นลธวัช มะชัย : เรื่อง
บทสนทนาข้างในของตัวละครที่ซ้อนทับอยู่ในเงาของตัวเอง ค่อยๆ ตกตะกอนทีละน้อย จนกลายเป็นบทเรียนมวลมหึมาท้าลมแดดลมฝนเกือบ 50 ปี ความแข็งแกร่งจากการไขประตูทีละบาน สร้างเด็กหญิงคนหนึ่งให้เติบโตมาเป็นเช่นนี้ เผชิญหน้ากับการเดินทางภายในของตัวเอง เธอไขกุญแจเข้าไปในห้องปิดตายเหล่านั้น ถ้ามันเรียบง่าย สวยงาม ธรรมดา คงไม่ปิดประตูเอาไว้ แต่จะทำอย่างไรได้ในเมื่อจิตวิญญาณ ส่วนหนึ่งอยู่ในนั้น ทางเดียวที่จะดำรงต่อไปคือต้องสบตากับมัน แม้ขมขื่นเพียงใดแต่นั่นคือทางออกเดียวของชีวิต
ต้นปีที่ผ่านมาผมไปดูงาน “โลกแห่งเงา” ที่ เทพศิริ แกลเลอรี การแสดงชิ้นหนึ่งในนิทรรศการ The Breathing of Maps จัดโดยพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม เจแปนฟาวน์เดชั่น เอเชียเซ็นเตอร์ และหอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน นิทรรศการที่นำเสนอการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการทับซ้อนของชั้นที่ทอดวางอยู่ระหว่างแผนที่ต่างๆ เสมือนมันคือ “ภูมิกายาที่มีชีวิต” กรอบสร้างขึ้นโดยกิจกรรมที่ยังคงดำเนินต่อของมนุษย์
“โลกแห่งเงา” หรือ Shadow World การแสดงของป้าทิพย์ มณฑาทิพย์ สุขโสภา เล่าสะท้อนเรื่องราวการเดินทางด้านศิลปะ ภาพความทรงจำ และเรื่องราวจากอาชีพนักการละครหุ่นเงาของป้าทิพย์ โดยใช้หุ่นตัวเก่าและใหม่ ไฟที่ประดิษฐ์เอง ข้าวของเครื่องใช้ทั้งหมดในสตูดิโอโรงละครพระจันทร์พเนจรและการเดินทางที่ไม่สิ้นสุด (The Wandering Moon & Endless Journey) ด้วยการเปิดบ้านและพื้นที่ทำงานของป้าทิพย์ ให้คนดูได้เข้าไปเฝ้ามอง สังเกตการณ์ และรู้สึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในนั้น ในที่ที่ต้องข้ามจากโลกทางกายภาพไปสู่โลกแห่งเงาและจิตวิญญาณ
ผมยอมรับตามตรงว่า นี่คือการแสดงที่ง่ายและงาม ตามศักยภาพอันล้นเหลือของผู้เล่า ในทางกลับกันมันก็ไม่ง่ายและไม่งาม ตามเรื่องราวที่ถูกเล่าออกมาจากชีวิตจริงของผู้ถูกเล่าอย่างป้าทิพย์เช่นกัน
ทำไมผมจึงรู้สึกสับสนซับซ้อนเช่นนั้นไปได้ ?
ทั้งที่การแสดงชิ้นนี้มีเพียงเธอและเรื่องราวภายในกระเป๋าเดินทางใบหนึ่งเท่านั้น เธอเลือกที่จะเริ่มต้นเรื่องเล่าทั้งหมดจากถนนหน้าบ้าน ผู้ชมสามารถเดินตามไปได้ทุกที่ระหว่างแสดง เธอในฐานะตัวละครเดินมาหยุดที่หน้าคาเฟ่เล็กๆ ที่อยู่ในบริเวณหอศิลป์เทพศิริอีกทีหนึ่ง
เธอเปิดกระเป๋าเดินทาง...
แล้วเรื่องราวบนเส้นทางนักการละครหุ่นเงาร่วมสมัยของเธอก็ปรากฏตัว
ความรู้สึกข้างต้นที่กล่าวมา เป็นวัตถุดิบตั้งต้นให้ผมตัดสินใจติดตาม เฝ้ามอง สังเกตการณ์ และสัมภาษณ์ป้าทิพย์ เพื่อเขียนงานชิ้นนี้ขึ้นมาจากคำถามที่สับสนปนเปกันไป ชีวิตก่อนถือกระเป๋าเดินทางใบนั้น? การออกเดินทางพเนจรผจญภัย? บทเรียน? ศิลปิน? และการเดินทางจิตวิญญาณของเธอเป็นเช่นไร?
