผลงานเหมาะกับทุกสถานที่ ผู้เขียนเชื่อว่าหากละครได้ถูกจัดแสดงอย่างถูกที่ถูกทาง ละครเรื่องนั้นก็จะมอบศักยภาพสูงสุดของมันให้แก่ผู้เสพ ละครบางเรื่องอาจต้องการห้องมืด บ้างต้องการโปร่ง บ้างต้องการพื้นไม้ บ้างต้องการ semi-closure บ้างต้องการoutdoor ฯลฯ พื้นที่จึงมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแยกออกจากกันไม่ได้กับการพัฒนาของละครเวที

ในความสงสัยของผู้เขียนคือ พื้นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาละครไทยหรือไม่? เพื่อหาคำตอบดังกล่าว ผู้เขียนได้ลองสืบค้นรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ ศิลปิน และการผลิตละครเวทีที่ผ่านมาพบว่าความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่นั้นเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกระจายตัวและการรับรู้ด้านละครเวที

หลังจากยุคของมณเฑียรทองเธียเตอร์ที่เป็นโรงละครแบบ lounge bar จนเกิดเป็นกระแสและเป็น community ใหม่สำหรับผู้รักละครเวที คงต้องกล่าวถึงศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมแสงอรุณและโรงละครกรุงเทพ ทั้ง 2 สถานที่ได้ใช้รูปแบบมอบพื้นที่และทุนให้แก่ศิลปินได้สร้างละครเวทีนอกกระแส ที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ โดยมากละครลักษณะนี้ไม่ได้ต้องการโรงละครขนาดใหญ่ เพราะตัวงานต้องการความใกล้ชิดผู้ชมต่อรอบไม่เกิน 20-100 ที่นั่ง ต้องการ space ที่ปรับเปลี่ยนได้ โรงละครขนาดเล็กยังใช้ทุนไม่สูงจนเกินกำลังอีกด้วย การให้ทั้งพื้นที่และทุนแก่ศิลปินถือเป็นการลงทุนที่เอื้อเฟื้อ โมเดลนี้จึงไม่สามารถจัดสรรให้เป็นไปได้นานเพราะต้องใช้ทุนจำนวนมาก

กลุ่มละครที่มีความแข็งแรงต่างต้องการความมั่นคงในการสร้างงาน เมื่อปัจจัยด้านพื้นที่เป็นปัจจัยหลัก กลุ่มจึงลงทุนหาพื้นที่ที่เป็นของตนเ กลุ่มละครมายาจึงริเริ่มลงทุนสร้างโรงละครขนาดเล็กเรียกว่า มายาบ๊อกซ์ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากโรงละครโรงเล็กของญี่ปุ่น กล่าวคือ การดัดแปลงพื้นที่บ้าน, ห้องแถว หรือห้องใดห้องหนึ่งในอาคารในกลายเป็นโรงละครขนาด 20 ที่นั่งขึ้นไป นอกจากนี้ ยังมี โรงละครมรดกใหม่ที่ตึกช้างและ RCA, ช้าง เธียเตอร์ที่ตึกช้างก่อนย้ายไปประชาอุทิศ ฯลฯ การมีพื้นที่ส่วนตัวทำให้ศิลปินสร้างและพัฒนางานของกลุ่มให้ต่อเนื่องนอกจากนี้ กลุ่มละครยังสามารถใช้พื้นที่นี้เป็นออฟฟิศ เป็นจุดรวมตัว จุดนัดพบ เป็น lab ให้ลองผิดลองถูกหรือฝึกฝนศิลปินใหม่ และเป็นcommunity ของกลุ่ม และคนรักละครเวที

ผลพวงของเทศกาลละครกรุงเทพซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2545 คือ ทำให้กลุ่มละครนอกกระแสเริ่มก่อตัวกันแน่นแฟ้น ทำละครเวทีกันเป็นอาชีพมากขึ้น และมีโรงละครในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกมากมาย เช่น 8X8 คอร์เนอร์ที่สามย่าน, พระจันทร์เสี้ยวและB-Floor ที่สถาบันปรีดีพนมยงค์ และโรงละครมะขามป้อมที่สะพานควาย ฯลฯ ส่วนใหญ่แล้วโรงละครจะผูกอยู่กับกลุ่มละครนั้นๆ แต่กลุ่มอื่นก็สามารถเข้าใช้ได้ในลักษณะเช่า

Screen Shot 2019-11-08 at 12.09.08 AM.png

ไร้พำนัก by 8x8 Theatre @ 8x8 Corner

Screen Shot 2019-11-08 at 12.10.02 AM.png

นางนากเดอะมิวเซียม by New Theatre Society @ MKP Studio

Screen Shot 2019-11-08 at 12.10.36 AM.png

24 Festival by Crestent Moon Theatre @ Cresent Moon Space

Screen Shot 2019-11-08 at 12.13.09 AM.png

A Nowhere Place by Anatta Theatre @ B-Floor Room

นิกร แซ่ตั้งกลุ่มละคร 8x8 กล่าวว่า

space เป็นความมั่นคงในการสร้างงานของศิลปิน เป็นความมั่นคงทางจิตวิญญาณ ไม่ต้องมาคอยคิดว่าจะทำสิ่งนี้ที่ไหน พร้อมทำงานได้ทันทีในยุค “โรงละครห้องแถว” นี้ทำให้ละครเวทีเป็นไปอย่างคึกคัก มีศิลปินหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย

