นลธวัช มะชัย : เขียนและเรียบเรียง
21 มิถุนายน 2563 ครบรอบ 30 ปี การจากไปของครูองุ่น มาลิก
หากครูองุ่นคือตัวละครที่ผมจะเล่าเรื่อง ปม พล็อต แบ็กกราว ฯ ของเธอคืออะไร?
สายฝนกลางมิถุนายนสร้างความชอุ่มชุ่มชื้นให้สวนอัญญา เฮือนครูองุ่น มาลิก หอประวัติศาสตร์ประชาชนภาคเหนือ อันเป็นสถานที่ของมูลนิธิไชยวนา เชียงใหม่ และนั่งเขียนงานชิ้นนี้ของผมได้เป็นอย่างดี ต้นไม้เติบโตกว่าตอนที่ครูยังอาศัยอยู่นี่มาก จากที่ผมดูรูปถ่ายย้อนกลับไปกว่าเกือบ 40 ปีก่อน ครูองุ่นเคยนั่งๆ นอนๆ กวาดใบไม้ สนทนากับบรรดาลูกศิษย์อยู่บริเวณนี้
3 ปีก่อนผมจมอยู่กับกองเอกสารทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับครูองุ่นและเหตุการณ์ทางสังคมการเมืองขณะที่ครูยังมีชีวิตอยู่ เพื่อเขียนหนังสือเล่มหนึ่งให้สำเร็จ จนถึงบัดนี้ต้นฉบับเป็นรูปเป็นร่างมากแล้วแต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงไม่เสร็จสมบูรณ์สักที
วาระ 30 ปีที่ครูจากไปผมจึงขอนำข้อมูลเบื้องต้นที่ค้นคว้าเอาไว้มาเรียบเรียงเป็นงานเขียนชิ้นนี้ เพื่อระลึกถึงครูองุ่น มาลิก ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้ผมทำงานละครต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ผมเลือกบางประเด็นมาเล่าสู่กันฟังในวาระ 30 ปี ดังนี้ครับ
“แม่หนู” องุ่น สุวรรณมาลิก
ครูองุ่น มาลิก สกุลเดิม สุวรรณมาลิก เกิดที่ตำบลสวนจิตรลดา อำเภอดุสิต พระนคร เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2460 มีชื่อเล่นว่า “แม่หนู” เป็นบุตรีของ รองเสวกเอกพระรุกขชาติบริรักษ์ (ทอง สุวรรณมาลิก) ขุนนางในรัชกาลที่ 7 กับ นางบู่ สุวรรณมาลิก
ชีวิตวัยเด็กของครูเป็นช่วงปลายรัชกาลที่ 7 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั่วโลกรวมถึงสยามเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำร้ายแรงต่อเนื่อง รัฐบาลในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต้องปรับดุลทางเศรษฐกิจให้ข้าราชการจำนวนมากออกจากราชการ พ่อของครูองุ่นเป็นหนึ่งในนั้น ครอบครัวจึงเริ่มดำดิ่งสู่ความทุกข์ยาก “เด็กหญิงองุ่น” ต้องย้ายเปลี่ยนโรงเรียนนับสิบแห่ง ทั้งโรงเรียนฝรั่งไปจนถึงโรงเรียนวัด
กระทั่งปี 2477 ครูองุ่นเรียนจบมัธยมปลายที่โรงเรียนเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ แล้วเข้าเรียนต่อเป็นนิสิตรุ่นที่ 3 ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จนปี 2481 เธอก็ได้จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเริ่มทำงานที่โรงพิมพ์ปรุงนุกูลกิจ ถนนบำรุงเมือง โดยใช้ชื่อนามว่าคุณหญิงศรีบัญชา
ช่วงปี 2505 ครูองุ่นได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนตัดสินใจเดินทางไปเรียนต่อ และปี 2507 เธอจบการศึกษาปริญญาโท ด้านจิตวิทยา ที่เออร์บานา มหาวิทยาลัยอิลินอยส์ประเทศสหรัฐอเมริกา
ช่วงประวัติศาสตร์ที่เจือจางไปกับความตายของครู
