(เผยแพร่ครั้งแรกในเวปไซต์เทศกาลละครกรุงเทพ 2019)
โปรดิวเซอร์ในวงการละครเวทีคืออะไร? ทำอะไรบ้าง?
เราคิดว่าโปรดิวเซอร์ในวงการละครเวทีไม่ได้แตกต่างจากโปรดิวเซอร์ในวงการภาพยนต์หรือโฆษณา เพราะมีหน้าที่ในการดูแลการผลิตเหมือนกัน ในส่วนของละครเวทีนั้น ถ้าให้พูดจากประสบการณ์ของตัวเองก็คงจะมีอยู่ 2 ประเภท คือเป็นครีเอทีฟโปรดิวเซอร์ ที่มีความรู้ความสามารถ มีมุมมองทางศิลปะที่สามารถให้คำแนะนำ ความคิดเห็นร่วมกับผู้กำกับหรือศิลปินผู้สร้างงาน ควบคู่ไปกับการทำงานด้านการจัดการให้กับส่วนอื่น ๆ อีกประเภทหนึ่งคือเป็นโปรดิวเซอร์ที่ทำงานด้านการจัดการโดยเฉพาะ ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเชิงศิลปะกับผู้สร้างงานโดยจะดูเรื่องการหาสปอนเซอร์ แหล่งเงินทุนที่จะมาสนับสนุน ดูแลงบประมาณในการผลิต ติดต่อสถานที่ หาทีมงาน ดูเรื่องการประชาสัมพันธ์การขายบัตร สวัสดิการ คือเรียกได้ว่าดูองค์รวมทั้งหมดของการจัดการแสดงหนึ่งเรื่อง
ที่แบ่งประเภทของโปรดิวเซอร์ละครเวทีแบบนี้เพราะเราเป็นแบบที่สอง คือไม่มีความรู้เชิง Artistic เลย จริง ๆ แล้วลักษณะงานที่เราทำถ้าตัดเรื่องการดูงบประมาณ การหาสปอนเซอร์ออกไป มันก็ไม่ต่างจากผู้จัดการโปรดักชั่น บางครั้งเราเองยังสับสนว่าที่ทำอยู่นี่คือเป็นโปรดิวเซอร์ หรือเป็นแมเนเจอร์กันแน่ แต่ทุกครั้งที่ทำงาน เราจะบอกตัวเองว่าเป็นโปรดิวเซอร์นะ เพราะนั่นคือสิ่งที่เราต้องการจะเป็น
เข้ามาทำโปรดิวเซอร์ละครได้ยังไง?
มันเริ่มมาจากที่เราได้มีโอกาสไปทำงานในโปรดักชั่นละครเวทีเรื่องหนึ่งที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โปรดักชั่นนั้นเหมือนจะเป็นเรื่องแรกที่ได้กลับมาจับละครเวทีอีกครั้งในช่วงสิบปีเลย หลังจากที่เรียนจบมา ตอนนั้นเราเป็นฟรีแลนซ์ไม่มีงานประจำ รุ่นน้องที่เป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ก็เลยชวนไปทำละครด้วย เลยได้ไปเจอกับพี่เพียว ดวงใจ หิรัญศรีที่นั่น และเริ่มรู้จักกลุ่มละครโรงเล็กในประเทศไทย หลังจากนั้นเราก็ไปขลุกตัวอยู่ที่เดโมเครซี่ เธียเตอร์ สตูดิโออยู่ช่วงหนึ่ง อาศัยว่าเข้าทางรุ่นพี่ที่คณะ (พี่เอ๋ ภาวิณี สมรรคบุตร กับพี่เอี่ยว วสุรัชต อุณาพรหม) นี่แหละ ไปช่วยงานหยิบจับเล็ก ๆ น้อย ๆ หลังจากนั้นไม่นานพี่เอี่ยวก็ทำละครเรื่อง ฉุยฉายสเน่หา โดยที่ให้เรากับน้องอีกคนหนึ่งเป็นผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ ก็เลยได้เริ่มทำงานด้านการจัดการในโปรดักชั่นจริง ๆ จัง ๆ ตั้งแต่นั้นมา
เรียน/ฝึกมาจากไหน?
