ละครไทยเดือนนี้ - สิงหาคม 2562

ละครไทยเดือนนี้ - สิงหาคม 2562

ละครไทยเดือนสิงหาคมนี้ราวกับมีผู้กำกับทิศทาง มีละครพูดถึงประเด็นความพิการทางสายตาถึง 2 เรื่องในเดือนเดียว ได้แก่ เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย และ Nil's Vision เกือบสุขเองก็จะจัดแสดงในเดือนกันยายนนี้ มูลนิธิหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทสนทนาเรื่องความพิการในวงการละครเวทีไทยร่วมสมัยจะมิจบอยู่แต่เพียงในเดือนสิงหาคมและกันยายน แต่จะดำเนินต่อไปเพื่อให้ผู้มีความบกพร่องทางกายภาพมีส่วนร่วมทั้งในฐานะผู้เสพและผู้สร้างละครเวทีมากขึ้น

ความน่าสนใจอีกอย่างนึงคือเราเห็นกิจกรรมระดมทุนเพื่อละครเวทีเพิ่มขึ้นในประเทศไทย B-Floor ระดมทุนเพื่อนำ Damage Joy จากนิวยอร์กมาจัดแสดงที่ Bangkok International Performing Arts Meeting (BIPAM) ในกรุงเทพฯ ตุลาคมนี้ เกือบสุขเองก็จัดระดมทุนโดยมีของขวัญแทนคำขอบคุณ Project C ก็จัดเวิร์คชอปโดยมีจำนวนเงินที่แนะนำให้ผู้เข้าร่วมบริจาค นับเป็นกระแส/การทดลองที่น่าจับตามอง

ยิ่ง BIPAM และเทศกาลละครกรุงเทพใกล้เข้ามาเท่าไร กิจกรรมละครเวทีต่างๆ ในกรุงเทพฯ ก็จะยิ่งคึกคักขึ้นเรื่อยๆ ตามธรรมเนียม คาดว่าเราจะได้เห็นตารางงานตัวเต็มของทั้ง 2 เทศกาลภายในเดือนกันยายนนี้ มูลนิธิละครไทยร่วมจัด Thai Theatre Night ใน BIPAM ในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 และร่วมผลิตเนื้อหากับเทศกาลละครกรุงเทพด้วย

ต่างจังหวัดก็ไม่ได้เงียบหายไป Homemade Puppet เดินทางไปแสดงที่อุตรดิตถ์ The playlish : I’m (not) alone โดย wonderjuey ที่เชียงใหม่ก็ขายบัตรหมดไปหลายรอบ นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดี Babymime ได้ปิดท้ายโครงการทัวร์ที่โรงเรียนในสมุทรปราการไปเป็นที่เรียบร้อย ลานยิ้มการละครจัดการแสดงที่เชียงใหม่ภายใต้แนวคิดกระบวนการสร้างเทวดาและอภินิหารทางกฎหมาย มูลนิธิดีใจที่ได้เห็นว่าละครวิพากษ์สังคมมิได้เป็นของเฉพาะสำหรับคนกรุงเทพฯ เท่านั้น

ฟากต่างชาติ The (Un)Governed Body โดยคุณธีระวัฒน์ มุลวิไลไปจัดแสดงที่ญี่ปุ่นเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ก่อนเตรียมจัดแสดงในเมืองไทยในเดือนกันยายนนี้ แปดคูณแปดและ Creatives industries ก็ร่วมมือกันจัดแสดงละครเวทีสองภาษาไทย - ญี่ปุ่น Shizuka Daijobu? ชิสุกะสบายดีมั้ย? Spine Party Movement เองก็จัดเวิร์คชอปในอิหร่านไป

ฝั่งงานการกุศล Cherrylala Learning Center ได้จัด Creative Drama Workshop for Charity No.2 และส่งมอบเงินบริจาคให้แก่มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุงจาก Thai Performance Practice as Research ก็มาร่วมพูดคุยในพอดแคสต์อันล่าสุดของมูลนิธิละครไทยด้วย

ร่วมเขียนโดย พิชญ์ฌาชาญ เอี่ยมสอาด