อีกรูปแบบหนึ่งของการบริหารจัดการพื้นที่ ได้มีการเกิดขึ้นของ space โดยที่ไม่ผูกติดกับกลุ่มละคร กล่าวคือ เป็น space ให้เช่าเต็มตัว เช่นDemocrazy Theatre Studio, Creative Industry, Syrup Theatre, Bluebox Studio ฯลฯ โดยสถานที่อาจให้เช่าอย่างเดียวหรือเป็นผู้ผลิตงานด้วยเช่นกัน จึงเกิดเป็นมิติใหม่ว่ากลุ่มละครที่ไม่มีพื้นที่ของตนเองก็สามารถมีสถานที่ที่เข้าใจและเหมาะสมกับการทำงานละครเวที ทำให้เมื่อศิลปินจะสร้างงานก็จะนึกถึงสถานที่เหล่านี้เป็นสถานที่แรกๆ เกิดเป็น community ในอีกช่องทางหนึ่ง

Screen Shot 2019-11-08 at 12.14.42 AM.png

Girl X by Democrazy Theatre @ Democracy Theatre Studio

Screen Shot 2019-11-08 at 12.15.11 AM.png

Woyzeck by Cresent Moon Theatre @ Creative Industries

Screen Shot 2019-11-08 at 12.15.35 AM.png

Rx3 by Life Theatre @ BlueBox Studio

อย่างไรก็ตาม การเช่า space อาจจะไม่ใช่โมเดลที่ดีต่อใจกับกลุ่มละครหน้าใหม่เท่าไหร่นัก เพราะไหนจะต้องสู้รบกับคุณภาพของชิ้นงาน, การสร้างฐานผู้ชม และความไม่แน่นอนของรายได้ ฯลฯ ภาระค่าใช้จ่ายด้านค่าเช่าจึงเป็นภาระก้อนใหญ่เกินตัว กลุ่มละคร Qrious Theatre กล่าวว่า

งบค่าสถานที่ทั้งซ้อมและแสดงเป็นงบกว่า 50% ของงบประมาณทั้งหมดหากเราไม่ได้รับการสนับสนุน โปรเจ็คละครเรื่องนั้นก็จะได้กำไรยากดังนั้น นโยบายของกลุ่มจึงมุ่งตามหา partner ที่สนับสนุนสถานที่ซ้อมการแสดงและจัดแสดง หากหาได้ ไม่ว่าจะฟรีทั้งหมดหรือในราคาถูก ก็จะช่วยลดงบประมาณก้อนนี้ลงไปได้มาก ในทางตรงกันข้าม สตูดิโอเองก็ต้องต่อสู้กับค่าเช่าและบริหารให้สตูดิโออยู่ได้อย่างยั่งยืนเช่นเดียวกัน

เมื่อไม่นานมานี้ เราคงได้ยินข่าวการปิดตัวลงของ studio และโรงละครขนาดเล็กหลายแห่งในช่วงเวลาพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะด้วยปัญหาด้านการเงินหรือการเปลี่ยนนโยบายของผู้เช่า แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบกับเสถียรภาพของกลุ่มศิลปินทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ทั้งในแง่การดำเนินงานของกลุ่มเอง หรือพื้นที่ที่เป็นเสมือน community ของคนรักละครเวทีที่ลดน้อยลง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ศิลปินหยุดตัวเองจากการสร้างสรรค์ผลงาน

ผู้เขียนลองถามศิลปินจำนวนหนึ่งว่าระหว่างพื้นที่จัดแสดงกับพื้นที่สำหรับพัฒนาผลงาน พื้นที่ไหนที่พวกเขาต้องการมากกว่ากัน ทุกท่านต่างตอบว่า แน่นอนว่าต้องเป็นพื้นที่ที่ใช้พัฒนาผลงาน เพราะเราไม่รู้เลยว่าผลงานแต่ละเรื่องต้องการเวลามากน้อยขนาดไหนและศิลปินต้องการพื้นที่ที่จะลองผิดลองถูกก่อนงานจะจัดแสดงได้

ปัจจุบัน กลุ่มละครต้องบริหารจัดการงบประมาณตามความเป็นจริง กล่าวคือ มีกำลังจ่ายค่าห้องซ้อมเท่าไหร่ก็จัดตารางซ้อมตามนั้น ซึ่งย่อมส่งผลทางอ้อม กล่าวคือ ตัวผลงานไม่ได้ถูกพัฒนาอย่างที่มันควรจะเป็น หากใช้งบประมาณจำนวนมากก็จะส่งผลมาที่การจัดเก็บราคาบัตรที่แพงขึ้นซึ่งก็ไม่สอดคล้องกับกำลังจ่ายของผู้ชม ธีระวัฒน์ มุลวิไล กลุ่มละคร B-Floor ให้สัมภาษณ์กับรายการ Bangkok Offstage ว่า