หลังจากเขียนไปได้พักหนึ่ง ผมได้คำตอบเบื้องต้นกับตัวเองว่าชีวิตป้าทิพย์ซับซ้อนเกินกว่าจะเล่าเรื่องออกมาภายในงานเขียนบทสัมภาษณ์เพียงชิ้นเดียว เป็นเหตุผลว่าผมมีความใฝ่ฝันจะเขียนเล่าต่อในอนาคต ทั้งหมดที่กำลังจะเริ่มต้นเล่าต่อไปนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวการเดินทางทั้งภายนอกและภายในของป้าทิพย์เท่านั้น ผมขออนุญาตเรียกว่า “ป้าทิพย์” ตามเด็กๆ ทั้งข้างหน้าและหลังโรงละคร
เด็กหญิงมณฑาทิพย์
มณฑาทิพย์ สุขโสภา เกิดปี 2516 ที่บ้านของยาย ในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีแม่เป็นบรรณารักษ์ประจำห้องสมุดภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชีวิตวัยเด็กอาศัยอยู่กับแม่ สถานการณ์ทางการเมืองกำลังจะย่างเข้าสู่ยุคสมัยแห่งประชาธิปไตยผลิบาน ตอนที่เธอเกิดจะด้วยเหตุผลอันใดก็แล้วแต่ “พ่อ” คือสิ่งมีชีวิตที่ไม่รู้จัก
“เจอพ่อครั้งแรกตอนอายุ 4 ขวบ ที่บ้านยาย ยายพูดว่า “พ่อมา” เราก็งงมาก พ่อหน้าตาเป็นยังไง ไม่เคยเห็น เกิดมาไม่เคยเห็นพ่อ เคยเห็นแต่คนอื่นที่เขามีพ่อแม่แล้ว ก็แบบว่า พ่อแม่ลูกเล่นกัน แต่เราไม่เคยเห็น ไม่รู้จักคำว่าพ่อมันเป็นยังไง พ่อเดินมาในบ้าน เข้าประตูรั้วกันมา 3 คน มีลุงวัฒน์ (อ.วัฒนะ วัฒนพันธุ์) ที่เป็นเจ้าของแกลเลอรีวัฒนะ มีลุงเปี๊ยกที่เสียไปแล้ว แล้วก็ป้าซูซาน เป็นเมียเก่าลุงวัฒน์สมัยนั้น เดินเข้ามาเราก็แบบ พ่อหรอ? มันจะมีความงงๆ นิดนึง เพราะว่าไม่เข้าใจ มันไม่เชื่อมโยงกันระหว่างคำว่าพ่อกับความรู้สึกของเรา แค่รู้สึกว่ามันมีคนแปลกหน้าเข้ามาแล้วยายก็บอกว่าคนนี้เป็นพ่อให้ไปหา นั่นคือชีวิตวัยเด็กของเรา”
“หลังจากนั้นพ่อก็จะแวะมาที่โรงเรียน เวลากลับจากเมืองนอกมาก็ซื้อของมาให้ ที่โรงเรียนก็จะแตกตื่นโทรศัพท์มาบอกที่บ้านว่ามีคนแปลกหน้าลักษณะอย่างนี้มาหาเรา”
ตอนเธอ 4 ขวบ คือราวๆ ต้นปี 2520 นั่นเป็นช่วงเพิ่งผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ไม่นานนัก การปรากฏตัวของ เทพศิริ สุขโสภา ศิลปินหนุ่มผู้เป็นพ่อแท้ๆ ของเธอ สร้างคำถามและความงุนงงให้เด็กน้อย ไม่น้อย
และเนื่องจากแม่ทำงานห้องสมุดในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เธอจึงต้องติดตามแม่เดินทางระหว่างอำเภอแม่ริม-ตัวเมืองเชียงใหม่ ตลอดห้วงชีวิตวัยเด็ก ทั้งที่ทำงานหลักและที่ทำงานเสริมของแม่ การพเนจรเริ่มต้นขึ้นเล็กๆ ระหว่างทางกลับบ้าน
“แม่เป็นคนชอบประดิษฐ์ ไปเรียนประดิษฐ์ทำดอกไม้ ตอนเด็กๆ พี่เคยไปขายดอกไม้ที่ตลาดไนท์บาซ่า สมัยนั้นไนท์บาซ่ายังเป็นดินลูกรัง ยังไม่เป็นซีเมนต์อย่างนี้ แม่จะไปตั้งโต๊ะค่าแผง 5 บาท แล้วทุกวันพุธเทศกิจจะมาวิ่งจับพวกที่ขายของบนฟุตปาธ พี่ต้องถือดอกไม้หนี แม่ก็จะบอกให้วิ่งไปซ่อน แล้วค่อยกลับมา พี่ก็จะวิ่งแล้วก็ไปแอบ พักหนึ่งก็วิ่งกลับมา”
“เป็นเด็กที่งอแงจะนอนบนแผงขายของ คือมันไป 6 โมงเย็น แล้วกว่าจะเลิกเกือบเที่ยงคืน สี่ห้าทุ่มพี่ก็จะงอแงแล้วหลับอยู่บนแผงนั้น แม่ทำจนแม่ไม่ไหวแล้ว มันเหนื่อยมากเพราะกลางวันทำงานประจำตอนกลางคืนไปขายของ เป็นอย่างนี้ตลอด”
การเป็นผู้ใหญ่กับประตูสองบานที่ถูกปิดพร้อมกัน
