(เผยแพร่ครั้งแรกในเวปไซต์เทศกาลละครกรุงเทพ 2019)
เทศกาลลักษณะ Fringe ได้มอบมิติของคำว่าพื้นที่ในรูปแบบใหม่ เพื่อบอกล่าวว่าละครเวทีนั้นมีอยู่ได้ทุกที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงละครเพียงอย่างเดียว เทศกาลละครกรุงเทพเมื่อครั้งอยู่ที่ท่าพระอาทิตย์ บางลำพูก็ริเริ่มด้วยแนวคิดในลักษณะเดียวกัน
ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ว่าทุกผลงานเหมาะกับทุกสถานที่ ผู้เขียนเชื่อว่าหากละครได้ถูกจัดแสดงอย่างถูกที่ถูกทาง ละครเรื่องนั้นก็จะมอบศักยภาพสูงสุดของมันให้แก่ผู้เสพ ละครบางเรื่องอาจต้องการห้องมืด บ้างต้องการโปร่ง บ้างต้องการพื้นไม้ บ้างต้องการ semi-closure บ้างต้องการoutdoor ฯลฯ พื้นที่จึงมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแยกออกจากกันไม่ได้กับการพัฒนาของละครเวที
ในความสงสัยของผู้เขียนคือ พื้นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาละครไทยหรือไม่? เพื่อหาคำตอบดังกล่าว ผู้เขียนได้ลองสืบค้นรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ ศิลปิน และการผลิตละครเวทีที่ผ่านมาพบว่าความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่นั้นเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกระจายตัวและการรับรู้ด้านละครเวที
หลังจากยุคของมณเฑียรทองเธียเตอร์ที่เป็นโรงละครแบบ lounge bar จนเกิดเป็นกระแสและเป็น community ใหม่สำหรับผู้รักละครเวที คงต้องกล่าวถึงศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมแสงอรุณและโรงละครกรุงเทพ ทั้ง 2 สถานที่ได้ใช้รูปแบบมอบพื้นที่และทุนให้แก่ศิลปินได้สร้างละครเวทีนอกกระแส ที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ โดยมากละครลักษณะนี้ไม่ได้ต้องการโรงละครขนาดใหญ่ เพราะตัวงานต้องการความใกล้ชิดผู้ชมต่อรอบไม่เกิน 20-100 ที่นั่ง ต้องการ space ที่ปรับเปลี่ยนได้ โรงละครขนาดเล็กยังใช้ทุนไม่สูงจนเกินกำลังอีกด้วย การให้ทั้งพื้นที่และทุนแก่ศิลปินถือเป็นการลงทุนที่เอื้อเฟื้อ โมเดลนี้จึงไม่สามารถจัดสรรให้เป็นไปได้นานเพราะต้องใช้ทุนจำนวนมาก
กลุ่มละครที่มีความแข็งแรงต่างต้องการความมั่นคงในการสร้างงาน เมื่อปัจจัยด้านพื้นที่เป็นปัจจัยหลัก กลุ่มจึงลงทุนหาพื้นที่ที่เป็นของตนเ กลุ่มละครมายาจึงริเริ่มลงทุนสร้างโรงละครขนาดเล็กเรียกว่า มายาบ๊อกซ์ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากโรงละครโรงเล็กของญี่ปุ่น กล่าวคือ การดัดแปลงพื้นที่บ้าน, ห้องแถว หรือห้องใดห้องหนึ่งในอาคารในกลายเป็นโรงละครขนาด 20 ที่นั่งขึ้นไป นอกจากนี้ ยังมี โรงละครมรดกใหม่ที่ตึกช้างและ RCA, ช้าง เธียเตอร์ที่ตึกช้างก่อนย้ายไปประชาอุทิศ ฯลฯ การมีพื้นที่ส่วนตัวทำให้ศิลปินสร้างและพัฒนางานของกลุ่มให้ต่อเนื่องนอกจากนี้ กลุ่มละครยังสามารถใช้พื้นที่นี้เป็นออฟฟิศ เป็นจุดรวมตัว จุดนัดพบ เป็น lab ให้ลองผิดลองถูกหรือฝึกฝนศิลปินใหม่ และเป็นcommunity ของกลุ่ม และคนรักละครเวที
