(เผยแพร่ครั้งแรกในเวปไซต์เทศกาลละครกรุงเทพ 2019)
เข้าสู่เดือนพฤศจิกายนที่แวดวงศิลปะการแสดงไทยกำลังคึกคักจากการแสดงกว่า 40 เรื่องที่จัดแสดงในเทศกาลละครกรุงเทพ หรือ BTF และแม้จะเหลืออีกเพียงเดือนเดียวเท่านั้นก่อนปี 2562 จะสิ้นสุดลง แต่ลองมาย้อนดูกันว่าวงการละครไทยในปีนี้มีอะไรที่น่าจับตากันบ้าง
มิวสิคัล
มิวสิคัลถือว่าเป็นดาวเด่นในปีนี้ เพราะหลายคณะได้เปิดการแสดงละครเพลงหลากรส หลายแนว ให้ผู้ชมได้เลือกสรรกันอย่างจุใจ ที่โดดเด่นคงหนีไม่พ้นการรีสเตจจากคณะละครแถวหน้าของไทยไม่ว่าจะเป็นดรีมบอกซ์ที่ฉลองครบรอบ 33 ปีด้วยมิวสิคัล 3 เรื่อง 3 แนว เริ่มด้วย ‘นางฟ้า เดอะ มิวสิคัล’ ในเดือนมิถุนายน ที่ดัดแปลงมาจากละคร ‘อลเวงเพลงนางฟ้า’ ที่เปิดแสดงครั้งแรกเมื่อ 28 ปีก่อน รวมถึงการกลับมาอีกครั้งในรอบ 10 ปีของ ‘แม่นาค เดอะ มิวสิคัล’ ช่วงกลางเดือนนี้ นอกจากนั้น ทางค่ายยังสร้างสรรค์มิวสิคัลเรื่องใหม่จากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์การเมือง‘น้ำเงินแท้ เดอะ มิวสิคัล’ มาให้ชมในช่วงสิงหาคมที่ผ่านมา
ทางฟากซีเนริโอก็ได้รีสเตจการแสดงโปรดักชันใหญ่ 2 เรื่องที่สร้างจากวรรณกรรมคลาสสิกเป็นครั้งที่ 4 นั่นคือ ‘บัลลังก์เมฆ เดอะมิวสิคัล’ ที่แพท - สุธาสินี พุทธินันทน์มาสวมบทปานรุ้งเป็นครั้งแรก และ ‘สี่แผ่นดินThe Legend Musical’ ณ ลานกลางแจ้งของล้ง 1919 ที่นก - สินใจ เปล่งพานิช เตรียมกลับมารับบทแม่พลอยอีกครั้งในช่วงสิ้นเดือนนี้ อีกการแสดงที่รีสเตจกันไปแบบจัดเต็มถึง 2 ครั้งภายในปีเดียวก็คือ ‘ชายกลาง เดอะมิวสิคัล’ โดยโต๊ะกลม ในเดือนพฤษภาคมและต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
สำหรับมิวสิคัลสุดเซอร์ไพรส์แห่งปีขอยกให้กับB-Floor Theatre คณะละครฟิสิคัลที่ฉลองครบรอบ 20 ปีด้วยการพลิกมาทำมิวสิคัลเป็นครั้งแรกกับเรื่อง ‘A Midsummer Night’s Dream : ฝันกลางสวน’ ซึ่งเป็นงานท้าทายในทุกด้าน รวมถึงการเล่นในลานกลางแจ้ง ณ สวนครูองุ่น ในเดือนเมษายนที่มีฝนกระหน่ำ โดยกลางเดือนนี้
คณะละครภาษาอังกฤษ Peel the Limelight ก็เตรียมเดบิวต์มิวสิคัลออริจินัลเรื่องแรกของคณะเช่นกันกับเรื่อง ‘Life Lessons’ ที่สะท้อนหลากหลายบทเรียนชีวิตของมนุษย์ นอกจากนั้น ยังมีมิวสิคัลที่นำเสนอประเด็นฮอตแห่งยุคอย่าง ‘ไลฟ์โค้ช’ ในเรื่อง ‘The Workshop Musical: A Dress Rehearsal for Life’ โดยเชอรี่ คาร์เตอร์ สกอตต์(Chérie Carter-Scott) ไลฟ์โค้ชชาวอเมริกัน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
การแสดงที่เปิดประสบการณ์ใหม่ พร้อมสะท้อนมุมมองผู้พิการ
ปีนี้ยังมีการแสดงหลายเรื่องที่เปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้คน ไปพร้อมกับการนำเสนอแง่มุมของผู้พิการทางด้านต่าง ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจดีของคนละครที่อยากจะสื่อสารประเด็นนี้ไปในวงกว้าง เพื่อกระตุ้นให้สังคมเข้าใจและปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเท่าเทียม