ชีวิตประถมและมัธยมของป้าทิพย์ มณฑาทิพย์ เข้าเรียนที่โรงเรียนพระหฤทัย แล้วมาต่อที่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย เป็นโรงเรียนสายคริสต์ทั้งคู่ หลังจากเธอติดสอยห้อยตามแม่ไปห้องสมุดและแผงขายดอกไม้ประดิษฐ์ เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าเด็กหญิงคนหนึ่งจะเจอก็เกิดขึ้นอย่างกับถูกจับวางไว้เรียบร้อยแล้ว ประตูหน้าต่างแห่งความร่าเริง ค่อยๆ ถูกลมปริศนาพัดปิดทีละบาน ทีละบาน
“ตอนอายุได้ประมาณ 12 ต้องจับแม่เข้าโรงพยาบาลสวนปรุง ตอนนั้นก็คือ crisis ชีวิต คือชีวิตพี่หายไปเลย จับแม่เข้าโรงพยาบาลบ้า จับมัดมือมัดเท้าแล้วเรียกข้างบ้านมาช่วยขนใส่รถไปโรงพยาบาล ทุกวันนี้แม่ก็ยังไม่หาย คือโรคนี้มันไม่หายจริงๆ แต่ว่าอาการมันจะฟื้นฟู มันจะดีขึ้น แล้วก็ต้องดูแลแม่เหมือนเด็ก”
“ตอนจับมัดนี่คือแม่จำอะไรใครไม่ได้นะ ช่วงที่แม่เข้าโรงพยาบาลครั้งแรกคืออาการหนักมาก ต้องมัดมือมัดเท้าเข้าโรงพยาบาลสามสี่ครั้ง ในช่วงสามปี แล้วต้องกินยากดประสาท พอซึมก็จะทำอะไรไม่ได้ จำรายละเอียดไม่ได้เลยตอนนั้น รู้แต่ว่ารับผิดชอบตัวเอง เด็กอายุ 12 ใช้ ATM เอง จัดสรรชีวิตเองทุกอย่างเลย เงินเยอะมาก ทั้งเงินค่าโรงเรียน เงินค่ากินอยู่ ทุกอย่างเลย เหมือนมันถูกบังคับให้โต ให้โตเร็วๆ เดี๋ยวนั้นเลย”
“กลายเป็นว่าเราต้องเป็นผู้ใหญ่ แล้ววันนึงพ่อก็เรียกไปคุย หรือพ่อมาหาที่บ้านพี่จำไม่ได้ อะไรที่เจ็บปวดมากๆ เรามักจะไม่อยากจำ เป็นข้อมูลที่เราต้องลบออกไปจากสมอง เพราะไม่งั้นมันหนักไป เจ็บมาก แต่มันยังอยู่ข้างใน”
นอกจากเธอต้องเป็นผู้ใหญ่ให้ได้เลย ณ ตอนนั้น กลไกป้องกันตัวเองอันหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากการคุยกับป้าทิพย์ตลอดหลายเดือนคือเธอเลือกที่จะลบความทรงจำบางช่วงบางตอนในชีวิตไปบางขณะ เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดและขมขื่นให้ทุเลาเบาบางลง ดีร้ายอย่างไรไม่ทราบได้ แต่เมื่อเธอกลับมาทบทวนชีวิตอีกครั้งหลังบางความรู้สึกได้คลี่คลายลงไปบ้าง คำตอบที่ได้คือกลไกป้องกันตัวเองเหล่านั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดำรงไปโดยตัวของมันเองโดยที่ตัวเธอเองก็ไม่รู้ตัวขณะเวลานั้น
การที่แม่เธอล้มป่วยกะทันหันอาจจะเป็นกุญแจดอกสำคัญให้เธอได้ไขเข้าไปสานความสัมพันธ์กับพ่อ สัมผัสกับชีวิตที่ใครๆ หลายคนใฝ่ฝัน พ่อ แม่ ลูก
“หลังจากแม่เข้าโรงพยาบาลชีวิตก็เปลี่ยนไปหมดเลย ที่บ้านผลักให้มาคุยกับพ่อว่าจะเอายังไง? แม่เป็นแบบนั้นจะเอายังไง? เมื่อก่อนบ้านอาจารย์เทพจะเป็นห้องสมุดหลังใหญ่อยู่ตรงตึกกลาง รอบๆ จะเป็นบ้านกระต๊อบเล็กๆ เวลามาเชียงใหม่แกก็จะมาเขียนงาน ป้าก็เอาพี่มาทิ้งไว้ตรงหน้าบ้าน แล้วพี่ก็เดินเข้ามาคุยกับแก แกไม่มองหน้าพี่เลยนะตอนนั้น หันหน้าออกหน้าต่าง แล้วพี่ก็ยืนเล่าให้แกฟังว่าแม่เป็นแบบนี้”
“พี่ก็น้ำตาไหลไปพูดไป แล้วแกก็บอกว่ามันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เดี๋ยวโตมาก็รู้เองประมาณนี้ พี่จำโมเมนต์นั้นได้แม่น คิดในใจเลยว่าจะไม่ขออะไรผู้ชายคนนี้อีก แล้วก็ออกมาเลย ออกมาจากบ้านตอนนั้นเลย”
“ช่วงนั้นไม่มีใครรู้ว่าเราเป็นลูกเทพศิริ บางคนที่ได้ยินก็หาว่าเราโกหก การไม่มีตัวตน มันเป็นแรงขับเคลื่อนอย่างหนึ่งของชีวิต”
เธอนิยามช่วงชีวิตวัยเด็กของเธอว่า...