ผลพวงของเทศกาลละครกรุงเทพซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2545 คือ ทำให้กลุ่มละครนอกกระแสเริ่มก่อตัวกันแน่นแฟ้น ทำละครเวทีกันเป็นอาชีพมากขึ้น และมีโรงละครในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกมากมาย เช่น 8X8 คอร์เนอร์ที่สามย่าน, พระจันทร์เสี้ยวและB-Floor ที่สถาบันปรีดีพนมยงค์ และโรงละครมะขามป้อมที่สะพานควาย ฯลฯ ส่วนใหญ่แล้วโรงละครจะผูกอยู่กับกลุ่มละครนั้นๆ แต่กลุ่มอื่นก็สามารถเข้าใช้ได้ในลักษณะเช่า
ไร้พำนัก by 8x8 Theatre @ 8x8 Corner
นางนากเดอะมิวเซียม by New Theatre Society @ MKP Studio
24 Festival by Crestent Moon Theatre @ Cresent Moon Space
A Nowhere Place by Anatta Theatre @ B-Floor Room
นิกร แซ่ตั้งกลุ่มละคร 8x8 กล่าวว่า
space เป็นความมั่นคงในการสร้างงานของศิลปิน เป็นความมั่นคงทางจิตวิญญาณ ไม่ต้องมาคอยคิดว่าจะทำสิ่งนี้ที่ไหน พร้อมทำงานได้ทันทีในยุค “โรงละครห้องแถว” นี้ทำให้ละครเวทีเป็นไปอย่างคึกคัก มีศิลปินหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย
อีกรูปแบบหนึ่งของการบริหารจัดการพื้นที่ ได้มีการเกิดขึ้นของ space โดยที่ไม่ผูกติดกับกลุ่มละคร กล่าวคือ เป็น space ให้เช่าเต็มตัว เช่นDemocrazy Theatre Studio, Creative Industry, Syrup Theatre, Bluebox Studio ฯลฯ โดยสถานที่อาจให้เช่าอย่างเดียวหรือเป็นผู้ผลิตงานด้วยเช่นกัน จึงเกิดเป็นมิติใหม่ว่ากลุ่มละครที่ไม่มีพื้นที่ของตนเองก็สามารถมีสถานที่ที่เข้าใจและเหมาะสมกับการทำงานละครเวที ทำให้เมื่อศิลปินจะสร้างงานก็จะนึกถึงสถานที่เหล่านี้เป็นสถานที่แรกๆ เกิดเป็น community ในอีกช่องทางหนึ่ง
Girl X by Democrazy Theatre @ Democracy Theatre Studio
Woyzeck by Cresent Moon Theatre @ Creative Industries
Rx3 by Life Theatre @ BlueBox Studio
อย่างไรก็ตาม การเช่า space อาจจะไม่ใช่โมเดลที่ดีต่อใจกับกลุ่มละครหน้าใหม่เท่าไหร่นัก เพราะไหนจะต้องสู้รบกับคุณภาพของชิ้นงาน, การสร้างฐานผู้ชม และความไม่แน่นอนของรายได้ ฯลฯ ภาระค่าใช้จ่ายด้านค่าเช่าจึงเป็นภาระก้อนใหญ่เกินตัว กลุ่มละคร Qrious Theatre กล่าวว่า
งบค่าสถานที่ทั้งซ้อมและแสดงเป็นงบกว่า 50% ของงบประมาณทั้งหมดหากเราไม่ได้รับการสนับสนุน โปรเจ็คละครเรื่องนั้นก็จะได้กำไรยากดังนั้น นโยบายของกลุ่มจึงมุ่งตามหา partner ที่สนับสนุนสถานที่ซ้อมการแสดงและจัดแสดง หากหาได้ ไม่ว่าจะฟรีทั้งหมดหรือในราคาถูก ก็จะช่วยลดงบประมาณก้อนนี้ลงไปได้มาก ในทางตรงกันข้าม สตูดิโอเองก็ต้องต่อสู้กับค่าเช่าและบริหารให้สตูดิโออยู่ได้อย่างยั่งยืนเช่นเดียวกัน