ด้วยสถานภาพทางสังคม-ครอบครัว ของครูองุ่นตกต่ำจากผลพวงของเศรษฐกิจก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อเนื่องมาจนเธอเรียนจบมหาวิทยาลัย ครูองุ่นได้แต่งงานกับเจ้าพระยาท่านหนึ่ง เพื่อดำรงสถานภาพทางครอบครัวบางประการเอาไว้ แม้ผมจะค้นคว้าเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาศึกษา เรียนรู้ และทำความเข้าใจพื้นหลังของครู แต่พบว่าช่างละเอียดอ่อนเหลือเกิน บางทีอาจจะต้องปล่อยให้เป็นช่วงประวัติศาสตร์ส่วนตัวของครูที่ค่อยๆ เจือจางไปกับความตายของครู
วันที่ 29 มิถุนายน 2496 ครูองุ่นได้จดทะเบียนสมรสกับคุณอุดม เย็นฤดี ระหว่างปี 2497 – 2499 ครูองุ่น ทำงานเป็นผู้สื่อข่าวและนักเขียนที่หนังสือพิมพ์สยามนิกร และได้จดทะเบียนหย่ากัน วันที่ 18 กันยายน 2499 รวมระยะเวลาทั้งหมดไม่ถึง 3 ปี
ครูองุ่น จดทะเบียนชื่อสกุลว่า “มาลิก” แทนสกุลเดิม “สุวรรณมาลิก” เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2503 ที่ว่าการอำเภอพระโขนง เป็นที่ทราบกันดีในวงผู้ร่วมงานใกล้ชิดครูองุ่นด้วยเหตุผลว่า “สุวรรณมาลิก” หมายถึงดอกไม้ทองคำอันล้ำค่า แต่ครูปรารถนาที่จะเป็นเพียง “ดอกไม้สดชื่น ยื่นให้ปวงชน”
ความงดงามในวัยสาวและความรอบรู้ภาษาอังกฤษเป็นที่เลื่องลือ แต่ตัวตนที่แท้จริงของครูลึกซึ้งไปกว่านั้น ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง บ้านของครูในซอยทองหล่อได้มีบทบาทในการกอบกู้ศักดิ์ศรีของชาติไทย กระบวนการเสรีไทยเห็นศักยภาพของครูองุ่นตั้งแต่นั้น หน่วยงานหนึ่งของขบวนการเสรีไทย ได้ใช้บ้านครูเป็นที่ซุ่มซ้อมยุทธปัจจัยสำหรับหนุนช่วยงานกู้ชาติ และนั่นกลับทำให้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ครูสนใจแนวความคิดและการทำงานของ ปรีดี พนมยงค์ ตลอดมา
ผู้ช่วยศาตราจารย์องุ่น มาลิก
ชั่วชีวิตครูองุ่นมีอาชีพและจิตวิญญาณเป็น “ครู” มาโดยตลอด แม้จะมีบางเวลาที่ทำอาชีพอื่นบ้างแต่ก็เป็นช่วงสั้นๆ เท่านั้น รวมชีวิตความเป็นครู-อาจารย์ ทั้งในรั้วโรงเรียนและรั้วมหาวิทยาลัย ระหว่างปี 2482 – 2521 ร่วมเกือบ 40 ปี
ระหว่างปี 2482 – 2486 ครูองุ่น ทำงานเป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษที่โรงเรียนเขมะสิรินุสรณ์ กรุงเทพฯ แล้วมาเป็นเลขานุการโรงงานยาสูบ ช่วงสั้นๆ ในปี 2486 – 2488 จากนั้นก็เป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษที่โรงเรียนสุกิจวิทยา กรุงเทพฯ ในปี 2488 – 2497
ปี 2500 – 2501 ครูองุ่น มาเป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ ที่โรงเรียนวัดธาตุทอง พระโขนง และระหว่างนั้นจนถึงปี 2502 เธอได้เข้าอบรมภาคฤดูร้อนและเป็นนักศึกษาภาคค่ำ ที่วิทยาลัยวิชาการการศึกษา จนเรียนจบเป็นนิสิตรุ่นแรก คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วทำงานเป็นผู้ช่วยฝ่ายศึกษาวิจัย แผนกวิจัยการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลังเรียนจบภาคพิเศษของคณะครุศาสตร์และทดลองทำงานเป็นนักวิจัยอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนไปเรียนจบด้านจิตวิทยาที่สหรัฐอเมริกา ปี 2507 – 2509 ครูองุ่นตัดสินใจเข้าเป็นอาจารย์ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกับเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยศิลปากร
