เปิดเดือนพฤษภาคมด้วยข่าวดีจากกระทรวงวัฒนธรรมที่ได้ตอบกลับและรับรายชื่อศิลปินละครเวทีไทยที่ตกหล่นจากมาตรการเยียวยา 5,000 บาทเข้ากระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาต่อไป ในเดือนที่สถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โรงละครต่างๆ ก็เริ่มเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดตัวมากขึ้น โรงละครทั้งขนาดเล็กและใหญ่ได้โพสต์แผนผังการจัดที่นั่งแบบมีระยะห่าง เห็นได้ว่าจำนวนที่นั่งลดลงไปเยอะตามคาด
ตั้งแต่เดือนเมษายนเราเริ่มเห็นกลุ่มละครหรือโรงละครจัดทำ poll สอบถามใน facebook ของตน ครั้งนี้ Sliding Elbow เปิดรับความคิดเห็นจากฝั่งศิลปินว่าพร้อมสร้างงานเมื่อไหร่ คำตอบนั้นหลากหลาย มุมของ performer ยิ่งได้สร้างงานเร็วยิ่งเป็นผลดี แต่ในมุมเจ้าของโครงการคำตอบจะเป็นเป็นปลายปีหรือปีหน้า สะท้อนให้เห็นว่าการลงทุนในระยะอันใกล้มีความเสี่ยงสูง
ดังคำพูดที่ว่า Data is the new gold การทำสำรวจเปรียบเสมือนการฉายแสงในที่มืด มูลนิธิฯ อยากสนับสนุนให้ชาวละครมุ่งสำรวจและเก็บข้อมูลมากขึ้นเพื่อประโยชน์ของการพัฒนางาน ในการนี้ ก็ต้องขอขอบคุณ Bangkok Post ที่ร่วมเผยแพร่ผลสำรวจผลกระทบ COVID-19 มา ณ ที่นี้
การนำเสนอออนไลน์ยังเป็นช่องทางสำคัญอย่างเสียไม่ได้ เดือนนี้เรายังได้เห็นการแสดงหลากหลายรูปแบบทั้ง Full Production ถ่ายทอดแบบ Live, ถ่ายทำสำหรับออนไลน์โดยเฉพาะ, นำผลงานเก่ามาเปิดฉาย หรือกระทั่งผลงานจาก Miss Theatre เรื่อง Warmest Regards: A lecture from home performance ที่เล่นสดพูดคุยกับผู้ชมผ่าน Facebook Live ก็เป็นรูปแบบที่ท้าทายผู้สร้างงานเช่นกัน
อีกเทรนด์หนึ่งที่เห็นหลายกลุ่มละครเริ่มทำมาบ้าง คือ การ Live พุดคุยสบายหรือทำกิจกรรมผู้ชมมีส่วนร่วมตามคาแรคเตอร์ของกลุ่มละคร เพื่อเชื่อมต่อแฟนคลับของตน นับว่าเป็นเนื้อหาเบาๆ ที่มา break ชุมชนออนไลน์ที่หนาแน่นขึ้นในช่วงนี้ได้อย่างไม่ซ้ำใคร
นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Collaboration ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ในเดือนนี้ คือ Co With Us นอก -ใน การเดินทางระหว่างเรา โครงการศิลปินรุ่นใหญ่ ศิลปินศิลปาธร 10 ท่าน ร่วมกับ เผยแพร่ BTN สนับสนุนโดยสศร. สร้างสรรค์การแสดงร่วมกับศิลปินรับเชิญอีกหลายท่าน เปิดตัวในเดือนพฤษภาคมและจะจัดแสดงในเดือนมิถุนายน ส่วนศิลปินรุ่นเล็ก ส่วนศิลปินรุ่นเล็ก นักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยก็ได้ทดลองสร้างงานความยาว 2 นาที ตามแบบฉบับของ IN OWN SPACE จาก DD Theatre ที่จบไปเมื่อเดือนก่อน ทั้ง 2 โครงการเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของแนวทางโครงการประเภทบ่มเพาะ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการเติบโตของศิลปินรุ่นกลางและรุ่นใหม่
ฝั่งสสส. ก็ได้มอบทุนเกี่ยวกับงานสำหรับเด็กและเยาวชนรวมไปถึงละครเพื่อการศึกษา เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนที่ครอบครัวมีนิทานมากมายให้ได้ฟังได้ชมกันออนไลน์ยาวไปทั้งเดือน และจะยาวไปอีกหลายเดือน เพราะ BICT หรือเทศกาลละครนานาชาติสำหรับเด็กและเยาวชน เปิดตัว Play From Home เทศกาลบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ร่วมกับ Flock Learning นับว่าเป็นการปรับตัวที่ดีเยี่ยมในช่วงนี้
ฝั่งอเมริกา มูลนิธิขอแสดงความยินดีแก่ คุณแวว - ฑิตยา สินุธก ผู้ประพันธ์มิวสิคัลเรื่องใหม่ที่มีตัวเอกเป็นสาวไทยอเมริกัน เรื่อง Half The Sky ได้นำเสนอ excerpt การแสดง ผ่าน Youtube ของ New York Theatre Barn
เทรนด์การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นออนไลน์ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฝั่ง Btitish Council จัดเสวนา ร่วมกับ BICT fest และประยูรเพื่อศิลปะ ด้าน UNESCO เอง ก็เปิดวงสนทนาศิลปะทุกแขนงรวมถึงละครเวทีด้วย นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุยข้ามคณะละครเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กันเช่น กลุ่มยุวธิปัตย์เพื่อสังคมพูดคุยหัวข้อ พลังแห่งการเคลื่อนไหวผ่านงานละคร, กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ พูดคุยเพื่อค้นหาไอเดียใหม่ๆ ที่นำละครมาสร้างสรรค์สังคม สะท้อนในเห็นว่าในยามที่เราต้องการคำตอบวงสนทนานั้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
ปิดท้ายเดือนพฤษภาคมด้วยข่าวประชาสัมพันธ์ ทุนโครงการออนไลน์จาก Japan Foundation Bangkok เพื่อการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรมไม่ว่าเป็น นิทรรศการศิลปะ การแสดงละครเวทีและภาพยนตร์ ตีพิมพ์บทความออนไลน์ การจัดสัมมนาออนไลน์ สนับสนุนค่าใช้จ่ายได้สูงสุดเป็นจำนวน 100,000 บาท ยังเปิดรับสมัครอยู่ถึงเดือนสิงหาคม
มูลนิธิฯ เปิดใช้ประกาศละครไทยและปฏิทินละครไทยเต็มรูปแบบแล้ว มูลนิธิฯ ยินดีลงข่าวประชาสัมพันธ์ให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สถานการณ์โรคระบาดนี้ทำให้ต้องเผชิญวิกฤติที่ไม่คาดฝัน ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสใหม่ๆ ไม่ว่าอย่างไร เราจะเดินหน้าเข้าสู่ช่วง Post-COVID ไปด้วยกัน มูลนิธิฯ จะยืนเคียงข้างชาวละครทุกคน
ร่วมเขียนโดย เพียงดาว จริยะพันธุ์ และณัฐพัชร อาษากิจ