ข้อเสนอแนะในการจัดแสดงละครในสถานที่จริง

ข้อมูล ณ วันที่ 3 มกราคม 2564

เนื่องด้วย COVID-19 กลับมาแพร่ระบาดในประเทศไทยระลอกใหม่ ประกอบกับกรุงเทพมหานครยังคงอนุญาตให้โรงละครดำเนินกิจการได้โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคตามที่กรุงเทพมหานครกำหนดโดยเคร่งครัดนั้น มูลนิธิละครไทยจึงจัดทำข้อเสนอแนะในการจัดแสดงละครในสถานที่จริงเพื่อให้การสร้างสรรค์และรับชมละครเวทีไทยร่วมสมัยเป็นเรื่องปลอดภัยทั้งทางกายและทางใจ


ข้อเสนอแนะเหล่านี้รวบรวมจากมาตรการของกรุงเทพมหานคร, Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมโรคของประเทศสหรัฐอเมริกา และแนวทางที่คณะละคร American Repertory Theater ศึกษาร่วมกับ T.H. Chan School of Public Health, Harvard University มูลนิธิละครไทยจัดกลุ่มข้อเสนอแนะตามลําดับชั้นของการควบคุมอันตราย (The Hierarchy of Controls) 


อนึ่ง การจัดแสดงละครแต่ละเรื่องย่อมมีรายละเอียดและวิธีการป้องกันการแพร่เชื้อแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะของละคร สถานที่ และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ มูลนิธิละครไทยจึงออกข้อแนะนำได้เพียงในภาพกว้างเท่านั้น ศิลปินและคณะละครควรนำข้อเสนอแนะไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของตน

 

ลําดับชั้นของการควบคุมอันตราย (The Hierarchy of Controls)


การควบคุมอันตรายแบ่งเป็น 5 ระดับ ศิลปินและคณะละครควรพิจารณาใช้ข้อเสนอแนะที่ให้ผลสูงสุดก่อน แล้วจึงค่อยพิจารณาใช้ข้อเสนอแนะที่ให้ผลในลำดับรองลงมา ทั้งนี้ควรใช้ข้อเสนอแนะในหลายระดับรวมกัน มิใช่แค่เพียงระดับใดระดับหนึ่ง

ที่มาของภาพ: ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่มาของภาพ: ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

1. การขจัดออก

การขจัดอันตรายออกเป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด ตัวอย่างวิธีขจัดออก เช่น

  • ประชุมหรือซ้อมทางไกลแทนการพบปะในสถานที่จริงเท่าที่ทำได้

 

2. การทดแทน

เราสามารถใช้วิธีทดแทนได้หากไม่สามารถขจัดอันตรายออกไปได้ ตัวอย่างเช่น

  • เปลี่ยนมาซ้อมหรือแสดงในพื้นที่เปิดนอกอาคารแทนในพื้นที่ปิดในอาคาร

  • เปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิทัลแทนเพื่อลดการสัมผัสระหว่างทีมงานและผู้ชมในสถานที่จริง เช่น

    • ระบบชำระเงิน อาจใช้การโอนเงินแทน

    • ระบบตรวจบัตร อาจใช้บัตรดิจิทัลแทน

    • การแจกสูจิบัตร อาจจัดทำสูจิบัตรดิจิทัลแทน

 

3. การควบคุมทางวิศวกรรม

การควบคุมทางวิศวกรรมเป็นการใช้เทคโนโลยีหรือสิ่งกีดขวางเข้าช่วยป้องกันการสัมผัสเชื้อ ตัวอย่างเช่น

  • โรงละครและสถานที่ซ้อมในอาคารควรมีระบบหมุนเวียนและกรองอากาศ ควรเพิ่มปริมาณอากาศจากภายนอกให้ไหลเวียนเข้ามาภายในให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อช่วยลดความหนาแน่นของไวรัสที่อาจลอยตัวกระจายอยู่ในอากาศ

    • พื้นที่ขนาดเล็ก: อาจใช้เครื่องกรองอากาศที่ได้มาตรฐาน High-Efficiency Particulate Air (HEPA) ควรมีค่า Clean Air Delivery Rate (CADR) อย่างน้อย 100 ลูกบาศก์ฟุตต่อนาที (cubic feet per minute - cfm) สำหรับทุกๆ 250 ตารางฟุต หรือใช้วิธีเปิดหน้าต่างหากไม่มีฝุ่น

    • พื้นที่ขนาดใหญ่: อาคารที่ใช้ระบบปรับอากาศขนาดใหญ่ควรใช้ระบบกรอง MERV-13 ขึ้นไปเพื่อให้กรองละอองได้ละเอียดมากกว่า MERV-8 ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป สำหรับระบบที่มีการกรองหลายชั้น สามารถใช้ MERV-13 กรองชั้นสุดท้ายร่วมกับ MERV-8 ได้ ทั้งนี้ควรปรึกษากับบริษัทที่ดูแลรับผิดชอบระบบปรับอากาศของท่าน

