WFH Series #05: กักตัวยังไงไม่ให้เหมือนกักกัน

สถานการณ์ COVID-19 ดำเนินมาจนถึงจุดที่เราต้องรักษาระยะห่าง (SOCIAL DISTANCING) กันอย่างจริงจัง มูลนิธิละครไทยในฐานะองค์กรออนไลน์เต็มรูปแบบขอนำเสนอ WFH SERIES ซีรีส์บทความที่จะช่วยไกด์ชาวละครในการปรับเปลี่ยนมาทำงานจากบ้านหรือ WORK FROM HOME (WFH)


WFH Series #05: กักตัวยังไงไม่ให้เหมือนกักกัน


ศิลปินละครจำนวนมากเป็นฟรีแลนซ์ทำงานทางไกลอยู่แล้ว ไม่ต้องปรับตัวอะไรมากในภาวะเช่นนี้ แต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่คุ้นชินกับการต้องอยู่บ้านนานๆ พาลให้รู้สึกเหมือนตัวเองติดคุก เราอาจต้องเผชิญหลายอย่างเมื่อต้องกักตัวเป็นเวลานาน เช่น

  • วิตกกังวลในความปลอดภัยของตนเองและคนที่เรารัก

  • เริ่มนอนและทานอาหารไม่เป็นเวลา

  • นอนไม่หลับ

  • ไม่มีสมาธิ

  • โรคต่างๆ ที่มีอยู่อาจกำเริบ

  • ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติดอื่นมากขึ้น

กักตัวให้ปลอดภัยจากโรคทางกายแล้ว ต้องอย่าลืมดูแลตัวเองให้ปลอดโรคทางใจด้วย วันนี้มูลนิธิฯ รวบรวมคำแนะนำมาฝาก

 

สุขภาพกาย

 

ทำสมาธิ

ลองหายใจเข้าลึกๆ ดูบ่อยๆ หรือจะนั่งสมาธิก็ได้ งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าการนั่งสมาธิสามารถช่วยลดความดันโลหิตและผ่อนคลายความกังวลและความเครียดต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับอีกด้วย

 
meditate-12.png.jpeg
 
 

กินดี อยู่ดี

ช่างเป็นคำแนะนำที่เราได้ยินบ่อย แต่สำคัญเป็นพิเศษในช่วงนี้ที่อาจมีข้อจำกัดในการออกไปซื้อหาอาหาร

  • ลดอาหารที่มีไขมันทรานส์ (Trans fat) เช่น ของทอด โดนัท เค้ก พาย พิซซ่า คุกกี้ เพื่อลดโอกาสเป็นโรคหัวใจต่างๆ

  • ทานไขมันที่มีประโยชน์แทน เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก อัลมอนด์ งา อโวคาโด กรดไขมันโอเมกา-3 (Omega-3)

  • ลดอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารสำเร็จรูป

  • ทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก (นึ่งดีกว่าต้ม) ผลไม้ ถั่วลันเตา

  • ทานอาหารหลากสี อาหารสีเขียว ส้ม แดงอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ

ต่อไปเวลาซื้ออาหารลองพลิกดูข้อมูลโภชนาการด้านหลัง (ถ้ามี) อาจจะตะลึงกับสิ่งที่ทานอยู่ทุกวันก็เป็นได้

 
Content-16641.jpg
 
 

ออกกำลังกาย

นั่งแกว่งขาบนโซฟานี่ไม่นับว่าออกกำลังกาย สิ่งที่นับคือกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง (Moderate-Intensity Aerobic Activity) จะเป็นกิจกรรมอะไรก็ได้ ขอแค่ทำแล้วหัวใจเต้นเร็วขึ้นและเหงื่อออก วิธีวัดง่ายๆ คือต้องยังพอพูดได้แต่เหนื่อยเกินกว่าจะร้องเพลง ทำให้ได้ 150 นาทีต่อสัปดาห์ จะแบ่งเป็น 5 วัน วันละ 30 นาทีก็ได้ หลายคนข้ออ้างเยอะ ช่วงนี้โอกาสดี ลองเปิดดูคลิปหรือคลาสออกกำลังกายออนไลน์ที่มีอยู่มากมายแล้วทำตามที่บ้าน อาจจะติดใจ

นอกจากนี้พยายามอย่านั่งนานๆ ระหว่างวัน ลองยืนทุกๆ 30 นาทีก็อาจช่วยได้

 
woman-home-workout-exercising-at-home-vector-20636458.jpg
 
 

สุขภาพจิต

 

ดูข่าวแต่พอดี

การเกาะติดข่าวตลอดวันอาจทำให้เครียดเกินจำเป็น ลองจัดเวลาดูว่าวันนี้จะติดตามสถานการณ์แค่ 20 นาที 10 นาทีตอนเช้าและ 10 นาทีตอนเย็น วิธีนี้อาจช่วยลดความวิตกกังวลแต่เราเองก็ยังทันต่อสถานการณ์

อีกอย่างคือต้องระวังข่าวปลอม ข่าวพวกนี้ทำให้เราเครียดโดยไม่จำเป็น ฟังข่าวแต่จากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น เคล็ดลับง่ายๆ คือก่อนจะอ่านพาดหัวอะไรออนไลน์ ดูชื่อเวปไซต์เสียก่อน ถ้าไม่คุ้นก็ไม่ต้องสนใจอ่านเลยก็ได้ ประหยัดเวลาดีด้วย

 
 
 

ระบายให้คนอื่นฟัง

ถ้าเครียดอย่าเก็บไว้ การเล่าให้คนที่เราไว้ใจฟังสามารถช่วยได้ ถ้าเครียดมากหรือไม่รู้จะเล่าให้ใครฟัง การปรึกษาจิตแพทย์ก็เป็นทางเลือกที่ดี อย่าใส่ใจกับความคิดเชยๆ ที่ว่าการปรึกษาจิตแพทย์คือเราเป็นคนบ้า

 
find-therapist.jpg
 
 

ค่าของคนอาจไม่ได้อยู่ที่ผลของงาน

ในช่วงนี้ที่บ้านกลายเป็นที่ทำงาน เวลางานกับเวลาส่วนตัวอาจแยกออกจากกันยาก เราอาจรู้สึกเหมือนยังทำงานไม่พอ สำคัญมากๆ ที่เราต้องท่องไว้ว่าคุณค่าของเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณงานที่เราทำได้ในแต่ละวัน อย่าให้ความคิดแบบทุนนิยมนี้มากำหนดคุณค่าในตัวเรา เราไม่จำเป็นต้องขยันเพิ่มขึ้นเพื่อให้รู้สึกมีคุณค่าทางเศรษฐกิจเมื่อต้องทำงานจากบ้าน จัดเวลาให้เหมาะสม ทำงานส่งให้เรียบร้อยตามกำหนด แค่นั้นก็พอแล้ว

 
shutterstock_175903370.0.0.jpg
 
 

ที่มา