แรงงานละครไทย จ่ายเท่าไรแฟร์?

เอื้อเฟื้อภาพโดยคณะละครบีฟลอร์และภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เอื้อเฟื้อภาพโดยคณะละครบีฟลอร์และภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ในยามที่สังคมกำลังรื้อถอนเพื่อปลูกสร้างความเสมอภาคในหลายมิติ แรงงานศิลปะก็ส่งเสียงก้องขึ้นอีก บทสนทนาเรื่องสิทธิแรงงานผุดเป็นหย่อมกระจายในหมู่คนทำงานศิลปะ หนึ่งในประเด็นสำคัญคือเรื่องค่าตอบแทน

หากจะถกเรื่องค่าตอบแทนในศตวรรษนี้ จะพูดถึงแต่ค่าแรงขั้นต่ำ (Minimum Wage) เห็นทีจะไม่ได้อีกต่อไป คงต้องพูดถึงค่าจ้างเพื่อชีวิต (Living Wage) ด้วย ก่อนอื่นเลยต้องเข้าใจก่อนว่ามันต่างกันยังไง

 

ค่าจ้างเพื่อชีวิตต่างจากค่าแรงขั้นต่ำยังไง?

กฎหมายไทยระบุไว้ว่าค่าแรงขั้นต่ำคือ “อัตราค่าจ้างที่เพียงพอสําหรับแรงงานทั่วไปแรกเข้าทํางาน 1 คนให้สามารถดํารงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเหมาะสมตาม ความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น” 

ในขณะที่งานวิจัยของผศ.ปกป้อง จันวิทย์และอ.ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นิยามค่าจ้างเพื่อชีวิตไว้ว่า “ระดับค่าจ้างที่ทำให้แรงงานสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีระดับมาตรฐานการครองชีพที่อยู่ได้อย่างภาคภูมิใจ สามารถธำรงความเคารพนับถือในตัวเอง อีกทั้งเป็นระดับค่าจ้างที่ทำให้แรงงานมีหนทางและเวลาว่างเพียงพอที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของสังคม”

พิจารณานิยามแล้วก็คงเดาได้ไม่ยากว่าค่าจ้างเพื่อชีวิตย่อมสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ หลายประเทศทั่วโลกกำลังผลักดันให้ค่าแรงขั้นต่ำขยับมาสูงเท่าค่าจ้างเพื่อชีวิต หมายใจจะยกระดับคุณภาพชีวิตคนในสังคม สำเร็จบ้าง ยังไม่ถึงไหนบ้าง ต่างก็มีหนทางต่อสู้ที่แตกต่างกันไป

 

ตอนนี้อัตราค่าจ้างไทยอยู่ที่เท่าไร?

ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพฯ อยู่ที่วันละ 331 บาท (บังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563) คิดเป็นรายชั่วโมงคือ 41.38 บาท (8 ชั่วโมงต่อวัน) ข้อมูลนี้หาไม่ยาก

ที่ต้องออกแรงคิดเลขหน่อยคือค่าจ้างเพื่อชีวิต งานวิจัยของผศ.ปกป้องและอ.ดร.พรเทพเมื่อเกือบสิบปีก่อนเสนอวิธีคำนวณไว้ สรุปแบบง่ายเกินจริงคือ ให้ยึดเอาเปอร์เซ็นไทล์ที่ 50 ของรายจ่ายพื้นฐานต่อเดือนต่อคนตามผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในแต่ละปีเป็นอัตราค่าจ้างเพื่อชีวิต องค์กรอีกหลายแห่งก็เคยเสนอตัวเลขและวิธีการไว้แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแม้กระทั่งกระทรวงแรงงานเอง

ผู้เขียนในฐานะคนทำงานบริหารจัดการละครเวทีในประเทศไทยก็มีวิธีคำนวณของตัวเองที่เป็นไปในทางเดียวกันกับงานวิจัยของผศ.ปกป้องและอ.ดร.พรเทพ ว่าให้ง่ายเกินจริงอีกก็คือ จะคำนวณข้อมูลสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติแต่ละปีแล้วยึดเอาค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนต่อคนเป็นค่าจ้างเพื่อชีวิตสำหรับนักการละคร แต่ละจังหวัดก็จะมีอัตราที่แตกต่างกันไป ต่างกันเล็กน้อยตรงที่ผู้เขียนยึดอัตรารายชั่วโมงแทนรายวัน เนื่องด้วยธรรมชาติการทำงานของคนละครอาจไม่ได้เป็นแรงงานประจำตอกบัตร 8 ชั่วโมงต่อวันแบบแรงงานในสาขาอื่น

สำหรับปี 2564 ผู้เขียนเสนอให้ค่าจ้างเพื่อชีวิตสำหรับนักการละครในกรุงเทพฯ อยู่ที่ชั่วโมงละ 99 บาทหลังหักภาษี (คำนวณด้วยสถิติปี 2563) เทียบเป็นเงินเดือนคือ 17,160 บาทหลังหักภาษี เชื่อว่าเป็นอัตราขั้นต่ำที่แรงงานอยู่ได้ และผู้จ้างไม่ล้มละลาย

 

ค่าจ้างเพื่อชีวิตนี่หรูหรารึเปล่า?

อยากเบรกแรงๆ ตรงนี้เลยว่าค่าจ้างเพื่อชีวิตนี่แข่งขันอะไรกับภาคธุรกิจไม่ได้เลย ต่ำกว่าเยอะ ค่าจ้างเพื่อชีวิตสำหรับผู้เขียนเป็นแค่ “ค่าแรงขั้นต่ำ” ที่สอดคล้องกับโลกความเป็นจริงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น 

ค่าจ้างเพื่อชีวิตเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำและรายได้เฉลี่ยของแรงงานในกรุงเทพมหานครสองปี (รายชั่วโมง)

ค่าจ้างเพื่อชีวิตเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำและรายได้เฉลี่ยของแรงงานในกรุงเทพมหานครสองปี (รายชั่วโมง)

 

นักการละครจะไม่มีพลังสร้างงานเต็มที่หากยังต้องกังวลอยู่แต่กับการเอาตัวรอด ค่าจ้างเพื่อชีวิตจึงสำคัญมากสำหรับวงการละครเวทีไทยที่ศิลปินกว่า 81.4% ไม่ได้มีรายได้หลักมาจากการทำละคร

ความท้าทายอยู่ที่นักจัดการละครเวทีแล้วว่าจะบริหารยังไงให้สามารถจ่ายทุกคนที่อัตราค่าจ้างเพื่อชีวิตเป็นอย่างต่ำได้ ยิ่งไปกว่านั้น ทำยังไงถึงจะแข่งขันกับอุตสาหกรรมบันเทิงได้เพื่อดึงดูดศิลปินที่มีศักยภาพให้มาสร้างสรรค์งานละครเวทีต่อเนื่องมากขึ้น วงการละครเวทีไทยร่วมสมัยจะได้พัฒนาอย่างยั่งยืน

 
 

ผู้เขียน

Headshot_edited.jpg

รักษ์ศักดิ์ ก้งเส้ง

(She/They) ผู้อำนวยการมูลนิธิละครไทย ชอบดูละคร ชอบแต่งฉันท์ ชอบครุ่นคิดเรื่องการเมือง และเพิ่งรู้ตัวว่าชอบอาหารไทยมากเมื่อย้ายมาอยู่อเมริกา