    • มนุษย์ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ขณะหายใจออก ค่าคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในอาคารจึงสามารถบ่งบอกอัตราการถ่ายเทอากาศได้ หากการถ่ายเทอากาศไม่ดี ค่าคาร์บอนไดออกไซด์จะสูงเกิน 1,000 ppm

  • ตรวจสอบระบบถ่ายเทอากาศในห้องน้ำให้ได้มาตรฐาน มีค่าความดันลบ เพื่อให้มั่นใจว่าอากาศไหลจากบริเวณภายนอกเข้าไปยังห้องน้ำ มิใช่จากห้องน้ำไหลออกสู่บริเวณภายนอก

  • ปรับความชื้นสัมพัทธ์ภายในอาคารให้อยู่ระหว่าง 40 - 60% เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสและช่วยให้ภูมิคุ้มกันของระบบทางเดินหายใจของเราทำงานได้ดีขึ้นตามธรรมชาติ สามารถปรับความชื้นสัมพัทธ์ได้ด้วยการติดตั้งเครื่องทำความชื้น ทั้งนี้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราในอาคารสถานที่

  • หากจำเป็น อาจใช้ระบบฆ่าเชื้อบนเพดานด้วยยูวี (Upper Room Ultraviolet Germicidal Irradiation - UVGI) หรือระบบฟอกอากาศอื่นๆ ทั้งนี้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนติดตั้งและใช้ระบบเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง

  • วางมาตรการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อต่อวันให้เข้มงวดและถี่ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณห้องน้ำ อาจจัดเตรียมแผ่นทำความสะอาดและฆ่าเชื้อไว้ในห้องน้ำเพื่อให้ผู้ใช้สามารถเช็ดลูกบิดประตู ฝารองนั่งชักโครก อ่างล้างมือก่อนใช้งานแต่ละครั้งได้ด้วยตนเอง ควรกำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน และมีถังขยะแยกสำหรับขยะอันตราย เช่น หน้ากากอนามัยใช้แล้ว

  • ติดตั้งแผงกั้นหรือกระจกใสในที่ที่คนจำนวนมากรวมตัวกัน เช่น

    • จุดจำหน่ายบัตร

    • โต๊ะต้อนรับ

    • ระหว่างโถปัสสาวะและอ่างล้างมือในห้องน้ำ

    • ระหว่างโต๊ะทำงาน

  • ติดตั้งหรือเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์อัตโนมัติเพื่อให้มีพื้นผิวสัมผัสร่วมกันน้อยที่สุด เช่น

    • ก๊อกน้ำ อาจเปลี่ยนมาใช้แบบอัตโนมัติหรือแบบเท้าเหยียบ

    • เครื่องจ่ายแอลกอฮอล์หรือสบู่

    • เครื่องจ่ายกระดาษเช็ดมือ

    • ถังขยะ อาจเปลี่ยนมาใช้แบบเท้าเหยียบ

    • ชักโครก

    • ประตูที่ต้องดึง ผลัก หรือเลื่อน อาจเปลี่ยนมาใช้แบบอัตโนมัติหรือแบบเปิดโดยใช้เท้าเหยียบ

 

4. การควบคุมด้วยการบริหารจัดการ

ศิลปินและโรงละครสามารถควบคุมได้ด้วยการบริหารจัดการผ่านการออกระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น

  • ให้รักษาระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 2 เมตรเสมอ (ภาครัฐกำหนดเพียง 1 เมตร) และให้มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 4 ตารางเมตรต่อคนเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการของภาครัฐ อาจพิจารณาจัดที่นั่ง 2 เว้น 1 ในสถานที่ที่ระบายอากาศได้ดี

  • ให้ล้างมือสม่ำเสมอ ควรจัดเตรียมสบู่และน้ำยาหรือเจลล้างมือสำหรับผู้ชมและทีมงาน

  • จัดที่นั่งผู้ชม พื้นที่หน้าโรงละครและพื้นที่หลังฉากให้ไม่แออัด ควรมีที่นั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตรเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการของภาครัฐ

  • ออกแบบการจราจรในพื้นที่โรงละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่คาดว่าจะแออัด เช่น ห้องน้ำ พื้นที่หน้าโรงละครก่อนเล่น จุดจำหน่ายบัตร ฯลฯ และประกาศให้ชัดเจนเพื่อให้ปฏิบัติตามได้ง่ายและป้องกันกรณีพิพาท

  • ใช้แอปพลิเคชันลงทะเบียนเข้าออกที่ทางราชการกำหนด และลงทะเบียนยืนยันการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด

  • คัดกรองไข้ อาการไอ หอบเหนื่อย จาม หรือหวัดก่อนเข้าอาคาร อาจติดสัญลักษณ์แสดงการคัดกรองผ่าน

