ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ได้ยกร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. และส่งให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณามอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้รักษาการและดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมายต่อไปนั้น
ไทยเธียเตอร์ฟาวน์เดชั่นกังวลต่อร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. ฉบับใหม่นี้เป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุจะรั้งให้ภาคประชาสังคมถดถอยมากกว่าจะส่งเสริมให้รุดหน้า
ในแง่ข้อกฎหมาย เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชนจำนวน 1,867 องค์กร ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์คัดค้านร่างพระราชบัญญัตินี้ก่อนหน้าแล้ว ท่านสามารถอ่านข้อกังวลในแง่กฎหมายในแถลงการณ์นี้ได้
ในมิติศิลปะ แม้ร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ได้นำความคิดเห็นของประชาชนมาร่วมปรับปรุงแล้ว อาทิ นิยามองค์กรไม่แสวงหากำไรให้แคบลง และยกเลิกข้อกำหนดให้ต้องสอบบัญชีภายใน 60 วัน กระนั้น ร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ก็ยังคงมีโทษมากกว่าคุณ
ประการแรก ข้อห้ามลักษณะการดำเนินงานที่คลุมเครืออาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและปิดกั้นเสรีภาพทางศิลปะ
มาตรา 20 ของร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ห้ามมิให้องค์กรไม่แสวงหากำไรดำเนินงานที่ “กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมถึงความมั่นคงของรัฐด้านเศรษฐกิจ หรือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” และงานที่ “กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม” หากไม่ปฏิบัติตามอาจถูกยุติการดำเนินงานและได้รับโทษได้
ข้อกำหนดเหล่านี้คลุมเครือ เป็นการเปิดช่องว่างให้ผู้มีอำนาจใช้ดุลยพินิจปิดกั้นช่องทางระดมทุนสำหรับสร้างสรรค์งานในประเด็นที่ตนไม่เห็นด้วยหรือไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ เมื่อไม่มีทุนมากพอ ประเด็นที่ถูกปิดกั้นก็จะไม่อาจงอกเงยเกิดเป็นบทสนทนาในสังคมได้เฟื่องฟูเท่าประเด็นที่ผู้มีอำนาจสนับสนุน เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพขององค์กรด้านละครเวทีที่ถูกเลือกปฏิบัติ ปิดกั้นเสรีภาพทางศิลปะ และลงโทษศิลปินผู้มีความเห็นแตกต่างจากผู้มีอำนาจ
ประการที่สอง ข้อกำหนดให้แจ้งชื่อแหล่งเงินทุนต่างประเทศโดยมีเงื่อนไขอาจปิดกั้นการระดมทุน ส่งผลให้การระดมทุนและการดำเนินงานยากลำบากขึ้น
มาตรา 21 ระบุให้องค์กรที่ได้รับเงินทุนต่างประเทศต้องแจ้งชื่อแหล่งเงินทุน จำนวนเงิน และวัตถุประสงค์ หากดูผิวเผินก็อาจจะเป็นข้อกำหนดเพื่อป้องกันการฟอกเงินที่สมเหตุสมผล กระนั้น ในตอนท้ายของมาตรา 21 ระบุว่าให้นำความในวรรคสองของมาตรา 20 มาใช้บังคับโดยอนุโลม นั่นหมายรวมถึงว่า แหล่งเงินทุนต่างประเทศใดที่ผู้มีอำนาจมองว่าจะกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมก็อาจถูกปิดกั้น
อีกทั้งการกำหนดให้ต้องเปิดเผยแหล่งที่มาและจำนวนของเงินหรือทรัพย์สินเป็นการละเมิดเงื่อนไขของผู้บริจาคที่ไม่ประสงค์ออกนาม การไม่ประสงค์ออกนามมิได้บ่งชี้เจตนาฟอกเงินเสมอไป หลายต่อหลายครั้งผู้บริจาครายใหญ่ไม่ประสงค์ออกนามด้วยเหตุผลต่างกัน เช่น ไม่ประสงค์ให้องค์กรอื่นทราบและมาขอรับบริจาคด้วย อันจะรบกวนความเป็นส่วนตัว เงื่อนไขนี้อาจทำให้ผู้บริจาคพิจารณาบริจาคในจำนวนที่น้อยลงหรือไม่บริจาคเลย
ข้อกำหนดนี้อาจตัดช่องทางระดมทุนที่จำกัดอยู่แล้วขององค์กรด้านละครเวทีให้ลดลงไปอีก ส่งผลให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างยากลำบากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคณะละครเวทีขนาดเล็กและกลางของไทยที่รายได้จากการระดมทุนกว่า 91% มาจากองค์กรต่างประเทศ (รักษ์ศักดิ์ ก้งเส้ง, 2559)
ประการที่สาม บทกำหนดโทษสูงไม่ได้สัดส่วน สร้างความเสี่ยงเกินจำเป็น อาจส่งผลให้อุตสาหกรรมชะงักงัน
มาตรา 25 และ 26 กำหนดโทษปรับห้าหมื่นบาทและห้าแสนบาท พร้อมกับปรับอีกวันละหนึ่งพันและหนึ่งหมื่นบาทตามลำดับ โทษปรับนี้สูงเกินสัดส่วนมากเมื่อเทียบกับขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่คิดเป็นเพียง 0.8% ของประเทศเท่านั้น (สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2553) นักการละครและองค์กรไม่แสวงหากำไรเกือบทุกแห่งในอุตสาหกรรมละครเวทีร่วมสมัยไทยไม่มีรายได้มากพอแบกรับภาระความเสี่ยงเหล่านี้ได้
อีกทั้งมาตรา 27 ยังระบุ “ให้ผู้รับผิดชอบดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งนั้นต้องรับโทษเช่นเดียวกับองค์กรไม่แสวงหากำไรด้วย” ข้อกำหนดนี้จะสร้างความหวาดวิตกให้นักการละครอิสระที่ไม่ได้ทำงานร่วมกับนักจัดการละครเวที อาจส่งผลให้อุตสาหกรรมชะงักงันได้ ผลกระทบแรกที่อาจเกิดขึ้นคือ จำนวนคณะละครเวทีขนาดเล็กและกลาง รวมถึงจำนวนชิ้นงานสร้างสรรค์ตลอดปีจะลดลง ผลกระทบที่ตามมาคือการผลิตสื่อศิลปะอันมีอัตราการขยายตัว (YoY) ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสูงสุดในทุกสาขาการผลิตติดต่อกันทุกปีนับแต่ปี 2559 จนกระทั่งเกิดวิกฤตโควิด-19 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2564) จะถดถอย สร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจชาติโดยไม่จำเป็น
ประการที่สี่ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับกรอบแนวคิด “ล้มแล้วลุกไว” (Resilience) ของแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด 19
แผนแม่บทฯ ดังกล่าวมีเป้าประสงค์ให้พร้อมรับ (Cope) ปรับตัว (Adapt) และเปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโตอย่างยั่งยืน (Transform) ข้อกำหนดที่กล่าวมาข้างต้นล้วนแต่ขัดต่อแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy) นอกจากจะไม่ช่วยยกระดับขีดความสามารถของประเทศเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future Growth) แล้ว ยังไม่ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ (Human Capital) รวมถึงสวนทางต่อการปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling Factors) อีกด้วย กล่าวได้ว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นการซ้ำเติมอุตสาหกรรมละครเวทีไทยที่ประสบภาวะวิกฤตโควิด-19 อย่างรุนแรงอยู่แล้วให้กลับมายืนได้ด้วยตนเองยากขึ้นไปอีก