“ห้วงเวลาที่ไม่ถูกเรียกชื่อ”
จริงแท้แค่ไหนมันย่อมปรากฏตัวเสมอเมื่อเธอต้อง เผชิญหน้ากับความรู้สึก สบตากับความทรงจำ
ชีวิตในมหาวิทยาลัย
บ้านร้อยทับสี่ (บ้านเลขที่ 100/4) หรือที่ตั้งของบ้านอาจารย์เทพศิริ สุขโสภา ในซอยวัดอุโมงค์ เป็นทั้งบ้าน ที่ทำงาน และแกลเลอรี ห่างจากหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่กี่ร้อยเมตร
ปี 2535 มณฑาทิพย์ เข้าเรียนที่ภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การที่ป้าทิพย์มาเรียนที่นี่ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ลูกสาวจะมาอาศัยบ้านของพ่อเพื่อเรียนหนังสือ แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเธอเลือกที่จะพักอยู่ในหอมหาวิทยาลัยแทนที่จะอยู่ในบ้านของศิลปินผู้พ่อ
“มาเรียนมหาวิทยาลัย ก็ไม่ได้สนิทกับพ่อ ไม่ได้ทำงานศิลปะ ยิ่งเกลียด ยิ่งไม่ต้องการเป็นศิลปิน ยิ่งไม่ต้องการเป็นแบบพ่อ ไม่คิดว่าวันหนึ่งกลายมาเป็นศิลปินเอง”
“อยู่มหาลัยไม่ได้ทำเลย แล้วพี่เป็นสายทักษะ พี่ไม่ได้เป็นสายวรรณกรรม พี่ทำงานแปล ไม่ได้ทำละคร แต่ว่าได้เรียนเชคสเปียร์ เรียนกับอาจารย์นก (ผศ.ศรวณีย์ สุขุมวาท) เรื่องการตีความ พื้นฐานต้องได้เรียนเหมือนกันหมด มันก็ซึมซับมาใช้ในละคร เรียนเอกภาษาอังกฤษก็ต้องเขียนเรื่องทำ Proposal เพราะฉะนั้นพี่ก็จะมีทักษะเรื่องการเขียนโครงการ เริ่มต้นเขียนโครงการเป็นภาษาอังกฤษเลยตั้งแต่แรก พอเขียนภาษาไทยก็จะเริ่มงงว่าเขียนยังไง ก็มาเริ่มเขียนทุน สสส. นี่แหละที่เป็นภาษาไทย”
“ช่วงมหาลัยพอปีสองจะลาออกแล้วด้วยซ้ำ ละคร ศิลปะอะไรไม่รู้จัก ไม่สนใจ จะไปสายอาชีพ ต้องได้เก็บตังค์เยอะๆ มันเป็นแบบนั้นไปเลย ไม่ได้มาฝั่งนี้เลย ไม่มีในหัว”
เส้นทางชีวิตหลังเรียนจบ
ปี 2538 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านมนุษย์ศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ โทศาสนา ด้วยตอนนั้นอารมณ์ความรู้สึกไม่ได้เข้าใกล้การเป็นศิลปินเลย เธอเลือกใช้ชีวิตในแบบฉบับที่เพื่อนๆ ร่วมยุคสมัยเลือกใช้กันคือสมัครงานประจำ
ปี 2538 – 2539 เธอลองทำงานในแบบที่รู้สึกว่าอยากลองทำ ก่อนที่ปี 2540 ก็เข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“ตอนจบมาใหม่ๆ ทำยังไงก็ได้ให้หนีไปจากตรงนี้ ต้องไปหาเงินให้ได้เยอะๆ เหมือนเด็กทั่วไปเลย แต่เราเข้าใจว่าปมในชีวิตแต่ละคนมันน่าจะแรงเพียงพอสำหรับคนๆนั้นเสมอที่จะขับเคลื่อนเราออกมา สุดท้ายอีท่าไหนไม่รู้ก็ต้องกลับมาทำละคร ครูนกทุกวันนี้ยังมาแซวอยู่เลยว่าเป็นเด็กที่เกลียด เชคสเปียร์ เรียนวรรณกรรมและตอบคำถามไม่เคยถูกเลย เพราะตอบเอาใจตัวเอง ครูบอกมณฑาทิพย์ เธอมีปัญหานะในเรื่องการตอบคำถาม พี่นึกในใจ มีปัญหายังไงวะ ก็ตอบตาม logic แบบมันต้องเป็นอย่างนี้สิ ต้องเป็นอย่างนี้ พี่ก็จะเป็นเด็กมีปัญหาเกือบไม่จบ เกือบไทร์แล้วตอนนั้น”
หลังเรียนจบป้าทิพย์เริ่มทำงานเป็น GR (Guest Relation) ให้กับโรงแรมแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ ก่อนออกไปทำงานเป็น Sale ขายจิวเวลรี่ อยู่ในช่วงเวลาสั้นๆ หลังจากนั้นก็มาทำงานที่ศูนย์สตรีศึกษา
“เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้ศูนย์สตรีชื่อว่าโครงการกฎหมายเพื่อผู้นำสตรี ก็จะอยู่กับพวกกำนันผู้ใหญ่บ้านที่เป็นผู้หญิง พี่ทำสายละครชุมชนมาก่อน เราจะมีกิจกรรมสันทนาการ มีวิธีการจัดการกระบวนการพวกนี้ เพราะฉะนั้นเราก็เป็นเจ้าหน้าที่ ที่พาผู้นำหญิงไปรัฐสภา เขาจะมีพวกทีมกฎหมายอยู่ในกรุงเทพฯ เราก็จะไปเป็นทีมงานที่พาผู้หญิงพวกนี้ไปดูงาน การอยู่ในศูนย์สตรีทำให้เราเรียนรู้ว่า เวลาผู้หญิงกระทำกับผู้หญิงเองมันเยอะยิ่งกว่าปัญหาระหว่าง gender อีก ปัญหาซับซ้อนระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิงเอง ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัวของตัวเอง ถ้าเกิดว่าลูกถูกกระทำ แล้วแม่เพิกเฉย ไม่รับรู้ อันตรายมาก เลวร้ายมาก คือเรียนรู้เรื่องนี้เยอะมาก”