  • จัดพื้นที่แยกกรณีพบผู้มีอาการป่วยและรายงานหน่วยงานรับผิดชอบ

  • คณะละครอาจพิจารณาจัดแสดงละครที่ไม่ยาวมากและไม่มีพักระหว่างการแสดงในระยะนี้

  • หากมีการพักระหว่างการแสดง ควรขยายเวลาพักให้นานขึ้นเพื่อมิให้ห้องน้ำแออัดเกินไป อาจมีการนำสุขาเคลื่อนที่มาเสริมหากจำเป็น อาจแจ้งผู้ชมให้นั่งหรือยืนอยู่กับที่เท่านั้นระหว่างช่วงพักการแสดง เว้นเสียแต่ว่าต้องใช้ห้องน้ำ หรืออาจแจ้งให้ผู้ชมใช้ห้องน้ำก่อนหรือหลังการแสดงเพื่อให้ลดความแออัดบริเวณห้องน้ำในช่วงพักการแสดง

  • ละครที่มีความยาวมากอาจแบ่งให้มีการพักการแสดงหลายรอบ

  • หากเป็นไปได้ ควรแบ่งทีมงานออกเป็นกลุ่มเล็ก อาจแบ่งตามประเภทของภาระหน้าที่เพื่อจำกัดโอกาสสัมผัสเชื้อให้อยู่ในวงแคบหากเกิดการระบาดในคณะละครหรือสถานที่ของท่าน วิธีนี้อาจช่วยให้การแสดงยังดำเนินต่อไปได้แม้ทีมงานส่วนหนึ่งต้องกักตัว

  • ไม่ใช้อุปกรณ์ทำงาน โต๊ะทำงาน หรืออุปกรณ์ประกอบฉากร่วมกันหากไม่จำเป็นเพื่อลดการสัมผัสพื้นผิวร่วมกัน ศิลปินและคณะละครอาจต้องเพิ่มจำนวนอุปกรณ์เพื่อดำเนินมาตรการนี้ สำหรับอุปกรณ์ประกอบฉากที่จำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ควรทำความสะอาดทุกครั้งหลังใช้

  • จัดพื้นที่ให้ทีมงานวางสัมภาระส่วนตัวแยกกัน

  • หากมีกิจกรรมอื่นเกิดพร้อมกันในสถานที่เดียวกัน ควรพิจารณาเหลื่อมเวลาจัดแสดงละครเพื่อลดความแออัดของการใช้บริการขนส่งสาธารณะและลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ

 

5. เครื่องมือป้องกัน (Personal Protective Equipment - PPE)

แม้การสวมใส่เครื่องมือป้องกันจะเป็นวิธีที่ให้ผลน้อยที่สุด แต่ในบางครั้งก็เป็นวิธีเดียวในการควบคุมอันตราย ศิลปินและคณะละครไม่ควรพึ่งพาการใช้เครื่องมือป้องกันแต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรใช้การควบคุมอันตรายในระดับอื่นควบคู่กันไปด้วย บุคคลที่มีความจำเป็นควรสวมใส่เครื่องมือป้องกันให้เหมาะกับชนิดของงาน ตัวอย่างข้อเสนอแนะ เช่น

  • ให้ผู้ชมและทีมงานทุกคนสวมใส่หน้ากาก อาจใส่แผ่นใสป้องกันใบหน้าร่วมด้วยทั้งช่วงซ้อมและช่วงแสดงเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการของภาครัฐ

  • ให้ความรู้เรื่องการสวมใส่และถอดหน้ากากที่ถูกวิธี รวมถึงวิธีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อหน้ากากชนิดใช้ซ้ำแก่ผู้ชมและทีมงาน

  • ให้พนักงานทำความสะอาดสวมถุงมือ หน้ากาก แว่นตา หมวกคลุมผมขณะทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ

 

ข้อจำกัดความรับผิด

การให้ข้อมูลของมูลนิธิละครไทยแก่ท่านนั้นไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลโดยตัวแทนหรืออาสาสมัครของมูลนิธิละครไทยที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์ใดๆ จากการให้ข้อมูลดังกล่าว และเป็นเพียงแต่แนวทางและคำแนะนำเท่านั้น

เมื่อท่านได้รับคำแนะนำใดๆ จากมูลนิธิละครไทย ท่านได้ยอมรับในข้อกำหนดและเงื่อนไขว่าการกระทำหรือตัดสินใจใดๆ ของท่านไม่ว่าโดยอาศัยข้อมูลจากมูลนิธิละครไทยหรือไม่ก็ตาม เป็นความเสี่ยงและอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของท่านหรือองค์กรของท่านเองทั้งสิ้นทุกประการโดยรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และท่านยอมรับว่ามูลนิธิละครไทยไม่มีส่วนต้องรับผิดใดๆ ต่อท่านหรือบุคคลใดๆ ในความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมจากเหตุใดๆ รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงเนื้อหานั้นไม่ถูกต้อง ผิดพลาด ไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์ ถูกลบ หรือถูกแก้ไข