พื้นที่สำหรับซ้อมหรือสร้างงานเป็นปัจจัยพื้นฐานที่รัฐสามารถมอบให้แก่ศิลปินได้ มันควรจะ public access นี่คือการ support ในเชิงสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่ใช่เม็ดเงินเพียงอย่างเดียว

ประดิษฐ ประสาททอง เลขาธิการเครือข่ายละครกรุงเทพ เสริมในประเด็นนี้ว่า

บางครั้งพื้นที่สาธารณะหรือส่วนกลางที่อนุญาตก็ไม่รองรับความต้องการของศิลปิน ด้วยกฎเกณฑ์ที่ไม่ยืดหยุ่น ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของวงการ เช่น ห้ามใช้เกิน 21.00 น. ซึ่งศิลปินส่วนใหญ่มักซ้อมละครได้ตอนกลางคืนเพราะกลางวันต่างทำงานประจำ หรือห้ามเสียงดังเพราะห้องที่ใช้ได้ไม่เก็บเสียง ซึ่งเป็นไปได้ยาก เพราะการซ้อมละครต้องใช้เสียงบ้าง อาจต้องทดลองกับเสียงดนตรีเสียด้วยซ้ำ เป็นต้น ข้อเท็จจริงอาจจะเป็นแบบนั้นเพราะมันเป็นสิ่งที่สร้างรายได้ แต่ผมไม่เคยมองแบบนั้น เพราะสิ่งที่ผมใช้เวลากับมันอย่างเต็มที่และมี Passion กับมันเสมอคือการกำกับและแสดงละครเวที สำหรับผมอาชีพคือสิ่งที่เราใช้เวลากับมันมากกว่าและเห็นภาพตัวเองชัดเจนว่าจะทำมันไปตลอดชีวิต การมี Second Job ไม่ทำให้เวลาการทำละครเวทีของผมลดลงเลยเพราะผมไม่ยอม เลยดันไปเบียดเบียนเวลาพักผ่อนและเวลาที่อยู่กับครอบครัวแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมต้องแลก

แล้วโมเดลในลักษณะใดตอบโจทย์กับการทำงานแบบละครเวทีมากที่สุด ประดิษฐให้ความเห็นว่า

เมื่อประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบัน สถานที่ควรมีความยืดหยุ่นด้านเวลา ด้านการรองรับการทดลองงานในรูปแบบต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ที่ตกลงกันระหว่างเจ้าของพื้นที่และศิลปิน ให้อิสระในการสร้างผลงาน และสุดท้ายคือด้านงบประมาณที่เป็นไปได้จริงกับกลุ่มละครขนาดเล็ก

Screen Shot 2019-11-08 at 12.17.53 AM.png

Bangkok Theatre Festival 2018 @ BACC

BACC เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่เข้าใจการทำงานของศิลปินด้านละครเวที ได้มอบพื้นที่การซ้อมและจัดแสดงให้แก่ศิลปินละครเวที รวมถึงจัดเทศกาลอย่างเทศกาลละครกรุงเทพ หรือเทศกาลอันเกี่ยวกับศิลปะการแสดงอีกหลายเทศกาล โมเดล partner ในลักษณะนี้ถือเป็นโมเดลที่ส่งเสริมศิลปินให้ทำงานอย่างยั่งยืนได้

เฉพาะการสำรวจด้านพื้นที่เพียงอย่างเดียวก็พบว่าการเติบโตและพัฒนางานนั้นเป็นไปอย่างสอดคล้องกัน ในช่วงเวลาที่ศิลปินมีพื้นที่ของตนเองนอกจากจำนวนผลงานที่เป็นที่ประจักษ์แล้ว ยังมีการจัด workshop อีกมากมาย รวมถึงเป็นความมั่นคงทางจิตใจของศิลปินด้วย

พื้นที่คงไม่ใช่ปัจจัยเดียว ศิลปะจะเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนจำต้องพึ่งพาการอุ้มชูกันทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงข่าวสาร สื่อกระแสหลักด้านศิลปวัฒนธรรม การศึกษาศิลปะ นโยบายที่สนับสนุนคนทำงาน สร้างบุคลากรด้านการบริหารจัดการ ที่จะส่งเสริมให้ศิลปะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน จะเห็นได้ว่าในระบบนิเวศของศิลปะนั้นมีมากกว่าศิลปิน ฉะนั้นคงไม่ใช่หน้าที่ใครคนใดคนหนึ่งหรือการพึ่งพารัฐทางเดียวไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเอกชนหรือในระดับบุคคลก็ร่วมผลักดันได้ในแบบของตัวเอง

 

ข้อมูล

รายการ Bangkok Offstage (podcast)

ประดิษฐ ประสาททอง (สัมภาษณ์)

นิกร แซ่ตั้ง (สัมภาษณ์)

กลุ่มละคร Qrious Theatre (สัมภาษณ์)

 
Screen Shot 2019-11-08 at 12.19.08 AM.png

ผู้เขียน : เพียงดาว จริยะพันธุ์

เริ่มเข้ามาในวงการละครเวทีตั้งแต่มัธยมปลาย แสดงละครเวทีนอกโรงเรียนครั้งแรกที่เทศกาลละครกรุงเทพครั้งที่ 3 ด้วยความชอบและหลงใหลจึงศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและโทที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบัน ทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังและเป็นหนึ่งในคณะทำงานของมูลนิธิละครไทย

จบแล้วจะทำงานอะไร?

