เดือนธันวาคม แม้จะเป็นเดือนสุดท้ายของปีแต่ความเคลื่อนไหวของละครเวทีก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง
มูลนิธิฯ ต้องขอแสดงความยินดีกับกลุ่มละคร B-Floor กับละครเวทีผสมมัลติมีเดียเรื่อง Flu-Fool ที่ได้รับการตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี จนเพิ่มรอบการแสดง โครงการละครใบ้สัญจรของ Babymime ยังคงเดินทางไปแสดงในอีกหลายจังหวัด พิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์ คอมพานี เปิดตัวหนังสือ THE COMPANY 10 ปี แห่งการเดินทางของ พิเชษฐ กลั่นชื่น แดนซ์ คอมพานี ในงานไหว้ครูศิลปะการแสดงร่วมสมัย ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว
ฝั่งภูมิภาคยังคงคึกคัก B-Floor ได้เดินทางไปจัดการแสดงสดในโปรเจค Khonkaen Manifesto ที่เชียงใหม่ โรงเรียนศิลปะการแสดงกาดสวนแก้วก็ได้ทำงานร่วมมือกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในโครงการพัฒนาศักยภาพเด็ก เยาวชน สังคม และวัฒนธรรมภาคเหนือผ่านศิลปะการแสดง ยังมีผลงานละครเวทีโดย ธนุพล ยินดีได้นำเสนอการแสดงบูโตที่ได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตจริงของคุณพอลลีน งามพริ้ง หญิงข้ามเพศ ลงใต้กันบ้างที่เทศกาล Living Arts Phuket เราได้เห็นงานสร้างสรรค์ร่วมระหว่างศาสตร์โนราและเครื่องดนตรีตะวันตก-เปียโน และตะวันออก-โกโตะ รวมไปถึง ศิลปะการแสดง Drag สร้างสรรค์ใหม่โดย Amadiva ผู้เพิ่งมีการแสดงเดี่ยวไปเมื่อไม่นานมานี้
อย่างไรก็ตาม ด้วยการกลับมาแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงปลายเดือนธันวาคม ทำให้หลายกิจกรรมทางการแสดงที่วางไว้ในเดือนมกราคมได้ทยอยประกาศเลื่อนแล้ว หากคณะละครหรือศิลปินท่านใดประสบปัญหา มูลนิธิฯ ละครไทยพร้อมช่วยเหลือให้คำปรึกษาอย่างเต็มกำลัง เราจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน
ด้านละครออนไลน์ ล่าสุดนี้ เราได้เห็นคณะละครหลายคณะได้ทดลองจัดรอบสตรีมมิ่ง แบบชมสดพร้อมผู้ชมในสถานที่จริง สามารถขยายฐานไปยังผู้ชมที่ไม่สามารถเดินทางมาได้ ไม่ว่าจะด้วยอยู่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ แต่ยังอยากได้รับกลิ่นอายของการชมสด ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับอย่างดี น่าคิดต่อไปว่าการสตรีมมิ่งนี้เป็นโอกาสที่คุ้มค่าคุ้มทุนสำหรับคณะละครในอนาคตหรือไม่ ไม่ว่าสถานการณ์โรคระบาดจะมีอยู่หรือไม่มีแล้วก็ตาม
ด้านเมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ก็ได้นำบันทึกการแสดงละครมิวสิคัลหลายเรื่อง ฉายให้ชมฟรีผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง ONE นับว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน สร้างกระแส Talk of the Town ในช่วงปีใหม่กันเลยทีเดียว
BU Theatre Company เป็นเจ้าภาพเปิดบ้านต้อนรับนักวิชาการ คณาจารย์ และศิลปินสาขาศิลปะการแสดงทั่วประเทศ เพื่อระดมความคิดก่อตั้ง "กลุ่มขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมทางศิลปะเพื่อการพัฒนาประเทศ" จัดทำร่างยุทธศาสตร์เสนอต่อกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม นับเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวเชิงรุกของวงวิชาการ
ฟากชมรมวิจารณ์การแสดงได้คัดเลือกผลงานละครเวทีแห่งปีของตนลงบทความ “ละครเวทีแห่งปี 2020” โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง เหล่านักวิจารณ์ได้เขียน Special Mention ถึงปรากฏการณ์อันสำคัญเกี่ยวกับการแสดงในปีนี้ ได้แก่ ละครออนไลน์ vs. ละคอนออนสตรีท และกำเนิดคณะละครรุ่นใหม่ในช่วงเวลาที่ท้าทาย ติดตามอ่านได้ที่ The Momentum
ด้านต่างประเทศ ยังคงเน้นไปที่การแลกเปลี่ยนออนไลน์ ในเดือนนี้ ภาวิณี สมรรคบุตร จาก Democrazy Theatre Studio เป็นตัวแทนร่วมสนทนาในหัวข้อ The Artist as Activist จัดโดยกลุ่ม Wild Rice ข้ามทะเลไปฝั่งอเมริกา นานา เดกิ้น ประธานกรรมการ Thai Theatre Foundation (USA) ได้รับเชิญให้เป็น teaching artist ในโครงการ Youth Artistic Instigator จัดโดย New York Theatre Workshop
ติดตามความคืบหน้าคดีวิธญา คลังนิล สมาชิกกลุ่มลานยิ้มการละคร เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อัยการได้เลื่อนสั่งฟ้องออกไปก่อน ด้านธนุพล ยินดี นักการละครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักที่ร่วมก่อตั้ง Chiangmai Theatre Network ได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามถึงที่พัก หลังทำการแสดงเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประชาธิปไตย ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 5 ที่ถูกติดตามแล้ว
2020 นับว่าเป็นปีแห่งการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด 19 โดยแท้ และโลกที่เปลี่ยนไปนี้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ศิลปินละครเวทีเป็นผู้ปรับตัวได้อย่างดีเยี่ยม วิกฤติก็มิอาจหยุดความคิดสร้างสรรค์ของทุกคนได้ มูลนิธิฯ ขอแสดงความชื่นชมต่อศิลปินและบุคลากรด้านศิลปะการละครทุกด้านที่เข้มแข็ง ไม่ย่อท้อ ฝ่าฝันปีอันแสนทรหดนี้ร่วมกันมา
มูลนิธิฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า 12 บทความที่นำเสนอเป็นประจำทุกเดือนจะเป็นหมุดหมายให้กับสิ่งละอันพันละน้อยที่เกิดขึ้นในชุมชนคนละครทั่วประเทศ ขอให้ 2021 เป็นอีกหนึ่งปีน่าจดจำ
สวัสดีปีใหม่
ร่วมเขียนโดย เพียงดาว จริยะพันธ์ุ