ก้าวเข้าสู่เดือนเมษายน เดือนที่ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะล็อคดาวน์เต็มเดือน กระนั้น ชาวละครก็ไม่หยุดสร้างสรรค์ หลายกลุ่มละครนำเสนอผลงานออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการแสดง คอนเสิร์ตทั้งที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ ละครที่เคยเล่นไปแล้วนำกลับมาแสดงใหม่ บ้างเต็มเรื่อง บ้างเป็นฉากสั้นๆ นำบันทึกการแสดงมาฉายใหม่ ทั้งจากฟากฝั่งโรงเล็ก โรงใหญ่ และสถาบันศึกษา กิจกรรมการพูดคุย การจัด podcast และการอ่านบท เป็นต้น
เป็นเรื่องน่ายินดีที่แม้ในวิกฤติ ชุมชนละครก็ไม่หยุดนิ่ง ยังคงค้นหาความเป็นไปได้ที่การละครจะทำได้ รวมถึงพยายามรักษาความสัมพันธ์กับฐานผู้ชมของตนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าจะต้องพูดถึงตัววิกฤติเองซึ่งส่งผลกระทบในทุกภาคส่วน
Dreambox ได้สำรวจความคิดเห็นเพื่อคาดการณ์อนาคตของการละคร ผลสำรวจแสดงว่าผู้ชมส่วนใหญ่จะรอหลังสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง 2 - 5 เดือนจึงจะกลับเข้ามาชมละครในโรงละครอีกครั้ง มูลนิธิละครไทยได้นำเสนอผลสำรวจนี้พร้อมกับการสำรวจของมูลนิธิเองในการเสวนาออนไลน์ “หมด COVID-19 แล้วยังไงต่อ” เพื่อรวบรวมความคิดเห็นสรุปเป็นข้อเสนอต่อภาครัฐ
ในการเสวนาครั้งนี้มูลนิธิละครไทยได้ยื่นผลสำรวจและข้อเสนอแนะต่อสศร. อีกทั้ง UNESCO ก็ได้ช่วยประสานกับกระทรวงวัฒนธรรมอีกทาง สถาบัน Goethe เองก็ช่วยกระจายผลสำรวจของมูลนิธิฯ อีกด้วย
ชุมชนละครต่างเห็นพ้องว่าสถานการณ์ละครเวทีน่าจะซบเซาจนถึงปลายปีนี้ ช่วงครึ่งปีหลังนับเป็นระยะฟื้นฟู จะเป็นช่วงที่ชาวละครต้องปรับตัว podcast รายการ Bangkok Offstage ก็ได้นำเสนอข้อคิดเห็นของชาวละครในหลากหลายบทบาทว่าด้วยการปรับตัวท่ามกลางวิกฤตินี้ กลุ่มโปรดิวเซอร์มองว่าโรงละครขนาดเล็กได้เปรียบมากกว่าโรงละครขนาดใหญ่เพราะรองรับผู้ชมน้อย เปิดทำการแสดงง่าย และลักษณะการแสดงสามารถปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นให้เข้ากับสถานการณ์ได้ง่ายกว่า
แม้เดือนเมษายนจะเป็นช่วงที่ศิลปินกำลังทดลองแพลตฟอร์มใหม่และยังไม่กล้าเก็บค่าบัตรกันมากนัก แต่ก็เห็นได้ว่าศิลปินคำนึงถึงการสร้างรายได้ในระยะยาวอยู่พอสมควร บางคณะใช้รูปแบบการเปิดแสดงฟรีแต่รับเป็นเงินบริจาค เช่น คณะละคร 8x8 และกิจกรรมของ Sliding Elbow อีกเทรนด์บริจาคหนึ่ง คือ ทำงานศิลปะแล้วบริจาคช่วยเหลือสังคม เช่น กิจกรรม Musical from home เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ จัดร่วมกับนิตยสาร Vogue แบบเก็บค่าเข้าชมก็มีเช่นกัน ได้แก่ Dreambox ที่ตั้งกลุ่มเฉพาะกิจสำหรับผู้ที่ซื้อบัตรเพื่อเข้าชมบันทึกการแสดงเรื่อง “ซ้อน A New Musical”
เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มูลนิธิละครไทยเปิดตัวปฏิทินละครและประกาศละครไทย รวมถึงได้เปิดร้านค้าละครไทยสู่ชุมชน ขณะนี้ก็มีร้านค้าเข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ ท่านสามารถสนับสนุนธุรกิจเสริมของชาวละครได้ที่ www.thaitheatre.org/shop
ท้ายสุดนี้ มูลนิธิละครไทยต้องขอแสดงความอาลัยต่อการจากไปของผู้มีคุณูปการต่อวงการละครเวที คุณน้ำมนต์ จ้อยรักษา นักแสดง ผู้กำกับและครูสอนการแสดง และอ. อภิธรรม กำแพงแก้ว อดีตรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัย พัฒนาและสาธิตการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ร่วมเขียนโดย เพียงดาว จริยะพันธุ์ และณัฐพัชร อาษากิจ
0 Likes