(เผยแพร่ครั้งแรกในเวปไซต์เทศกาลละครกรุงเทพ 2019)

หลายคนเจอคำถามนี้ในช่วงใกล้จะเรียนจบ แต่สำหรับนักเรียนละคร เราเจอคำถามนี้ตั้งแต่ปีแรกๆ ที่เข้าเรียนเลยด้วยซ้ำ และผมก็ตอบคำเดิมๆ ซ้ำๆ อยู่เสมอ  “ ทำละครเวทีครับ

ผมตอบแบบนี้เสมอมาตั้งแต่ตอนเรียนอยู่เอกศิลปะการแสดง สาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนจบมา 5 ปีกว่า ผมดีใจที่ยังพูดคำนี้อยู่ ครั้งแรกที่ตอบแบบนี้ย้อนไปตอนเป็นนักศึกษาปีที่ 2 ที่ตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าเราจะยึดวิชาที่ร่ำเรียนเป็นอาชีพต่อไปในอนาคต จึงมุ่งมั่นแสดงละครเวทีตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จุดเริ่มต้นการเป็นนักแสดงจริงๆ น่าจะตั้งแต่ผมเรียนอยู่ปี 3 ที่ได้มีโอกาสร่วมแสดงกับศิลปินมืออาชีพนอกมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกอย่าง “พระคเณศร์เสียงา” โดย Pichet Klunchun Dance Company และเป็นนักแสดงให้ละครคณะประจำปี 2556 ที่ออกสู่สายตาวงกว้างอย่าง Physical Theatre เรื่อง “ไต้ฝุ่น: The Remains” กำกับโดย ธีระวัฒน์ มุลวิไล (คาเงะ B-Floor) ตอนผมอยู่ปี 4 ในอีกหนึ่งปีให้หลังก็มีโอกาสเอาผลงานของตัวเองออกสู่สายตาสาธารณะใน Take-Off Festival เรื่อง Covertal (โคเวอทาล)

Screen Shot 2019-10-27 at 1.35.15 AM.png

กวิน ในการแสดงเรื่อง “ไต้ฝุ่น: The Remains” (2556)

รูปภาพโดย ชนิดา ปัญญาเนรมิตดี

Screen Shot 2019-10-27 at 1.35.27 AM.png

กวิน ในการแสดงเรื่อง

“Covertal” (2557)

รูปภาพโดย พลัฏฐ์ สังขกร

ก้าวแรกที่จบออกไป เราต้องเป็นนักแสดง Professional "




อาจารย์วัสสาวดี วัฒนสุวรรณ ครูผู้สอนผมเคยบอกเอาไว้ตอนผมอยู่ปี 2 และผมยึดคำนี้เป็นพลังตลอดเวลาที่ผมเรียน และจบออกมาด้วยไฟการทำละครที่แรงแบบลุกท่วมตัว

เรื่องแรกที่ได้เล่นหลังเรียนจบเป็นละครโรงเล็กครั้งแรกของผม เรื่อง Compassion ผมระเบิดไฟนั้นเต็มห้องซ้อม จน Robin Schroeter ผู้กำกับของผมตอนนั้นต้องบอกผมว่า “เล่นให้แรงมันพอดีห้องหน่อย” เป็นเหมือนระฆังที่ดังในใจว่าให้ใจเย็นๆ ไฟที่ลุกท่วมทำให้ลืมบทเรียนพื้นฐานนี้ไปได้อย่างไร “เล่นให้มันพอดีพื้นที่” ก็เลยปรับไฟของตัวเองให้เข้าที่เข้าทางแล้วค่อยๆ หายใจ

สิ่งที่ท้าทายในการเป็นนักละครหน้าใหม่ แน่นอนคือพี่ๆ ทุกคนเก่งมาก (มากแบบน้ำตาไหล) และมีเอกลักษณ์สูง นอกจากเทคนิคการแสดงแล้ว ผมรู้สึกว่าสิ่งหนึ่งที่ควรพัฒนาและคำนึงถึงคือ “เอกลักษณ์” นอกจากเล่นให้ดี การเป็นที่จดจำเป็นสิ่งที่ดี เมื่อทำไปได้สักพักผมก็กลั่นประโยคใหม่ส่วนตัวไว้เป็นพลัง ทำยังไงก็ได้ ให้มีแค่กวินเท่านั้นที่เล่นแบบนี้ได้ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำได้ตามที่คิดไหม) หลังจากทำละครอย่างเดียวได้ 1 ปี พ่อกับแม่เริ่มถามว่า เอาเงินจากไหนใช้ถ้าทำแบบนี้ไปตลอดแล้วจะอยู่ยังไงลูกบวกกับผมเริ่มประสบปัญหาเงินหมด จึงต้องหา Second Job เพื่อประทังความเป็นอยู่ เลยตัดสินใจพัฒนาความสามารถอื่นที่พอจะเคยทำบ้างสมัยเรียนอย่าง “การตัดต่อวีดิโอ” ให้เก่งขึ้นจนมันทำเงินได้ และทำมันจนถึงปัจจุบัน งั้นอาชีพตอนก็เป็นช่างตัดต่อวีดิโอสิ” ข้อเท็จจริงอาจจะเป็นแบบนั้นเพราะมันเป็นสิ่งที่สร้างรายได้ แต่ผมไม่เคยมองแบบนั้น เพราะสิ่งที่ผมใช้เวลากับมันอย่างเต็มที่และมี Passion กับมันเสมอคือการกำกับและแสดงละครเวที สำหรับผมอาชีพคือสิ่งที่เราใช้เวลากับมันมากกว่าและเห็นภาพตัวเองชัดเจนว่าจะทำมันไปตลอดชีวิต การมี Second Job ไม่ทำให้เวลาการทำละครเวทีของผมลดลงเลยเพราะผมไม่ยอม เลยดันไปเบียดเบียนเวลาพักผ่อนและเวลาที่อยู่กับครอบครัวแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมต้องแลก