ถ้าเรียนเรื่องการเป็นโปรดิวเซอร์เลย ก็ตอบได้เลยว่าไม่ได้เรียนมาจากที่ไหน 10 กว่าปีที่แล้วที่ธรรมศาสตร์ก็ไม่ได้มีวิชา Producing in Theatre and Performing Arts สอน แต่เราเลือกเรียนเอกกำกับการแสดง ซึ่งแน่นอนว่ามันได้เรียนรู้เรื่องการจัดการไปในตัวด้วยอยู่แล้วบวกกับที่คณะมีกิจกรรม มีเทศกาล มีละครธีสิสของรุ่นพี่อยู่ทุกปี แล้วเราก็ชอบที่จะทำงานเบื้องหลัง เลยอาจจะเป็นจุดที่ทำให้เราได้ฝึก ได้ซึมซับเรื่องการจัดการโปรดักชั่นไปในตัวตั้งแต่ยังเรียนอยู่ พอเรียนจบมาก็ไปอยู่โปรดักชั่นเฮาส์หนังโฆษณา เป็นผู้ช่วยโปรดิวเซอร์อยู่ปีนึง แล้วก็เลือกไปเรียนต่อปริญญาโทด้านการจัดการโดยเฉพาะ เป็นการจัดการธุรกิจล้วน ๆ ไม่เกี่ยวกับศิลปะเลย
ได้มาเรียนรู้การเป็นโปรดิวเซอร์ละครเวทีก็จากการลงมือทำงานจริงทั้งนั้น จากการไปทำงานกับกลุ่มละครอนัตตา กลุ่มละครบีฟลอร์ศิลปินอิสระ ไปทำงานกับเทศกาลละครกรุงเทพฯ ได้เขียน Proposal ได้เรียนรู้วิธีการหาคนดู คิดราคาบัตร วางแผนการทำงานด้านต่าง ๆโดยที่เราก็เอาความรู้จากที่เราเรียนปริญญาโทมาปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจของละครเวที ทุกวันนี้เราก็ยังฝึกการเป็นโปรดิวเซอร์ที่ดีอยู่ ในความคิดเรา โปรดิวเซอร์ไม่ใช่แค่ทำให้โปรดักชั่นได้กำไรจาการขายบัตร แล้วจบการแสดงไปเป็นรอบ ๆ แค่นั้น เรามองไปถึงว่า เขาต้องช่วยให้ศิลปินเติบโตและพัฒนางาน หาช่องทางให้ศิลปินได้เอาผลงานไปแสดงในที่ต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้คนเห็นงานมากขึ้น สร้างอาชีพไปด้วยกันได้มากขึ้น
ร่วมงานกับอนัตตาครั้งแรกใน "มังกรสลัดเกล็ด ฉบับพิเศษ"
มีที่ไหนในไทยสอน Producing บ้าง?
ปัจจุบันนี้เราว่ามีหลายมหาวิทยาลัยเลยนะที่เริ่มมีหลักสูตร Performing Arts Management ทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท ซึ่งเราว่ามันดีมาก ๆ เลยกับวงการนี้ ตอนนี้มันอาจจะยังเป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่มันจะต้องพัฒนาไปอีก เพราะถ้าเทียบกับเมื่อ 6 ปีที่แล้วที่เราเริ่มเข้ามาในวงการละครเวที เราบอกได้เลยว่าเราเห็นจำนวนของกลุ่มละครรุ่นใหม่ เราเห็นศิลปิน เห็นนักแสดงอิสระเพิ่มมากขึ้น เราว่ามันจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการพัฒนาในด้านการจัดการขึ้นแน่นอน เพราะถ้ามันจะมีหนทางให้ศิลปินสร้างงานสร้างอาชีพได้ มันก็หนีไม่พ้นเรื่องต้องมีคนมาช่วยจัดการ หาวิธี ทำยังไงให้อาชีพของเขาอยู่รอดอย่างยั่งยืน แต่ที่น่าสนใจต่อคือ จะทำยังไงให้คนที่เขาจบ Arts Management ลงมาทำงานกับละครโรงเล็กมากขึ้นล่ะ คนที่เรียนด้านการจัดการมา เขาไม่ได้มองแค่ว่ามีตัวงานให้ทำเยอะแล้วโอเคนะ เขาดูภาพรวม ดูความก้าวหน้าของอาชีพการงาน ถ้ามันไม่เวิร์ค เขาก็เลือกไปทำที่อื่นที่ให้ผลตอบแทนเพียงพอกับการใช้ชีวิตของเขาดีกว่าไหม
เราขาดแคลนโปรดิวเซอร์ไหม? ปัจจุบันคณะละครในไทยทำละครยังไงถ้าไม่มีโปรดิวเซอร์อาชีพ?
