บทความเล็กๆ นี้เริ่มต้นจากเสวนาเรื่องที่ทางของละครโรงเล็กในประเทศไทยที่หอศิลป์กทม.เมื่อปี 2013 ค่ะ เสวนาครั้งนั้นชี้ให้เห็นว่าสถานะการเงินของโรงเล็กบ้านเรามันไม่ดีพอให้ดำเนินกิจการอย่างราบรื่นและเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน เราเลยมีคำถามติดตัวมาตลอดว่าทำยังไงถึงจะแก้ปัญหานี้ได้ บทความนี้จึงรวบรวมข้อมูลการเงินและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับละครโรงเล็กไทยมาวิเคราะห์เพื่อเสนอช่องทางในการสร้างชุมชนละครโรงเล็กไทยให้เข้มแข็งขึ้น ขอบคุณพี่ๆ ศิลปินละครโรงเล็กทุกท่านอีกครั้งที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของบทความนี้ค่ะ
ด้านการเงิน
ในขณะที่บริษัทหนึ่งๆ ในโลกธุรกิจทำกำไรเพื่อเอามาแบ่งให้ผู้ถือหุ้น องค์กรประเภทไม่แสวงหาผลกำไร “ทำกำไร” เพื่อเอามาทำงานต่อในอนาคต ถูกค่ะ นอนโพรฟิตก็ต้องทำกำไรเหมือนกัน เพราะไม่มีองค์กรไหนอยู่ได้ถ้าขาดทุนติดกันทุกปี แม้ละครโรงเล็กบ้านเราจะไม่ได้จดทะเบียนเป็นนอนโพรฟิตตามกฎหมาย แต่ด้วยลักษณะการดำเนินงานแล้ว ละครโรงเล็กบ้านเราตระหนักว่าตัวเองเป็นองค์กรนอนโพรฟิตค่อนข้างสูงค่ะ
วิธีทำกำไรก็พื้นฐานมากค่ะ หาเงินให้ได้มากกว่าที่จ่ายไป ฟังดูง่ายนะคะ กระนั้นโรงเล็กบ้านเราก็ยังทุลักทุเลกับสมการง่ายๆ นี้ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นว่าอะไรคือสาเหตุ เราจะมาวิเคราะห์รายรับและรายจ่ายกันค่ะ
รายรับ
คร่าวๆ เลยรายรับขององค์กรศิลปะจะมาจากสามสายหลักๆ ค่ะ
เงินรายได้ (Earned income) = รายได้ขายตั๋ว, สินค้าและบริการ, พื้นที่โฆษณา, คลาสเรียน ฯลฯ
เงินบริจาค (Contributed income) = เงินบริจาคจากบุคคลทั่วไป, จากบริษัทห้างร้าน, และจากรัฐ
เงินลงทุน (Investment income) = ผลกำไรจากหุ้นหรือพันธบัตร
จากข้อมูลที่เก็บมาพบว่า สัดส่วนรายรับของโรงเล็กไทยในภาพรวมเป็นแบบนี้ค่ะ
มาดูกันทีละประเภท เอาเงินรายได้ก่อน 87.7 - 100% มาจากการขายตั๋ว นอกนั้นมาจากเวิร์คช็อปต่างๆ ขายสินค้า ให้เช่าที่ ฯลฯ พิจารณาจะพบว่าศิลปินโรงเล็กไทยส่วนมากรู้ตัวว่าองค์กรตัวเองมี structural deficit แปลหยาบๆ คือ รู้ว่ารายรับตัวเองจะน้อยกว่ารายจ่ายโดยธรรมชาติ ศิลปินเลยหาเงินด้วยวิธีอื่นไปด้วยนอกเหนือจากขายตั๋วอย่างเดียว อย่างที่ปรากฏ
ราคาตั๋วมีตั้งแต่ 350 - 550฿ เฉลี่ยที่ 460฿ รายได้เฉลี่ยของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลต่อคนอยู่ที่ 26,161฿ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านบันเทิงนันทนาการเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 1.1% (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2016) นั่นแปลว่าค่าตั๋วหนึ่งใบเฉลี่ยคิดเป็น 160% ของค่าใช้จ่ายด้านบันเทิงนันทนาการเฉลี่ยต่อเดือน แปลอีกทีคือ แพง