Screen Shot 2019-10-27 at 1.38.03 AM.png

กวิน ในการแสดงเรื่อง Lang-Kao การแสดงที่ร่วมมือกันระหว่าง

ศิลปินไทยและญี่ปุ่น จัดแสดงที่จังหวัด Saitama

รูปภาพโดย: Kirari Fujimi Cultural Centre

ปัจจุบันเพื่อนที่เรียนละครมาด้วยกันแยกย้ายกันไปทำอาชีพต่างๆ มีเพียง 4 คนจาก 27 คนที่ยังทำอยู่ และเป็นแบบนี้ในทุกๆ รุ่น เวลาคือสิ่งที่จะตอบเราว่าเราเหมาะสมกับอะไร จบการละครไม่จำเป็นต้องทำละคร 

เพื่อนเขียนบทมือฉมังของผมและอีกหลายคน เป็นแอร์โฮสเตส เพื่อนผู้กำกับของผมดูแลธุรกิจที่บ้าน เพื่อนนักแสดงที่น่าจับตามองสมัยเรียนของผม ทำงานในบริษัทธุรกิจที่ใหญ่โต ทุกวันนี้มีเพื่อนแค่ไม่กี่คนที่ยังแวะเวียนมาดูการแสดงของผม แต่นั่นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะละครไม่ได้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของเขา ผมไม่เรียกร้องให้เพื่อนมาดูงานของผม ถึงแม้จะเป็นงานที่ทำขึ้นมาอย่างยากลำบากและสร้างความภาคภูมิใจให้กับผมมากแค่ไหนก็ตาม เพราะในขณะเดียวกันที่เพื่อนเราทำงานเป็นแอร์โฮสเตส เราก็ไม่สามารถไปที่สนามบินเพื่อให้กำลังใจเขาได้เช่นกัน ทุกคนใช้ความรู้ด้านละครที่เรียนมาเพื่อทำสิ่งที่ตัวเองมีความสุข ซึ่งเป็นสิ่งถูกต้อง ศิลปินการละครก็เป็นเพียงอาชีพหนึ่ง แค่แวะเวียนกันมาดูตามที่ใจตนเองอยากมา แค่นั้นก็ชื่นใจแล้ว

พอเอาเรื่องนี้มาคิดต่อ มันยากมากที่จะตอบว่าแล้วทำยังไงศิลปะการแสดงถึงจะตอบโจทย์ต่อสังคมไทย พวกเราพยายามช่วยทำทีละนิดๆ ตามความสามารถที่วงการละครไทยจะทำได้ ผมว่าถ้าเราแทรกซึมเข้าไปในระดับมัธยมได้อีก (ซึ่งตอนนี้มีแล้ว และส่วนหนึ่งก็พยายามอย่างเต็มที่) นอกจากสอนการสร้างศิลปะแล้ว ถ้ากระทรวงศึกษาธิการสอนการดูศิลปะด้วย อาจทำให้ผู้คนในสังคมเห็นความสำคัญของมันมากกว่านี้มาก ซึ่งมันสำคัญนะ ถ้าจะให้บอกว่าสำคัญอย่างไรก็เขียนกันอีกยาว

 
Screen Shot 2019-10-27 at 1.38.37 AM.png

ผู้เขียน : กวิน พิชิตกุล ศิลปินละครเวทีจากกลุ่ม Dee-ng Theatre ที่ผลิตผลงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลงานทั้งในและต่างประเทศ 

Screen Shot 2019-10-27 at 1.38.42 AM.png

กวินเป็นหนึ่งในศิลปินไทยในโครงการ Kirari Fujimi x Southeast Asia vol.1 โดย Kirari Fujimi Foundation ในผลงาน "หลังเขา" (Collaboration Performance) ในปี 2018 กวินสนใจและมีทักษะการแสดงในหลายรูปแบบ ทั้งละครพูด, Physical Theatre, Devising Performance, Puppet และ Butoh

Fringe Theatre Festival

(เผยแพร่ครั้งแรกในเวปไซต์เทศกาลละครกรุงเทพ 2019)