“เส้นทางมันปูทางให้เรามาคุยเรื่อง gender พี่ทำงานกับฟิลิปปินส์ก็ทำเรื่อง gender แล้วพี่ได้มาทำงานศูนย์สตรีมันก็จะเห็นแพลตฟอร์มอีกแบบหนึ่ง แต่ก็เป็นเรื่องผู้หญิง เลยรู้สึกว่าในสังคมไทยถ้าพูดเรื่องปัญหาผู้ชายกับผู้หญิง อีกชุดหนึ่งที่มันทับซ้อนกันก็คือผู้หญิงกับผู้หญิงเองที่กระทำกันเอง มันซ้อนกันอยู่”
หลังออกจากงานประจำ ปี 2541 ป้าทิพย์ตัดสินใจเข้าเรียนต่อในรั้วมหาวิทยาลัยอีกครั้งในระดับปริญญาโท สาขาการศึกษานอกระบบ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดูเหมือนว่าชีวิตของเธอจะกลับเข้าสู่เส้นทางการเป็นศิลปินอีกครั้ง เนื่องจากเธอเริ่มเรียนไปด้วยทำงานศิลปะกับชุมชนไปด้วย
“เรียนโทการศึกษานอกระบบ Non-formal Education คณะศึกษาศาสตร์ เพราะว่าพี่ทำละคร แล้วพี่จะเอาละครเป็นตัวจบ เอาตัวละครมาทำเรื่องการศึกษานอกระบบ ซึ่งเป็นสายตรง อาจารย์หลายคนก็เชียร์มาก คุณคือคนแรกในสาขาวิชานะที่เป็นคนนอกแล้วเข้ามาเรียนสายนี้เป็นสายตรงของเขาเลย”
“อาจารย์ท่านหนึ่งเป็นคนเขียน reference ให้พี่ แล้วก็มีอาจารย์อีกคนหนึ่งเป็นคนที่บอกว่าให้ไปลาออกเถอะ คนหนึ่งเป็นคนที่ช่วยให้เข้าไปเรียนได้ อีกคนมาช่วยทำให้ออกมา งงมาก suffer มากตอนนั้น ตัดสินใจลาออกเพราะอาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่าอยู่มาจนคอร์สเวิร์คจบแล้ว เสียเงินไปเยอะแล้วแต่ถ้าถ่วงเวลาไปอีกไม่รู้ว่าจะเสียเงินอีกเท่าไหร่คิดเอาเองก็แล้วกัน พี่ก็เลยออกเลย คอร์สเวิร์คหมดแล้วเหลือแค่ธีสิส แต่ไม่ชอบการเมืองในมหาลัยการเมืองของอาจารย์ ซึ่งแทนที่จะสนับสนุนนักศึกษา กลายเป็นว่ามันเครียด ช่วงก่อนหน้านี้พี่ทำโปรเจกต์ ขึ้นมาที่เชียงราย เหนื่อยมาก ส่วนหนึ่งของความเหนื่อยคือทำงานด้วยเรียนด้วย เสาร์อาทิตย์กลับมาเชียงใหม่ มาเรียนภาคพิเศษ วันธรรมดากลับขึ้นไปเชียงรายไปทำโปรเจกต์กับพื้นที่ ก็จะมีแบบไซต์งาน ตามโรงเรียน ตามหมู่บ้านชาวเขา ที่เราไปลงพื้นที่ เราเลยตัดสินใจหยุดเรียน”
“สุดท้ายเจออาจารย์ที่โรบินสัน บอกว่าคุณมาอยู่ทำไมตรงนี้ คุณควรไปอยู่ในห้องเรียนวันนี้ ลากไปนั่งคุยกัน พี่ก็เลยบอกว่าถ้าอาจารย์เชื่อว่าการศึกษานอกระบบมันมีจริง ทำไมหนูต้องไปนั่งเรียนในห้อง อาจารย์ตบโต๊ะฉาด ถ้าคุณคิดแบบนี้ ผมยอมให้คุณออก พอลาออกจาก ป.โท ไม่ถึงเดือนก็ไปฟิลิปปินส์ครั้งแรก เลยรู้สึกว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง”
เปิดบันทึกการเดินทางของเงาและประตูบานที่ถูกไข
“เวลาผ่านไป 10 กว่าปี ช่วงนั้น พี่ย้ายมาอยู่ที่นี่แล้ว (เทพศิริ แกลเลอรี) วันหนึ่งแม่ก็มาอาละวาด แกนั่งรถแดงมา เพราะว่าเราไม่ได้กลับบ้าน 10 ปี ไม่ได้กลับไปหาแม่เลย มีแต่เขียนจดหมายหาแม่ ตอนนั้นเรียนมหาวิทยาลัยจบแล้ว แม่ก็มาอาละวาด พ่อแอบอยู่ในบ้าน แล้วพี่ก็แอบอยู่ข้างบน ไม่รู้จะทำยังไง”
“จนแม่ออกจากบ้านไป แกก็ไม่ได้เรียกพี่ไปคุยวันนั้นนะ ผ่านไปประมาณ 4 - 5 วัน แกก็มาถามพี่ว่า แม่เป็นแบบนี้นานแล้วเหรอ แล้วก็ถามว่าพี่รู้สึกยังไง พี่ก็บอกว่าชิน เพราะเจอมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แต่ว่าพ่อช็อกเพราะไม่คิดว่าเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ที่ลูกสาวมายืนร้องไห้แล้วบอกว่าแม่เป็นแบบนี้ เขาไม่ได้ยินเอง เขาไม่เข้าใจว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับพี่คืออะไร พี่ก็บอกว่าเรื่องมันผ่านมานานมากแล้ว จะให้รู้สึกยังไง จนมันชินชาหมดแล้ว จนไม่รู้สึกอะไรแล้ว มันเหมือนกับว่าก็มันเป็นแบบนี้ มันแก้ไขไม่ได้ เราก็ต้องเดินต่อ ต้องออกมาหาชีวิตของตัวเองข้างนอก”