ถ้าเทียบกับจำนวนกลุ่มละครและศิลปินอิสระที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันนี้ เราว่าขาด คิดว่ามีไม่ถึง 10% ด้วยมั้งที่ในกลุ่มละครที่เกิดขึ้นมาใหม่จะมีโปรดิวเซอร์ประจำกลุ่มหรือแม้กระทั่งโปรดิวเซอร์อิสระ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักแสดง ผู้กำกับ หรือนักออกแบบ ทุกวันนี้ถ้าโปรดักชั่นไหนไม่มีโปรดิวเซอร์อาชีพ อย่างน้อยก็ต้องมีโปรดักชั่นแมเนเจอร์มาช่วยในเรื่องการติดต่อประสานงาน สวัสดิการ ขายบัตร ผู้กำกับอาจจะต้องเป็นคนเขียน Proposal ขอทุน มีคนในใจไว้แล้วว่าจะให้ใครมาเป็นนักแสดง เป็นทีมงานส่วนไหนบ้าง หนักหน่อยก็จะต้องทำประชาสัมพันธ์ไปด้วยแล้วก็ให้คนในกลุ่มละครหรือเพื่อนสนิทมาช่วยๆ กันเหมือนกิจการในครอบครัว
ร่วมงานกับกลุ่มละครบีฟลอร์ "Ceci n'est pas la politique"
ความท้าทายในการโปรดิวซ์ในไทยคืออะไรบ้าง?
โปรดิวเซอร์เป็นตัวกลางระหว่างระหว่างศิลปินกับผู้ชม ความท้าทายของการทำงานหลัก ๆ คือ ความเข้าใจในเนื้องานในสารที่ศิลปินต้องการ และการสื่อออกไปให้คนดูรับรู้ เพราะสิ่งที่เราจะไปเสนอให้คนดูมันไม่ใช่สินค้าอุปโภคบริโภคที่คนซื้อเขาจะจับต้อง ลองใช้ ลองชิมได้มันเป็นเรื่องของคุณค่าทางจิตใจทางความคิด เรื่องของประสบการณ์ชีวิตที่เขาจะได้เจอก็ตอนที่จ่ายเงินเข้ามาดูแล้ว ศิลปินละครโรงเล็กส่วนใหญ่ทำงานออกมาซักชิ้นเพราะอะไร เพราะเขาต้องการที่จะแสดงออก สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของเขาในเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตที่เขาเจอ บางครั้งมันไม่มีคำตอบตายตัวด้วยซ้ำว่า ดูแล้วได้อะไร เราซึ่งเป็นตัวกลาง จะทำยังไงให้คนจ่ายเงินมาดูงานที่เป็นการแสดงออกทางความคิดของคนอื่นในช่วงเวลา 1 - 2 ชั่วโมงแล้วหมดไป ถ้าเขาไม่ได้สนใจจริง ๆ หรือชอบเสพศิลปะอยู่แล้ว มันท้าทายมากนะ กลุ่มคนดูที่ชอบงานศิลปะ ชอบการแสดงมันมีอยู่แล้วก็จริง แต่มันมีมากพอที่จะมาเติมเต็มที่นั่งคนดูของทุก ๆ รอบการแสดงให้เราไม่ขาดทุนไหม มันคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของคนดูทั้งหมดที่เราต้องการ จะสื่อสารยังไงให้คนที่เขาไม่ได้รู้จัก หรือชอบดูละครเวทีจ่ายเงินมาเติมเต็มเก้าอี้ว่างที่เหลือ