ถัดมา เงินบริจาค 91% มาจากองค์กรต่างประเทศ เงินสนับสนุนจากภาครัฐไทยเบาบางพอๆ กับเงินบริจาคจากบุคคลทั่วไป ปริมาณกิจกรรมระดมทุน (fundraisers) ค่อนข้างต่ำ ชี้ให้เห็นว่าสถานะของงานศิลปะละครร่วมสมัยไทยเอนเอียงไปทางสินค้าเอกชนมากกว่าจะเป็นสินค้าสาธารณะ นอกจากนั้นอาจชี้ให้เห็นด้วยว่าโรงเล็กไทยขาดองค์ความรู้และบุคลากรด้านการระดมทุน
ในแง่ของเงินบริจาค โรงเล็กไทยหันไปพึ่งพิงองค์กรนอนโพรฟิตต่างประเทศเสียมาก อย่างไรก็ดี เงินทุนหลายแหล่งก็จะมาพร้อมกับโจทย์ให้ต้องตอบสนอง เช่น เงื่อนไขว่าต้องทำงานกับศิลปินต่างชาติ, ในโจทย์ที่กำหนด, ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ระบุ เป็นต้น สร้างข้อจำกัดให้การสร้างงานศิลปะในระดับหนึ่ง
แม้เราจะมีสํานักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยมา (สศร.) มาแต่ปี 2002 การสนับสนุนจากภาครัฐในวงการละครโรงเล็กบ้านเราก็ยังอยู่ในระดับต่ำ สศร.อนุมัติงบประมาณเพียง 3.4% เท่านั้นในการอุดหนุนศิลปินร่วมสมัย (ทุกแขนง) ในขณะที่งบที่เหลือใช้ไปกับแผนงานวัฒนธรรมที่มีลักษณะลงมาจากเรือนยอดและเข้าหาศูนย์กลาง กระนั้นก็ยังมีหอศิลป์กทม.ที่สนับสนุนละครโรงเล็กมากขึ้นในระยะหลังผ่านการบริจาคเป็นสิ่งของ เช่น สถานที่จัดแสดงในราคาย่อมเยาหรือไม่มีค่าใช้จ่าย
ประเภทสุดท้าย เงินลงทุน ดูเหมือนว่าโรงเล็กบ้านเรายังอยู่ในระยะทดลองกับการหารายได้ประเภทนี้
รายจ่าย
รายจ่ายแบ่งได้เป็นสองประเภทหลัก แปลหยาบๆ ได้ว่า
ค่าใช้จ่ายทางตรง (Direct costs) = ค่าใช้จ่ายในการทำละครตรงๆ
ค่าใช้จ่ายทางอ้อม (Indirect costs) = ค่าใช้จ่ายขององค์กรที่ไม่เกี่ยวกับการทำละครตรงๆ เช่น ค่าเช่าออฟฟิศ (ห้อง), ค่าเว็บไซต์, ค่าดำเนินการทั่วไป, ค่าสมาชิกเครือข่ายละครกรุงเทพ ฯลฯ
ค่าใช้จ่ายทางตรงยังแบ่งได้ต่อไปอีกเป็นสองจำพวก แปลหยาบๆ ได้ว่า
ต้นทุนคงที่ (Fixed costs) = เล่นกี่รอบก็ต้องจ่ายเท่านี้ เช่น ค่าโปรดักชั่น ค่าพีอาร์
ต้นทุนผันแปร (Variable costs) = ขึ้นอยู่กับว่าเล่นกี่รอบ เช่น ค่าตัวนักแสดง ค่าอาหาร (สวัสดิการ) ค่าเช่าที่แสดง (ถ้ามี)
จากข้อมูลที่เก็บมา สัดส่วนรายจ่ายของโรงเล็กไทยในภาพรวมเป็นแบบนี้ค่ะ
เนื่องจากโรงเล็กไทยเป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ไม่มีการจ้างพนักงานประจำ จึงไม่มีเงินเดือนเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารจัดการให้นับเป็นค่าใช้จ่ายทางอ้อม ทำให้ program expense ratio ของโรงเล็กไทยในภาพรวมลอยเด่นเป็นสง่าน่าประทับใจที่ 92.4%.