หลังจากป้าทิพย์เข้าไปมหาวิทยาลัยอีกครั้งในฐานะเจ้าหน้าที่ศูนย์สตรีฯ แล้วเปลี่ยนสถานภาพเป็นนักศึกษาปริญญาโท เธอต้องเผชิญหน้ากับสภาวะที่เป็นเงื่อนไขให้เธอตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต
“พอลาออกจาก ป.โท ไม่ถึงสองเดือนก็ไปฟิลิปปินส์ครั้งแรก มันเป็นงาน Asia Pacific Women in Theatre Festival Conference เป็น conference ใหญ่ระดับโลกเลย”
“ชีวิตมักจะมีเงื่อนงำของมัน อย่างไปเมืองนอกครั้งแรกรู้เลย พอไปถึง พวกเพต้า (PETA Theatre) เขาบอกว่านี่ไงลูกสาวเทพศิริ พี่ดังโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลยจากโนเนม แต่ก็เพราะการแสดงชิ้นแรก Butterfly ทำให้คนยอมรับและองค์กรทุนให้ความสนใจ พระจันทร์เสี้ยวก็ถูกเชิญไปที่ฟิลิปปินส์ครั้งแรกเหมือนกัน ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งนั่งประกบพี่เลย ด่าทีมพี่ตลอดเวลาตั้งแต่ขึ้นเครื่องบินไป พี่รู้สึกว่าเป็นลูกเมียน้อยตลอดเวลา คณะละครที่ไม่เคยเล่นละคร คือเล่นแบบ visual art สไตล์พี่ เล่นแบบเซอร์เรียล อันนั้นก็ไม่ถูก อันนี้ก็ไม่ใช่ จนพี่แสดงเสร็จ ผู้ใหญ่ท่านนั้นเดินมาบอกว่า ที่พูดทั้งหมดแกขอโทษนะ พี่จำได้จนวันตายเลย พอเสร็จงานพี่ร้องไห้กับเพื่อนสนิทที่ไปด้วยกัน ชีวิตมันเหมือนเกิดสองครั้งคือ ตอนออกจากท้องแม่ แล้วอีกครั้งก็เป็นตอนที่เราพบตัวเอง”
“อันนี้คือเกิดครั้งแรกในการทำงาน แต่ว่าตอน เดวิด กลาส (David Glass Ensemble) Lost Child Project มาจำไม่ได้ว่ามันปีไหน ก่อนไปฟิลิปปินส์ คือไม่รู้ว่าจะเรียกเป็นประตูบานแรกมั้ย เดวิด กลาส ซึ่งเป็นคนใช้ drama therapy ซึ่งทำให้เรารู้ว่าเรามีปมอันใหญ่ซ่อนอยู่ข้างใน เราพยายามจะฆ่าตัวตาย เป็น trauma มีอาการที่เรียกว่ากลัวบ้านตัวเอง รู้สึกไม่ปลอดภัย ร้องไห้ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดินจนสว่าง มันกลัว เพื่อนต้องพาไปหาอาจารย์ที่เคารพท่านหนึ่ง ก่อนกลับสามีของแกซึ่งรู้จักอาจารย์เทพฯ พูดว่าขอกอดแทนพ่อนะ อันนั้นคือทำให้เรารู้ว่าเรามีอาการนี้ แต่ถ้าเกิดครั้งที่สองคือการเกิดในโลกของการสร้างงาน”
ป้าทิพย์ลงไปทำละครที่กรุงเทพฯ ทั้งละครเวทีปกติและแนวทดลองอยู่พักหนึ่ง จนเธอมาเจอละครหุ่นเงาที่กลุ่มละครมะขามป้อมกำลังทดลองทำกันอยู่ นั่นเป็นครั้งแรกที่เพียงพอแล้วสำหรับการเป็นแรงบันดาลใจให้เธอทำงานด้านนี้ต่อเนื่องยาวนานมากว่าสองทศวรรษ จากคนที่กำลังเบื่อวงการศิลปะและตัดสินใจจะกลับบ้านที่เชียงใหม่ กลับทำให้เหตุการณ์นั้นกลายเป็นปฐมบทแห่งการพเนจรร่วมกับหุ่นเงาและกระเป๋าใบนั้น
“เราทำ physical theatre ก่อนหน้านั้น เสร็จแล้วเรากำลังจะกลับเชียงใหม่ก็เลยคิดว่าแวะไปลาพวกมะขามป้อม ปรากฏว่าไปถึงเขากำลังมีโปรดักชั่นมาเชียงใหม่พี่ก็ตัดสินใจแจมเลย เราก็จะได้ค่ารถขึ้นเชียงใหม่แบบอยู่ใน โปรดักชั่น เลยประหยัด ตอนแรกเจ๊จ๋อน แกจะทำหุ่น object puppet ปรากฏว่าพ่อแกเสียต้องกลับไปเมืองจันท์ด่วน ทีนี้เม้ยมาเป็นคนสอนทำหุ่นเงา งั้นก็ทำอะไรง่ายๆ แล้วกันเป็นโปรดักชั่นของเราที่ขึ้นมาเล่นที่ปางแดง เชียงดาว พอหลังจากทำอันนี้เราก็รู้สึกว่าเราหลงรักหุ่นเงา เรารู้สึกว่ามันน่าสนใจ มีอะไรอีกหลายอย่างน่าสนใจ หลังจากนั้นเนื่องจากว่าเราทำงานสาย physical theatre แล้วเราก็เห็น visual art มาเยอะ เราก็เริ่มเอาปลาหมึกปิ้งธรรมดามาโมดิฟาย ได้ในระดับหนึ่ง”
