เดือนมิถุนายนเป็นเดือนที่รัฐบาลประกาศคลายล็อคหลายส่วน ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ละครเวทีก็ยังไม่ได้กลับมาดำเนินกิจกรรมอย่างเป็นปกติ ตามผลสำรวจล่าสุดของมูลนิธิฯ พบว่าผู้คนจะยินดีกลับมาชมละครในโรงละครเร็วที่สุดคือเดือนกรกฎาคม และผู้ชมเกินครึ่งพร้อมจะกลับมาชมละครในโรงในเดือนกันยายน ดังน้ัน ละครออนไลน์ การจัดฉายการแสดง และจำหน่ายวีดิโอการแสดงสำหรับชมออนไลน์ ก็ยังเป็นตัวเลือกอยู่
อย่างไรก็ตาม คำถามที่ว่าศิลปินจะสร้างรายได้อย่างไรกับงานออนไลน์ จากผลสำรวจเดิมชี้ให้เห็นว่า 62.5% ยินดีจ่ายเงินให้กับละครออนไลน์ ราคาเฉลี่ยที่คนยินดีจ่ายสำหรับชมละครออนไลน์ อยู่ระหว่าง 200 - 500 บาท นอกเหนือการเก็บค่าบัตรจากการเข้าชม 8x8 เปิดจำหน่ายเสื้อยืดของคณะละครเพื่อสนับสนุนกลุ่มละคร เห็นได้ว่าการจำหน่ายของที่ระลึกหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งเช่นกัน
มูลนิธิได้ออกข้อเสนอแนะในการกลับมาจัดแสดงละครในสถานที่จริงโดยอิงจากมาตรการของ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ของประเทศสหรัฐอเมริกา และแนวทางที่คณะละคร American Repertory Theater ศึกษาร่วมกับ Harvard University T.H. Chan School of Public Health การจัดแสดงละครแต่ละเรื่องย่อมมีรายละเอียดและวิธีการป้องกันการแพร่เชื้อแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะของละคร สถานที่ และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ข้อแนะนำนี้จึงเป็นเพียงภาพกว้างเท่านั้น ศิลปินและคณะละครควรนำข้อเสนอแนะไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของตน
เดือนมิถุนายนนี้ เราได้เห็นทุนสนับสนุนศิลปินจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) มากขึ้น หลังจากโครงการ Co With Us นอก -ใน การเดินทางระหว่างเรา โครงการการแสดงออนไลน์ของศิลปินศิลปาธร 10 ท่านประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม สศร. เดินหน้ามอบทุนให้กับศิลปินรุ่นกลางและหน้าใหม่อีก 36 ทุนในโครงการ Open Up the Lockdown รวมถึงมอบทุนแก่สมาคมวิทยากลแห่งประเทศไทยและเทศกาลหุ่นร่วมสมัยออนไลน์
การสนับสนุนไม่จำเป็นต้องมาในรูปแบบเม็ดเงินเพียงอย่างเดียวยังสามารถมาในรูปการให้ใช้สถานที่สำหรับซ้อมหรือจัดแสดงฟรีได้ด้วย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม BACC สนับสนุนพื้นที่กิจกรรมให้ศิลปินที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) เองก็เปิด CEA Live House ใช้ซ้อมและจัดการแสดงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
BICT Fest x Mappa by Flock Learning เปิดเทศกาลละครเด็กและเยาวชนนานาชาติออนไลน์แล้วอย่างเป็นทางการ โดยร่วมมือกับเครือข่ายจากทุกภูมิภาคทั่วไทย งานนี้น่าสนใจตรงที่ไม่ใช่มีแต่ผลงานของศิลปินแต่ดึงเอาเรื่องเล่าหรือกิจกรรมศิลปะของแต่ละครอบครัวมานำเสนอ ในอีกด้านหนึ่งศิลปินหลายท่านก็ออกไปแสดงความคิดเห็นและร่วมกิจกรรมรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน ซึ่งจัดพร้อมๆ กันทั่วประเทศตลอดทั้งวัน
ด้านการศึกษา สมาพันธ์ศิลปะการแสดงอุดมศึกษาแห่งประเทศไทยจัด Forum ครั้งที่ 1 ออนไลน์ ในหัวข้อ “หลักสูตรศิลปะการแสดงในยุคหลังโควิด: จะไปต่อกันอย่างไร?” EducationUSA Thailand จัดเวิร์คชอปออนไลน์เรียนต่อปริญญาโทด้านละครเวทีที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
ไม่เพียงแต่ศิลปินที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ฝั่งนักวิจารณ์ละครเวที คุณต่อ คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง ได้เขียนบทความ “บทบันทึกถึงละครเวทีไทยท่ามกลางวิกฤตโควิด-19” กล่าวว่า นักวิจารณ์เองก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของตนเช่นกัน นอกจากนี้ ยังยกประเด็นที่ชวนขบคิดว่า หากต้องตัดสินรางวัลละครประจำปี ละครออนไลน์จะถูกนับด้วยหรือไม่ การนำเสนอหลายเรื่องมีการตัดต่อใส่เพลงประกอบจนทำให้เส้นแบ่งละครเวทีกับภาพยนตร์นั้นพร่าเลือนไป เราจะประเมินคุณค่าละครออนไลน์อย่างไร
ในเดือนนี้ BACC ประกาศข่าวใหญ่รับสมัครผู้อำนวยการหอศิลปฯ หมดเขตวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ มารอติดตามกันว่าใครจะได้เป็นผู้อำนวยการหอศิลปฯ คนต่อไป
BACC ถือว่าเป็นองค์กรสนับสนุนศิลปะของประเทศไทย เป็นเพื่อนที่ดีของวงการละครเวทีไทย นอกจากมอบทุนสร้างงาน ยังเอื้อเฟื้อพื้นที่ให้ซ้อมและจัดแสดงละครติดต่อกันมาหลายปี
มูลนิธิต้องขอแสดงความเสียใจต่อบุคคลสำคัญผู้ผลักดันให้เกิดการสร้างหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คุณไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ซึ่งจากไปในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
เรายังสูญเสียนักแสดงมากฝีมืออีกคนหนึ่งของวงการ นั่นก็คือ คุณตั้ว ศรัณยู วงศ์กระจ่าง นอกจากภาพยนตร์ โทรทัศน์ คุณตั้วยังแสดงละครเวทีซึ่งแสดงนำในละครเวทีของดรีมบอกซ์มากว่า 10 เรื่อง มูลนิธิต้องขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของคุณตั้ว ศรัณยู วงศ์กระจ่างมา ณ ที่นี้
เขียนโดย เพียงดาว จริยะพันธุ์