ถ้ามองในมุมมองของคนดู ละครเวทีแพงนะ ไปดูหนังในโรงภาพยนต์ จ่ายเงินไม่เกิน 300 ก็ได้นั่งเก้าอี้นวมดี ๆ แอร์เย็น ๆ ดูหนังโปรดักชั่นหลักล้าน แต่ถ้ามองในมุมคนทำงาน ละครเวทีถ้าคิดราคา 300 นี่คือต้องมีจำนวนคนดูกี่ร้อยคน ต้องแสดงกี่รอบ ถึงจะเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ยิ่งแสดงหลายรอบก็ยิ่งเพิ่มค่าใช้จ่าย ความเป็นไปได้มันน้อยมาก บัตรละครเวทีแต่ละเรื่องสมัยนี้ส่วนใหญ่ก็เริ่มที่ 500 - 600 แล้วคิดง่าย ๆ คือ ดูหนังได้ 2 เรื่อง หรือกินชาบูดี ๆ ได้มื้อนึง คือถ้ายังไม่สามารถทำให้คนดูกลุ่มใหม่เปิดใจรับหรือเห็นคุณค่าของละครโรงเล็กได้ ก็แสตนด์บายตั้งรับได้เลยว่าจะเท่าทุนหรือขาดทุน อันนี้มองในโปรดักชั่นขนาดกลางขึ้นไปนะ
ในแง่ของตัวงานเราว่างานของศิลปินไทยหลาย ๆ คนดีมากนะ แต่คนดูละครเวทีโรงเล็กในไทยมันยังน้อยอยู่ถ้าเทียบกับจำนวนงานที่เกิดขึ้น Demand กับ Supply มันไม่ตอบโจทย์กัน การประชาสัมพันธ์มีส่วนสำคัญมาก ๆ อย่างที่บอกไปว่าเราไม่ได้ขายสินค้าอุปโภค บริโภคการที่จะทำให้คอนเทนต์ของเราเข้าถึงคนดูกลุ่มใหม่ต้องใช้คนที่ทำงาน PR โดยเฉพาะและเงินค่อนข้างมาก แล้วละครโรงเล็กมีคนทำงาน PR โดยเฉพาะหรือมีเงินขนาดนั้นไหม ถ้าเงินตั้งต้นไม่พอก็ต้องขอทุน ทุนภาครัฐก็ไม่เพียงพอกับจำนวนงานที่เกิด ไปขอทุนภาคเอกชนงานคุณก็ต้องแมสพอที่จะทำให้เขาอยากลงทุนให้สินค้าหรือบริการของเขาเข้าถึงผู้บริโภคได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มาในรูปของเม็ดเงินด้วย แต่เราต้องการเงิน ทำไงละทีนี้ ท้าทายสุด ๆ
เรื่องคุณค่าของศิลปะการแสดงโดยเฉพาะละครเวทีมันก็ต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐเหมือนกัน หน่วยงานรัฐบาลสำคัญนะ เพราะเขาเข้าถึงประชาชนได้เป็นกลุ่มใหญ่ ถ้าภาครัฐทำให้คนไทยเห็นคุณค่าของศิลปะการแสดงของนาฏยศิลป์ไทย การแสดงดั้งเดิมตามขนบแบบไทยได้ เราก็เชื่อว่าภาครัฐก็ควรจะต้องสนับสนุน ดึงคุณค่าของศิลปะการแสดงร่วมสมัยออกมาให้คนทั่วไปได้รู้จักให้มากพอด้วยเช่นกัน เวลามันเดินไปข้างหน้า การพัฒนามันต้องเกิด จะอนุรักษ์อย่างเดียวโดยไม่พัฒนามันไม่ได้
ร่วมงานกับ "Bangkok International Performing Arts Meeting (BIPAM)"
ทำไงเราถึงจะมีโปรดิวเซอร์มากขึ้น
มันคงจะดีถ้ามีกลุ่มคนหรือหน่วยงานไม่ว่าจะภาครัฐหรือเอกชนเข้ามาสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมในการสร้างหรือพัฒนาบุคคลากรด้านนี้อย่างยั่งยืน ให้คนทำงานมีที่พึ่ง มีบ้าน มีที่ปรึกษา เวลาที่เจอปัญหา ต่าง ๆ ในการทำงาน ถ้าต้องทำงานเหมือนงมเข็มไปเรื่อย ๆ อยู่คนเดียวมันก็ท้อก็หมดหวังกับอาชีพกันได้
เล่าถึง POTPAN ให้ฟังหน่อย
