(เผยแพร่ครั้งแรกใน The Momentum)
ถ้าพูดถึงละครเวที หลายคนคงจะนึกถึงละครบรอดเวย์ในนิวยอร์กมาเป็นอันดับแรกๆ แต่กว่าจะมาเป็นบรอดเวย์ เส้นทางเป็นอย่างไรบ้าง รัฐเข้ามามีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหนในการพัฒนาให้บรอดเวย์มาถึงจุดนี้ นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจ
กฎหมายสหรัฐอเมริกามองว่าละครเวทีเป็นสินค้าสาธารณะ (public goods) เป็นสิ่งที่รัฐมีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องสนับสนุนให้มีอยู่ในสังคม เขามองงานศิลปะเป็นปัจจัยพื้นฐานในชีวิตมนุษย์ มีคุณค่ามากเท่าๆ กับน้ำประปา ไฟฟ้า หรืออากาศสะอาด ดังนั้นคณะละครเวทีจึงสามารถจดทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (nonprofit) ได้ และได้รับการยกเว้นภาษีเกือบทุกชนิด ประชาชนก็สามารถหักลดหย่อนเมื่อบริจาคให้คณะละครเวทีได้อีกด้วย โดยกว่า 60% ของคณะละครเวทีในอเมริกาก็ล้วนจดทะเบียนเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
ในประเทศที่ขึ้นชื่อว่าความตายกับภาษีเป็นสองสิ่งที่ไม่มีใครหนีพ้นนั้น การได้เว้นภาษีจึงเป็นการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมและมีมูลค่ามากจากภาครัฐ
หลายคนคงเคยได้ยินชื่อละครเพลงเรื่อง Hamilton ละครเพลงเรื่องนี้บัตรแพงมากจนหน้ามืดคว้าราวจับไม่ทัน แต่ก่อนจะขึ้นบรอดเวย์นั้น จริงๆ แล้ว Hamilton พัฒนามาจาก The Public Theater ที่เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร อีกเรื่องที่ตอนนี้ก็เล่นอยู่ในบรอดเวย์และมาจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเช่นกันนั่นคือ What the Constitution Means to Me
เมื่อหันกลับมาเทียบกับประเทศไทย เราก็จะพบว่าภาครัฐยังสนับสนุนละครเวทีไม่มากเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐยังไม่เข้าใจบทบาทของละครเวทีต่อสังคมมากพอ และยังไม่ตระหนักว่าละครเวทีหรือกระทั่งศิลปะแขนงอื่นๆ ก็ตาม มีคุณค่าต่อสังคมมากกว่าแค่ในเชิงเศรษฐกิจ
ศิลปะมีส่วนสำคัญมากในการพัฒนามนุษย์ อเมริกาจากเดิมที่มียุทธศาสตร์ชาติสนับสนุนการเรียนการสอนสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (Science, Technology, Engineering, and Math หรือ STEM) ปัจจุบันเริ่มมีการบรรจุศิลปศาสตร์ (Arts) ลงไปในกลุ่มวิชานี้แล้วเพื่อตอบสนองความต้องการของโลกยุคศตวรรษที่ 21 จาก STEM จึงกลายเป็น STEAM
ในขณะที่รัฐไทยยังคงมองศิลปะร่วมสมัยเป็นสินค้าธุรกิจที่ต้องแข่งขันด้วยตัวเองอยู่ กรณีหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครที่ยังคงยืดเยื้อถึงทุกวันนี้เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่ารัฐไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับงานศิลปะร่วมสมัย เราจึงยังคงไม่เห็นมาตรการใดๆ ที่เป็นรูปธรรมเพื่อสนับสนุนงานศิลปะในสังคมไทย คณะละครเวทีเองต้องจดทะเบียนเป็นองค์กรธุรกิจเท่านั้นและเสียภาษีอย่างองค์กรธุรกิจ ปิดช่องทางเติบโตของละครเวทีในฐานะกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาแทบจะโดยสิ้นเชิง
ในวันที่รัฐเป็นผู้บั่นทอนพัฒนาการศิลปะเสียเอง เราคงจะนั่งรอการสนับสนุนจากรัฐด้วยใจหวังอีกต่อไปไม่ได้แล้ว เราคงต้องเริ่มลงมือทำอะไรสักอย่าง ว่าแต่อะไร?