พวกเราหลายคนคงเคยผ่านหูผ่านตาคำว่า Fringe Festival กันมาบ้าง เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมต้อง Fringe

66b86a_cb64528383164f00a0e137868d1a1988~mv2_d_4288_2848_s_4_2.jpg

Fringe

คำคำนี้หมายถึงอะไร เป็นชื่อเทศกาลเฉยๆงั้นหรือ ทำไมหลายประเทศถึงตั้งตามๆกันโดยใช้ชื่อเดียวกันนี้ อะไรหรือคือตัวตน จุดยืน อุดมการณ์ และจิตวิญญาณของความเป็น “ Fringe ” อย่างไรก็ตาม ก็มีบางคนกล่าวว่า ถ้าต้องมาจำกัดความหมายของคำว่า Fringe ภายในคำไม่กี่คำแล้วล่ะก็ ความ “ Fringe ” ก็จะหายไปเพราะธรรมชาติของ “ Fringe ” นั้นต้องไม่ถูกปิดกั้นหรือถูกกรอบเอาไว้

Fringe

ความหมายตรงตัวแปลว่า ริม ขอบ ชายขอบ ซึ่งคำนี้น่าจะมีความหมายอยู่ตรงข้ามกับคำว่า mainstream หรือ กระแสหลัก นั่นเอง 

66b86a_007a041062f4407faaa9bbd29a42e686~mv2_d_4288_2848_s_4_2.jpg

ถ้าเราจะหาความหมายกันจริงๆ อาจสรุปได้ว่า Fringe Festival หมายถึง เทศกาลศิลปะที่มีลักษณะพิเศษตรงความเปิดกว้าง ไม่แบ่งแยก ไม่ตัดสิน ใครๆก็เข้าร่วมได้ ไม่ว่าศิลปินอาชีพ สมัครเล่น หรือนักเรียนนักศึกษา ไม่มีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่มาโหวตคัดออก เป็นเทศกาลที่รวบรวมการแสดงหลากแขนง ทั้งละครพูด ละครphysical โอเปร่า กายกรรม เล่นกล คาบาเรต์ ละครเด็ก การแสดงดนตรี ละครตลก เดี่ยวไมโครโฟน และอื่นๆ อะไรก็ตามที่เป็นการแสดงก็สามารถเข้าร่วมได้หมด มาไว้ในงานเดียวกันเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันทั้งระหว่างศิลปินด้วยกันเอง และศิลปิน ตัวงาน กับผู้ชม

ต้นกำเนิดของ Fringe Festival ย้อนกลับไปเมื่อราว 70 ปีก่อน ในปี 1947 ที่เมืองเอดินบะระ (Edinburgh) ขณะนั้นในเอดินบะระเพิ่งจะมีเทศกาลที่ชื่อว่า Edinburgh International Festival ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองถือเป็นเครื่องหมายแห่งความสงบหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง 

Screen Shot 2019-10-27 at 1.31.44 AM.png

​​ในเทศกาลนั้น มีกลุ่มละครอิสระ 8 กลุ่มถูกปฏิเสธ ไม่ถูกคัดเลือกให้จัดแสดงงาน แต่กลุ่มละครทั้งแปดนั้นไม่ย่อท้อต่อการตัดสินนี้ พวกเขาจัดแสดงงานอยู่บริเวณริมขอบของงานเทศกาลใหญ่นั่นเอง ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิด Edinburgh Festival Fringe เทศกาลศิลปะกลางแจ้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ทุกปีในเดือนสิงหาคม จะมีผู้คนนับพันมาแสดงงานศิลปะรูปแบบต่างๆหลากหลายในสถานที่จัดงานกว่า 200 จุดที่เมืองหลวงแห่งสกอตแลนด์นี้ ความ “Fringe” นี้มีเสน่ห์ตรงที่มันเปี่ยมล้นไปด้วยความรัก ความมุ่งมั่น และพลังของความสร้างสรรค์จากผู้คนหลากหลายที่มีจุดพ้องกันตรงที่ทุกคนมุ่งจะแสดงความคิด ตัวตน มุมมองที่มีต่อชีวิตและโลกใบนี้ผ่านการแสดงของตน 

ในเทศกาลนี้ ทุกคนไม่ว่าจะเป็นศิลปินอาชีพ นักคึกษา หรือผู้รักการแสดงที่เพิ่งก้าวเข้ามาสู่การแสดงเป็นครั้งแรกในชีวิต ล้วนมีโอกาสเท่าเทียมกันทั้งสิ้น Venue หรือที่จัดงานกว่า 200 แห่งของเทศกาล Edinburgh Festival Fringe มีทุกรูปแบบตั้งแต่โรงละครจริงจัง ไปจนถึงกลางแจ้ง ในสวนสาธารณะ บนตึกร้างในที่ว่างตามตรอกซอกซอย ในร้านอาหาร ในบาร์ ที่ไหนก็ตามที่เป็นพื้นที่ว่างพอจัดแสดงได้ พื้นที่เหล่านั้นสามารถกลายร่างกลายเป็นเป็นโรงละครได้ทั้งสิ้น 