ก่อนที่ปี 2510 ครูองุ่น ได้ตัดสินใจอีกครั้งเดินทางขึ้นเหนือมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ครูองุ่นค่อนข้างมีบุคลิกที่แตกต่างไปจากอาจารย์มหาวิทยาลัยในสมัยนั้น นอกจากการชอบเดินไปไหนมาไหนเป็นหลักแล้ว ยังชอบใส่เสื้อผ้าที่เย็บเอง สะพายย่าม นุ่งผ้าถุง เสื้อแขนกระบอก ดูเหมือนชาวบ้านทั่วไปมากกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัย ด้วยความเป็นคนตัวเล็กผอม ผิวคล้ำจากการโดนแดด สวมแว่นตาตลอดเวลา ครูองุ่นจึงมีบุคลิกโดดเด่นโดยธรรมชาติจากบรรดาคณาจารย์เสมอ
ปี 2521 ครูองุ่นเกษียณราชการในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ เธอกลับมาอยู่บ้านซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท 55 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ เป็นการถาวร ผลิตหุ่นเชิดมือที่ใช้วัสดุจากผ้าขี้ริ้ว และสร้างนิทานสำหรับละครหุ่นมือเด็ก
ประเทศที่ขมุกขมัวด้วยควันปืน
ครูองุ่นมักปรากฏตัวในกิจกรรมของนักศึกษา ทั้งการประท้วงทางการเมือง เวทีอภิปราย การแสดงละคร กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ รวมไปถึงเวลามีความขัดแย้งกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้เป็นที่รู้จักกันในหมู่นักศึกษาที่เป็นนักเคลื่อนไหวโดยเฉพาะกลุ่มนักเขียนหัวก้าวหน้าของ มช. ในสมัยนั้น
หลังเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ครูองุ่น ถูกจับควบคุมตัวเข้าศูนย์การุณยเทพ จังหวัดเชียงใหม่ (ปัจจุบันคือสำนักงานสันติบาล เชียงใหม่)ควบคุมตัวไปกักกันเพื่ออบรมความประพฤติ
ความยุ่งยากทางการเมืองหลังปี 2519 ทำให้คนที่ครูองุ่นคุ้นหน้าคุ้นตาหลายคนหายไปจากสังคม และครูเองก็มีอายุ 60 ปีแล้ว ต้องมาเป็นข้าราชการบำนาญ แม้วัยจะไม่ใช่อุปสรรคแต่กลับเป็นเงื่อนไขแห่งอิสระที่จะทำในสิ่งที่ชอบได้อย่างเต็มที่
ระหว่างปี 2527 – 2528 ครูองุ่นเขียนบทความประจำคอลัมน์จิตวิทยาครอบครัว ในนิตยสาร “นรี” รายปักษ์ เป็นงานเขียนบทความกึ่งวรรณกรรมแนวจิตวิทยา ข้อเขียนเชิงจิตวิทยาของครูไม่ค่อยเหมือนใครเพราะได้ผนวกความเป็นมนุษย์ด้วยองค์ประกอบอื่นของสังคม มีการนำสัจธรรมของพระพุทธศาสนามาใช้ จึงเป็นงานเขียนจิตวิทยาที่มีเหตุผลหลายด้านรองรับอย่างน่าสนใจ
ตำนานพระจันทร์ แม่มด กับไข่ทอง
ปี 2516 ครูองุ่น ร่วมแสดงละครเวทีเรื่อง “หกฉากจากชนบท” กำกับการแสดงโดย คำรณ คุณะดิลก ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ละครเรื่องหกฉากจากชนบท ของชุมนุมศิลปะการละครมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดการแสดงขึ้น สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมเป็นอย่างมาก จึงได้นำมาเปิดแสดงบนเวทีหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 11 – 13 สิงหาคม 2516