POTPAN ย่อมาจาก Producers of Thai Performing Arts Network จุดเริ่มต้นมันมาจากคำถามที่เราถามกับตัวเองว่า จะทำยังไงให้เรายังทำงานตรงนี้อยู่ไปได้เรื่อย ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน หลังจากที่เราได้ไปร่วมโครงการ Next Generation : Producing Performing Arts 2018 ของ Japan Foundation Asia Center เราก็ได้ไปเห็น ได้ไปพูดคุยกับศิลปิน ผู้กำกับ นักแสดง โปรดิวเซอร์ คิวเรเตอร์ในวงการศิลปะการแสดงจากประเทศอื่นๆ ว่ามันเป็นอย่างไร เขามีการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลเพื่อต่อยอดองค์รวมของศิลปะการแสดงของพวกเขากันอย่างไร เราก็มองกลับมาที่บ้านเราแล้วรู้สึกว่า เราเห็นกลุ่มละคร เราเห็นกลุ่มศิลปิน เราเห็นเวิร์คช็อป เสวนาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการแสดง การกำกับ การออกแบบแสง แต่เราไม่ค่อยเห็นกลุ่มคนหรือคอมมิวนิตี้ที่เราสามารถมาแบ่งปันประสบการณ์ ฝึกทักษะ หรือเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการให้คนที่สนใจงานโปรดิวเซอร์เลย ก็ได้คุยกับเชอรีนา ญาดามิน แจ่มสุกใส (Producer and I) แล้วก็เห็นเหมือนกันว่ามันต้องมีกลุ่มแบบนี้ในบ้านเราให้ได้ แต่เราทั้งคู่ก็ใหม่กับการทำอะไรแบบนี้ เลยไปปรึกษาปูเป้
ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ (Artistic Director, BIPAM) ให้มาทำด้วยกัน ชวนเพื่อนที่ทำเทศกาลละครมาคุยกัน ในที่สุดมันก็เกิดเป็น POTPAN ขึ้นมาเมื่อต้นปี 2019 เราเปิดรับสมัครสมาชิก วางแผนไว้ว่าในแต่ละเดือนเราจะทำกิจกรรมอะไรบ้าง เช่น แลกเปลี่ยนการทำงานระหว่างโปรดิวเซอร์ด้วยกัน พูดคุยกับผู้กำกับการแสดงหรือศิลปินถึงสิ่งที่เขาต้องการจากโปรดิวเซอร์ จัดคอร์สเรียนเกี่ยวกับการทำประชาสัมพันธ์ ทำเวิร์คช็อปเกี่ยวกับการหาทุน จัดสรรงบประมาณ เป็นต้น แต่ตอนนี้มันยังไม่เป็นคอมมิวนิตี้ที่มีกิจกรรมหรือแอคทีฟอย่างที่เราคิดกันไว้ เพราะสมาชิกแต่ละคนก็ยังคงมีงานประจำ มีหน้าที่หลักของตัวเองที่จะต้องทำ แต่เราเองยังไม่หมดหวังกับโปรเจ็คนี้นะ จะทำให้มันเกิดอย่างจริงจังขึ้นมาให้ได้
ผู้เขียน : พิไลพรรณ ธรรมมิตร
จบการศึกษาระดับปริญาตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการละคอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญาโทจากวิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล เคยร่วมงานกับเดโมเครซีเธียเตอร์สตูดิโอ กลุ่มละครอนัตตา กลุ่มละครบีฟลอร์ เบบี้ไมม์ และเทศกาลการแสดงต่าง ๆ เช่นเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็ก เทศกาลละครกรุงเทพฯ และเทศกาลศิลปะบูโตนานาชาติ ปัจจุบัน ร่วมงานกับ Bangkok International Performing Arts Meeting (BIPAM) เป็นผู้ก่อตั้ง Producers of Thai Performing Arts Network (POTPAN) และมีความสนใจเกี่ยวกับ Audience Development