เมื่อไม่นานมานี้ เราคงได้ยินข่าวการปิดตัวลงของ studio และโรงละครขนาดเล็กหลายแห่งในช่วงเวลาพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะด้วยปัญหาด้านการเงินหรือการเปลี่ยนนโยบายของผู้เช่า แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบกับเสถียรภาพของกลุ่มศิลปินทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ทั้งในแง่การดำเนินงานของกลุ่มเอง หรือพื้นที่ที่เป็นเสมือน community ของคนรักละครเวทีที่ลดน้อยลง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ศิลปินหยุดตัวเองจากการสร้างสรรค์ผลงาน
ผู้เขียนลองถามศิลปินจำนวนหนึ่งว่าระหว่างพื้นที่จัดแสดงกับพื้นที่สำหรับพัฒนาผลงาน พื้นที่ไหนที่พวกเขาต้องการมากกว่ากัน ทุกท่านต่างตอบว่า แน่นอนว่าต้องเป็นพื้นที่ที่ใช้พัฒนาผลงาน เพราะเราไม่รู้เลยว่าผลงานแต่ละเรื่องต้องการเวลามากน้อยขนาดไหนและศิลปินต้องการพื้นที่ที่จะลองผิดลองถูกก่อนงานจะจัดแสดงได้
ปัจจุบัน กลุ่มละครต้องบริหารจัดการงบประมาณตามความเป็นจริง กล่าวคือ มีกำลังจ่ายค่าห้องซ้อมเท่าไหร่ก็จัดตารางซ้อมตามนั้น ซึ่งย่อมส่งผลทางอ้อม กล่าวคือ ตัวผลงานไม่ได้ถูกพัฒนาอย่างที่มันควรจะเป็น หากใช้งบประมาณจำนวนมากก็จะส่งผลมาที่การจัดเก็บราคาบัตรที่แพงขึ้นซึ่งก็ไม่สอดคล้องกับกำลังจ่ายของผู้ชม ธีระวัฒน์ มุลวิไล กลุ่มละคร B-Floor ให้สัมภาษณ์กับรายการ Bangkok Offstage ว่า
พื้นที่สำหรับซ้อมหรือสร้างงานเป็นปัจจัยพื้นฐานที่รัฐสามารถมอบให้แก่ศิลปินได้ มันควรจะ public access นี่คือการ support ในเชิงสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่ใช่เม็ดเงินเพียงอย่างเดียว
ประดิษฐ ประสาททอง เลขาธิการเครือข่ายละครกรุงเทพ เสริมในประเด็นนี้ว่า
บางครั้งพื้นที่สาธารณะหรือส่วนกลางที่อนุญาตก็ไม่รองรับความต้องการของศิลปิน ด้วยกฎเกณฑ์ที่ไม่ยืดหยุ่น ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของวงการ เช่น ห้ามใช้เกิน 21.00 น. ซึ่งศิลปินส่วนใหญ่มักซ้อมละครได้ตอนกลางคืนเพราะกลางวันต่างทำงานประจำ หรือห้ามเสียงดังเพราะห้องที่ใช้ได้ไม่เก็บเสียง ซึ่งเป็นไปได้ยาก เพราะการซ้อมละครต้องใช้เสียงบ้าง อาจต้องทดลองกับเสียงดนตรีเสียด้วยซ้ำ เป็นต้น ข้อเท็จจริงอาจจะเป็นแบบนั้นเพราะมันเป็นสิ่งที่สร้างรายได้ แต่ผมไม่เคยมองแบบนั้น เพราะสิ่งที่ผมใช้เวลากับมันอย่างเต็มที่และมี Passion กับมันเสมอคือการกำกับและแสดงละครเวที สำหรับผมอาชีพคือสิ่งที่เราใช้เวลากับมันมากกว่าและเห็นภาพตัวเองชัดเจนว่าจะทำมันไปตลอดชีวิต การมี Second Job ไม่ทำให้เวลาการทำละครเวทีของผมลดลงเลยเพราะผมไม่ยอม เลยดันไปเบียดเบียนเวลาพักผ่อนและเวลาที่อยู่กับครอบครัวแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมต้องแลก
