(เผยแพร่ครั้งแรกในเวปไซต์เทศกาลละครกรุงเทพ 2019)
หลายคนเจอคำถามนี้ในช่วงใกล้จะเรียนจบ แต่สำหรับนักเรียนละคร เราเจอคำถามนี้ตั้งแต่ปีแรกๆ ที่เข้าเรียนเลยด้วยซ้ำ และผมก็ตอบคำเดิมๆ ซ้ำๆ อยู่เสมอ “ ทำละครเวทีครับ”
ผมตอบแบบนี้เสมอมาตั้งแต่ตอนเรียนอยู่เอกศิลปะการแสดง สาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนจบมา 5 ปีกว่า ผมดีใจที่ยังพูดคำนี้อยู่ ครั้งแรกที่ตอบแบบนี้ย้อนไปตอนเป็นนักศึกษาปีที่ 2 ที่ตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าเราจะยึดวิชาที่ร่ำเรียนเป็นอาชีพต่อไปในอนาคต จึงมุ่งมั่นแสดงละครเวทีตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จุดเริ่มต้นการเป็นนักแสดงจริงๆ น่าจะตั้งแต่ผมเรียนอยู่ปี 3 ที่ได้มีโอกาสร่วมแสดงกับศิลปินมืออาชีพนอกมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกอย่าง “พระคเณศร์เสียงา” โดย Pichet Klunchun Dance Company และเป็นนักแสดงให้ละครคณะประจำปี 2556 ที่ออกสู่สายตาวงกว้างอย่าง Physical Theatre เรื่อง “ไต้ฝุ่น: The Remains” กำกับโดย ธีระวัฒน์ มุลวิไล (คาเงะ B-Floor) ตอนผมอยู่ปี 4 ในอีกหนึ่งปีให้หลังก็มีโอกาสเอาผลงานของตัวเองออกสู่สายตาสาธารณะใน Take-Off Festival เรื่อง Covertal (โคเวอทาล)
กวิน ในการแสดงเรื่อง “ไต้ฝุ่น: The Remains” (2556)
รูปภาพโดย ชนิดา ปัญญาเนรมิตดี
กวิน ในการแสดงเรื่อง
“Covertal” (2557)
รูปภาพโดย พลัฏฐ์ สังขกร
" ก้าวแรกที่จบออกไป เราต้องเป็นนักแสดง Professional "
อาจารย์วัสสาวดี วัฒนสุวรรณ ครูผู้สอนผมเคยบอกเอาไว้ตอนผมอยู่ปี 2 และผมยึดคำนี้เป็นพลังตลอดเวลาที่ผมเรียน และจบออกมาด้วยไฟการทำละครที่แรงแบบลุกท่วมตัว
เรื่องแรกที่ได้เล่นหลังเรียนจบเป็นละครโรงเล็กครั้งแรกของผม เรื่อง Compassion ผมระเบิดไฟนั้นเต็มห้องซ้อม จน Robin Schroeter ผู้กำกับของผมตอนนั้นต้องบอกผมว่า “เล่นให้แรงมันพอดีห้องหน่อย” เป็นเหมือนระฆังที่ดังในใจว่าให้ใจเย็นๆ ไฟที่ลุกท่วมทำให้ลืมบทเรียนพื้นฐานนี้ไปได้อย่างไร “เล่นให้มันพอดีพื้นที่” ก็เลยปรับไฟของตัวเองให้เข้าที่เข้าทางแล้วค่อยๆ หายใจ
สิ่งที่ท้าทายในการเป็นนักละครหน้าใหม่ แน่นอนคือพี่ๆ ทุกคนเก่งมาก (มากแบบน้ำตาไหล) และมีเอกลักษณ์สูง นอกจากเทคนิคการแสดงแล้ว ผมรู้สึกว่าสิ่งหนึ่งที่ควรพัฒนาและคำนึงถึงคือ “เอกลักษณ์” นอกจากเล่นให้ดี การเป็นที่จดจำเป็นสิ่งที่ดี เมื่อทำไปได้สักพักผมก็กลั่นประโยคใหม่ส่วนตัวไว้เป็นพลัง “ทำยังไงก็ได้ ให้มีแค่กวินเท่านั้นที่เล่นแบบนี้ได้” (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำได้ตามที่คิดไหม) หลังจากทำละครอย่างเดียวได้ 1 ปี พ่อกับแม่เริ่มถามว่า เอาเงินจากไหนใช้? ถ้าทำแบบนี้ไปตลอดแล้วจะอยู่ยังไงลูก? บวกกับผมเริ่มประสบปัญหาเงินหมด จึงต้องหา Second Job เพื่อประทังความเป็นอยู่ เลยตัดสินใจพัฒนาความสามารถอื่นที่พอจะเคยทำบ้างสมัยเรียนอย่าง “การตัดต่อวีดิโอ” ให้เก่งขึ้นจนมันทำเงินได้ และทำมันจนถึงปัจจุบัน “งั้นอาชีพตอนก็เป็นช่างตัดต่อวีดิโอสิ” ข้อเท็จจริงอาจจะเป็นแบบนั้นเพราะมันเป็นสิ่งที่สร้างรายได้ แต่ผมไม่เคยมองแบบนั้น เพราะสิ่งที่ผมใช้เวลากับมันอย่างเต็มที่และมี Passion กับมันเสมอคือการกำกับและแสดงละครเวที สำหรับผมอาชีพคือสิ่งที่เราใช้เวลากับมันมากกว่าและเห็นภาพตัวเองชัดเจนว่าจะทำมันไปตลอดชีวิต การมี Second Job ไม่ทำให้เวลาการทำละครเวทีของผมลดลงเลยเพราะผมไม่ยอม เลยดันไปเบียดเบียนเวลาพักผ่อนและเวลาที่อยู่กับครอบครัวแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมต้องแลก
กวิน ในการแสดงเรื่อง Lang-Kao การแสดงที่ร่วมมือกันระหว่าง
ศิลปินไทยและญี่ปุ่น จัดแสดงที่จังหวัด Saitama
รูปภาพโดย: Kirari Fujimi Cultural Centre
ปัจจุบันเพื่อนที่เรียนละครมาด้วยกันแยกย้ายกันไปทำอาชีพต่างๆ มีเพียง 4 คนจาก 27 คนที่ยังทำอยู่ และเป็นแบบนี้ในทุกๆ รุ่น เวลาคือสิ่งที่จะตอบเราว่าเราเหมาะสมกับอะไร จบการละครไม่จำเป็นต้องทำละคร
เพื่อนเขียนบทมือฉมังของผมและอีกหลายคน เป็นแอร์โฮสเตส เพื่อนผู้กำกับของผมดูแลธุรกิจที่บ้าน เพื่อนนักแสดงที่น่าจับตามองสมัยเรียนของผม ทำงานในบริษัทธุรกิจที่ใหญ่โต ทุกวันนี้มีเพื่อนแค่ไม่กี่คนที่ยังแวะเวียนมาดูการแสดงของผม แต่นั่นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะละครไม่ได้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของเขา ผมไม่เรียกร้องให้เพื่อนมาดูงานของผม ถึงแม้จะเป็นงานที่ทำขึ้นมาอย่างยากลำบากและสร้างความภาคภูมิใจให้กับผมมากแค่ไหนก็ตาม เพราะในขณะเดียวกันที่เพื่อนเราทำงานเป็นแอร์โฮสเตส เราก็ไม่สามารถไปที่สนามบินเพื่อให้กำลังใจเขาได้เช่นกัน ทุกคนใช้ความรู้ด้านละครที่เรียนมาเพื่อทำสิ่งที่ตัวเองมีความสุข ซึ่งเป็นสิ่งถูกต้อง ศิลปินการละครก็เป็นเพียงอาชีพหนึ่ง แค่แวะเวียนกันมาดูตามที่ใจตนเองอยากมา แค่นั้นก็ชื่นใจแล้ว
พอเอาเรื่องนี้มาคิดต่อ มันยากมากที่จะตอบว่าแล้วทำยังไงศิลปะการแสดงถึงจะตอบโจทย์ต่อสังคมไทย พวกเราพยายามช่วยทำทีละนิดๆ ตามความสามารถที่วงการละครไทยจะทำได้ ผมว่าถ้าเราแทรกซึมเข้าไปในระดับมัธยมได้อีก (ซึ่งตอนนี้มีแล้ว และส่วนหนึ่งก็พยายามอย่างเต็มที่) นอกจากสอนการสร้างศิลปะแล้ว ถ้ากระทรวงศึกษาธิการสอนการดูศิลปะด้วย อาจทำให้ผู้คนในสังคมเห็นความสำคัญของมันมากกว่านี้มาก ซึ่งมันสำคัญนะ ถ้าจะให้บอกว่าสำคัญอย่างไรก็เขียนกันอีกยาว
ผู้เขียน : กวิน พิชิตกุล ศิลปินละครเวทีจากกลุ่ม Dee-ng Theatre ที่ผลิตผลงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลงานทั้งในและต่างประเทศ
กวินเป็นหนึ่งในศิลปินไทยในโครงการ Kirari Fujimi x Southeast Asia vol.1 โดย Kirari Fujimi Foundation ในผลงาน "หลังเขา" (Collaboration Performance) ในปี 2018 กวินสนใจและมีทักษะการแสดงในหลายรูปแบบ ทั้งละครพูด, Physical Theatre, Devising Performance, Puppet และ Butoh