มูลนิธิออกคำแนะนำสำหรับบุคคลทั่วไป โรงละคร คณะละคร และสถานศึกษาไปเมื่อต้นเดือนมีนาคม แต่ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น รัฐบาลจึงสั่งปิดโรงมหรสพชั่วคราวและงดการชุมนุมคน ก่อนจะยกระดับมาตรการเรื่อยมา สื่อละครเวทีออนไลน์อย่าง The Showhopper รายงานว่ามีกว่า 18 การแสดงที่ต้องยกเลิกหรือเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด รวมไปถึงศิลปินไทยหลายท่านที่มีแผนไปร่วมเทศกาลต่างประเทศก็ถูกยกเลิกหรือเลื่อนเช่นกัน มูลนิธิฯ ขอเป็นกำลังใจให้ศิลปินทุกท่านที่ได้รับผลกระทบในวิกฤตครั้งนี้ด้วย
ก่อนทุกอย่างจะหยุดชะงัก For What Theatre นำ “เพลงนี้พ่อเคยร้อง” ไปจัดแสดงที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ และกลุ่มละคร 8X8 นำ “ไร้พำนัก” ไปซ้อมและจัดแสดงที่ญี่ปุ่นร่วมเดือนเศษ ทั้งสองคณะเดินทางกลับไทยโดยสวัสดิภาพแล้ว มูลนิธิฯ ขอเป็นกำลังใจให้กลุ่มละครมรดกใหม่ที่ยังคงพำนักอยู่ที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ด้วยไม่สามารถเดินทางกลับในช่วงเวลานี้ ทางมรดกใหม่ได้ประสานกับสถานทูตไทยเรียบร้อยแล้ว หากมีปัญหาอื่นใดมูลนิธิละครไทยยินดีให้ความช่วยเหลือ
ช่วงต้นเดือนมีละครได้จัดแสดงไปแล้วบ้าง ละครเวทีเรื่อง “ซ้อม 6 ปียังไม่ได้เล่น” ของ Crystal Theatre แสดงไปหนึ่งสัปดาห์ก่อนมีประกาศจากรัฐบาล “การเดินทางของลินด์เบิร์ก” งานร่วมมือระหว่างศิลปินญี่ปุ่น - ไทยจัดแสดงได้ครบทุกรอบ ทั้งสองเรื่องมีมาตรการป้องกันโรคติดต่อรองรับอย่างเรียบร้อย
โปรแกรมสำรวจละครไทยของมูลนิธิฯ เริ่มลงพื้นที่เก็บข้อมูลผู้ชมละครไตรมาสแรกของปีบ้างแล้ว ทว่าก็ต้องระงับไว้เช่นกัน เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตอันใกล้จะได้กลับมาเจอะเจอกันอีกหน้าโรงละครและพื้นที่การแสดง
ในช่วงที่ยังไม่สามารถมาเจอกันได้ พื้นที่ออนไลน์จึงกลายเป็นช่องทางนำเสนออะไรใหม่ๆ B-Floor Theatre ได้ปล่อยวิดีโอการแสดงที่ผ่านมาให้ได้ชมกันเต็มเรื่อง ละครเรื่อง “ตัดต่อเวลา” ที่เขียนขึ้นเพื่อแสดงออนไลน์โดยเฉพาะก็ได้จัดแสดงผ่าน Facebook Live นอกจากนี้คุณศศพินทุ์ยังได้จัดแสดงสดออนไลน์ข้ามประเทศกับคุณ Eva นักดนตรีชาวมาเลเซีย โปรเจค IN OWN SPACE ขนาดยาวของศิลปิน 15 ท่านที่จะร่วมสร้างการแสดงต่อเนื่องใน "พื้นที่ส่วนตัว" ของตนเอง ต่างสถานที่แต่เชื่อมโยงถึงกันก็ได้จับสลากลำดับการแสดงไปเมื่อสิ้นเดือนที่ผ่านมาและจะแสดงเกือบทั้งเดือนเมษายน ปรากฎการณ์ครั้งนี้นับว่าเป็นภาพที่น่าสนใจมากๆ ของวงการละครเวทีซึ่งเป็นศิลปะการแสดงสด ขณะนี้รัฐบาลได้ประกาศขยายการ lockdown ไปถึงปลายเมษายนแล้ว มูลนิธิเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์จากชาวละครจะไม่หยุดนิ่งแน่นอน
ด้านภูมิภาค Parampara Traveling Theatre จัดแสดงละครเร่เรื่อง WOMEN ในโครงการ Drama on Street ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ฝั่งการศึกษาต้องปรับตัวกันมากเช่นกันในวิกฤติครั้งนี้ มูลนิธิได้จัด webinar ครั้งแรกว่าด้วย “สอนปฏิบัติออนไลน์อย่างไรดี” ทุกท่านได้แชร์กระบวนการ วิธีการและความคิดเห็นกันอย่างออกรส โรงเรียนสอนการแสดงหลายแห่งก็ปรับมาเป็นออนไลน์มากขึ้น แม้การสอนออนไลน์จะทำได้ แต่เชื่อว่านักเรียนละครหลายท่านก็คงคิดถึงการมาเจอกันในห้องปฏิบัติการไม่น้อยเลยทีเดียว
ในภาวะวิกฤตินี้สำคัญมากที่ต้องช่วยเหลือกัน ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธนเปิดอพาร์ทเมนต์ใกล้ศิริราชเพื่อให้หมอได้พักผ่อน MasterClass Studio อาสาอำนวยความสะดวกผู้สูงวัยในย่านลาดพร้าว Malongdu Theatre เปิดรับอาสาสมัครหลากหลายสาขานำเสนอประเด็นสังคม Self-Factory เปิดรับบริจาคและบริการจัดหาหน้ากากส่งไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ และอีกหลายท่านที่ออกมาทำหน้ากากผ้าและ face shield แก่ผู้ขาดแคลน นับเป็นเรื่องน่าชื่นใจ
ปิดท้ายด้วยเรื่องราวความสุข วันที่ 27 มีนาคม มูลนิธิฯ ออกแคมเปญ I <3 Theatre เพื่อฉลองวันละครเวทีโลก (World Theatre Day) นับว่าเป็นวันที่ชื่นมื่นอีกวันหนึ่ง ขอขอบคุณกว่า 100 ท่านที่ร่วมแสดงพลังด้วยป้าย I <3 Theatre ทำมือ วันสุดท้ายของเดือน (31 มีนาคม) ยังเป็นวันเกิดโรงละครสยามพิฆเนศเคแบงก์ พื้นที่ศิลปะสำหรับทุกคนทั้งละครเชิงพาณิชย์ โรงเล็ก เวิร์คชอป คอนเสิร์ต และกิจกรรมนักศึกษามาอย่างต่อเนื่องกว่า 6 ปีอีกด้วย มูลนิธิขออวยพรสุขสันต์วันเกิด
ร่วมเขียนโดย เพียงดาว จริยะพันธุ์ และณัฐพัชร อาษากิจ