หากกลับไปมองสหรัฐอเมริกาอีกสักครั้งก็จะพบว่าแท้จริงแล้วภาครัฐอเมริกาไม่ได้สนับสนุนละครเวทีเป็นตัวเงิน แต่สนับสนุนในลักษณะจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับเพื่อให้การผลิตละครเวทีภายใต้การแข่งขันอันดุเดือดในระบบทุนนิยมเป็นไปได้ราบรื่นแทน
งานสำรวจชี้ให้เห็นว่าคณะละครเวทีในอเมริกาได้รับงบสนับสนุนจากภาครัฐเฉลี่ยที่เพียงแค่ 4.3% ของรายจ่ายเท่านั้น เงินสนับสนุนที่เหลือทั้งหมดมาจากการบริจาคโดยภาคประชาชนและภาคธุรกิจ คิดเป็น 40.9% ของรายจ่ายทั้งหมด กล่าวได้ว่าคณะละครเวทีในอเมริกาอยู่ได้ด้วยเงินบริจาคเกือบครึ่งเลยทีเดียว
ประเทศไทยเราเองได้รับจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนคนบริจาคเงินเยอะที่สุดในโลกเมื่อปี 2011 และก็ติดอันดับต้นๆ ของโลกมาตลอดทุกปี กรณีวิ่งการกุศลของพี่ตูนเองเป็นเครื่องยืนยันว่าคนไทยใจดีและชอบบริจาค
ฉะนั้น สิ่งง่ายๆ สิ่งแรกที่พวกเราประชาชนทำได้เลยคือบริจาคให้คณะละครเวที ถ้าไม่รู้จะบริจาคให้คณะไหนดีหรืออยากให้เงินบริจาคเป็นประโยชน์ต่อวงการละครเวทีโดยรวมก็สามารถบริจาคให้แก่องค์กรที่สนับสนุนละครเวทีร่วมสมัยได้
องค์กรสนับสนุนละครเวทีร่วมสมัยนำเงินบริจาคของเราไปแก้ปัญหาในจุดต่างๆ ที่ภาครัฐยังไม่ได้ทำ บางองค์กรจัดตั้งกองทุนเพื่อมอบทุนแก่คณะละครต่างๆ ด้วย หากองค์กรที่เราบริจาคให้เป็นสถานสาธารณกุศล เงินบริจาคของเราก็จะสามารถหักลดหย่อนภาษีได้อีกต่างหาก
อีกสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ง่ายๆ คือเข้าร่วมผลักดันวาระต่างๆ ที่องค์กรสนับสนุนละครเวทีร่วมสมัยเสนอต่อภาครัฐ นักการเมืองมักมองหาแรงสนับสนุนจากภาคประชาสังคมในการเห็นชอบวาระใดๆ หากวาระด้านศิลปะละครเวทีมีประชาชนจากหลายฝ่ายเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมากก็จะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมในระดับชาติ
ถ้าทำหมดแล้วแต่ยังไม่สาแก่ใจคนรักละครเวทีอย่างเราท่าน อีกวิธีง่ายๆ คือ ซื้อบัตรแล้วออกไปดูละคร! วิธีนี้รับรองว่าสนับสนุนวงการละครเวทีไทยร่วมสมัยได้ดีมากๆ แน่นอน
André DeShields กล่าวขณะรับรางวัล Tony ปีล่าสุดว่า “Slowly is the fastest way to get to where you want to be.” ช้าๆ คือวิธีไปถึงที่หมายให้เร็วที่สุด แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงใช้เวลา ฉะนั้นเริ่มเสียแต่วันนี้ ช่วยกันคนละไม้ละมือ แล้วสักวันเราก็จะมองเห็นฝั่ง
อ้างอิง:
http://www.playbill.com/article/8-memorable-moments-from-the-2019-tony-awards