โรงเล็กไทยหลายคณะใช้โมเดลธุรกิจเดียวกัน เป็นโมเดลที่ตกลงร่วมกันระหว่างคณะละครและศิลปิน นั่นคือ หากโปรดักชั่นใดขาดทุน คณะละครจะลดต้นทุนผันแปรลงเพื่อชดเชยความเสียหาย โดยมากแล้วค่าเช่าที่แสดงจะไม่สามารถต่อรองได้ มิเช่นนั้นก็จะไม่มีค่าใช้จ่ายไปเลย (ในกรณีที่แสดงในพื้นที่ของตัวเอง) ดังนั้นสิ่งที่จะถูกลดเพื่อชดเชยผลขาดทุนคือ ค่าตัวนักแสดงและทีมงาน แม้จะมีหลายตัวอย่างที่ผลงานศิลปินทำผลงานได้ดีทางการเงิน แต่หลายต่อหลายครั้ง ค่าตัวนักแสดงและทีมงานจะถูกปรับให้น้อยลง
ด้านกฎหมาย
คณะละคร 60% กว่าๆ ของอเมริกาเป็นนอนโพรฟิต นอกนั้นคือพวกบรอดเวย์ กฎหมายภาษีอเมริกางดเว้นภาษีเงินได้ให้องค์กรนอนโพรฟิต และให้สิทธิผู้บริจาคเงินให้องค์กรเหล่านี้หักลดหย่อนได้ด้วย ประเทศไทยก็มีกฎหมายคล้ายคลึงกัน กรมสรรพากรจะไม่จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากองค์กรสาธารณกุศล ผู้บริจาคเงินให้องค์กรเหล่านี้ก็สามารถนำมาขอหักลดหย่อนได้สูงสุด 10% จากรายได้ทั้งหมด
กระนั้น องค์กรที่ขอขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณกุศลได้ต้องเป็นมูลนิธิหรือดำเนินการในรูปแบบนี้เท่านั้น (เช่น กองทุนต่างๆ และต้องมีทรัพย์สินจดทะเบียนขั้นต่ำ 500,000฿) เอกสารหลักที่ใช้ในการขอขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณกุศลได้แก่ งบดุลและงบรายรับรายจ่ายย้อนหลังหนึ่งปี รับรองโดยผู้ตรวจสอบบัญชี โดยงบนั้นต้องแสดงว่า
รายรับขององค์กรไม่น้อยกว่า 60% ใช้จ่ายไปกับสาธารณประโยชน์
รายรับขององค์กรไม่ได้มาจากการซื้อขายสินค้าและบริการ เว้นแต่ว่าเกี่ยวข้องกับศาสนา การศึกษา การแพทย์ หรืองานสังคมสงเคราะห์
รายจ่ายขององค์กรไม่น้อยกว่า 65% ใช้จ่ายไปกับสาธารณประโยชน์
คณะละครโรงเล็กไทยไม่เคยได้รับการงดเว้นภาษีจากกรมสรรพากร อันที่จริงแล้วโรงเล็กบ้านเราไม่เคยเป็นนิติบุคคลในทางกฎหมายเสียด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดี บางคณะได้เข้าใกล้การเป็นนิติบุคคลไปหนึ่งขั้นด้วยการจดทะเบียนเป็น ‘คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล’ เพื่อใช้รับเงินสนับสนุนจากแหล่งทุน
ช่องทางปรับปรุง
หัวข้อช่องทางปรับปรุงในบทความนี้มิใช่คำแนะนำหรือความคิดเห็นด้านกฎหมาย และมิใช่คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน การทำธุรกิจ หรือการค้าใดๆ ความเสี่ยงภัยจะตกเป็นของท่านหรือองค์กรของท่านเองหากมีการกระทำหรือตัดสินใจใดๆ โดยอาศัยเนื้อหาจากบทความนี้ ผู้เขียนบทความและมหาวิทยาลัยบอสตันไม่รับผิดชอบต่อท่านหรือบุคคลใดๆ ในความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมจากการใช้เนื้อหาในบทความนี้ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ รวมถึงการที่เนื้อหานั้นไม่ถูกต้อง ผิดพลาด ไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์ ถูกลบ หรือถูกแก้ไข