ละครเรื่องนี้เน้นให้เห็นสภาพปัญหาต่างๆ ในชนบท จากประสบการณ์แท้จริงของนักแสดง ลักษณะพิเศษของละครเรื่องนี้คือ บทพูดเป็นคำพูดของผู้แสดงเขียนขึ้นเองเฉพาะตัว จึงเป็นความใหม่อีกลักษณะหนึ่งในยุคขณะนั้น
นับแต่ปี 2520 เป็นต้นมา ครูองุ่นทำหุ่นมือ ฝึกเชิดหุ่น และออกแสดงตามที่ต่างๆ ต่อเนื่อง หุ่นมือนับหมื่นได้กระจายออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศยากจน ผ่านทางองค์กรการกุศลที่ไม่มีอคติในเรื่องของชาติพันธุ์และผิวพรรณ
ครูองุ่นลงมือสร้างหุ่นขึ้นมาอย่างเร่งรีบทั้งวันทั้งคืน โดยมีลูกศิษย์คอยเป็นลูกมือ ครูคอยตรวจสอบและติดตามความสดใสของสีสันผ้าที่เลือกขึ้นมาประดิษฐ์เป็นตัวหุ่น การตกแต่งหน้าตาอารมณ์ของหุ่น การสร้างหุ่นรูปแบบใหม่ๆ อย่างเช่นควายที่มีเขาโง้งงดงามสำหรับให้ชาวนาขึ้นไปนั่งเป่าขลุ่ยยามเย็นลมโชย พอทำเสร็จครูก็จะนำขึ้นมาเชิดพลางร้องเพลง ทดลองเล่นกับหุ่น
มูลค่าของเงิน มูลค่าของครู
ปี 2475 ตอนนั้นครูองุ่น อายุ 15 ปี เรียนอยู่โรงเรียนสตรีโชติเวท คณะราษฎรได้ทำการอภิวัฒน์สยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ สร้างความตื่นตัวทางความคิดเพื่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ให้ครูองุ่นเป็นอย่างมาก
การศรัทธาในการทำงานและอุดมการณ์ของ ปรีดี พนมยงค์ เป็นเหตุผลให้ วันที่ 12 กันยายน 2526 ครูองุ่น ยกที่ดิน 371 ตารางวา ให้มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ใช้เป็นที่ปลูกสร้างสถาบันปรีดี พนมยงค์ (ปัจจุบันกำลังปิดปรับปรุงอยู่)
ปี 2513 ครูองุ่น ได้ซื้อที่ดินซึ่งเป็นที่นาร้างจากคนในชุมชนป่าห้าด้านทิศตะวันตกติดกับลำน้ำห้วยแก้ว สร้างบ้านริมน้ำข้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งชื่อว่า “สวนอัญญา” มาจาก “อัญญาโกณฑัญญะ” หนึ่งในปัญจวัคคีย์ที่พระพุทธเจ้าบวชให้ ครูองุ่นจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางความคิด ใช้บ้านสวนอัญญาให้นักศึกษาใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางสังคม
ปลายปี 2523 ครูองุ่นได้อ่านคอลัมน์ “ชายเสื้อกาวน์” ของ นายแพทย์อภิเชษฎ์ นาคเลขา ในนิตยสารรายสัปดาห์การเมือง เล่าถึงประสบการณ์ทำงานสมัยเป็นแพทย์อยู่เมืองพร้าว ครูองุ่นชวนหมออภิเชษฎ์มาเปิดคลินิก “เวชประชา” ใช้เป็นสถานพยาบาลสำหรับผู้ป่วยยากจนในชุมชนแออัดซอยทองหล่อและพื้นที่ใกล้เคียง ในราคาที่ถูกหรือฟรีจากเงินบริจาคของผู้ศรัทธา พร้อมกับเปิดโครงการสอนวิชารักษาพยาบาลแพทย์ชนบทสำหรับโรงเรียนชนบท โดยรับสมัครครู ประชาชนอบรมครูได้สองรุ่นในปี 2524 และ 2525 โครงการก็ต้องยุติลงด้วยปัญหาทางกฎหมาย
ปี 2524 ครูองุ่นปรึกษาหารือกับทนาย ประดับ มนูรัษฎา เพื่อดำเนินการจัดตั้ง มูลนิธิไชยวนา กระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้มูลนิธิไชยวนามีฐานะเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2525 บริเวณพื้นที่บ้านเลขที่ 67 ซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท 55 บริเวณสวนครูองุ่น ในปัจจุบัน
“เธอทำอะไรอยู่ แกรก แกรก ฉันแผ้วถางแผ่นดิน...”