Screen Shot 2019-10-27 at 1.31.57 AM.png

ล่วงเลยมากว่า 70 ปีจากวันที่กลุ่มละคร 8 กลุ่มผู้ไม่ถูกเลือก ไม่ยอมแพ้ต่อชะตากรรมการถูกตัดสินคุณค่านั้น Fringe ได้กลายเป็นเวทีเสรีภาพแห่งความสร้างสรรค์ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในเมืองเอดินบะระหรือในภูมิภาคยุโรปเท่านั้น แต่ได้แผ่ขยายไปทั่วโลก ปัจจุบันมีเทศกาลละครที่ตามรอยของ Edinburgh Festival Fringe กว่า 250 เทศกาล โดยมีเครือข่ายในชื่อว่า World Fringe ทำหน้าที่ให้คำแนะนำและให้การช่วยเหลือชุมชน Fringe ทั่วโลก ประเทศไทยของเราเองก็มี Fringe Theatre Festival เช่นกัน นั่นก็คือ เทศกาลละครกรุงเทพหรือ Bangkok Theatre Festival นั่นเอง 

ความ“Fringe” คือ ทุกคนมีสิทธิเข้าร่วม ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลได้ ไม่มีใครไม่ถูกเลือก ทุกการแสดงและทุกคนมีคุณค่า และที่สำคัญที่สุด อย่ายอมพ่ายแพ้ให้ใครมาตัดสินคุณค่าของเรา 

Here's to the rejected.

66b86a_f9c714e146be485f83151dbe5c8be38b~mv2.jpg

ผู้เขียน : ผศ.ดร.ปริดา มโนมัยพิบูลย์ 

จบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาการเขียนบทละคร ( Writing for Performance ) จาก University of Exeter ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาศิลปการละคร คณะ​ อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนวิชาเขียนบท ละครและการวิเคราะห์บทละคร มีผลงานเขียนบทละครเวที อย่างต่อเนื่อง

มองเส้นทางละครเวทีในอเมริกา ภายใต้การสนับสนุน (ที่ไม่ใช่เงิน) ของรัฐ

(เผยแพร่ครั้งแรกใน The Momentum)

ถ้าพูดถึงละครเวที หลายคนคงจะนึกถึงละครบรอดเวย์ในนิวยอร์กมาเป็นอันดับแรกๆ แต่กว่าจะมาเป็นบรอดเวย์ เส้นทางเป็นอย่างไรบ้าง รัฐเข้ามามีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหนในการพัฒนาให้บรอดเวย์มาถึงจุดนี้ นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจ

กฎหมายสหรัฐอเมริกามองว่าละครเวทีเป็นสินค้าสาธารณะ (public goods) เป็นสิ่งที่รัฐมีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องสนับสนุนให้มีอยู่ในสังคม เขามองงานศิลปะเป็นปัจจัยพื้นฐานในชีวิตมนุษย์ มีคุณค่ามากเท่าๆ กับน้ำประปา ไฟฟ้า หรืออากาศสะอาด ดังนั้นคณะละครเวทีจึงสามารถจดทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (nonprofit) ได้ และได้รับการยกเว้นภาษีเกือบทุกชนิด ประชาชนก็สามารถหักลดหย่อนเมื่อบริจาคให้คณะละครเวทีได้อีกด้วย โดยกว่า 60% ของคณะละครเวทีในอเมริกาก็ล้วนจดทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

ในประเทศที่ขึ้นชื่อว่าความตายกับภาษีเป็นสองสิ่งที่ไม่มีใครหนีพ้นนั้น การได้เว้นภาษีจึงเป็นการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมและมีมูลค่ามากจากภาครัฐ 

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อละครเพลงเรื่อง Hamilton ละครเพลงเรื่องนี้บัตรแพงมากจนหน้ามืดคว้าราวจับไม่ทัน แต่ก่อนจะขึ้นบรอดเวย์นั้น จริงๆ แล้ว Hamilton พัฒนามาจาก The Public Theater ที่เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร อีกเรื่องที่ตอนนี้ก็เล่นอยู่ในบรอดเวย์และมาจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเช่นกันนั่นคือ What the Constitution Means to Me

เมื่อหันกลับมาเทียบกับประเทศไทย เราก็จะพบว่าภาครัฐยังสนับสนุนละครเวทีไม่มากเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐยังไม่เข้าใจบทบาทของละครเวทีต่อสังคมมากพอ และยังไม่ตระหนักว่าละครเวทีหรือกระทั่งศิลปะแขนงอื่นๆ ก็ตาม มีคุณค่าต่อสังคมมากกว่าแค่ในเชิงเศรษฐกิจ 

ศิลปะมีส่วนสำคัญมากในการพัฒนามนุษย์ อเมริกาจากเดิมที่มียุทธศาสตร์ชาติสนับสนุนการเรียนการสอนสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (Science, Technology, Engineering, and Math หรือ STEM) ปัจจุบันเริ่มมีการบรรจุศิลปศาสตร์ (Arts) ลงไปในกลุ่มวิชานี้แล้วเพื่อตอบสนองความต้องการของโลกยุคศตวรรษที่ 21 จาก STEM จึงกลายเป็น STEAM