ช่องทางเหล่านี้มิใช่คำตอบสุดท้ายตายตัวในการก้าวข้ามอุปสรรคทางการเงินของละครโรงเล็กไทย กระนั้น ช่องทางเหล่านี้อาจช่วยนำพาสถานะการเงินของโรงเล็กไทยไปในทิศทางที่ดีขึ้นไม่มากก็น้อย
World Giving Index จัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่บริจาคเงินให้องค์กรการกุศลมากที่สุดในโลกเมื่อปี 2011 (ปัจจุบันอยู่อันดับ 12 ของโลก) จึงน่าเศร้ามากที่ข้อมูลจากการสำรวจชี้ให้เห็นว่าปริมาณกิจกรรมระดมทุนนั้นต่ำมาก โรงเล็กไทยควรจัดกิจกรรมระดมทุนมากขึ้น กิจกรรมระดมทุนสามารถสร้างรายรับได้ทั้งประเภทเงินรายได้และประเภทเงินบริจาค (ทั้งจากผู้บริจาครายบุคคลและธุรกิจห้างร้านในประเทศ)
เพื่อให้ผู้บริจาคมีวงกว้างขึ้น โรงเล็กและนักวิชาการละครไทยควรเริ่มปลูกแนวคิดที่ว่าศิลปะละครร่วมสมัยเป็นสินค้าสาธารณะ และควรได้รับการสนับสนุน(ในรูปแบบเงิน/สิ่งของบริจาค) จากทุกภาคส่วนของสังคม
โรงเล็กไทยควรขอรับบริจาคไม่ใช่เพียงแค่เงิน แต่ควรขอรับบริจาคสินค้าและบริการด้วย เพราะอย่างน้อยที่สุดสินค้าและบริการเหล่านั้นสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้หากไม่มีเงื่อนไขกำกับ
โรงเล็กไทยควรเก็บข้อมูลทางประชากรศาสตร์ของผู้เข้าร่วมกิจกรรม/ผู้ชมเพื่อใช้ในการวางแผนจัดกิจกรรมระดมทุนและการสร้างฐานผู้ชมในอนาคต ข้อมูลเหล่านี้ยังใช้ประกอบการขอบริจาคในอนาคตได้อีกด้วย
เมื่อสินทรัพย์ของคณะละครมีมากขึ้นถึงระดับหนึ่ง โรงเล็กไทยควรลดราคาตั๋วลง ราคาตั๋วที่เป็นมิตรกับผู้ชมจะช่วยเสริมสร้างฐานผู้ชมของคณะละครไปในตัว เป็นความสัมพันธ์ที่เสริมสร้างกันและกัน
รายรับประเภทเงินลงทุนเป็นแหล่งรายได้ขององค์กรขนาดใหญ่ แต่อาจเป็นแหล่งความเสี่ยงขององค์กรขนาดเล็ก ในระยะนี้ โรงเล็กไทยควรทุ่มเทพลังงานและเวลาให้กับการรักษาระดับรายรับประเภทเงินรายได้และเพิ่มรายรับประเภทเงินบริจาคมากกว่าการสร้างรายรับประเภทเงินลงทุน
โรงเล็กไทยไม่ควรปรับลดค่าตัวนักแสดงและทีมงานเพื่อชดเชยผลขาดทุนเป็นอย่างยิ่ง การลดค่าตัวนักแสดงนอกจากจะกระทบกับชีวิตส่วนตัวของศิลปินแล้ว ยังส่งผลเสียต่อพัฒนาการของละครโรงเล็กไทยอีกด้วย โรงเล็กไทยควรใช้วิธีระดมทุนเพิ่มขึ้นแทนการลดค่าตัวศิลปิน