“ข้าพเจ้านางองุ่น มาลิก ขอประกาศเจตนาว่า เมื่อข้าพเจ้าสิ้นชีวิตลง ขอให้ช่วยกันจัดการศพของข้าพเจ้า โดยให้รักษาศพไว้ใต้ลานหินโคนไม้ ณ ที่ซึ่งเตรียมไว้แล้วสำหรับการนี้ ไม่ให้โยกย้ายศพของข้าพเจ้าออกจากผืนดินแห่งนี้ ห้ามการกระทำอย่างอื่นต่อศพของข้าพเจ้า ขอให้จัดโดยเรียบง่ายที่สุด ไม่มีความจำเป็นต้องสื่อสารบอกกล่าวผู้คน”
“ข้าพเจ้าได้สืบทอดรักษาที่ดินแห่งนี้มาเป็นเวลากว่า 50 ปี ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง... และยกกรรมสิทธิ์ให้แก่มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เป็นที่สร้างสถาบันปรีดี พนมยงค์ ด้วยเจตนาให้ดำเนินเป็นสถานกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อราษฎรไทย”
“ข้าพเจ้าได้ใช้แรงกาย หยาดเหงื่อ แม้หยาดโลหิต ถนอมรักษาที่ดินโดยรอบ... เพื่อจักได้เห็นที่แห่งนี้ เป็นแหล่งดำเนินการเพื่อราษฎรไทยที่ขาดโอกาส เสมือนว่า ที่ดินแห่งนี้อันเคยเป็นผืนนามาเก่าก่อนนั้น บัดนี้ได้ให้ผลผลิตเป็นกิจกรรมประเทืองปัญญาต่อลูกหลานชาวนาเอง”
ครูองุ่น ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินของเธอให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิไชยวนา เพื่อดำเนินกิจกรรมอำนวยประโยชน์ในการศึกษาและศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนเกื้อกูลการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในรูปแบบต่างๆ
1. ที่ดินเนื้อที่ 258 ตารางวา บ้านเลขที่ 67 ซอยสุขุมวิท 55 ทองหล่อ แขวงคลองตันเหนือ เขตพระนคร กรุงเทพฯ (ปัจจุบันคือสวนครูองุ่น มูลนิธิไชยวนา)
2. ที่ดินเนื้อที่ 571 ตารางวา บ้านเลขที่ 1 ซอย 3ค. ถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (ปัจจุบันคือสวนอัญญาเฮือนครูองุ่น มาลิก หอประวัติศาสตร์ประชาชนภาคเหนือ มูลนิธิไชยวนา เชียงใหม่)
ครูองุ่นเธอย้ำเช่นนี้เสมอ...
