ละครไทยเดือนนี้ - ตุลาคม 2562

เริ่มกันที่การประชุมนานาชาติทางศิลปะการแสดงแห่งกรุงเทพมหานคร หรือ ไบแพม (BIPAM) กับการแสดง 25 รอบจากศิลปินไทยและนานาชาติตลอด 5 วัน ไม่ว่าจะเป็น Damage Joy โดยบีฟลอร์เธียเตอร์ กำกับโดยคุณนานา เดกิ้น (ประธานคณะกรรมการมูลนิธิละครไทย) และ Violent Event โดยกลุ่ม Billinger & Schulz จากเยอรมนี รวมถึงการกลับมาอีกครั้งของ "In Ter's View" โดยหนึ่งในผู้กำกับนางร้ายจาก Apropos ร่วมกับแดนเซอร์จากเสียมเรียบ กัมพูชาด้วย

ในปีนี้การบรรยายหลักของไบแพมมีหัวข้อว่า “Becoming Pradith Prasartthong" โดยคุณประดิษฐ ประสาททอง พูดถึงประวัติศาสตร์ละครร่วมสมัยไทยผ่านมุมมองการทำงานตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังมีการบรรยายอีก 15 หัวข้อโดยศิลปิน โปรดิวเซอร์ไทยและนานาชาติ อาทิ Sustainability of Long-standing theatre Companies in Southeast Asia ที่คุณปิยฉัตร สินพิมลบูรณ์จากกลุ่มมะขามป้อม และคุณสินีนาฏ เกษประไพจากพระจันทร์เสี้ยวการละครเข้าร่วมพูดคุยกับกลุ่มละครจากมาเลเซียและฟิลิปปินส์ถึงบริบททางสังคมที่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อการมีอยู่และดำเนินไปของคณะละครในแถบ SEA

ชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดงเองก็เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าร่วมช่วง Q & A กับนักวิจารณ์มืออาชีพจากชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง นำโดยคุณอมิธา อัมระนันทน์ คุณคันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง และกัลปพฤกษ์อีกด้วย

ที่น่าชื่นใจคือการเห็น BIPAM เชิญชวนให้บุคคลทั่วไปและนักเรียนนักศึกษาที่สนใจศิลปะการแสดงมาทำความรู้จักกับศิลปินผ่านการเป็นอาสาสมัครและผ่านเวิร์คช็อปจากศิลปินทั้งไทยและนานาชาติ นับเป็นการสร้างบุคลากรด้านละครเวทีร่วมสมัยที่ดีในอนาคต

ตลอด 5 วันของ BIPAM ในช่วงเวลากลางคืนมีกิจกรรม Late-night Networking เพื่อแลกเปลี่ยน พูดคุย พบปะในหมู่ศิลปิน องค์กร และบุคคลทั่วไปที่สนใจศิลปะการแสดง คืนวันที่ 17 ตุลาคม มูลนิธิละครไทยจัดงาน Thai Theatre Night แสดงจุดยืนให้เป็นที่รู้จักแก่ผู้เข้าร่วมงานด้วย

ฝั่งเทศกาลละครกรุงเทพก็ได้เปิดตัวเว็บไซต์อย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาและประชาสัมพันธ์ละครที่จะจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 1 - 17 พฤศจิกายนตามสถานที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพตลอดเดือน มูลนิธิละครไทยเป็น media partner ของเทศกาลละครกรุงเทพ ได้จัดทำพอดแคสต์และเผยแพร่บทความลงเว็บไซต์เทศกาลละครกรุงเทพด้วย

ช่วงสิ้นเดือนที่ผ่านมาเราได้เห็นโปรโมชั่นแพคคู่หรือแพคสามระหว่างคณะละครต่างๆ ที่จัดแสดงในเทศกาลละครกรุงเทพ เป็นความร่วมมือระหว่างคณะละครที่น่าศึกษาว่าส่งผลอย่างไรก็ต่อการขายบัตร

การสร้างความร่วมมือไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในเทศกาล ต่อยอดจากการประชุมของศอท. Sliding Elbow Studio ได้จัด ”เสวนาเกือบวิชาการ เรือพึ่งเรือ” ไปเมื่อ 26 ตุลาคมที่ผ่านมาเพื่อพูดคุยเรื่องพื้นที่การแสดงละครเวทีร่วมสมัย มีทั้งนักการละคร นักวิชาการ ตัวแทนพื้นที่การแสดง และตัวแทนองค์กรสนับสนุนศิลปะมาร่วมพูดคุยด้วย

ต่างจังหวัดก็ครึกครื้นไม่แพ้กรุงเทพมหานคร เทศกาลละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงจังหวัดเชียงใหม่ หรือ Act up Chiangmai Transformative Theatre Festival 1st ได้มาร่วมพูดคุยใน TTF พอดแคสต์เกี่ยวกับเทศกาลละครเวทีร่วมสมัยครั้งแรกในเชียงใหม่ที่จะจัดในวันที่ 2 - 3 พฤศจิกายนนี้ด้วย ชมรมการแสดง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ออกตัวนำไปก่อนด้วยการจัดแสดงละครชุด “กระดานดำ” ซึ่งก็เป็นหนึ่งในโครงการ Act up Chiangmai 

Cherrylala Learning Center ก็ได้จัด Drama Camp for Kids Season 2 ไปที่โรงเรียนปาริมา จังหวัดพิษณุโลกเช่นกัน

ฟากการศึกษาก็มีเรื่องให้ตื่นเต้นเมื่อสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมมือกับ Carnegie Mellon University เปิดตัวหลักสูตรปริญญาโท Entertainment Innovation Center เพื่อสร้างบุคลากรด้านธุรกิจการบันเทิงไทย

ปิดท้าย ถ้าจะไม่กล่าวถึงละครเวทีโรงใหญ่ก็กระไรอยู่ The Lion King Bangkok เปิดแสดงตลอดเดือนที่ผ่านมาและเพิ่มรอบการแสดงอีก 2 สัปดาห์จนถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน มีศิลปินดารามาชมกันคับคั่ง

โรงใหญ่รองลงมาที่สยามพารากอนก็มีศิลปะการแสดงหุ่นจาก 13 ประเทศในงาน “SIAM PARAGON ASIAN FASCINATING PUPPETS” โดยมูลนิธิหุ่นสายเสมา ศิลปะเพื่อสังคม เริ่มไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา

โรงใหญ่รองลงมาอีกแห่งคือสามย่านมิตรทาวน์ Blind Experience ได้จัดแสดง “เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย” อีกครั้ง ความน่าฮือฮาคือขายบัตรหมดทุกรอบก่อนปิดการแสดงไปเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม Blind Experience เป็นคณะละครโรงเล็กที่เติบโตจนก้าวมาทำละครในโรงที่ใหญ่ขึ้น นับว่าเป็นที่น่าจับตาเป็นอย่างมาก

ร่วมเขียนโดย พิชญ์ฌาชาญ เอี่ยมสอาด