ในขณะที่รัฐไทยยังคงมองศิลปะร่วมสมัยเป็นสินค้าธุรกิจที่ต้องแข่งขันด้วยตัวเองอยู่ กรณีหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครที่ยังคงยืดเยื้อถึงทุกวันนี้เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่ารัฐไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับงานศิลปะร่วมสมัย เราจึงยังคงไม่เห็นมาตรการใดๆ ที่เป็นรูปธรรมเพื่อสนับสนุนงานศิลปะในสังคมไทย คณะละครเวทีเองต้องจดทะเบียนเป็นองค์กรธุรกิจเท่านั้นและเสียภาษีอย่างองค์กรธุรกิจ ปิดช่องทางเติบโตของละครเวทีในฐานะกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาแทบจะโดยสิ้นเชิง

ในวันที่รัฐเป็นผู้บั่นทอนพัฒนาการศิลปะเสียเอง เราคงจะนั่งรอการสนับสนุนจากรัฐด้วยใจหวังอีกต่อไปไม่ได้แล้ว เราคงต้องเริ่มลงมือทำอะไรสักอย่าง ว่าแต่อะไร?

หากกลับไปมองสหรัฐอเมริกาอีกสักครั้งก็จะพบว่าแท้จริงแล้วภาครัฐอเมริกาไม่ได้สนับสนุนละครเวทีเป็นตัวเงิน แต่สนับสนุนในลักษณะจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับเพื่อให้การผลิตละครเวทีภายใต้การแข่งขันอันดุเดือดในระบบทุนนิยมเป็นไปได้ราบรื่นแทน

งานสำรวจชี้ให้เห็นว่าคณะละครเวทีในอเมริกาได้รับงบสนับสนุนจากภาครัฐเฉลี่ยที่เพียงแค่ 4.3% ของรายจ่ายเท่านั้น เงินสนับสนุนที่เหลือทั้งหมดมาจากการบริจาคโดยภาคประชาชนและภาคธุรกิจ คิดเป็น 40.9% ของรายจ่ายทั้งหมด กล่าวได้ว่าคณะละครเวทีในอเมริกาอยู่ได้ด้วยเงินบริจาคเกือบครึ่งเลยทีเดียว

ประเทศไทยเราเองได้รับจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนคนบริจาคเงินเยอะที่สุดในโลกเมื่อปี 2011 และก็ติดอันดับต้นๆ ของโลกมาตลอดทุกปี กรณีวิ่งการกุศลของพี่ตูนเองเป็นเครื่องยืนยันว่าคนไทยใจดีและชอบบริจาค 

ฉะนั้น สิ่งง่ายๆ สิ่งแรกที่พวกเราประชาชนทำได้เลยคือบริจาคให้คณะละครเวที ถ้าไม่รู้จะบริจาคให้คณะไหนดีหรืออยากให้เงินบริจาคเป็นประโยชน์ต่อวงการละครเวทีโดยรวมก็สามารถบริจาคให้แก่องค์กรที่สนับสนุนละครเวทีร่วมสมัยได้

องค์กรสนับสนุนละครเวทีร่วมสมัยนำเงินบริจาคของเราไปแก้ปัญหาในจุดต่างๆ ที่ภาครัฐยังไม่ได้ทำ บางองค์กรจัดตั้งกองทุนเพื่อมอบทุนแก่คณะละครต่างๆ ด้วย หากองค์กรที่เราบริจาคให้เป็นสถานสาธารณกุศล เงินบริจาคของเราก็จะสามารถหักลดหย่อนภาษีได้อีกต่างหาก

อีกสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ง่ายๆ คือเข้าร่วมผลักดันวาระต่างๆ ที่องค์กรสนับสนุนละครเวทีร่วมสมัยเสนอต่อภาครัฐ นักการเมืองมักมองหาแรงสนับสนุนจากภาคประชาสังคมในการเห็นชอบวาระใดๆ หากวาระด้านศิลปะละครเวทีมีประชาชนจากหลายฝ่ายเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมากก็จะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมในระดับชาติ

ถ้าทำหมดแล้วแต่ยังไม่สาแก่ใจคนรักละครเวทีอย่างเราท่าน อีกวิธีง่ายๆ คือ ซื้อบัตรแล้วออกไปดูละคร! วิธีนี้รับรองว่าสนับสนุนวงการละครเวทีไทยร่วมสมัยได้ดีมากๆ แน่นอน

André DeShields กล่าวขณะรับรางวัล Tony ปีล่าสุดว่า “Slowly is the fastest way to get to where you want to be.” ช้าๆ คือวิธีไปถึงที่หมายให้เร็วที่สุด แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงใช้เวลา ฉะนั้นเริ่มเสียแต่วันนี้ ช่วยกันคนละไม้ละมือ แล้วสักวันเราก็จะมองเห็นฝั่ง

อ้างอิง:

https://www.cafonline.org/docs/default-source/about-us-publications/world_giving_index_2011_191211.pdf

http://www.playbill.com/article/8-memorable-moments-from-the-2019-tony-awards

http://www.tcg.org/pdfs/tools/TCG_TheatreFacts_2017.pdf

https://www.ed.gov/stem

http://www.stemtosteam.org