แล้วโมเดลในลักษณะใดตอบโจทย์กับการทำงานแบบละครเวทีมากที่สุด ประดิษฐให้ความเห็นว่า
เมื่อประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบัน สถานที่ควรมีความยืดหยุ่นด้านเวลา ด้านการรองรับการทดลองงานในรูปแบบต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ที่ตกลงกันระหว่างเจ้าของพื้นที่และศิลปิน ให้อิสระในการสร้างผลงาน และสุดท้ายคือด้านงบประมาณที่เป็นไปได้จริงกับกลุ่มละครขนาดเล็ก
Bangkok Theatre Festival 2018 @ BACC
BACC เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่เข้าใจการทำงานของศิลปินด้านละครเวที ได้มอบพื้นที่การซ้อมและจัดแสดงให้แก่ศิลปินละครเวที รวมถึงจัดเทศกาลอย่างเทศกาลละครกรุงเทพ หรือเทศกาลอันเกี่ยวกับศิลปะการแสดงอีกหลายเทศกาล โมเดล partner ในลักษณะนี้ถือเป็นโมเดลที่ส่งเสริมศิลปินให้ทำงานอย่างยั่งยืนได้
เฉพาะการสำรวจด้านพื้นที่เพียงอย่างเดียวก็พบว่าการเติบโตและพัฒนางานนั้นเป็นไปอย่างสอดคล้องกัน ในช่วงเวลาที่ศิลปินมีพื้นที่ของตนเองนอกจากจำนวนผลงานที่เป็นที่ประจักษ์แล้ว ยังมีการจัด workshop อีกมากมาย รวมถึงเป็นความมั่นคงทางจิตใจของศิลปินด้วย
พื้นที่คงไม่ใช่ปัจจัยเดียว ศิลปะจะเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนจำต้องพึ่งพาการอุ้มชูกันทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงข่าวสาร สื่อกระแสหลักด้านศิลปวัฒนธรรม การศึกษาศิลปะ นโยบายที่สนับสนุนคนทำงาน สร้างบุคลากรด้านการบริหารจัดการ ที่จะส่งเสริมให้ศิลปะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน จะเห็นได้ว่าในระบบนิเวศของศิลปะนั้นมีมากกว่าศิลปิน ฉะนั้นคงไม่ใช่หน้าที่ใครคนใดคนหนึ่งหรือการพึ่งพารัฐทางเดียวไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเอกชนหรือในระดับบุคคลก็ร่วมผลักดันได้ในแบบของตัวเอง
ข้อมูล
รายการ Bangkok Offstage (podcast)
ประดิษฐ ประสาททอง (สัมภาษณ์)
นิกร แซ่ตั้ง (สัมภาษณ์)
กลุ่มละคร Qrious Theatre (สัมภาษณ์)
ผู้เขียน : เพียงดาว จริยะพันธุ์
เริ่มเข้ามาในวงการละครเวทีตั้งแต่มัธยมปลาย แสดงละครเวทีนอกโรงเรียนครั้งแรกที่เทศกาลละครกรุงเทพครั้งที่ 3 ด้วยความชอบและหลงใหลจึงศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและโทที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบัน ทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังและเป็นหนึ่งในคณะทำงานของมูลนิธิละครไทย