การได้รับงดเว้นภาษีจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้คนบริจาคให้องค์กรมากขึ้น กระนั้น ค่าใช้จ่ายในการขอและคงสถานะงดเว้นภาษียังสูงกว่าสิทธิประโยชน์ในการมีสถานะนั้นสำหรับโรงเล็กไทย นอกจากนั้นแล้วสถานะดังกล่าวยังห้ามมิให้โรงเล็กไทยซื้อขายสินค้า (รวมถึงตั๋วละคร) ดังนั้น โรงเล็กไทยจึงไม่ควรจดทะเบียนเป็นสถานสาธารณประโยชน์ตามกฎหมาย
การเพิ่มกิจกรรมระดมทุนจะทำให้โรงเล็กต้องใช้คนเพิ่มขึ้น โรงเล็กไทยอาจไม่มีกำลังคน/องค์ความรู้มากพอ ดังนั้นจึงควรมอบหมายงานนี้ให้องค์กรภายนอกรับผิดชอบ (Outsourcing) อย่างไรก็ดี ศิลปินยังคงต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรภายนอกเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริจาคและผู้ชมของตน ค่าตอบแทนองค์กรภายนอกเหล่านี้อาจเป็นไปในรูปของร้อยละของทุนที่ระดมได้ ตามแต่จะตกลงกัน
ในกรณีที่คณะละครตัดสินใจระดมทุนด้วยตัวเอง หรือในกรณีที่ศิลปินตัดสินใจเลือกระดมทุนเป็นงานหลักของตนเองแทนที่จะรับงานอิสระ คณะละคร/ศิลปินควรหาความรู้เชิงปฏิบัติหรือบุคลากรในสายงานมาช่วยเหลือเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการกระทำดังกล่าวมีความเสี่ยง สถาบันอุดมศึกษาสามารถช่วยเหลือในจุดนี้ได้ด้วยการผลิตบุคลากรและองค์ความรู้ป้อนวงการศิลปะการละครร่วมสมัยของไทย
แม้ว่าโรงเล็กไทยควรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล กระนั้นบทความนี้ก็ไม่มีช่องทางที่แน่ชัดว่าโครงสร้างทางกฎหมายใดเหมาะกับคณะละครโรงเล็กของไทยที่สุด นอกเหนือจากสถานสาธารณกุศลที่กล่าวไปแล้วข้างต้น โรงเล็กอาจขอจดทะเบียนเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ก็ได้ กระนั้น การขึ้นทะเบียนดังกล่าวก็ไม่ได้ให้สิทธิประโยชน์ใดๆ ที่จะเอื้ออำนวยแก่ละครโรงเล็กไทย แต่อย่างน้อยที่สุด การจดทะเบียนเป็นคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคลก็สามารถลดความเสี่ยงเรื่องการหลีกเลี่ยงภาษีได้
สรุป
ช่องทางที่โรงเล็กไทยอาจปรับปรุงเพื่อให้มีสถานะการเงินที่ดีขึ้นได้ ได้แก่
รักษาระดับรายรับประเภทเงินรายได้
เพิ่มปริมาณกิจกรรมระดมทุน
มอบหมายงานระดมทุนให้องค์กรภายนอก หรือหาความรู้ในการระดมทุน
ขอรับบริจาคสินค้าและบริการด้วย นอกเหนือจากเงิน
ลดค่าตั๋ว
เก็บข้อมูลผู้เข้าร่วม/ผู้ชม
ไม่ลดค่าตัวศิลปินเมื่อมีผลขาดทุน
จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือคณะบุคคล
ไม่จดทะเบียนเป็นสถานสาธารณกุศล
ปลูกความคิดว่าศิลปะละครร่วมสมัยเป็นสินค้าสาธารณะในสังคมไทย