การมาเยือนของหญิงชราผู้ท้าทาย
ปี 2529 ครูองุ่น เริ่มป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก เข้ารับการฉายแสงที่โรงพยาบาลรามาธิบดี หลังจากป่วยและรักษาตัวเป็นเวลาสามปีกว่า วันที่ 23 พฤษภาคม 2533 ครูองุ่นทรุดหนักและไม่ยอมไปโรงพยาบาล อ.ดุษฎี พนมยงค์ มาช่วยเกลี้ยกล่อมและพาไปโรงพยาบาลคามิลเลี่ยน แพทย์ลงความเห็นว่าเธออยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต
ต้นเดือนมิถุนายน 2533 ก่อนครูจะจากไปไม่กี่วันได้พูดไว้ว่า
“...อยากให้สังคมมีความยุติธรรม เปิดโอกาสให้เด็กๆ เรียนรู้ในสิ่งดีงาม เพื่อเขาจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณธรรม มีคุณภาพ สามารถทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม อย่างรัฐบุรุษท่านปรีดี พนมยงค์ ที่เป็นแบบอย่างแห่งความเสียสละเพื่อประเทศชาติ”
เป็นเวลาหลายปีเต็ม ความเจ็บป่วยดำเนินทำหน้าที่ของมันตั้งแต่ปี 2529 ถึง 21 มิถุนายน 2533 ครูได้ต่อสู้กับโรคมะเร็งด้วยการปฏิบัติธรรม ช่วยเหลือผู้อื่น พร้อมกับการไปอยู่กับเด็กๆ สู้ด้วยจิตใจอันสงบเตรียมพร้อมและสั่งเสียกับผู้เกี่ยวข้องไว้อย่างเป็นขั้นเป็ นตอน
“สมัยที่เราต่อสู้เพื่อสังคม เราเหนื่อย เราสูญเสีย แต่เราก็ไม่เคยกลัว ไม่หวั่นไหว ไม่ท้อแท้ เรามีกำลังใจ มีความฮึกเหิม เพราะเราสู้เป็นขบวน มีเพื่อนร่วมต่อสู้มากมาย มีเป้าหมายเดียวกัน ประชาชนร่วมต่อสู้เป็นแสนเป็นล้าน แต่การต่อสู้กับความเจ็บปวดของตัวตน เป็นของเราเองโดยแท้ ใครก็มาร่วมเจ็บปวดกับเราไม่ได้นะ”
ครูองุ่นเป็นครูจนถึงวินาทีสุดท้าย ครู “พิจารณา” แล้วก็ “ถ่ายทอด” เป็นอย่างนี้โดยตลอด มีเรื่องราวมากมายทำนองนี้ ทั้งที่มีคนยอมรับและมีคนปฏิเสธ เป็นธรรมดาของการแลกเปลี่ยนถกเถียงทางสังคม
ครูองุ่น มาลิก ถึงแก่กรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2533 ร่างของครูถูกบรรจุไว้บนที่ดินสวนครูองุ่น มูลนิธิไชยวนา ในปัจจุบัน ตามเจตนารมณ์ที่ฝากไว้ของเธอ ส่วนจิตวิญญาณยังคงดำรงอยู่และดำเนินไปกับการงานที่ครูได้สร้างไว้
อ้างอิง
สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย (บรรณาธิการ) หนึ่งศตวรรษ องุ่น มาลิก ดอกไม้แสนงาม ครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ครูองุ่น มาลิก 5 เมษายน 2560
รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน. “อาจารย์องุ่น มาลิก กับนักศึกษา มช.” ใน นักธรณีวิทยามาเป็นนักเขียน 60 ปี รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน สำนักพิมพ์บ้านมงคล , 2554
สำเนาเอกสาร ร้อยบท รจนา ครบรอบ 75 ปี อาจารย์องุ่น มาลิก 5 เมษายน 2536 ครบรอบ 3 ปี ถึงแก่กรรมอาจารย์องุ่น มาลิก 21 มิถุนายน 2536 และเนื่องในโอกาสเปิดอาคารสถาบันปรีดี พนมยงค์ 2536 (พิมพ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2536 โดยคณะศิษย์อาจารย์องุ่น มาลิก และ มูลนิธิไชยวนา)
นลธวัช มะชัย (เอกสารสำเนาต้นฉบับหนังสือ) ยายหุ่น : ครูองุ่น มาลิก , 2560 ภายใต้โครงการจัดทำหนังหนังสือระลึกถึงครูองุ่น มาลิก โดย กลุ่มลานยิ้มการละคร เชียงใหม่