Fringe Theatre Festival

(เผยแพร่ครั้งแรกในเวปไซต์เทศกาลละครกรุงเทพ 2019)

พวกเราหลายคนคงเคยผ่านหูผ่านตาคำว่า Fringe Festival กันมาบ้าง เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมต้อง Fringe

66b86a_cb64528383164f00a0e137868d1a1988~mv2_d_4288_2848_s_4_2.jpg

Fringe

คำคำนี้หมายถึงอะไร เป็นชื่อเทศกาลเฉยๆงั้นหรือ ทำไมหลายประเทศถึงตั้งตามๆกันโดยใช้ชื่อเดียวกันนี้ อะไรหรือคือตัวตน จุดยืน อุดมการณ์ และจิตวิญญาณของความเป็น “ Fringe ” อย่างไรก็ตาม ก็มีบางคนกล่าวว่า ถ้าต้องมาจำกัดความหมายของคำว่า Fringe ภายในคำไม่กี่คำแล้วล่ะก็ ความ “ Fringe ” ก็จะหายไปเพราะธรรมชาติของ “ Fringe ” นั้นต้องไม่ถูกปิดกั้นหรือถูกกรอบเอาไว้

Fringe

ความหมายตรงตัวแปลว่า ริม ขอบ ชายขอบ ซึ่งคำนี้น่าจะมีความหมายอยู่ตรงข้ามกับคำว่า mainstream หรือ กระแสหลัก นั่นเอง 

66b86a_007a041062f4407faaa9bbd29a42e686~mv2_d_4288_2848_s_4_2.jpg

ถ้าเราจะหาความหมายกันจริงๆ อาจสรุปได้ว่า Fringe Festival หมายถึง เทศกาลศิลปะที่มีลักษณะพิเศษตรงความเปิดกว้าง ไม่แบ่งแยก ไม่ตัดสิน ใครๆก็เข้าร่วมได้ ไม่ว่าศิลปินอาชีพ สมัครเล่น หรือนักเรียนนักศึกษา ไม่มีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่มาโหวตคัดออก เป็นเทศกาลที่รวบรวมการแสดงหลากแขนง ทั้งละครพูด ละครphysical โอเปร่า กายกรรม เล่นกล คาบาเรต์ ละครเด็ก การแสดงดนตรี ละครตลก เดี่ยวไมโครโฟน และอื่นๆ อะไรก็ตามที่เป็นการแสดงก็สามารถเข้าร่วมได้หมด มาไว้ในงานเดียวกันเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันทั้งระหว่างศิลปินด้วยกันเอง และศิลปิน ตัวงาน กับผู้ชม

ต้นกำเนิดของ Fringe Festival ย้อนกลับไปเมื่อราว 70 ปีก่อน ในปี 1947 ที่เมืองเอดินบะระ (Edinburgh) ขณะนั้นในเอดินบะระเพิ่งจะมีเทศกาลที่ชื่อว่า Edinburgh International Festival ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองถือเป็นเครื่องหมายแห่งความสงบหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง 

Screen Shot 2019-10-27 at 1.31.44 AM.png

​​ในเทศกาลนั้น มีกลุ่มละครอิสระ 8 กลุ่มถูกปฏิเสธ ไม่ถูกคัดเลือกให้จัดแสดงงาน แต่กลุ่มละครทั้งแปดนั้นไม่ย่อท้อต่อการตัดสินนี้ พวกเขาจัดแสดงงานอยู่บริเวณริมขอบของงานเทศกาลใหญ่นั่นเอง ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิด Edinburgh Festival Fringe เทศกาลศิลปะกลางแจ้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ทุกปีในเดือนสิงหาคม จะมีผู้คนนับพันมาแสดงงานศิลปะรูปแบบต่างๆหลากหลายในสถานที่จัดงานกว่า 200 จุดที่เมืองหลวงแห่งสกอตแลนด์นี้ ความ “Fringe” นี้มีเสน่ห์ตรงที่มันเปี่ยมล้นไปด้วยความรัก ความมุ่งมั่น และพลังของความสร้างสรรค์จากผู้คนหลากหลายที่มีจุดพ้องกันตรงที่ทุกคนมุ่งจะแสดงความคิด ตัวตน มุมมองที่มีต่อชีวิตและโลกใบนี้ผ่านการแสดงของตน 

ในเทศกาลนี้ ทุกคนไม่ว่าจะเป็นศิลปินอาชีพ นักคึกษา หรือผู้รักการแสดงที่เพิ่งก้าวเข้ามาสู่การแสดงเป็นครั้งแรกในชีวิต ล้วนมีโอกาสเท่าเทียมกันทั้งสิ้น Venue หรือที่จัดงานกว่า 200 แห่งของเทศกาล Edinburgh Festival Fringe มีทุกรูปแบบตั้งแต่โรงละครจริงจัง ไปจนถึงกลางแจ้ง ในสวนสาธารณะ บนตึกร้างในที่ว่างตามตรอกซอกซอย ในร้านอาหาร ในบาร์ ที่ไหนก็ตามที่เป็นพื้นที่ว่างพอจัดแสดงได้ พื้นที่เหล่านั้นสามารถกลายร่างกลายเป็นเป็นโรงละครได้ทั้งสิ้น 

Screen Shot 2019-10-27 at 1.31.57 AM.png

ล่วงเลยมากว่า 70 ปีจากวันที่กลุ่มละคร 8 กลุ่มผู้ไม่ถูกเลือก ไม่ยอมแพ้ต่อชะตากรรมการถูกตัดสินคุณค่านั้น Fringe ได้กลายเป็นเวทีเสรีภาพแห่งความสร้างสรรค์ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในเมืองเอดินบะระหรือในภูมิภาคยุโรปเท่านั้น แต่ได้แผ่ขยายไปทั่วโลก ปัจจุบันมีเทศกาลละครที่ตามรอยของ Edinburgh Festival Fringe กว่า 250 เทศกาล โดยมีเครือข่ายในชื่อว่า World Fringe ทำหน้าที่ให้คำแนะนำและให้การช่วยเหลือชุมชน Fringe ทั่วโลก ประเทศไทยของเราเองก็มี Fringe Theatre Festival เช่นกัน นั่นก็คือ เทศกาลละครกรุงเทพหรือ Bangkok Theatre Festival นั่นเอง 

ความ“Fringe” คือ ทุกคนมีสิทธิเข้าร่วม ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลได้ ไม่มีใครไม่ถูกเลือก ทุกการแสดงและทุกคนมีคุณค่า และที่สำคัญที่สุด อย่ายอมพ่ายแพ้ให้ใครมาตัดสินคุณค่าของเรา 

Here's to the rejected.

66b86a_f9c714e146be485f83151dbe5c8be38b~mv2.jpg

ผู้เขียน : ผศ.ดร.ปริดา มโนมัยพิบูลย์ 

จบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาการเขียนบทละคร ( Writing for Performance ) จาก University of Exeter ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาศิลปการละคร คณะ​ อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนวิชาเขียนบท ละครและการวิเคราะห์บทละคร มีผลงานเขียนบทละครเวที อย่างต่อเนื่อง