“สิ่งสำคัญก็คือไฟฮาโลเจน จากนั้นเราก็เริ่มทำโปรดักชั่นของตัวเอง จากการค้นหาข้อมูลที่เป็น shadow puppet ตอนนั้นอินเตอร์เน็ตมันเริ่มเข้ามา แต่ส่วนใหญ่เป็นภาพนิ่งจะไม่มีวีดีโอ”
“แล้วพอผ่านช่วงนั้น ตั้งคณะละคร ก็ถือว่าเร็วมากนะสำหรับเด็กอายุ 27 - 28 ที่ตั้งกลุ่มละครเป็นของตัวเอง แล้วพี่มาปรับความสัมพันธ์กับแม่ เริ่มกลับไปหาแม่ ก็คือตอนนั้นเริ่มเป็น artist แล้ว เริ่มมีตังค์ เริ่มไปต่างประเทศ เริ่มเป็น artist-in-residence เราเริ่มมีเงินเก็บ ได้ทุน ACC (Asian Cultural Council) แล้วพี่ก็เอาตังค์กลับไปให้แม่”
“สมัยแรกๆ ปีหนึ่งไปเจอแม่แค่ครั้งเดียว เพราะสภาวะอารมณ์เรายังปรับไม่ได้ เรายังอยู่กับแม่ตลอด 24 ชั่วโมงยังทำไม่ได้ หลายคนก็อาจจะมีประสบการณ์แบบนี้ trauma ยังอยู่ แล้วพอวิถีชีวิตเราเริ่มดีขึ้นก็เริ่มไปหาแม่บ่อยขึ้น แม่ก็จะรู้สึกว่าเขาถูกทิ้ง เข้าใจความรู้สึกตอนที่แม่มากรี๊ดๆ อาละวาดหน้าบ้าน เขารู้สึกเหมือนกับว่าถูกแย่งลูกไป เลี้ยงมาอยู่ๆ ลูกก็หายไป”
“แล้วลูกก็กลับมา ช่วงนั้นพี่ก็ใช้เวลา recover จากปีละครั้งเป็นสองครั้ง ใช้เวลาเป็นสิบปีเลยนะ ที่ช่วยให้ตัวเองกลับไปหาแม่ มันไม่ใช่ปีสองปีก็ดีขึ้นเลย เริ่มถี่ขึ้น ตอนนั้นเริ่มทำโครงการเขียนขอทุนเอง financial เริ่มเสถียรก็ดีขึ้น จนเราเริ่มมีรถมีอะไรขึ้นบ้าง ตอนแรกเช่ารถก่อนแล้วก็พาแม่ไปเที่ยว แต่ในช่วงสิบปีมานี่ย้อนหลังไปจากวันนี้ ก็ถี่ขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้ถัวเฉลี่ยเดือนละครั้งสองครั้งไปหาแม่ แล้วเวลาไปก็จะพยายามพาแกออกมาเที่ยวข้างนอก คือให้แกรู้สึกว่าลูกกลับมา ลูกคนเดิมกลับมาแล้ว ชีวิตต้องการเวลา”
“พอหลังจากนั้นก็ถือว่าเป็นการเดินทางบนเส้นทางศิลปะเต็มตัวเลย กว่าคนจะยอมรับ พี่ตีโค้งออกข้างนอกแล้วกลับเข้ามา ถ้ายังอยู่เมืองไทยอาจจะไม่มีใครรู้จักพี่หรอก”
คณะละครพระจันทร์พเนจรและการเดินทางที่ไม่สิ้นสุด
ปี 2542 มณฑาทิพย์ ก่อตั้งคณะละครพระจันทร์พเนจรและการเดินทางที่ไม่สิ้นสุดขึ้นที่เชียงใหม่ ผลิตผลงานด้านศิลปะการละครเงาและละครหุ่นร่วมสมัย (www.wanderingmoontheatre.com) รวมถึงแลกเปลี่ยนการทำงานกับศิลปินและนักการละครประเภทอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ มีโรงละครเป็นของตัวเองอยู่ในบริเวณเดียวกันกับหอศิลป์เทพศิริ (เทพศิริ แกลเลอรี) ซอยวัดอุโมงค์
นอกจากคณะละครพระจันทร์พเนจรฯ จะสร้างงานสื่อสารเนื้อหาสาระสะท้อนประเด็นทางสังคมการเมืองที่หลากหลาย เช่น เรื่องความไม่เท่าเทียม ปัญหาเพศสภาวะ สิ่งแวดล้อม ปัญหาเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ และส่งเสริมการอ่านแล้ว คณะละครนี้ยังทำกระบวนการอบรมละครหุ่นสร้างสรรค์แก่องค์กรเอกชน โครงการเยาวชนต่างๆ และสถาบันการศึกษาอีกด้วย
“ส่วนชื่อคณะละครก็มีที่มาจากชื่อที่ตั้งกันเล่นๆ ช่วงที่ตกงาน แล้วชอบไปนั่งกินกาแฟกับเพื่อนๆ เลยนึกสนุกตั้งชื่อกลุ่มตัวเองขึ้นมาว่า ดวงจันทร์พเนจร”
“แต่ที่ต้องมาตั้งเป็นชื่อคณะละคร เพราะว่าเขียนขอทุน ไฮน์ริค เบิลล์ (Heinrich Boll Foundation) ครั้งแรก คนที่เป็น manager เขาบอกว่าการเขียนขอทุนคุณจะมาเขียนลอยๆ ไม่ได้ เมื่อมันเป็นคณะละครมันต้องมีชื่อคณะละครนั่นคือครั้งแรกที่พี่ตั้งชื่อ The Wandering Moon & Endless Journey ขึ้นมาพอใช้ชื่อพระจันทร์พเนจรเฉยๆ อาจจะงง ก็เลยให้มันสไตล์คนไทยหน่อยเลยชื่อ สื่อสร้างสรรค์ พระจันทร์พเนจรและการเดินทางที่ไม่สิ้นสุด”