โดยเรื่องที่ได้รับความสนใจไม่น้อยคือ ‘เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย’ โดย Blind Experience ที่ประเดิมแสดงในพื้นที่ใหม่อย่างลิโด้คอนเน็คท์ในเดือนสิงหาคม ก่อนจะกลับมาอีกครั้งที่สามย่านมิตรทาวน์ ในเดือนกันยายน ซึ่งผู้เข้าร่วมต้องปิดตาตลอดการแสดง เพื่อเปิดประสาทสัมผัสด้านอื่นทั้งการฟังเสียง การได้กลิ่น การสัมผัส และจินตนาการ โดยเรื่องราวที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง ‘สุสานหิ่งห้อย (Grave of the Fireflies)’ และเพลง ‘นิทานหิ่งห้อย’ ของวงเฉลียง ช่วยส่งให้หลายคนซาบซึ้งไปกับความสัมพันธ์ระหว่างสองพี่น้องในเรื่องยิ่งขึ้น
ในปีนี้เทศกาลศิลปะการแสดง (Performative Arts Festival) ยังสนับสนุนละครที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้พิการ จึงมีการแสดงในประเด็นนี้หลายเรื่องที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครทั้งจากคณะละครต่างประเทศและของไทย โดยในไทยมีการสร้างสรรค์ผลงานเกี่ยวกับผู้บกพร่องทางการมองเห็น 2 เรื่อง คือ ‘Nil’s Vision: ภาพที่นิลเห็น’โดยนพีสี เรเยส ซึ่งผสมผสานการเล่าเรื่อง วิดีโอ และการเล่นดนตรี เพื่อถ่ายทอดเสี้ยวหนึ่งของชีวิตนิล – ยงสิทธิ์ ยงกมล อาจารย์ด้านดนตรีรวมถึงความฝันได้อย่างเรียบง่ายและลงตัว อีกเรื่องคือ ‘Sunny Side Up เกือบสุข’ โดยภัทรียา พัวพงศกร ที่นำเสนอการแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างนักจิตวิทยาผู้พิการทางสายตา และนักแสดงผู้เข้ารับการบำบัดทางจิตใจ ผ่านการพูดคุยและการได้กลิ่น
ขณะที่คณะดรีมบอกซ์ก็มีการทำโปรเจกต์พิเศษร่วมกับสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ด้วยการนำ ‘นางฟ้า เดอะ มิวสิคัล’ มาจัดแสดงในรูปแบบละครภาษามือเพียงรอบเดียวในวันที่ 23 กันยายน ซึ่งเป็นวันภาษามือโลก โดยมีผู้บกพร่องทางการได้ยินร่วมแสดงด้วย ซึ่งอีกเรื่องที่มีการร่วมงานกับผู้บกพร่องทางการได้ยินคือ ละครเวทีมิวสิคัลคอนเสิร์ตเรื่อง ‘เสียง…ในความเงียบ’ กำกับโดยป้าแจ๋ว - ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์ที่เปิดแสดงเพียงรอบเดียวเช่นกันเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม เพื่อหารายได้สมทบทุนในการผ่าตัดรักษาประสาทหูเทียม
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้นของสิ่งที่เกิดขึ้นในวงการศิลปะการแสดงไทยในปีนี้ ซึ่งปี 2562 ถือเป็นอีกปีที่ได้รับชม ได้ประสบการณ์แปลกใหม่ และได้เปิดมุมมองทางความคิดในหลายประเด็นซึ่งคาดว่าในปี 2563 ก็จะมีการแสดงที่น่าตื่นเต้นให้ได้ติดตามกันต่อไป
ผู้เขียน : แก้วตา เกษบึงกาฬ
นักเขียน นักแปล และนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ ที่เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์ไทย และศิลปะการแสดง จากประสบการณ์การทำงานในสายข่าวศิลปะวัฒนธรรมและบันเทิงมานาน 9 ปี เข้าร่วมเป็นสมาชิกชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบัน เป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์พอดแคสต์ Bangkok Offstage ที่เจาะลึกแวดวงศิลปะการแสดงในกรุงเทพฯ