“หลังจากปี 2003 ไปฟิลิปปินส์ ปีถัดมาพี่ก็เข้าสู่ แม่โขงแล็บ พอหลังจากนั้นแม่โขงแล็บ (Mekong Laboratory) พี่ทำงานข้ามชาติสี่ห้าปีติดกัน คือเวียนไปลาว เวียดนาม กัมพูชา ทำเรื่องผู้หญิงยาวเลย ระหว่างนั้นก็ได้ทุนมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ เพราะงั้นงานชุดแรกที่เป็น Butterfly Series ที่ไปเล่นฟิลิปปินส์โกอินเตอร์ไปเวทีต่างประเทศประมาณ 10 ครั้งไปแสดงที่เบอร์ลิน บังคลาเทศ มาเลเซีย ไปหลายที่เลยหลังจากนั้น เป็นยุครุ่งเรือง ยุคเกิดใหม่เลยตอนนั้น จากที่ไม่มีใครรู้จัก กราฟชีวิตพี่พุ่งแบบสุด พอทำประเด็น gender เสร็จ กลับมาทำเรื่องสิ่งแวดล้อมต่อ ตอนนั้นพอได้ทุนไฮน์ริค เบิลล์ แล้วก็เริ่มรู้วิธีเขียนโครงการแล้ว”
“ในยุคบุกเบิกแรกๆ ยังไม่มีทีม พี่เป็นคนทำพร็อพ ทำหุ่น ทำอะไรเสร็จก็ไปเรียกน้อง เรียกเพื่อนมา ว่างไหมมาช่วยหน่อย จะอารมณ์ประมาณนี้ แล้วก็เริ่มขยายใหญ่พอทำชิ้นงานเริ่มสัก 2 - 3 โปรดักชั่น เริ่มมีคนนั้นคนนี้มาสนใจ พี่เปิดรับสมัครใครสนใจอยากเข้ามาช่วยกันทำ รุ่นถัดมาคนเริ่มเยอะขึ้นจากตอนแรกประมาณ 7 - 8 คน มันมีช่วงหนึ่งเสร็จแล้วก็วงแตก 3 รอบ รอบแรกไม่มีคนช่วย รอบที่สองเป็นรอบคนเยอะมาก คนอยากมาทำพระจันทร์พเนจร ทั้งทีมมี 25 คน มีมาทำเพลง ร้องเพลง ทำ script เป็นช่วงที่เมามันมาก ทุกคนมีฟังก์ชันที่ตัวเองอยากทำ แต่ความคาดหวังของแต่ละคนมันไม่มาบรรจบกันเหมือนเอา passion มาใส่รวมกัน บางคนก็แค่อยากมาช่วย บางคนก็จะทำละครเด็ก แล้วมาเจอไปทำอย่างอื่น สวนทางกันก็เริ่มวงแตก”
“พอวงใหญ่แตก พี่ก็บอกว่าพี่ขออธิษฐานว่าต่อไปนี้ขอทีมงานที่มา support พี่เลยนะให้มันอยู่นานๆ ให้มันเป็นทีมเวิร์คจริงๆ ก็ได้แก๊งผู้หญิงมาทำ 4 - 5 คน อยู่ด้วยกันแบบ 5 - 6 ปี เหนียวแน่นเลยนะ แล้วก็ทำงานแบบบ้าระห่ำ ทำอะไรก็ทำไปด้วยกันหมดทุกอย่าง หลังจากนั้นมันก็เริ่มลดระดับลงเพราะว่าพี่ไม่สามารถจะโฮลกลุ่ม หมายถึงว่าเราไม่สามารถทำงานที่เป็น passion ได้ เริ่มน้อยลง มันกลายเป็นงานโปรเจกต์เขียนขอทุนหาเงินตอบโจทย์ เพราะฉะนั้นงานมันเริ่มไม่ใช่งานสนุก เป็นงานตามโจทย์ที่ได้มา พอหมดช่วงนั้นมันล้ามากเพราะเราไม่มี passion ของการสร้างงานในแบบของเรา (Surrealism) งานสไตล์ที่เราชอบมันไม่มีเลย มันเริ่มบั่นทอนข้างในเราเยอะขึ้น แล้วน้องๆ ก็เริ่มโตต้องหางานทำ ใครทำอะไรได้ก็ออกไปทำ พอเวลาทำงานบางอย่างมันกลับมาเหมือนเดิมไม่ได้ เราก็ต้องปล่อย หมายถึงว่าทุกคนมันต้องโต เราก็ต้องยอมปล่อยให้น้องๆ มันไปเติบโตในสายงานของมัน แล้วกลุ่มมันก็เล็กลงเรื่อยๆ ใช้วิธีเรียกตามโปรเจกต์ ว่างไหมช่วงนี้ มีอันนี้ใครว่างบ้างมาช่วยกันทำหน่อยได้ไหม”
บางคนอยากหัวเราะให้ความบัดซบของชีวิต ยังร้องไห้กับความขมขื่นของประวัติศาสตร์ตัวเองไม่เสร็จ เลยยิ้มให้เสียงหัวเราะไปพลางก่อน แม้สะอื้นดังกลบ แต่ได้ยินหัวใจเต้นอยู่ ปล่อยให้ลมหายใจยังคงออกเดินทาง เผชิญหน้ากับความสั่นคลอน บางวันเราก็โอบกอดความเจ็บปวดในชีวิตไว้แน่น ขณะที่น้ำตาไหลเปื้อนหน้า ร่างกายก็ยังขยับเขยื้อนทำงานต่อไป เหมือนถูกตั้งโปรแกรมอัตโนมัติไว้ ...
“เสน่ห์ของละครเงาร่วมสมัย ไม่ได้อยู่แค่การสร้างหุ่นหรือบทละครเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การพัฒนาความคิดและจินตนาการไปยังอีกดินแดนหนึ่ง มิติแห่งเวลาระหว่างการเดินทางของแสงจนไปถึงย่างก้าวของเงาที่ปรากฏบนผืนผ้า ภาพแห่งเงาซึ่งกำลังเคลื่อนตัวต่อสายตาผู้ชมนั้น ห่างไกลในความรู้สึกของผู้ที่อยู่ข้างหลังฉากหลายเท่าตัว ราวกับว่าเราอยู่คนละฟากของเวลา”
ป้าทิพย์พูดไว้เช่นนี้
ผมก็เห็นว่าเป็นเช่นนั้น เพราะมันเป็นทั้งปรัชญาและการถอดสรุปบทเรียนตลอดชีวิตการทำงานบนเส้นทางนักการละครหุ่นเงาของเธอ